รู้จัก ระบบการคัดเลือกผู้สมัครขั้นต้น หรือ ไพรมารีโหวต (Primary Vote) ในพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ

ตามคำแถลงของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 โดยจะมีตำแหน่งส.ส. 500 ที่นั่ง แบ่งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต 350 ที่นั่ง และเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน ให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคได้ชิงชัยกัน
กติกาการเลือกตั้งส.ส.ครั้งนี้ไม่เหมือนการเลือกตั้งครั้งไหนๆ ที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่แตกต่างคือ การมีระบบการคัดเลือกผู้สมัครขั้นต้น หรือ ระบบ Primary Vote กล่าวคือ ก่อนการเลือกตั้งจริงทุกพรรคการเมืองจะต้องจัดการเลือกขั้นต้น เพื่อให้สมาชิกพรรคลงคะแนนเลือกว่า ใครจะเป็นตัวแทนของพรรค ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งประจำเขตต่างๆ ระบบนี้ถูกบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หรือ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ โดยมีรายละเอียดและขั้นตอนดังนี้
การส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต (มาตรา 47)
1. พรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ใด ต้องมี “สาขาพรรคการเมือง” หรือ “ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด” ที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้งนั้น
2. ให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ในเขตเลือกตั้ง จากผู้ซึ่งได้รับเลือกจากสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้งนั้นให้เป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

"สาขาพรรคการเมือง"

 

ต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของสาขานั้นตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป

"ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด" 

 

ต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นเกิน 100 คน

 

การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขต (มาตรา 50)

1. ให้ "คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง" ของแต่ละพรรคการเมือง กำหนดวัน เวลา และสถานที่ในการสมัครเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง และประกาศให้สมาชิกของพรรคทราบ
2. เมื่อกำหนดเวลารับสมัครแล้ว ให้คณะกรรมการสรรหาฯ ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครในแต่ละเขต แล้วส่งรายชื่อผู้สมัครให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดที่มีพื้นที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้งนั้น
3. เมื่อสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดได้รับรายชื่อผู้สมัคร ให้จัดประชุมสมาชิกเพื่อลงคะแนนเลือกผู้สมัครตามที่คณะกรรมการสรรหาฯ ส่งมา
4. การประชุมสาขาพรรคการเมืองต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน หรือการประชุมตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน โดยในการลงคะแนนให้สมาชิกมีสิทธิลงคะแนนเลือกได้หนึ่งคน และเมื่อลงคะแนนเสร็จแล้วให้นับคะแนนและประกาศผลการนับคะแนน แล้วรายงานรายชื่อผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดสองลำดับแรกให้คณะกรรมการสรรหาฯ
5. ให้คณะกรรมการสรรหาฯ ส่งรายชื่อผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดของแต่ละเขตเลือกตั้งให้คณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยหากคณะกรรมการบริหารพรรคไม่เห็นชอบ ให้แสดงเหตุผลและให้พิจารณาผู้สมัครซึ่งได้คะแนนในลำดับถัดไปเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ในกรณีที่คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่เห็นชอบกับรายชื่อทั้งหมด ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและคณะกรรมการสรรหาฯ ประชุมร่วมกัน หากที่ประชุมร่วมกันมีมติเห็นชอบกับผู้สมัครรายใด ให้เสนอชื่อผู้สมัครรายนั้น
การส่งผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (มาตรา 48)
การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ให้พรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อ เพื่อส่งให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด โดยคำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง
การสรรหาผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (มาตรา 51)
1. ให้คณะกรรมการสรรหาฯ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง กำหนดวัน เวลา และสถานที่ในการเสนอรายชื่อบุคคลเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง และมีหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และประกาศให้สมาชิกทราบ
2. เมื่อกำหนดเวลาเสนอรายชื่อ ให้คณะกรรมการสรรหาฯ ตรวจสอบคุณสมบัติและจัดทำบัญชีรายชื่อไม่เกิน 150 คน โดยคำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง แล้วส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวไปยังสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด
3. ให้หัวหน้าสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดจัดประชุมเพื่อให้สมาชิกลงคะแนนเลือกตั้งบุคคลในบัญชีรายชื่อ โดยให้สมาชิกลงคะแนนเลือกได้คนละไม่เกิน 15 คน โดยการประชุมสาขาพรรคการเมืองต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน หรือการประชุมตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน เมื่อลงคะแนนเลือกเสร็จสิ้นแล้ว ให้หัวหน้าสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดประกาศผลการนับคะแนน แล้วรายงานไปยังคณะกรรมการสรรหาฯ โดยเร็ว
4. ให้คณะกรรมการสรรหาฯ จัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยเรียงลำดับตามผลรวมของคะแนนที่ได้รับจากสาขาพรรคการเมืองหรือตัวเทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด
5. ให้คณะกรรมการสรรหาฯ ส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองให้พิจารณาให้ความเห็นชอบ หากคณะกรรมการบริหารพรรคฯ ไม่เห็นชอบให้ดำเนินการใหม่จนกว่าจะได้บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง
บทลงโทษ ฝ่าฝืนไม่ทำตามระบบ Primary Vote
พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มีบทกำหนดโทษผู้สมัคร และกรรมการบริหารพรรค ที่กระทำการไม่สุจริตในขั้นตอนการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง ดังนี้
1. ห้ามไม่ให้ผู้ใดกระทำการจูงใจให้สมาชิกพรรคลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น หรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้ใด เช่น การ เสนอว่าจะให้เงิน หรือ ทรัพย์สิน หรือ หลอกลวง หรือ ขู่เข็ญ (มาตรา 53) ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นด้วย (มาตรา 118) 
หากผู้ฝ่าฝืนเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนและปรับไม่เกิน 10,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลาห้าปี (มาตรา 117)
2. ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดเรียกรับ หรือยอมจะรับเงิน หรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อให้สมาชิกผู้ใดลงสมัครหรือไม่ลงสมัครรับเลือก (มาตรา 54) ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นด้วย ในกรณีที่พรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืน ให้หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการ บรรดาที่รู้เห็นกับการกระทำนั้นรับโทษเช่นเดียวกัน (มาตรา 119)
ทั้งนี้หากผู้ฝ่าฝืนเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนและปรับไม่เกิน 10,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลาห้าปี (มาตรา 117)
3. ห้ามไม่ให้ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หัวหน้าสาขาพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดยินยอมให้บุคคลใดที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองเข้าแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมหรือออกเสียงลงคะแนนในการดำเนินการ (มาตรา 55) ผู้ใฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนและปรับไม่เกิน 10,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลาห้าปี (มาตรา 117)
ความเห็นต่อเรื่อง “Primary Vote” ในพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ 
พลเอก สมเจตน์ บุญถนอม ประธานกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวถึงความจำเป็นต้องมีระบบนี้ว่า พรรคการเมืองในอดีตเป็นเผด็จการในตัว เป็นของนายทุน เป็นของครอบครัว ไม่มีพรรคการเมืองไหนเลยที่เป็นของสมาชิก ด้วยเหตุนี้จึงต้องปฏิรูปพรรคการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย เป็นของสมาชิกพรรคให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัคร
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขียนจดหมายยาว 7 หน้า เปิดผนึกถึงกรธ. แสดงความกังวลต่อระบบ Primary Vote สรุปได้ว่า ระบบนี้จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสาขาพรรคและสำนักงานใหญ่ของพรรคมีจำนวนมาก แต่กองทุนพัฒนาพรรคการเมืองกลับมีข้อจำกัดมากขึ้นในการจัดสรรเงิน ระบบนี้จะทำให้การสนับสนุนคนนอก คนใหม่จากวงการอื่นๆ โดยเฉพาะ คนรุ่นใหม่เข้ามาสู่การเมืองยากขึ้น พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีฐานสมาชิกที่ค่อนข้างกว้างคงมีความพร้อมมากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ แต่ก็ยังมีปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดมากมาย พรรคการเมืองใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นจะต้องเผชิญกับปัญหา อุปสรรค เหล่านี้อย่างรุนแรง
ขณะที่ พรรคเพื่อไทย ก็มีหนังสือถึง กรธ. โดยในตอนหนึ่งกล่าวถึงปัญหาของระบบ Primary Vote ในพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ว่า การให้สิทธิค่อนข้างเด็ดขาดแก่สาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดซึ่งมีสมาชิกที่มีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัครเพียง 100 คน กรณีของสาขา และ 50 คน กรณีตัวแทนประจำจังหวัดนั้น อาจเป็นการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่ทั่วถึงทำให้เกิดกรณีที่สมาชิกพรรคที่ต้องการลงสมัครจัดตั้งสมาชิกซึ่งสนับสนุนตนเองเพื่อมาลงคะแนนเลือกตนได้ง่าย ทั้งที่บุคคลดังกล่าวอาจไม่มีความเหมาะสมเพียงพอที่จะเป็นตัวแทนของพรรคในการสมัครรับเลือกตั้ง 
ไฟล์แนบ