ร่างกฎหมายลูก ส.ว. : สนช. แก้ลดโควต้าอาชีพผู้สมัคร ส.ว. เหลือแค่ 10 กลุุ่ม

จากหลักการเดิมที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เป็นคนเสนอ ตามร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือ พ.ร.ป.ว่าด้วยที่มา ส.ว. กำหนดไว้ว่า ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการ  'คัดเลือกกันเอง' ของผู้สมัคร ส.ว. ที่มาจากโควต้ากลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม 
แต่ร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 มีการเปลี่ยนหลักการ โดยลดจำนวนโควต้ากลุ่มอาชีพลงจาก 20 กลุ่ม เหลือเพียง 10 กลุ่ม พร้อมทั้งเพิ่มช่องทางให้องค์กรนิติบุคคลสามารถเสนอชื่อ ผู้สมัคร ส.ว. ได้ 
นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนวิธีการเลือกตัวแทนจากเดิมที่ใช้ระบบการเลือกไขว้ระหว่างกลุ่ม เป็นเลือกกันเองภายในกลุ่ม ส่วนบทเฉพาะกาลก็ยังคงกำหนดให้ ส.ว. ชุดแรก 250 คนมาจากการคัดเลือกโดย คสช. อยู่เหมือนเดิม
สนช. ไม่ติดใจ ให้คสช. เลือก ส.ว. ชุดแรก 250 คน
ตามบทเฉพาะกาลของ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยที่มา ส.ว. กำหนดว่า ในวาระเริ่มแรก ให้ ส.ว. มาจากการคัดเลือกโดยคสช. จำนวน 250 คน โดยแบ่งวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว. ออกเป็น 2 แบบ ได้แก่
(1) ผู้ที่ถูกคัดเลือกมาจากวิธีการที่กำหนดไว้ใน ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยที่มา ส.ว. จำนวน 50 คน ซึ่งมาจากผู้ผ่านการคัดเลือกระหว่างกลุ่มอาชีพทั้ง 10 กลุ่มจากทั่วประเทศ โดยจะคัดเลือกกันเองให้เหลือ 200 คน และให้ คสช. คัดเลือกอีกครั้งให้เหลือ 50 คน และคัดชื่อสำรองอีก 50 คน
(2) ผู้ที่ถูกคัดเลือกมาจากคณะกรรมการสรรหาฯ จำนวน 200 คน ซึ่งมาจากผู้ที่คณะกรรมการสรรหาที่แต่งโดย คสช. เป็นคนคัดเลือกจำนวนไม่เกิน 400 คน และให้ คสช. คัดเลือกให้เหลือ 194 คน พร้อม ส.ว. โดยตำแหน่งอีก 6 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
สนช. แก้ระบบโควต้าอาชีพผู้สมัคร ส.ว. จาก 20 เหลือแค่ 10 กลุ่ม
แต่เดิม กรธ. เสนอ ให้มีโควต้ากลุ่มอาชีพสำหรับผู้สมัคร ส.ว. ไว้ 20 กลุ่ม โดยผู้ที่ต้องการลงสมัคร ส.ว. ต้องเลือกว่าจะสมัครเป็นตัวแทน ส.ว. จากกลุ่มอาชีพไหน แต่สนช. ได้แก้ไขบทบัญญัติเพื่อลดจำนวนกลุ่มอาชีพลงเหลือแค่ 10 กลุ่ม ได้แก่
(1) กลุ่มการบริหารราชแผ่นดินและความมั่นคง อันได้แก่ ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ 
(2) กลุ่มกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย
(3) กลุ่มการศึกษาและสาธารณสุข อันได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์  นักวิจัย ผู้บริหารศึกษา บุคลากรทางการศึกษา แพทย์ เทคนิกการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร
(4) กลุ่มอาชีพกสิกรรม ปลูกพืชล้มลุก ทำนา ทำสวน ทำไร่ ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง
(5) กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ  
(6) กลุ่มอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม 
(7) กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว โรงแรง อุตสาหกรรม
(8) กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์ ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์
(9) กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกิฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม
(10) กลุ่มอื่นๆ 
นอกจากนี้ สนช. ยังขยายช่องทางการสมัครของผู้สมัครเข้ารับเลือกเป็น ส.ว. เพิ่มอีกทางหนึ่ง จากเดิมที่ให้มีแต่ผู้สมัครอิสระ แต่ตอนนี้เพิ่มช่องทางให้องค์กรวิชาชีพที่เป็นนิติบุคคลสามารถเสนอชือผู้สมัคร ส.ว. ได้ด้วย
สนช. ยกเลิกระบบเลือกไขว้ เพิ่มข้อสันนิษฐานการทุจริต
เดิม กรธ. เสนอ วิธีการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ว. ไว้สองวิธี คือ เลือกกันเองภายในกลุ่ม กับเลือกไขว้ โดยระบบ "เลือกไขว้" คือ ให้แต่ละกลุ่มอาชีพมีสิทธิลงคะแนนคัดเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นๆ แต่ สนช. ได้ยกเลิกระบบดังกล่าวโดยให้การคัดเลือกตัวแทนทั้งในระดับอำเภอ จังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศ เป็นระบบเดียวกัน คือ เลือกกันเองภายในกลุ่มอาชีพของตัวเอง
นอกจากนี้ สนช. ยังเพิ่มบทบัญญัติว่า ถ้ากลุ่มอาชีพใดมีผู้สมัครที่ไม่ได้คะแนนเลยมากกว่าร้อยละ 10 ของผู้สมัครทั้งหมด แต่ต้องไม่น้อยกว่าสามคน ให้สันนิษฐานว่ามีการสมยอมกันในการเลือก และถือว่าการเลือกดังกล่าวไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม ต้องเลือกกันเองใหม่ โดยให้ผู้ที่ไม่ได้รับคะแนนเลือกหมดสิทธิไปในการเลือกครั้งนั้น
"ซื้อเสียง-ใช้อิทธิพล-กลั่นแกล้ง" มีโทษจำคุกพร้อมเพิกถอนสิทธิลงสมัคร
สำหรับเรื่องบทลงโทษการทุจริต สนช. ไม่ได้แก้ไขมากนัก หลายอย่างยังคงเดิม ได้แก่ ความผิดสำหรับผู้กระทำการสนับสนุนให้บุคคลเข้าหรือไม่เข้ารับการสมัครเพื่อประโยชน์ในการลงคะแนนให้แก่ตน หรือผู้สมัครอื่น หรือลงสมัครเพื่อการเลือกโดยมีผลประโยชน์ตอบแทน หรือ หากผู้สมัครคนใดยินยอมให้บุคคลใด ช่วยเหลือเพื่อให้เป็น ส.ว. หรือผู้ใดกระทำการสัญญาว่าจะให้ จัดเลี้ยง ใช้อิทธิพล เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนๆ ให้แก่ตน หรืองดเว้นลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด ทั้งนี้ หากผู้ใดกระทำความผิดข้างต้น ให้ถือว่ามีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ถึง 10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 20 ปี
บุคคลทั่วไปมีสิทธิร้องเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ว. และผู้สมัครสามารถคัดค้านผลได้
ในกรณีที่บุคคลใดเห็นว่าผู้สมัคร ส.ว. คนใด ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขในการลงสมัคร ให้บุคคลนั้นยื่นคำร้องต่อศาลฏีกาให้วินิจฉัยได้
หากศาลมีคำสั่งให้ผู้สมัครรายใดเป็นผู้ไม่มีสิทธิรับสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. ให้ถอนชื่อผู้นั้นออกจากประกาศบัญชีรายชื่อ และหากศาลมีคำสั่งภายหลังการประกาศผลการคัดเลือก ส.ว. กกต. มีอำนาจขอศาลให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลดังกล่าวได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ผู้สมัครมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อ กกต. ว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากว่าเป็นการคัดค้านการเลือกหรือนับคะแนนในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด หรือประเทศ ให้ยื่นคำร้องภายใน 48 ชั่วโมง นับตั้งแต่การคัดเลือกมีปัญหา จากนั้น ให้ กกต. ดำเนินสืบสวน ไต่สวน หรือวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป
You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ