ข้อดี – ข้อเสีย ไพรมารี่โหวต ของ คสช.

วันที่ 25 มิถุนายน 2561 ครั้งแรกของการประชุมหารือระหว่าง คสช. กับตัวแทนพรรคการเมือง มีข้อเสนอแนะจากพรรคการเมืองเกี่ยวกับการทำไพรมารี่โหวตสามข้อ คือ 1) ให้เปลี่ยนการทำไพรมารี่โหวตจากระดับเขตจังหวัดมาเป็นระดับภาค 2) ให้ยกเลิกไพรมารี่โหวตไปเลย และ 3) ให้มีการเลื่อนการใช้ระบบไพรมารี่โหวตไปใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปแทน ข้อเสนอนี้ คสช. รับว่าจะนำไปหารือต่อโดยมาตรา 44 อาจจะเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหานี้
ระบบไพรมารี่โหวต (Primary Vote) ถูกกำหนดให้พรรคการเมืองทุกพรรคต้องดำเนินการก่อนจะส่งตัวแทนพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นว่าที่ ส.ส. สำหรับผู้ร่างคือ สนช. และ กรธ. ต่างเห็นร่วมกันว่าระบบไพรมารี่โหวต คือการปฏิรูปพรรคการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย แต่สำหรับพรรคการเมืองหลายพรรคทั้งเก่าและใหม่ต่างเห็นว่าระบบไพรมารี่โหวตจะเป็นอุปสรรคในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นข้างหน้า ซึ่งข้อดีและข้อเสียของระบบไพรมารี่โหวตแบบไทยๆ มีดังนี้
—–ข้อดี—–
ลดอิทธิพลของเจ้าของพรรค นายทุนพรรค 
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง กล่าวว่าเป้าหมายของระบบไพรมารี่โหวต คือการทำให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชน ลดอิทธิพลของนายทุน หรือครอบครัว เนื่องจากในอดีตพรรคการเมืองไทยเป็นเผด็จการในตัว ไม่มีพรรคการเมืองไหนเลยที่เป็นของสมาชิก 
ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น
ระบบไพรมารี่โหวต คือการปฏิรูปพรรคการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย โดยให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัคร พรรคการเมืองซึ่งต้องจัดตั้งสาขาในต่างจังหวัดก็ให้สมาชิกประจำเขตในแต่ละภูมิภาคเข้ามามีบทบาทในการนำเสนอตัวแทน ซึ่งจะช่วยลดการผูกขาดการคัดเลือกผู้สมัครจากกรรมการบริหารพรรค นายทุน และเจ้าของพรรค
พรรคการเมืองมีความเป็นสถาบัน
อลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า ระบบไพรมารี่โหวตเป็นการปรับพรรคการเมืองไม่ใช่ของคนกลุ่มใดบุคคลหนึ่ง เป็นระบบที่เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน และมีความโปร่งใส เป็นการยกระดับให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริงและสร้างความเป็นประชาธิปไตยในพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคจะเป็นตัวแทนที่เลือกโดยประชาชนไม่ใช่จัดสรรโดยพรรคการเมือง
—–ข้อเสีย—–
ไม่เหมาะสมกับการปกครองแบบรัฐสภา
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากประสบการณ์ในต่างประเทศของประเทศที่ใช้การเมืองการปกครองในระบบรัฐสภาจะพบว่าการใช้ไพรมารี่โหวตมีข้อจำกัดด้วยเหตุผลสองประการ คือ ความไม่แน่นอนของการมีการเลือกตั้งทั่วไปหรือการเลือกตั้งซ่อม ซึ่งจะมีเวลาทำไพรมารี่โหวตภายในระยะเวลาค่อนข้างสั้น และกลไกการทำงานของระบบรัฐสภาต้องอาศัยพรรคการเมืองเป็นสถาบันในการรวบรวมผู้มีความคิดเห็นหรืออุดมการณ์ที่คล้ายคลึง เพื่อให้เกิดความมีเสถียรภาพของการทำงานของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล ต่างจากระบบแยกอำนาจเด็ดขาดหรือระบบประธานาธิบดี ที่ฝ่ายบริหารไม่สามารถยุบสภาและรัฐสภาไม่สามารถแต่งตั้งหรือล้มรัฐบาลได้
ไม่เหมาะสมกับบริบทการเมืองไทย
สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา มองว่า ระบบไพรมารี่ยังไม่เข้ากับบริบททางการเมืองไทย เพราะเหมาะสมกับประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง พรรคการเมืองเตรียมพร้อมในการส่งผู้สมัคร พรรคมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง มีเวลาหาตัวบุคคลที่เหมาะสม รวมถึงประชาชนเข้าใจระบบดีด้วย ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยขาดความต่อเนื่อง เพราะพอประชาชนเริ่มเข้าใจระบบ ก็เกิดการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง 
พรรคเล็กและพรรคใหม่เสียเปรียบ
นักการเมืองหลายพรรคเห็นตรงกันว่า การทำไพรมารี่โหวตจะมีปัญหากับพรรคเล็กและพรรคการเมืองตั้งใหม่ เนื่องจากว่าอาจไม่สามารถจัดตั้งสาขาพรรคได้ในทุกพื้นที่ทำให้ไม่มีตัวแทนพรรคในการคัดเลือกผู้สมัคร สุดท้ายจะส่งผู้สมัครได้ไม่กี่เขต ส่งผลให้โอกาสในการได้ที่นั่ง ส.ส. ลดน้อยลง ต่างจากพรรคการเมืองใหญ่ที่มีจำนวนสมาชิกและความนิยมอยู่แล้ว ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัด 
เกิดการล็อบบี้เลือกผู้สมัคร
การทำไพรมารี่โหวตด้วยการใช้จำนวนสมาชิกขั้นต่ำเพียง 50 คน สำหรับผู้แทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือสมาชิกขั้นต่ำ 100 คน สำหรับสาขาพรรคการเมือง อาจทำเกิดการล็อบบี้จากผู้มีอิทธิพลหรือนายทุนในท้องที่นั้นเพื่อให้ตัวเองได้เป็นตัวแทนพรรคได้ง่ายขึ้น 
ลดทอนอำนาจของกรรมการบริหารพรรค
การให้สมาชิกพรรคทำไพรมารี่โหวตเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมมากขึ้น แต่ต้องมีความยืดหยุ่นในการทำงานสำหรับกรรมการบริหารพรรค เพราะกรรมการบริหารพรรคเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงทั้งในการควบคุมสมาชิกพรรคและผู้สมัครของพรรคการเมืองไม่ให้กระทำความผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง
ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก
การทำไพรมารี่โหวตพรรคการเมืองจะตั้งใช้งบประมาณจำนวนมาก เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสาขาพรรคหรือการหาสมาชิก ด้วยกติกาแบบนี้พรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กอาจประสบมากกว่าพรรคขนาดใหญ่
ไม่ควรใช้กับผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ
อภิสิทธิ์ เห็นว่าไม่ควรนำระบบไพรมารี่โหวตมาใช้ในการคัดเลือกผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ เพราะจะทำให้คนหน้าใหม่เข้ามาเล่นการเมืองแทบไม่ได้เลย อภิสิทธิ์ ยกตัวอย่างว่า ถ้ามีคนหน่วยก้านดีเป็นคนดังจะชวนเข้าพรรคสองคน แต่ทั้งสองคนไม่ถนัดที่จะลง ส.ส.แบบแบ่งเขต แต่ถ้าจะให้ลงแบบบัญชีรายชื่อก็ต้องให้สาขาพรรคไปลงคะแนน ซึ่งสาขาพรรคจะรู้จักสองคนนี้ดีหรือไม่ แล้วเลือกออกมาแล้วเข้าจะอยู่ลำดับที่เท่าไร ซึ่งความไม่แน่นอนนี้จะทำให้ยากที่จะหาคนใหม่ๆ เข้ามาทำงาน
มีเวลาเตรียมตัวที่น้อยเกินไป
โดยหลักการของไพรมารี่โหวตที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองมากขึ้นทุกพรรคการเมืองต่างก็เห็นร่วมกันในส่วนนี้ แต่เงื่อนไขที่บีบรัดจาก พ.ร.ป.พรรคการเมือง และคำสั่ง คสช. ที่ยังล็อกไม่ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองได้ ส่งผลให้การตั้งสาขาพรรค หรือการหาสมาชิกกพรรค เพื่อเตรียมจัดทำไพรมารีโหวตยังไม่เกิดขึ้น
ซึ่งหากการเลือกตั้งเกิดขึ้นปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จริง พรรคการเมืองจะเหลือเวลาอีกไม่ถึงหนึ่งปีในการทำกิจกรรมเหล่านี้ซึ่งถือว่ามีเวลาน้อยมาก ส่งผลให้หลายพรรคอาจทำไพรมารี่โหวตไม่สำเร็จหรือทำได้ไม่กี่แห่งซึ่งจะทำให้ทั้งพรรคการเมืองและประชาชนเสียโอกาสในการเลือกตั้งครั้งนี้ หรือหากมีพรรคใดทำสำเร็จก็อาจจะมีปัญหาเรื่องคุณภาพของไพรมารี่โหวตที่ถูกเร่งรัดด้วยเวลา
ใครเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยกับไพรมารี่โหวต
ชื่อ ตำแหน่ง เห็นด้วยหรือไม่ เหตุผล
พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม ประธาน กมธ.พิจารณาร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง เห็นด้วย

-ในอดีตพรรคการเมืองเป็นเผด็จการในตัว เป็นของนายทุน เป็นของครอบครัว
-ไม่มีพรรคการเมืองไหนเลยที่เป็นของสมาชิก
-ปฏิรูปพรรคการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย
-สมาชิกพรรคมีสวนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัคร

อลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธาน สปท. เห็นด้วย -เป็นระบบที่โปร่งใสมากขึ้น
-ปรับให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองมากขึ้น
สุริยะใส กตะศิลา ประธานสถาบันปฏิรูปประเทศ เห็นด้วย ไพรมารี่โหวตข้อดีมากกว่าข้อเสียหาก แต่ต้องค่อยๆ ปรับใช้อาจจะทีละภาคไล่จนสามารถบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ
ทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เห็นด้วย -พรรคการเมืองส่วนใหญ่มีสาขาตามต่างจังหวัดอยู่แล้วก็ควรเพิ่มบทบาทมากกว่านี้ 
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วย

-พรรคขนาดกลาง/เล็กเสียเปรียบ
-ต้องใช้งบและคนเยอะ
-เคยมีการทดลองกับพรรคแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ 

ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ไม่เห็นด้วย -ก่อให้เกิดความไม่สามัคคีในพรรค
-พรรคขนาดกลาง/เล็กเสียเปรียบเนื่องจากต้องใช้งบและคนเยอะ 
สุระ เตชะทัต โฆษกพรรคพลังชล ไม่เห็นด้วย พรรคขนาดเล็กจะเสียเปรียบทั้งงบประมาณและคน 
สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ไม่เห็นด้วย พรรคขนาดกลางและเล็กมีปัญหาแน่นอน เสียเปรียบพรรคขนาดใหญ่อย่างเห็นได้ชัด