“มีส่วนร่วมได้เท่าที่เขากำหนด” บทสรุปการมีส่วนร่วมยุคคสช.

ในระบอบประชาธิปไตยการมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะมันคือเครื่องยืนยันว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจและเป็นผู้กำหนดทิศทางของประเทศ ไมใช่ผู้ที่ถืออำนาจเพียงไม่กี่คน

ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมทางการเมืองอาจจะแบ่งออกเป็นหลายแบบ คือ การมีส่วนร่วมทางตรงหรือประชาธิปไตยทางตรง เช่น การเสนอกฎหมายโดยประชาชน การออกเสียงลงประชามติ เป็นต้น หรือ การมีส่วนร่วมในทางอ้อม หรือประชาธิปไตยโดยอ้อม ที่ให้ประชาชนทำหน้าที่เลือกตั้งผู้แทนของตนเข้าไปใช้อำนาจอธิปไตยแทนตนในสภา นอกจากนี้ ยังมีการมีส่วนร่วมที่ให้ประชาชน หรือหน่วยต่างๆ ในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมทั้งการเสนอแนะและตรวจสอบได้อีกด้วย

ตลอดเกือบ 5 ปี ที่ประเทศต้องอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดูเหมือนขอบเขตของการมีส่วนร่วมของประชาชนในมิติต่างๆ จะดูแคบลงไปถนัดตา ทั้งนี้ หากจะพอสรุปสาเหตุของที่ทำให้การส่วนร่วมของประชาชนมีข้อจำกัด ก็เพราะ คสช. ต้องการจะผูกขาดอำนาจในการออกกฎหมายและนโยบาย ในขณะเดียวกันก็เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้เท่าที่ คสช. กำหนด หากล้ำเส้นมากไปกว่านั้น อำนาจรัฐจะเข้ามาจัดการกับประชาชนที่ไม่ยอมเชื่อฟัง

หลังรัฐประหาร คสช. รวบอำนาจ-ผูกขาด การออกกฎหมาย 

ในช่วงแรกหลังการยึดอำนาจ คสช. พยายามผูกขาดอำนาจผ่านการออกแบบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 หรือ รัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 ที่รวมศูนย์อำนาจของสถาบันทางการเมืองไว้ที่ คสช. 

แม้ว่า คสช. จะเรียกสถาบันทางการเมืองที่ตั้งขึ้นเองว่า ‘แม่ห้าสาย’ แต่ถ้าดูที่มาของแต่ละหน่วยงาน จะพบว่า คสช. เป็นต้นทางของทุกอย่าง เช่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็เป็นสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยคสช. หรือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ถึงแม้มีที่มาจากตัวแทนประจำจังหวัด และตัวแทนจากกลุ่มสาขาอาชีพ แต่ผู้ตัดสินใจด่านสุดท้ายก็คือ คสช. เป็นต้น

ทั้งนี้ ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 ที่ คสช. เป็นคนร่าง ทำให้ คสช. รวบอำนาจเข้าสู่ตัวเองแทบจะทุกอย่าง โดยเป้าหมายหนึ่งของการรวบอำนาจ คือ ‘การผูกขาด’ การออกกฎหมาย ในสามลักษณะ ดังนี้

หนึ่ง ภารกิจเร่งด่วน คสช. เป็นออกประกาศคำสั่งมาใช้เอง

ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 นอกจากจะรับรองให้บรรดาประกาศและคำสั่งคสช. ที่ใช้ตั้งแต่รัฐประหารชอบด้วยกฎหมายแล้ว รัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ยังให้อำนาจพิเศษกับหัวหน้าคสช. อย่างเช่น ‘มาตรา 44’ ที่ให้อำนาจหัวหน้า คสช. สามารถใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการได้อย่างอิสระภายในตัวคนคนเดียว หรือพูดง่ายๆ ว่า  รัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ทำให้หัวหน้าคสช. มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญและกฎหมายทุกฉบับ  

ตลอดเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา คสช. ใช้อำนาจออกประกาศและคำสั่งคสช. ไปแล้วอย่างน้อย 335 ฉบับ และมีการใช้อำนาจตาม ‘มาตรา 44’ อย่างน้อย 203 ฉบับ ซึ่งทุกฉบับเขียนขึ้นโดย คสช. เอง ไม่ได้มีการมีส่วนร่วมจากประชาชนแต่อย่างใด และจะใช้สำหรับภารกิจที่ คสช. คิดว่าเร่งด่วน

การใช้อำนาจเช่นนี้ ที่ผ่านมามีบทพิสูจน์แล้วว่า ‘เกิดความผิดพลาด’ เมื่อขาดการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนและภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาแต่ละเรื่อง ทำให้ความรอบคอบในการใช้อำนาจของ คสช. ลดลง จนอาจส่งผลเสียต่อสังคมได้ อันจะเห็นได้จาก การที่ คสช. ต้องออกมาแก้ไขเนื้อหาในประกาศและคำสั่งของตัวเอง อย่างน้อย 24 ครั้ง 

ยกตัวอย่างเช่น การออกประกาศ ฉบับที่ 103/2557 เพื่อแก้ไขประกาศ คสช. ที่ 97/2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคสช.และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ โดยแก้ไขข้อกำหนดจากเดิมที่ห้ามสื่อวิพากษ์วิจารณ์ คสช. อย่างกว้างๆ เป็นห้ามการวิพากษ์วิจารณ์โดยมีเจตนาไม่สุจริต เพื่อทําลายความน่าเชื่อถือของ คสช.ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งเป็นการจำกัดเสรีภาพอย่างร้ายแรงก่อให้เกิดกระแสคัดค้านจากคนในวงการสื่อสารมวลชนอย่างมาก การแก้ไขเพิ่มเติมเกิดขึ้นหลังออกประกาศไปแล้ว 4 วัน 

สอง ภารกิจไม่เร่งด่วน คสช. ตั้ง สนช. มาออกพ.ร.บ.ให้

ส่วนในกรณีที่ไม่เร่งด่วน คสช. จะใช้สภาแต่งตั้ง อย่าง สนช. ทำหน้าที่ออกกฎหมาย ซึ่งทำหน้าที่ไม่ต่างจาก “ตรายาง” เพราะ สนช. พิจารณากฎหมายได้ปริมาณมากและรวดเร็ว หากนับถึงวันที่ 11 มีนาคม 2562  สนช. พิจารณากฎหมายไปแล้ว อย่างน้อย 507 ฉบับ เห็นชอบกฎหมายไปแล้ว อย่างน้อย 444 ฉบับ ซึ่งกฎหมายส่วนใหญ่มาจากคณะรัฐมนตรีและ คสช. เป็นคนเสนอ อีกทั้ง กฎหมายที่ผ่านการเห็นชอบทุกฉบับจะมีคะแนนลงมติเห็นชอบในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 เสมอ

แต่แน่นอนว่า ด้วยปริมาณและความเร็วเช่นนี้ ประกอบกับเป็นสภาที่มีแต่ตัวแทนเป็นทหารหรือข้าราชการ ไม่มีส่วนร่วมจากประชาชนที่เพียงพอ ทำให้ที่ผ่านมา มีคนคัดค้านการออกกฎหมายจากสนช. อย่างน้อย 80 ครั้ง แต่ท้ายที่สุดภาคประชาชนก็คัดค้านสำเร็จไม่เกิน 10 ครั้ง 

ในขณะเดียวกัน สนช. ก็ยังดึงดันจะผ่านกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงเสียงของประชาชน เช่น กรณีสนช. เตรียมพิจารณา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่มีคนลงชื่อคัดค้านบนโลกออนไลน์ อย่างน้อย 300,000 คน แต่การคัดค้านครั้งนั้นก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

สาม ภารกิจหลัก ‘ร่างรัฐธรรมนูญ’ คสช. ตั้งคนมาเขียนกฎหมาย

ภารกิจอย่างหนึ่งของคณะรัฐประหาร คือ ‘การร่างรัฐธรรมนูญ’ ขึ้นใหม่หลัง คสช. เข้ายึดอำนาจและยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 จึงจำเป็นจะต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาทดแทน

เพื่อการนี้ คสช. จึงกำหนดให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องมาจาก คสช. แทบทุกครั้ง โดยครั้งแรก ผู้ร่างรัฐธรรมนูญคือ ‘คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ’ หรือ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งคนที่เป็นประธานต้องมาจากการความเห็นชอบของ คสช. และได้บวรศักดิ์ อุวรรณโณ มาทำหน้าที่นี้ ส่วนคนที่จะเข้ามาเป็น กมธ. ก็ต้องเคยผ่านการคัดเลือกจากคสช. มาก่อน ส่วนผู้ร่างรัฐธรรมนูญชุดที่สอง เรียกว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทั้งหมด และก็ได้มีชัย ฤชุพันธุ์ หนึ่งในสมาชิกของ คสช. มานั่งเป็นประธานเอง

นอกจากนี้ ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 ยังกำหนดให้ คสช. เสนอแก้ไขเพิ่่มเติมเนื้อหาได้ โดยข้อเสนอชุดหนึ่งที่สุดท้ายได้ไปบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็คือ การมี ส.ว. สรรหา หรือ ส.ว. แต่งตั้งจำนวน 250 คน เพื่อคุมการเปลี่ยนผ่านและพิทักษ์รัฐธรรมนูญ รวมถึงให้มีช่องทางพิเศษสำหรับนายกรัฐมนตรี ‘คนนอก’ หรือ ให้มีช่องทางเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเสนอชื่อของพรรคการเมืองตั้งแต่แรก

ที่ผ่านมา ประชาชนมีส่วนร่วมได้ เฉพาะที่รัฐเป็นคนกำหนด

แม้ว่าคสช. จะพยายามรวบอำนาจและผูกขาดการตัดสินใจทางการเมืองขนาดไหน แต่ คสช. ก็ยังไม่ได้ตัดขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนไปเสียหมด เพียงแต่การมีส่วนร่วมในทางการเมืองจะเป็นไปตามที่รัฐกำหนด 

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อการชุมนุมเรียกร้องปัญหาต่างๆ คสช. จะขอร้องแกมบังคับให้ภาคประชาชนยื่นเรื่องต่อ ‘ศูนย์ดำรงธรรม’ ที่ตั้งขึ้นตามประกาศคสช. ฉบับที่ 96/2557 เพื่อทำหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร ให้คำปรึกษา รับเรื่องปัญหาความต้องการและข้อเสนอแนะของประชาชน แทนการใช้ช่องทางอื่นๆ

อย่างไรก็ดี การมีส่วนร่วมทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ดูเหมือนจะมีส่วนที่ดีขึ้น เช่น การบัญญัติเรื่องการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบกฎหมายไว่ใน ‘มาตรา 77’ ของรัฐธรรมนูญ แต่ทว่า ในทางปฏิบัติ การรับฟังความคิดเห็นยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก เนื่องจาก แนวทางปฏิบัติของการรับฟังความคิดเห็นเป็นไปตามตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 ที่กำหนดให้การเผยแพร่กฎหมายบนเว็บไซต์เป็นเวลา 15 วัน ก็ถือว่าเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว เป็นต้น

รวมถึง จากข้อเท็จจริงในการรับฟังความคิดเห็นที่ภาคประชาชนไปเข้าร่วม ก็พบปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของรัฐ จะกำหนดช่วงเวลาสำหรับรับฟังประชาชนในอัตราส่วนที่น้อยมาก เช่น เวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นประกอบการร่างกฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่จัดขึ้นในวันที่ 17 กรกฏาคม 2560 ไม่มีระบุเวลาให้ประชาชนซักถามหรือแสดงความคิดเห็น

หรืออย่างเวทีรับฟังความคิดเห็นการแก้ไขปรับปรุง (ร่าง) พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กำหนดว่า ผู้ที่จะเข้าไปแสดงความคิดเห็นต้องลงทะเบียนล่วงหน้าทางออนไลน์ หรือสแกนบัตรประชาชนเพื่อเข้างานและมีเวลาให้แสดงความเห็นคนละ 3 นาที เท่านั้น

นอกจากนี้ คสช. ยังใช้เทคนิคตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนออกไป โดยระบุไว้ในกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น ใน พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เปิดช่องให้ “ลักไก่” ไม่ต้องจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยให้ถือว่าการกำหนดให้กระบวนการรับฟังความคิดที่เคยดำเนินมาก่อนหน้า ถือว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็นตามกฎหมายแล้ว เป็นต้น

หากประชาชนมีส่วนร่วม ‘เกินขอบเขต’ ต้องถูกจัดการ

หลังการรัฐประหาร ปฏิเสธไม่ได้ว่าเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการมีส่วนร่วมทางการเมืองยังถูกจำกัด 

เริ่มตั้งแต่ คสช. ออกประกาศ ฉบับที่ 7/2557 หรือ ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ทำให้การรวมตัว รวมกลุ่มกัน สามารถกลายเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนชุมนุมทางการเมืองได้ อีกทั้ง กฎหมายเหล่านี้ยังถูกนำมาใช้ควบคู่กับ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่วางเงื่อนไขและข้อจำกัดให้กับทั้งผู้จัดการชุมนุมและผู้เข้าร่วมการชุมนุม เช่น ห้ามชุมนุมในพื้นที่ที่กำหนด หากเจ้าหน้าที่มีคำสั่งให้แก้ไขการชุมนุม ก็ต้องปฏิบัติตาม สุดท้ายแล้วเสรีภาพในการรวมกลุ่ม เสรีภาพในการชุมนุมเรียกร้อง แสดงออก หรือมีส่วนร่วม จึงถูกลดทอนไป

ในขณะเดียวกัน สำหรับพื้นที่ใหม่อย่างโลกออนไลน์ คสช. ยังมีกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) ที่มีบทบัญญัติที่ตีความได้กว้าง เช่น คำว่าสร้างความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ และหลายครั้งของการตีความเป็นการหยิบการวิพากษ์วิจารณ์คสช. หรือรัฐบาล มาเป็นภ้ยคุกคามความมั่นคงของรัฐไปด้วย ทำให้บรรยากาศของการมีส่วนร่วมทางการเมืองในชุมชนออนไลน์มีข้อจำกัดมากขึ้น

นอกจากนี้ ในการมีส่วนร่วมอย่างที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตยทางตรง’ หรือการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 แม้ว่า คสช. จะยินยอมให้มีการลงประชามติสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ทว่า สนช. กลับออกกฎหมายอย่าง ‘พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ’ ที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการจัดการกับกลุ่มที่รณรงค์ประชามติในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ 

You May Also Like
อ่าน

ผ่านฉลุย! สส. เห็นชอบร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสาม ส่งไม้ต่อให้ สว.

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาพิจารณาสามวาระ
อ่าน

จับตาประชุมสภา ลุ้น สส. ผ่านร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสอง-สาม

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนวาระสอง-สาม หากสภามีมติเห็นชอบในวาระสาม ร่างกฎหมายก็จะได้พิจารณาต่อชั้นวุฒิสภา