ไทยอาจเจอปัญหา ‘ผูกขาดเมล็ดพันธุ์และสิทธิบัตรยา’ หากกระบวนการพิจารณาข้อตกลง CPTPP ไม่รอบคอบ

ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่ทุกประเทศถูกเชื่อมร้อยเข้าด้วยกัน แต่ละประเทศถูกบีบให้ต้องเป็นคู่แข่งทางการค้า หรือไม่ก็พันธมิตรทางเศรษฐกิจ ซึ่งการเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจย่อม 'ดูดีกว่า' การเป็นศัตรู แต่ในสนามการแข่งขันระดับโลกย่อมไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร ดังนั้น การพยายามเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจภายใต้ข้อตกลงใดๆ ก็ตามจึงต้องใช้ 'ความรอบคอบ' ในการพิจารณา
ด้วยเหตุนี้ ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 จึงมีการกำหนดมาตราการเพื่อความรอบคอบในการทำข้อตกลงหรือสัญญาระหว่างประเทศที่กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคม หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศ ว่าจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูล มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชน และการชี้แจงต่อสภาก่อนการดำเนินการเพื่อทำสัญญาข้อตกลงหรือให้มีผลผูกพัน แต่ทว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 หรือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กลับไม่ระบุถึงการให้ประชาชนตรวจสอบก่อนการดำเนินการอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี ความน่ากลัวดังกล่าวเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เมื่อ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศว่า จะนำไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (CPTPP) โดยเตรียมหารือกับคณะรัฐมนตรีภายในเดือนมีนาคมปี 2562 และพร้อมเป็นสมาชิกภายในปี 2563
ในขณะที่ภาคประชาชนต่างส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ข้อตกลงดังกล่าวอาจเป็นการเพิ่มอำนาจให้บรรษัทข้ามชาติหรือไม่ หรือมีเพียงธุรกิจใหญ่จะได้ผลประโยชน์จนนำไปสู่การผูกขาดทางการเกษตร
CPTPP อาจนำไปสู่การผูกขาดเมล็ดพันธุ์พีชโดยทุนใหญ่
ภายใต้ข้อตกลงของ CPTPP ทำให้ไทยถูกบังคับให้ไทยต้องเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธ์พืชใหม่ หรือ The International Union for the Protection of New Varieties of Plants 1991 (UPOV 1991) ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการเข้าถึงและการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืช ราคาผลิตผลการเกษตร รวมถึงวิถีชุมชน
สำหรับข้อกังวลนี้ มงคล ด้วงเขียว จากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก มองว่า UPOV 1991 จะส่งผลเสียต่อเกษตรกรรายย่อยและทรัพยากรชีวภาพ เนื่องจากมีข้อกำหนดที่เข้มงวดและซับซ้อน อย่างเช่น การขยายระยะเวลาคุ้มครองสายพันธุ์พืชถึง 20 ปี ทำให้นักพัฒนาพันธุ์ในไทยพัฒนาสายพันธุ์ต่อก็ทำไม่ได้เพราะมีระยะเวลาคุ้มครองยาวนาน 
นอกจากนี้ ยังไม่อนุญาตให้เกษตรกรเก็บส่วนขยายพันธุ์ของพืชไว้เพื่อขยายพันธุ์ต่อ ถ้าเอาผลผลิตไปขายหรือแปรรูปแล้วขายต้องแบ่งผลกำไรแก่เจ้าของพันธุ์ และห้ามนำเข้าส่งออกเพื่อขยายพันธุ์ ถ้านำเข้าส่งออกที่ไม่ใช่เพื่อการขยายพันธุ์ก็ต้องแบ่งผลประโยชน์ให้เจ้าของสายพันธุ์ อีกทั้งยังอนุญาตให้มีการจดทะเบียนคุ้มครองพืชตัดต่อพันธุกรรม เป็นต้น  
ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ มงคล มองว่า จะนำไปสู่การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ในที่สุด เนื่องจากอนุสัญญานี้ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติกลายเป็นทรัพย์สินของบริษัทเมล็ดพันธุ์ โดยเฉพาะบริษัทมอนซานโต (Monsanto) บริษัทเมล็ดพันธุ์ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกซึ่งร่วมกับซีพีทำเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ดังนั้น การผลักดันให้ไทยเป็นภาคีอนุสัญญานี้จึงเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับกลุ่มบริษัทในไทย
ไทยอาจเสียรู้เรื่องสิทธิบัตรยา ถ้าเดินหน้า CPTPP
ด้วยการบังคับของ CPTPP ที่ทำให้ไทยต้องเข้าร่วมอนุสัญญา UPOV 1991 อาจจะส่งผลต่อระบบสิทธิบัตรยา โดยประเด็นนี้ ดร.ชุติมา อรรคลีพันธุ์ จากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ตามปกติเมื่อมีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชสมุนไพรให้ได้สารเคมีเพื่อใช้ในกระบวนการวิจัยและพัฒนาแล้ว ก็จะมีการจดสิทธิบัตร
ดังนั้น หากมีการปลดล็อคให้จดสิทธิบัตรพืชและจุลชีพได้ก็จะกระทบกับไทยที่ขีดความสามารถจะพัฒนาหรือจดสิทธิบัตรไม่ทันต่างประเทศ จนกระทบต่อการพัฒนายาใหม่ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีการกำหนดไม่ให้บังคับถ่ายทอดเทคโนโลยี อาจทำให้เกิดการผูกขาดข้อมูลทางยา
คนไทยต้องเสี่ยงกับสินค้า GMOs และผลกระทบทางภาษี
ประเด็นสุดท้ายที่อาจเป็นผลกระทบเกี่ยวเนื่องกับข้อตกลง CPTPP คือ การอนุญาตให้มีการนำเข้าสินค้าจำพวก GMOs  รวมถึงมีประเด็นเรื่องอาหารแปรรูปซึ่งต้องวิเคราะห์ว่าจะมีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคและเป็นปัจจัยเสี่ยงในการดูแลโรค NCDs (โรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคตับแข็ง และอื่นๆ) 
นอกจากนี้ ภายใต้ข้อตกลง CPTPP อาจทำให้ภาษีของยาสูบและเครื่องดื่มมึนเมานั้นจะถูกลดลง (ซึ่งตัวภาษีนี้มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการบริโภคยาสูบ) ดังนั้น หากภาษีนำเข้าลดลงเป็นไปได้ว่าภาษีอื่นๆ ในประเทศต้องสูงขึ้น