ยุค คสช. แก้กฎหมาย ป.ป.ช. 3 รอบ ก่อนรื้อใหม่ทั้งฉบับ ย้อนกลับไปกลับมา

 

หลังใช้รัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2560 กฎหมายลูกอีกฉบับอย่าง ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต  (พ.ร.ป.ป.ป.ช.) ฉบับใหม่ ก็ผ่านการพิจารณาวาระที่ 3 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรียบร้อยในช่วงปลายปี ร่างกฎหมายนี้มีหลายประเด็นเปลี่ยนไปจากกฎหมายของ ป.ป.ช. ฉบับเดิม เช่น การเพิ่มหน้าที่ ให้ ป.ป.ช. ต้องส่งเสริม และสนับสนุนให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตคอรัปชั่น
ด้านคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ป.ป.ช. ก็ถูกแก้ไขให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และ 2560 แตกต่างกัน คือ ฉบับปี 2550 ให้ ป.ป.ช. มีวาระ 9 ปี ส่วน ฉบับปี 2560 ให้มีวาระเพียง 7 ปี และรัฐธรรมนูญปี 2560 ยังกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนด "มาตรฐานจริยธรรม" ขึ้นใช้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรีด้วย โดยหากมีการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ก็จะเป็นภารกิจของ ป.ป.ช. เป็นผู้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกานักการเมืองฯ เพื่อวินิจฉัยได้ และหากมีคำพิพากษาว่ากระทำผิดจริง ผู้ต้องคำพิพากษาต้องพ้นจากตำแหน่ง และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งผู้นั้นจะไม่มีสิทธิลงสมัครเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ
ก่อนหน้าที่กฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับล่าสุดจะผ่านการพิจารณาในเดือนธันวาคม ปี 2560 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่ใช้กันอยู่เป็น ฉบับปี 2542 ซึ่งถูกแก้ไขมาแล้วหลายครั้ง หากนับเฉพาะในยุคสมัยของ คสช. ที่มีเป้าหมายทางการเมืองเพื่อปราบปรามคอร์รัปชั่น กฎหมายนี้ถูกแก้ไขไปแล้วถึงสามรอบ แต่ พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับล่าสุด ก็ได้ยกเลิกการแก้ไขที่ผ่านมาสามครั้งก่อนหน้านี้ทั้งหมดและเขียนเป็นกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นทั้งฉบับเลย โดยหลักการบางอย่างที่เพิ่งแก้ไขกันไปก่อนหน้านี้ก็ถูกเอาไปใส่ไว้ในกฎหมายใหม่ด้วย แต่หลักการบางอย่างที่เพิ่งแก้ไขกันไป กลับหายไปอย่างเงียบๆ
ปี 57 ออกประกาศ แก้ที่มา ป.ป.ช.จังหวัด สุดท้ายยุบทิ้งใช้ระบบ 12 ภาคแทน
เริ่มจาก เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2557  คสช. ใช้อำนาจพิเศษออกประกาศ ฉบับที่ 72/2557 แก้ไขจำนวนคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. ประจำจังหวัด จากเดิมมี 9 คน เหลือ 5 คน โดยกำหนดให้กรรมการสรรหาเป็นโดยตำแหน่ง กล่าวคือ กรรมการสรรหามาจากอัยการจังหวัด ผู้อำนวยการการเลือกตั้งจังหวัด รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ฝ่ายทหาร) เป็นต้น ขณะที่ฉบับเดิมกรรมการสรรหามาจากกระบวนการที่องค์กรภาคประชาสังคม เช่น สมาคมครู สภาทนายความ สภาหอการค้าจังหวัด ได้เลือกกันเองเพื่อส่งตัวแทนเข้ามา
อย่างไรก็ดี ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับล่าสุดนี้ ไม่ได้บัญญัติเอาไว้ให้มีกลไกของ ป.ป.ช. ประจำจังหวัดด้วย เพียงแต่ระบุในบทเฉพาะกาลว่า ให้ ป.ป.ช.ประจำจังหวัดซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนที่ พ.ร.ป. ฉบับนี้จะใช้บังคับ ต้องพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ พ.ร.ป.นี้ใช้บังคับ ส่วนสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดยังไม่ถูกยุบ ยังเป็นส่วนราชการในสังกัด มีหน้าที่ตรวจสอบเบื้องต้น การยื่นบัญชี การตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน แต่ไม่มีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น นอกจากนี้ใน พ.ร.ป.ฉบับใหม่ยังให้ตั้งสำนักงาน ป.ป.ช. ภาคขึ้นมา ไม่เกิน 12 ภาค โดยมีหน้าที่และอำนาจไต่สวนเบื้องต้น และกำกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด
ปี 58 แก้กฎหมายให้คดีทุจริตมีโทษประหารชีวิต-ไม่มีอายุความ สุดท้ายแก้กลับ
ต่อมามีการแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช.อีกครั้ง โดยประธาน ป.ป.ช. เป็นผู้เสนอกฎหมายจนผ่านขั้นตอนของ สนช. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 และประกาศออกมาเป็น พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 เนื้อหาส่วนใหญ่ในการแก้ไขครั้งนี้เป็นการกำหนดนิยามและเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ ให้ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศถูกกล่าวหาว่าทำความผิดฐานทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ และยังให้ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยความผิดที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไทยด้วย และในการออก พ.ร.ป. ฉบับปี 2560 ก็ได้เอาหลักการนี้ไปเพิ่มเป็นหมวดความร่วมมือกับต่างประเทศ ขึ้นมาเป็นอีกหมวดหนึ่งด้วย 
การแก้ไขครั้งนี้ยังได้เพิ่มบทกำหนดโทษ 4 มาตรา ได้แก่ มาตรา 173, 174, 175 และ 176 เช่น “มาตรา 176 ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศหรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการหรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” เนื้อหาที่แก้ไขเพิ่มเติมส่วนนี้ได้ยกเข้าไปอยู่ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับปี 2560 ด้วย
แต่การแก้ไขเพิ่มเติมบางประเด็นก็ไม่ได้เอาไปใส่ไว้ในกฎหมายฉบับใหม่ด้วย เช่น ไม่พบหมวดการดำเนินคดีอาญาเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศและเอกชน ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับลักษณะเรื่องที่ ป.ป.ช. อาจไม่รับหรือยกขึ้นมาพิจารณา และไม่พบเนื้อหาเกี่ยวกับการควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาไว้ในอำนาจของศาลเมื่อมีการจับผู้ถูกกล่าวหาไว้ระหว่างดำเนินคดี
ประเด็นที่มีการพูดถึงมากสำหรับการแก้ไขกฎหมายในปี 2558 คือ การกำหนดโทษสูงสุดสำหรับความผิดฐานเจ้าพนักงานของรัฐเรียกรับผลประโยชน์ถึงขั้นประหารชีวิต และการแก้ไขให้คดีที่เกี่ยวกับการทุจริตไม่มีอายุความ ซึ่งในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับปี 2560 ได้ตัดเนื้อหาส่วนนี้ออกแล้ว โทษสูงสุดของความผิดฐานทุจริตลดลงเหลือ โทษจำคุกตลอดชีวิต แต่ก็ยังมีบัญญัติไว้ในมาตรา 50 ว่า หากคดีขาดอายุความโดยเกิดจากความผิด หรือจงใจปล่อยปละละเลย หรือประมาทเลินเล่อของผู้ใด ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการเพื่อลงโทษผู้นั้นโดยเร็ว ซึ่งหวังว่า จะเป็นการกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ไม่เพิกเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่เพื่อปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น
ปี 59 แก้กฎหมายให้ตั้งพนักงานไต่สวนเป็นผู้ช่วย ป.ป.ช. อีกแรง
ปีต่อมา มีการแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช. อีกครั้ง โดยคณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอกฎหมายจนผ่านขั้นตอนของ สนช. เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 และประกาศออกมาเป็น พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 ที่กำหนดให้ ป.ป.ช. มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานไต่สวนและหัวหน้าพนักงานไต่สวน เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของ ป.ป.ช. ให้รวดเร็วและเหมาะสมยิ่งขึ้น โดย เนื้อหาบางส่วนในประเด็นนี้เมื่อออกกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับปี 2560 ก็ได้เอาไปรวมอยู่ด้วย เช่น นิยาม “หัวหน้าพนักงานไต่สวน”, การกำหนดให้ก่อนดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ป.ป.ช. จะมอบหมายให้พนักงานไต่สวนดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานแทนก็ได้, การเปลี่ยนคุณสมบัติของข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. จากเดิมต้องเป็นผู้มีความรู้ในระดับเนติบัณฑิตหรือจบปริญญาทางกฎหมาย เปลี่ยนเป็นผู้ที่จบปริญญาโททางกฎหมายขึ้นไป หรือสอบไล่ได้เนติบัณฑิต หรือจบปริญญาตรีทางกฎหมายหรือสาขาอื่นที่ประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน ซึ่งเปิดกว้างมากกว่าเดิม
ส่วนเนื้อหาที่มีใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 แต่ไม่พบในร่างพ.ร.ป.ฉบับใหม่ เช่น นิยามคำว่า “พนักงานไต่สวน”, การกำหนดให้ ป.ป.ช.มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานไต่สวนจากพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เป็นข้าราชการสังกัดสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นต้น
ปี 60 ยังเพิ่มอำนาจให้ ป.ป.ช. ทำงานได้คล่องขึ้นอีก
นอกเหนือจากการรวมเอาการแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช. สามครั้งก่อนหน้านี้เข้าด้วยกันแล้ว ในกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับปี 2560 นี้ ยัง "ติดอาวุธ" เพิ่มอำนาจบางประการให้กับ ป.ป.ช. เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ โดยระบุเหตุผลไว้ชัดเจนว่า เพื่อให้การทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จึงให้จำกัดสิทธิของประชาชนได้ เท่าที่ไม่ขัดหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิเกินสมควรแก่เหตุ 
ดังเช่น ในมาตรา 38 กรณีที่ ป.ป.ช. มีความจำเป็นต้องได้ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินของบุคคลที่กำลังถูกตรวจสอบหรือไต่สวน ป.ป.ช. มีอำนาจขอข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ได้ตามที่จำเป็น และให้ถือว่าการส่งมอบข้อมูลดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย หรือ ในมาตรา 39 ที่เพิ่มบทบัญญัติว่า กรณีที่เป็นความผิดซึ่งหน้า ให้กรรมการ พนักงานไต่สวน ที่ ป.ป.ช. มอบหมาย และพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ มีอำนาจจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล