สี่ปี สนช.: เลือก 60 คนนั่ง 13 องค์กรตรวจสอบ ช่วย คสช. ยึดประเทศอย่างช้าๆ

นอกจากพิจารณาออกกฎหมายแล้ว ในภาวะพิเศษที่ไม่มีรัฐสภา รัฐธรรมนูญทั้งฉบับชั่วคราว 2557 และรัฐธรรมนูญ 2560 ยังให้อำนาจ สนช. ทำหน้าที่อื่นของวุฒิสภา (ส.ว.) ด้วย ซึ่งรวมทั้งการแต่งตั้ง/ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือกรรมการองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
 
สิ่งที่ต่างกัน คือ ส.ว. ในภาวะปกติต้องมีคุณสมบัติและที่มาเป็นพิเศษเพื่อเป็นสภาทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร แต่สมาชิก สนช. ส่วนใหญ่เป็นทหารและมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ทั้งหมด ดังนั้น สนช. จึงเป็นตัวแทนของผู้ใช้อำนาจฝ่ายบริหารที่มาทำหน้าที่คัดเลือกคนเข้าไปอยู่ในองค์กรอิสระที่ควรจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของ คสช.
 
 
สี่ปีที่ผ่านมา สนช. ได้ลงมติเห็นชอบเพื่อคัดเลือกคนที่ คสช. ไว้ใจเข้าไปดำรงตำแหน่งสำคัญๆ และคัดเลือกคนที่ คสช. ไม่ต้องการออกไป อย่างน้อย 13 องค์กร เป็นการลงมติเห็นชอบ 60 ตำแหน่ง ไม่เห็นชอบ 19 ตำแหน่ง
 
องค์กรที่ สนช. ให้ความเห็นชอบแต่งตั้งคนเข้าไปเป็นกรรมการ รวมทั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ทั้ง 6 องค์กร ได้แก่ ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.), ศาลรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
 
ตัวอย่าง ตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน สนช. เคยเห็นชอบให้ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม และ บูรณ์ ฐาปนดุล อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และลงมติไม่เห็นชอบบุคคลอีกสามคนที่ถูกเสนอชื่อมาสามครั้ง คือ ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล, นพ.เรวัต วิศรุตเวช และภรณี ลีนุตพงษ์ ซึ่งบางคนมีข้อสงสัยเรื่องความสัมพันธ์กับอดีตรัฐบาลเดิม
 
หรือ กรณีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เมื่อ 20 สิงหาคม 2558 สนช. ลงมติเห็นชอบ ตั้ง กสม. ชุดใหม่แทนชุดที่หมดวาระ 5 คน จาก 7 รายชื่อที่ได้รับการเสนอมา ท่ามกลางเสียงคัดค้านขององค์กรภาคประชาสังคม โดยสองคนที่ไม่เห็นชอบ คือ บวร ยสินทร เนื่องจากถูกร้องเรียนเรื่องมีคดีความทางการเงินหลายครั้ง และศุภชัย ถนอมทรัพย์ มีปัญหาถูกร้องเรียนทางจริยธรรม อย่างไรก็ตาม ต่อมามีกระบวนการคัดเลือกใหม่ และวันที่ 16 ตุลาคม 2558 สนช.ได้เห็นชอบ เตือนใจ ดีเทศน์ และชาติชาย สุทธิกลม ให้เป็น กรรมการ กสม. แล้วด้วย
 
นอกจากนี้ องค์กรอื่นที่ควรจะทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลกับอำนาจฝ่ายบริหารได้ สนช. ก็เข้าไปมีบทบาทคัดเลือกบุคคลเข้าไปรับตำแหน่งบริหารด้วย โดยจำนวนสัดส่วนของคนที่ สนช. เลือกเข้าไปอาจมากหรือน้อยต่างกันไปตามกฎหมายขององค์กรนั้นๆ เช่น ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒในคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.), ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.), ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิในกรรมการอัยการ, อัยการสูงสุด, ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ฯลฯ
 
โดยเฉพาะ กสทช. ซึ่งความคาดหมายเดิมเป็นองค์กรที่ต้องมาเรียกคืนคลื่นความถี่จากมือทหาร แต่ถูก "มาตรา 44" ยับยั้งไว้ก่อน และต่อมา คสช. เพิ่มอำนาจให้ช่วยควบคุมการนำเสนอเนื้อหาของสื่อด้วย กรรมการ กสทช. ชุดเดิมหมดวาระตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 แต่รักษาการต่อมาได้อีกยาวเพราะเมื่อกระบวนการสรรหาชุดใหม่ ไปถึงมือ สนช. วันที่ 19 เมษายน 2561 แทนที่จะคัดเลือกจาก 14 คนให้เหลือ 7 คนตามอำนาจที่มีอยู่ แต่ที่ประชุม สนช. กลับมีมติไม่เห็นชอบรายชื่อทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่ามีผู้ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามถึง 8 คน ขณะที่มีอีกกระแสหนึ่งที่รายงานว่า "นายกฯ ไม่แฮปปี้"
 
ในบรรดาการลงมติเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ มีข้อกังขาถึงประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่ด้วย เพราะการลงมติหลายครั้งของ สนช. ก็เป็นการตั้งคนภายใน สนช. เองให้ไปดำรงตำแหน่งต่างๆ เช่น การลงมติเห็นชอบให้ดิสทัต โหตระกิตย์ สมาชิก สนช. ได้เป็น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, การลงมติเห็นชอบให้สมพล เกียรติไพบูลย์ สมาชิก สนช. ในขณะนั้น เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ปปง.,  การลงมติเห็นชอบให้ร้อยตำรวจตรี พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร รองอัยการสูงสุด และสมาชิก สนช. ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด หรือการลงมติเห็นชอบให้ ศ.อุดม รัฐอมฤต หนึ่งในกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และที่ปรึกษาของสมาชิก สนช. (ศ.สมคิด เลิศไพฑูรย์) เป็นกรรมการตุลาการศาลปกครอง และต่อมายังลงมติให้เป็น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ปปง. อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
 
นอกจากนี้ การลงมติหลายครั้งยังเป็นการส่งทหารเข้าไปอยู่ในองค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบทหารด้วย เช่น การลงมติให้พลเอกชนะทัพ อินทามระ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบกด้านการเงินการคลัง เป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน, การลงมติให้พลโทสมร ศรีทันดร อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในปปง., การลงมติให้ พลเอกจิระ โกมุทพงศ์ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็น กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ หรือการลงมติให้พลเอกบุณยวัจน์ เครือหงส์ อดีตผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภายในกองทัพบก เป็นกรรมการ ป.ป.ช.
 
เนื่องจากภาวะพิเศษที่ต้องให้ สนช. ใช้อำนาจนั้นยาวนานถึงสี่ปีเต็ม กรรมการในองค์กรต่างๆ ก็จึงทยอยหมดวาระ หรือพ้นจากตำแหน่งไปด้วยเหตุผลต่างๆ กัน และการพิจารณาลงมติเห็นชอบและไม่เห็นชอบแต่งตั้งบุคคลขึ้นมาแทนโดย สนช. ก็จึงค่อยๆ เดินหน้ามาอย่างช้าๆ ทีละองค์กรตามวาระที่หมุนเวียนมาถึง จนกระทั่งกรรมการและผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ทั้งหลายของประเทศที่ควรจะมีความเป็นอิสระ และทำงานเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายบริหาร กลายเป็นคนที่ "คสช. พอใจ" ไปแล้วเกือบทั้งสิ้น จึงแทบไม่เหลือองค์กรที่ยังสามารถทำงานเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจกับ คสช. ได้