สนช. เสนอแก้กฎหมายให้ศาล ข้าราชการ และนักธุรกิจ เลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง

สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 36 คน นำโดยมหรรณพ เดชวิทักษ์ ขอเข้าชื่อเสนอแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในประเด็นการสรรหา “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” ขณะนี้ร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของ สนช. การเสนอแก้ไขครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากวันที่ 1 สิงหาคม 2561 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบัน ประกาศรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งจำนวน 616 คน ซึ่งหาก สนช. แก้ไขครั้งนี้สำเร็จจะมีผลให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งชุดแรกต้องสิ้นสุดการทำหน้าที่ลง
กกต. ประกาศผู้ตรวจการเลือกตั้งไม่ถูกใจ สนช.
การประกาศรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งของ กกต. ชุดปัจจุบัน เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตำแหน่งประธาน กกต. ชุดใหม่ และประธาน สนช. กำลังจะนำรายชื่อว่าที่ กกต. ชุดใหม่ ขึ้นทูลเกล้าฯ การประกาศรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งของ กกต. ชุดปัจจุบัน ทำให้สมาชิก สนช. วิจารณ์ว่า เป็นการผิดมารยาท เนื่องจากกำลังจะมี กกต. ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน และยังวิจารณ์ว่าเป็นการแต่งตั้งคนใกล้ชิดของ กกต. ชุดปัจจุบันก่อนจะออกจากตำแหน่งเพื่อเป็นการทิ้งทวน 
แม้ กกต. อ้างว่าเป็นการทำงานตามกรอบเวลาและกฎหมายเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้งในปี 2562 แต่ สมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. ก็เห็นค้านว่า ยังเหลือเวลาอีกนาน การเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งตอนนี้จะทำให้นักการเมืองเห็นหน้าค่าตาและทำให้เข้าไปติดต่อได้ล่วงหน้า นอกจากยังมีการพบว่าหลายคนมีความสนิทสนมกับนักการเมืองท้องถิ่น และส่วนใหญ่ถูกมองว่าอิงกับฝ่ายการเมืองบางขั้วมากเกินไป
ผู้ตรวจการเลือกตั้งจำนวน 616 คน จะมีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้ง ส.ส. และการสรรหา ส.ว. รวมทั้งการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางกลไกเพื่อจะกลับมาเป็นรัฐบาลอีกรอบ แม้ สนช. จะยืนยันว่าไม่มีใบสั่งจากผู้มีอำนาจ แต่ก็เห็นชัดว่าหากมีการแก้ไขการได้มาซึ่งผู้ตรวจการเลือกตั้งใหม่คนที่จะได้ประโยชน์ก็คือผู้มีอำนาจอย่าง คสช. และ สนช.  
กรรมการคัดเลือกผู้ตรวจเลือกตั้งฯ คือ ศาล ข้าราชการ นักธุรกิจ
ปัจจุบันการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งอยู่ในมาตรา 29 ของพ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. โดยกำหนดให้ กกต. มีอำนาจออกระเบียบเพื่อคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง แต่ สมาชิก สนช. จำนวนหนึ่งเสนอแก้ไขเพิ่มเติม โดยเสนอกำหนดให้มี “คณะกรรมการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง” ไว้ในกฎหมายเลยแทนการให้อำนาจ กกต. ทั้งนี้เหตุผลอย่างเป็นทางการคือเพื่อให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีองค์ประกอบที่หลากหลายและมีความเป็นอิสระ
เมื่อดูเนื้อหาในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ของสมาชิก สนช. จะพบว่าแต่ละจังหวัดจะมีคณะกรรมการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดยกรุงเทพมหานครจะมีกรรมการแปดคนมีปลัดกรุงเทพฯ เป็นประธาน ส่วนอีก 76 จังหวัดจะมีกรรมการเจ็ดคนมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ซึ่งสัดส่วนของกรรมการประกอบด้วยสามกลุ่ม คือ ศาล ข้าราชการ และนักธุรกิจ 
สำหรับข้าราชการซึ่งเป็นกรรมการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง นอกจากปลัดกรุงเทพฯ/ผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่จังหวัดแล้ว ยังประกอบด้วยหัวหน้าอัยการ และผู้บัญชาการตำรวจในแต่ละจังหวัด แน่นอนว่าการให้ข้าราชการประจำเป็นกรรมการย่อมส่งผลให้มีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองได้ง่าย เพราะผู้บังคับบัญชาของข้าราชการคือรัฐบาล โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดกับตำรวจที่ทำงานขึ้นตรงและเป็นแขนขาที่สำคัญให้กับรัฐบาล คสช. ตลอดการทำงานที่ผ่านมา
ขณะที่ภาคเอกชนที่เข้ามาเป็นกรรมการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งมาจากภาคธุรกิจทั้งหมด ประกอบด้วย ผู้แทนหอการค้าไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้แทนสมาคมธนาคารไทย ซึ่งองค์กรเอกชนทั้งหมดนี้ต่างมีบทบาทสำคัญในยุค คสช. ทั้งสิ้น ทั้งการมีตำแหน่งในกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หรือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกลไกประชารัฐของรัฐบาล คสช. 
ข้อเสนอของสมาชิก สนช. กำหนดให้คณะกรรมการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งทั้ง 77 จังหวัด ทำหน้าที่คัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งอย่างน้อย 16 คนต่อจังหวัด เพื่อส่งต่อให้ กกต.คัดเลือกให้เหลือแปดคนต่อจังหวัด และที่สำคัญหาก ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. บังคับใช้ ก็จะทำให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งจำนวน 616 คน ต้องพ้นสภาพไป และให้มีการดำเนินการสรรหาใหม่
คณะกรรมการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร
ข้อเสนอ สนช. ระเบียบ กกต.
1) ปลัดกรุงเทพฯ เป็นประธาน ปลัดกรุงเทพฯ เป็นประธาน
2) ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา นายกสภาทนายความหรือผู้แทน
3) ผู้แทนอัยการสูงสุด ผู้แทนอัยการสูงสุด
4) ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ผบช.น. หรือผู้แทนที่มียศ พล.ต.ต.ขึ้นไป
5) ผู้แทนหอการค้าไทย ผู้แทนประธานหอการค้าไทย
ผู้แทนประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย เลือกกันเองหนึ่งคน
6) ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้มีอํานาจทําการแทนขององค์กรเอกชน
ที่ได้รับรองจาก กกต.จังหวัด เลือกกันเองหนึ่งคน
7) ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย
ผู้แทนระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตําบล
ของกรุงเทพมหานคร เลือกกันเองหนึ่งคน
8) ผู้อำนวยการ กกต. กรุงเทพฯ ผู้อำนวยการ กกต. กรุงเทพฯ
คณะกรรมการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งของจังหวัดอื่นๆ
ข้อเสนอ สนช.
ระเบียบ กกต.
1) ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน
ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน
2) ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด
ประธานสภาทนายความจังหวัด
3) หัวหน้าสำนักงานอัยการจังหวัด
อัยการจังหวัดเลือกกันเองหนึ่งคน
4) ผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัด
ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหรือผู้แทนที่มียศ พ.ต.อ.ขึ้นไป
5) ผู้แทนหอการค้าจังหวัด ประธานหอการค้าจังหวัด
ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด
ประธานชมรมธนาคารพาณิชย์จังหวัด เลือกกันเองหนึ่งคน
6) ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมจังหวัด
ผู้มีอํานาจทําการแทนขององค์กรเอกชน
ที่ได้รับรองจาก กกต.จังหวัด เลือกกันเองหนึ่งคน
7)  –  ผู้แทนระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตําบล
ของจังหวัด เลือกกันเองหนึ่งคน
8) ผู้อำนวยการ กกต. จังหวัด ผู้อำนวยการ กกต. จังหวัด
กกต. เลือกผู้ตรวจเลือกตั้งฯ ตามกรอบเวลา กรรมการคัดเลือกอิสระกว่า
หากเปรียบเทียบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. กับ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้ง พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นที่มาของผู้ตรวจการเลือกตั้งชุดปัจจุบัน จะพบว่าระเบียบ กกต. กำหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งและกระบวนคัดเลือกที่ไม่แตกต่างกับข้อเสนอของสมาชิก สนช. แต่ที่มาของกรรมการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ในระเบียบ กกต. มีความหลากหลายและน่าจะมีอิสระมากกว่าของสมาชิก สนช. และจะพบว่ากรรมการส่วนหนึ่งมีความเป็นอิสระจากรัฐและภาคธุรกิจ คือ ผู้แทนสภาทนายความ ผู้แทนองค์กรเอกชนที่ได้รับรองจาก กกต. และผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบล
แม้จะถูกกล่าวหาจากสมาชิก สนช. ว่า กกต. ชุดปัจจุบัน ตั้งใจทิ้งทวนตำแหน่งด้วยการแต่งตั้งคนใกล้ชิดเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง แต่ กกต. ก็ชี้แจงว่า กระบวนการการแต่งตั้งผู้ตรวจการการเลือกตั้ง กกต. ได้เตรียมไว้ตั้งแต่ก่อนเดือนเมษายน 2561 ซึ่งกระบวนการจะใช้เวลาสามเดือนเพื่อคัดเลือก แต่งตั้ง ประชาพิจารณ์จากประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งอบรมความรู้ ระเบียบ และกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง นอกจากนี้การคว่ำว่าที่ กกต. ของ สนช. ไปหนึ่งชุดส่งผลให้ กกต. ชุดใหม่ที่คาดว่าจะเข้ามาพิจารณาช่วงนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้
การคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งครั้งนี้ กกต. คาดว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ได้รับการแต่งตั้งจะสามารถปฏิบัติงานได้ภายในเดือน กันยายน 2561 ซึ่งจะเป็นช่วงจังหวะที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยที่มาของ ส.ว. มีผลบังคับใช้ ดังนั้นกระบวนการต่างๆ ที่ดำเนินอยู่ก็เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือก ส.ว.
เซ็ตซีโร่ผู้ตรวจเลือกตั้งเพื่อ สนช. และผู้มีอำนาจ
อย่างไรก็ตาม การเสนอแก้ไข ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ของสมาชิก สนช. เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความไม่รอบคอบในการพิจารณากฎหมายของ สนช. เพราะ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ฉบับเพิ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม สนช. ไม่นานมานี้เอง นอกจากนี้สมาชิก สนช. ยังถูกวิจารณ์ว่า การเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อเซ็ตซีโร่ผู้ตรวจการเลือกตั้งก็เพื่อผลประโยชน์ของ สนช. และผู้มีอำนาจ เพราะไม่มีหลักประกันว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งตามข้อเสนอของสมาชิก สนช. จะมีความเป็นอิสระไม่มีความเกี่ยวข้องกับ กกต. ชุดใหม่ หรือ สนช. 
ที่ชัดเจนคือการเลือกตั้งตามสัญญาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ที่สัญญาว่าจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อาจจะต้องเลื่อนออกไปอีก อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี จากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากมีการแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. การเลือกตั้งอาจเลื่อนออกไปถึงปลายปี 2562 ขณะที่ชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรธ. เห็นต่างว่า การเลือกตั้งอาจเลื่อนไปอาจช้าก็ต้นเดือนพฤษภาคม 2562 แต่กล่าวได้ว่านี่เป็นอีกครั้งที่ สนช. ใช้เทคนิคทางกฎหมายเพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกเป็นครั้งที่หก ซึ่งจะทำให้ สนช. และ คสช. ยืดเวลาอยู่ในอำนาจต่อและเตรียมตัวเองให้ได้เปรียบที่สุดในสนามเลือกตั้ง