ห้ามวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ โทษจำคุก มาได้ยังไง? : ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ขอ – กรธ. ไม่ได้ให้เอง

เก็บตกงานเสวนา “ละเมิดอำนาจศาล : จุดกึ่งกลางระหว่างอำนาจกับสิทธิอยู่ที่ใด?” จัดโดยศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 โดยมีวิทยากรที่สำคัญ คือ ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และศาสตราจารย์(พิเศษ) จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ การแลกเปลี่ยนกันระหว่างวิทยากรทั้งสองซึ่งเกี่ยวข้องกับการร่างกฎหมายใหม่ ให้มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญด้วย
ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายลูกอีกหนึ่งฉบับที่ริเริ่มร่างโดยศาลรัฐธรรมนูญ และส่งให้ กรธ. เป็นผู้พิจารณา ก่อนเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติและประกาศลงราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2561 ข้อกังวลอยู่ที่มาตรา 38-39 ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจออกข้อกำหนดใดๆ ได้ ผู้ที่วิจารณ์คำพิพากษาของศาลโดยไม่สุจริตหรือหยาบคาย หรือผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดใดๆ อาจถูกสั่งให้มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล มีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
‘ละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ’ ทำไมของมันต้องมี
ศ.ดร.อุดม กล่าวว่า คนที่มาใช้อำนาจตุลาการนั้นถูกเรียกร้องให้เขาเป็นคนที่มีทั้งสติและปัญญา สติในที่นี้ ก็คือ การที่เขาสามารถควบคุมตัวเองในเรื่องของการทำหน้าที่ ถ้าศาลหรือผู้พิพากษาไม่สามารถควบคุมสติ ไม่สามารถใช้ปัญญาของตัวเองตามปกติได้ ผลของการวินิจฉัยคดีก็อาจจะออกมาแย่ ข้อนี้เป็นความจำเป็นพื้นฐาน เราควรต้องตระหนักและเห็นความสำคัญ หลายๆ ประเทศก็กำหนดให้สถาบันศาลเป็นองค์กรที่ต้องได้รับความเคารพ ของประเทศไทยเราถึงขั้นที่บอกว่า ศาลใช้อำนาจอยู่ในพระปรมาภิไธยของในหลวง
ดังนั้น ศ.ดร.อุดม จึงย้ำว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจำเป็นที่จะต้องมี เพื่อคุ้มครองให้บรรยากาศของศาลเกิดความสงบเรียบร้อย ทำให้ศาลสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงการป้องกันในเรื่องของการข่มขู่ คุกคาม ที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษา ตุลาการ
“บรรยากาศของห้องพิจารณา บริเวณศาลมันต้องสงบ ต้องเป็นที่ที่คนรู้สึกว่าเราต้องมาหาความยุติธรรม เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องมีกฎหมายมาดูแลรักษาให้เกิดความสงบเรียบร้อย บางคนอาจจะพูดเรื่อง การส่งเสียงโวยวาย อะไรต่างๆ ในบริเวณศาล ซึ่งทำให้ไม่เกิดความเรียบร้อย บางคนก็อาจจะพูดถึง การประพฤติปฏิบัติตัวไม่เป็นไปตามสิ่งที่ระเบียบเขากำหนด” คณบดีคณะนิติศาสตร์กล่าว
ด้าน ศาสตราจารย์(พิเศษ) จรัญ เล่าเรื่องที่มาของความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ขอให้มีบทบัญญัติเรื่องการละเมิดอำนาจศาลมาตั้งแต่ต้น แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร เหตุผลก็คือ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยชี้ขาดข้อขัดแย้งการการเมือง เพราะฉะนั้นก็อยากให้ประชาชนรวมทั้งนักการเมือง สามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่ เพื่อคานอำนาจของของศาลรัฐธรรมนูญ จะได้ไม่เหลิงอำนาจ แล้วใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางที่ไม่ถูกไม่ควร
“ศาลรัฐธรรมนูญยกร่างกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2551 แล้วก็เสนอไปตามกระบวนการ เขาก็บรรจุเข้าอยู่ในวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ค้างอยู่ในวาระนั้นจนถูกรัฐประหารในปี 2557 เรื่องที่ค้างนานที่สุด ก็คือเรื่องละเมิดอำนาจศาล ทางสภาผู้แทนราษฎรให้ตัดออก ทางศาลรัฐธรรมนูญก็ทักท้วงขอทบทวนว่ามันจำเป็น เราก็เริ่มยกตัวอย่างให้เห็นว่ามันทำงานไม่ได้จริงๆ ไม่ได้ถึงขนาดต้องกลายเป็นศาลพเนจร  ไม่สามารถนั่งพิจารณาคดี พิพากษาคดี ในศาลของตัวเองได้”
ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ เล่าประสบการณ์สมัยปี 2551 ระหว่างการพิจารณาคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ซึ่งถูกกลุ่มผู้ชุมนุมปิดล้อมที่ทำการของศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการถูกข่มขู่ จนกระทั่งทางฝ่ายกองทัพ ได้เสนอว่าให้ไปนั่งพิจารณาคดีในกองบัญชาการทหาร แต่ทางศาลก็เห็นว่า จะทำให้ดูแย่ยิ่งไปกว่าเดิม จึงทำให้สุดท้ายต้องไปขอใช้สถานที่ของศาลปกครองเพื่อพิจารณาคดี
“วันดีคืนดี ก็มีลูกระเบิด M79 ทะลุหน้าต่างศาลเข้ามาแล้วก็ไปตกอยู่ตรงกลางห้องโถง แต่โชคดีมันไม่ระเบิด เพราะมันอาจจะใกล้เกินไป ผู้เชี่ยวชาญบอกว่ามันยังไม่ระเบิดเพราะว่าวิถีกระสุนมันยังไม่ได้ ในตอนนั้นข่าวกรองก็แจ้งมาตั้งแต่ตอนค่ำก่อนการอ่านคำวินิจฉัยว่าเขาจะปิดล้อม ขอให้อย่านอนที่บ้านให้ไปนอนที่ปลอดภัย เราก็รับไม่ได้ ถ้าจะต้องไปซุกหัวอย่างนี้ ก็เลยไปประชุมกัน ท่านประธานศาลก็บอกเอาอย่างนี้แล้วกันไปหาโรงแรมอยู่ด้วยกัน อย่าให้ใครรู้”
“นี่คือสภาพที่เราพบว่า เราไม่มีปัญญาที่จะป้องกันอะไรตัวเองได้ คือ เราทำอะไรไม่ได้แล้วต้องไปอาศัยศาลปกครองช่วย เพราะศาลปกครองท่านมีกฎหมายละเมิดอำนาจศาล… มันก็ช่วยยับยั้งได้ แล้วก็ประกาศให้ทราบว่า อย่าบุกเข้ามานะ มันเป็นการละเมิดอำนาจศาล มันก็มีคนบุกเข้ามา แต่เจ้าหน้าที่เขาก็กันเอาไว้ได้ บางคนก็บุกเข้ามาในอาคารได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าเราอยู่ชั้นไหน ส่วนพวกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเขาเตรียมไว้ว่าไม่ต้องใช้ลิฟต์เดินขึ้นไปบนดาดฟ้า จะมีฮอมารับ ดูสิศาลบ้าบออะไร” จรัญเล่า
ศาลรธน. ยันไม่เอาโทษจำคุก ไม่ห้ามวิจารณ์ – กรธ. บอกไม่ได้เริ่มเอง
ศาสตราจารย์(พิเศษ) จรัญกล่าวว่า ทางศาลรัฐธรรมนูญเสนอมาตลอดว่า ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจลงโทษในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถดูแลตัวเองได้ โดยข้อเสนอ คือ ไม่เอาโทษจำคุก เพราะว่า ในกรณีที่ต้องการจะดำเนินคดีอาญาก็ควรไปแจ้งความ กล่าวโทษในข้อหาข่มขู่ คุกคาม ดูหมิ่นผู้พิพากษา ตุลาการ ตามประมวลกฎหมายอาญาก็ได้ ขอเพียงแค่ให้มีอำนาจป้องกันในกรณีจะมีคนมาบุก หรือขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ ส่วนเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ก็ยินดีเปิดให้วิพากษ์วิจารณ์กันเต็มที่ อย่างที่ฝ่ายการเมืองต้องการ
“เราก็เลยขอว่า ขอเถอะ ขอให้มีกฎหมายละเมิดอำนาจศาลให้เราสั่งเองได้ แต่ท่านจะให้มากน้อยแค่ไหน สุดแล้วแต่ท่านจะเห็นสมควร แล้วเราก็ออกแบบ เอาอย่างนี้นะ เราไม่เอาโทษจำคุกเลย มันทำท่าว่าจะได้ข้อยุติ พอดีรัฐประหารก่อน 22 พฤษภาคม 2557 ร่างกฎหมายที่คามา 7 ปี ก็ตกไป” ศาสตราจารย์(พิเศษ) จรัญเล่า
ศาสตราจารย์(พิเศษ) จรัญเล่าต่อว่า เมื่อถึงกระบวนการของรัฐธรรมนูญ 2560 ตอนที่จะเสนอร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ให้กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เราก็เอาข้อความเรื่องการละเมิดอำนาจศาลตามที่มีอยู่เดิมเสนอไป โดยที่เตรียมใจไว้แล้วว่า ถ้าไม่ให้ก็จะขอต่อรองลดโทษจำคุกลงไป หรือ ตัดเรื่องข้อจำกัดในการวิพากษ์วิจารณ์ออกไป เอาเฉพาะอำนาจป้องกันการเข้ามาก่อความไม่สงบเรียบร้อย แต่นึกไม่ถึงเลยว่า ทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะให้อำนาจมาเต็มที่
ศาสตราจารย์(พิเศษ) จรัญ ยังให้ความเห็นด้วยว่า มีจุดที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญอาจจะให้อำนาจมากเกินไป ก็คือในมาตรา 38 วรรค 2 ที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญไปออกข้อกำหนดได้ ซึ่งเป็นการเขียนที่เปิดช่อง เพราะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ออกข้อกำหนดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็เป็นไปได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้ช่องทางนี้ออกข้อกำหนดว่า การวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่เกี่ยวกับคำวินิจฉัยหรือ การพิจารณา ก็เป็นละเมิดอำนาจศาลแล้ว ซึ่งเป็นการขยายความกว้างออกไป
ด้าน ศ.ดร.อุดม ในฐานะหนึ่งในกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กรรมการร่างรัฐธรรมนูญเห็นด้วยกับที่ทางศาลรัฐธรรมนูญยกร่างฯ มาในเบื้องต้นว่า อยากให้กำหนดเรื่องความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ในการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญขึ้น ซึ่งทาง กรธ. ก็เห็นด้วยตามที่เสนอมา โดยไม่ได้ไปเปลี่ยนอะไร
อย่างไรก็ตามเมื่อถูกถามถึงประเด็นที่ว่า กรรมการร่างรัฐธรรมนูญมองอย่างไรจึงได้ใส่ประเด็นนี้ลงไป ศ.ดร.อุดมตอบว่า ขอชี้แจงโดยไม่ยืนยันว่า ความคิดเรื่องความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลในศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เริ่มที่ กรธ. แต่เป็นร่างฯ ที่ส่งมาจากศาลรัฐธรรมนูญแน่ๆ ทาง กรธ. ไม่ได้ไปกำหนดเพิ่มขึ้น หากทางศาลรัฐธรรมนูญไม่เอาโทษจำคุก เราก็คงไม่ไปเพิ่มโทษจำคุกให้
“สิ่งที่ท่านอาจารย์พูดก็มีประเด็นว่า ในทางความเป็นจริงก็เป็นที่เข้าใจว่า อย่างนั้นก็ไม่ควรจะเขียน โทษจำคุกมันเขียนแล้วดูผิดเพี้ยน มันใช้ตอนสมัย พ.ศ.2477 แล้วมาตอนนี้โลกมันเปลี่ยนไปตั้งเยอะแล้ว ทำไมยังเอามาใช้อีก” ศ.ดร.อุดม ให้ความเห็นทิ้งท้าย
ในขณะที่ศาสตราจารย์ (พิเศษ) จรัญ ในฐานะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตอบกลับในประเด็นที่มาของโทษจำคุกว่า “แก้ตัวว่าอย่างนี้ครับ มันเป็นเหตุการณ์ตอนที่เราออกรัฐธรรมนูญปี 2550 ตอนที่เสนอร่างฯไปยัง กรธ. เจ้าหน้าที่เขาไปเอาตัวแบบของศาลปกครอง แต่ว่า พวกเราเตรียมถอยแล้ว ถ้าเกิดสมมติท่านตัดออก เราก็ไม่ทักท้วง เพราะว่ามันเป็นเรื่องของเราเอง แล้วจริงๆ เราก็อยู่กันมาได้โดยไม่มีมันแม้แต่น้อย”
You May Also Like
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน