ไม่ใช่ทหารทุกคน จะมีอำนาจ บุก-จับ-ค้น ได้ทุกบ้าน

 

ประชาชนอาจจะคุ้นชินไปแล้วว่า ในยุคที่ทหารมีอำนาจเป็นใหญ่ในบ้านเมือง ทหารสามารถเข้าไปในบ้านของประชาชนไม่ว่าจะเพื่อตรวจค้น จับกุมผู้ต้องสงสัยหรือด้วยเหตุใดก็ได้ โดยอาศัย "มาตรา44" เป็นฐานอำนาจ ซึ่งความเข้าใจเช่นนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด และเป็นส่วนหนึ่งของผลลัพธ์จากการที่ทหารอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานจนบางทีอำนาจของทหารอาจถูกตั้งคำถามน้อยเกินไป
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจ พร้อมการใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศนานกว่า 10 เดือน กฎอัยการศึกเป็นเรื่องของภาวะสงครามจึงให้อำนาจทหารทำได้แทบจะทุกอย่าง สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ทุกที่ สามารถบุกเข้าบ้านประชาชนและตรวจค้นได้ทุกเวลาโดยไม่มีข้อจำกัดการใช้อำนาจ แต่เมื่อกฎอัยการศึกถูกยกเลิกไปในวันที่ 1 เมษายน 2558 อำนาจทหารที่ทำได้แทบจะทุกอย่างจึงหมดลง และ คสช. ก็เลยออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ขึ้นใช้แทน
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เป็นคำสั่งที่มีวัตถุประสงค์ให้ทหารเข้ามามีอำนาจดูแลเรื่องความสงบเรียบร้อยโดยตรง คำสั่งฉบับนี้ถูกประกาศใช้ทันทีหลังยกเลิกกฎอัยการศึก โดยอาศัยอำนาจพิเศษจากมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ซึ่งกำหนดให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. ทั้งคณะ สามารถออกคำสั่งใดๆ อันจะมีผลในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการก็ได้
หลังจากนั้นอีกหนึ่งปี พล.อ.ประยุทธ์ ก็อาศัยอำนาจพิเศษตาม "มาตรา 44" ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2559 อีกฉบับหนึ่ง เพื่อให้ทหารเข้ามามีอำนาจปราบปรามผู้มีอิทธิพล เช่น ผู้ต้องสงสัยฐานค้ายาเสพติด เจ้ามือพนัน ผู้มีพฤติการณ์ซ่องสุมอาวุธ ฯลฯ โดยทำงานร่วมกับตำรวจได้
คำสั่งทั้งสองฉบับนี้ กำหนดให้ทหารมีอำนาจเพิ่มเติมเกี่ยวกับการค้นและการจับกุม ซึ่งในสถานการณ์ปกติจะเป็นหน้าที่ของตำรวจเป็นหลัก ทั้งนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ของทหารระดับปฏิบัติการ หลายครั้งพบว่า เจ้าหน้าที่ทหารยังสับสนในอำนาจหน้าที่ของตัวเอง โดยอ้างอิงอำนาจเพียงลอยๆ ว่า ทหารมีอำนาจตาม "มาตรา 44" ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ไม่ถูกต้อง เพราะผู้ที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้ ไม่ใช่ทหารทุกคน แต่มีเพียงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คนเดียวเท่านั้น ความไม่เข้าใจหรือการกล่าวอ้างอย่างลอยๆ เช่นนี้ สร้างความสับสนให้ประชาชน และทำให้ประชาชนเข้าใจไปโดยคลาดเคลื่อนว่า ทหารทุกคนมีอำนาจตรวจค้นและจับกุมประชาชนได้ ด้วย "มาตรา 44"
ส่วนเมื่อทหารระดับปฏิบัติต้องการจะใช้อำนาจเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ก็ต้องอ้างอิงอำนาจของตัวเองให้ถูกต้องว่ากำลังทำตามคำสั่งที่ 3/2558 หรือ 13/2559 ซึ่งคำสั่งสองฉบับนี้ก็ยังไม่ได้ให้ทหารมีอำนาจตรวจค้นจับกุมประชาชนได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด แต่กลับมีเงื่อนไขการใช้อำนาจที่ชัดเจน อย่างน้อยดังนี้
1. ทหารที่จะใช้อำนาจพิเศษนี้ได้ ต้องมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ขึ้นไป และต้องได้รับการแต่งตั้งเป็นการเฉพาะจากหัวหน้า คสช. ไม่ใช่ว่า ทุกคนที่เป็นทหารจะมีอำนาจพิเศษทั้งหมด
2. ทหารจะใช้อำนาจพิเศษนี้ได้ ก็เพื่อปราบปรามการกระทำความผิดบางประการเท่านั้น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ให้อำนาจทหารเข้ามาปราบปรามผู้ต้องสงสัยในคดีความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ความผิดต่อความมั่นคง ความผิิดตามกฎหมายอาวุธปืน และความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศและคำสั่ง คสช. 
ส่วนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2559 ให้อำนาจทหารเข้ามาในกรณีมีผู้ต้องสงสัยว่า ดำรงชีพด้วยการทำผิดกฎหมาย หรือได้ประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายจากการข่มขืนใจผู้อื่นให้กลัวอันตราย เท่านั้น หากทหารสงสัยว่า บุคคลใดทำความผิดตามกฎหมายอื่น จะอ้างอำนาจพิเศษเข้ามาจัดการไม่ได้ ต้องให้เป็นหน้าที่ตำรวจทำงานตามปกติ
3. การจับกุมตัว ทหารจะจับได้เฉพาะกรณีที่ความผิดเกิดขึ้นต่อหน้าทหารเท่านั้น หากไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้า การจับกุมผู้ต้องสงสัยก็ต้องมีหมายจับที่ออกโดยศาล เช่นเดียวกับกระบวนการปกติ
4. การค้นบ้าน ทหารจะเข้าค้นเคหสถานได้เฉพาะกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่า หากเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ ผู้ต้องสงสัยจะหลบหนีไปหรือทรัพย์สินที่เป็นหลักฐานจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทําลาย หากไม่มีเหตุปัจจัยเหล่านี้ที่พิสูจน์ได้ชัดเจน การเข้าค้นบ้านก็ต้องมีหมายค้นที่ออกโดยศาล เช่นเดียวกับกระบวนการปกติ
โดยสรุปแล้ว หากทหารจะมาขอตรวจค้น หรือจับกุมตัวใคร ทหารจะอ้างลอยๆ เพียงว่า มีอำนาจตาม "มาตรา 44" ไม่ได้ ประชาชนสามารถสอบถามให้ชัดเจนได้ก่อนว่า ทหารนั้นมียศอะไรและได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ให้มีอำนาจมาตรวจค้นจับกุมหรือไม่ การตรวจค้นจับกุมนั้นเกิดจากข้อสงสัยว่า มีการกระทำความผิดตามข้อหาที่อยู่ในคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งสองฉบับดังกล่าวหรือไม่ หากเป็นเรื่องอื่นไม่อยู่ในขอบเขตของคำสั่งหัวหน้า คสช. ทหารก็จะอ้างอำนาจมาดำเนินการใดๆ ไม่ได้ หรือหากเป็นความผิดที่อยู่ในขอบเขตอำนาจของทหาร การตรวจค้นและจับกุมในกรณีทั่วไปทหารเองก็ยังต้องขอหมายจากศาลด้วย ไม่ใช่จะตรวจค้นจับกุมใคร เมื่อไร ก็ได้
อย่างไรก็ดี คำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งสองฉบับยังให้อำนาจพิเศษแก่ทหารอีกหนึ่งประการ คือ ให้ทหารมีอำนาจเรียกตัวบุคคลที่ต้องสงสัยมาพบและกักตัวไว้เพื่อสอบถามข้อมูลได้ไม่เกิน 7 วัน โดยสามารถควบคุมตัวเอาไว้ในค่ายทหารได้ หากใครขัดขืน ไม่ยอมทำตามคำสั่งทหารมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และการใช้อำนาจของทหารตาม คำสั่งหัวหน้า คสช. เหล่านี้ ไม่อาจถูกตรวจสอบได้โดยศาลปกครอง หากทหารกระทําการไปตามอํานาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เกินกว่าเหตุ ทหารก็ไม่ต้องรับผิดทั้งทางอาญา ทางแพ่ง และทางวินัย