เปิด 10 เหตุผล ทำไมกฎหมายคุ้มครองผู้ชี้เบาะแสทุจริตฯ ส่อล้มเหลว

 

คสช. เข้ามาปกครองประเทศหลังความขัดแย้งจากปัญหาทุจริตคอรัปชั่น คสช. จึงมีวาระหลักที่ต้องแสดงให้เห็นถึงความสามารถและความคืบหน้าของการแก้ปัญหาทุจริตให้หมดไปจากสังคมไทย โดยวาระดังกล่าวไปปรากฎในรัฐธรรมนูญปี 2560 ถึง 2 มาตรา คือ มาตรา 62 ที่กำหนดให้ รัฐมีหน้าที่จัดทำมาตรการและกลไกเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริต รวมทั้งกลไกส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้านหรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐ 
และมาตรา 278 ที่กำหนดให้ ต้องออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนผู้ชี้เบาะแส ภายใน 300 วัน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ หมายความว่า ต้องเร่งออกกฎหมายให้เสร็จภายในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 หากออกกฎหมายไม่เสร็จ หัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบอาจต้องพ้นจากตำแหน่ง!
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายภารกิจให้ร่างกฎหมายขึ้นมาตามที่รัฐธรรมนูญสั่งไว้ จึงรีบคลอดร่างกฎหมายออกมาถึง 55 มาตรา มีชื่อว่า ร่างพ.ร.บ.การส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ชี้เบาะแสฯ ที่ให้ตั้งคณะกรรมการและกองทุนขึ้นมาใหม่ พร้อมเขียนบทคุ้มครองและบทเอาผิดกับผู้แจ้งเบาะแสการทุจริต
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ชี้เบาะแสฯ ทั้งฉบับแล้ว กลับพบข้อกังวลหลายประการว่า หากร่างกฎหมายนี้บังคับใช้ กลับจะเพิ่มอุปสรรคให้กับผู้ชี้เบาะแสการทุจริตมากกว่าจะคุ้มครอง และอาจทำให้วัตถุประสงค์ที่ต้องการจะส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมต่อต้านทุจริตที่ตั้งใจไว้ตอนแรกเป็นไปในทางตรงกันข้าม ดังนี้
1. เครือข่ายต้านทุจริตที่อยากได้รับการคุ้มครองต้องขอ 'คำรับรอง' จากรัฐก่อน
มาตรา 20 กำหนดว่า ชมรม กลุ่มบุคคล สมาคม มูลนิธิ หรือองค์กรใด ที่ประสงค์จะยื่นคำขอรับการรับรอง ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดเท่านั้น และมาตรา 35 กำหนดว่า เครือข่ายต่อต้านการทุจริตภาคประชาชนที่รวมตัวกันตามหลักเกณฑ์ ย่อมได้รับความคุ้มครอง
หมายความว่า หากประชาชนทั่วไปพบเห็นการทุจริตและอยากจะชี้เบาะแสให้กับหน่วยงานที่มีหน้าที่เข้าไปปราบปราม จะไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายนี้ทันที เพราะกฎหมายนี้มุ่งคุ้มครองเฉพาะเครือข่ายของประชาชนที่ได้เคยยื่นขอคำรับรองเอาไว้ก่อน และหากได้รับคำรับรองแล้ว เมื่อชี้เบาะแสการทุจริตถึงจะได้รับการคุ้มครอง 
และแม้ว่ามาตรา 35 วรรค 2 จะเปิดช่องให้ขอรับความคุ้มครองเป็นกรณีพิเศษได้ แต่สุดท้ายก็เป็นดุลยพินิจของผู้มีอำนาจ
นั้นเท่ากับว่า ประชาชนเพียงคนเดียว ที่ไม่มีพรรคพวก ไม่สามารถรวมตัวกันเป็นชมรม เป็นกลุ่ม หรือเป็นเครือข่ายใดๆ ที่หาสมาชิกได้ถึง 15 คน แม้อยากจะมีส่วนร่วมต่อต้านการทุจริตก็จะยื่นขอคำรับรองเพื่อรับการสนับสนุนไม่ได้ อีกทั้ง เมื่อเครือข่ายประชาชนยื่นขอ "คำรับรอง" แล้วจะผ่านการพิจารณาให้รับรองหรือไม่ ก็ยังขึ้นอยู่กับกรรมการผู้มีอำนาจอีก
2. สิทธิรวมตัวของเครือข่ายประชาชน ไม่มีผลในทางกฎหมาย
มาตรา 29 กำหนดว่า เครือข่ายต่อต้านการทุจริตภาคประชาชน อาจรวมตัวกันเพื่อต่อต้านการทุจริตได้ การรวมตัวดังกล่าวต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ
การเขียนมาตรา 29 นี้ แทบไม่มีผลอะไรเลยในทางกฎหมาย เพราะเสรีภาพในการรวมตัวกันเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้แล้ว ในมาตรา 42 และ 44 การเขียนรับรองสิทธิในการรวมตัวใน ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ชี้เบาะแสฯ จึงไม่มีผลในการรับรองคุ้มครองอะไรให้มากขึ้น
แต่ในทางปฏิบัติ การรวมตัวทำกิจกรรมเป็นไปได้ยาก เพราะยังต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขใน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 จะเห็นจากหลายๆ กรณีที่ประชาชนพยายามรวมตัวเพื่อทำกิจกรรมก็ถูกห้าม หรือถูกพยายามสั่งให้เลิกจัดกิจกรรม ในเมื่อมาตรา 29 ก็สั่งอีกว่า การรวมตัวเพื่อต่อต้านการทุจริตต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ มาตรา 29 จึงทำได้แค่ช่วยตอกย้ำข้อจำกัดต่างๆ ในการรวมตัวทำกิจกรรม และไม่ได้ช่วยคุ้มครองสิทธิของเครือข่ายต่อต้านการทุจริตภาคประชาชนให้ทำกิจกรรมได้สะดวกขึ้นเลย
ที่มาภาพ gabaus
3. คุ้มครองผู้ชี้เบาะแสเฉพาะคน "สัญชาติไทย" เท่านั้น
ตามมาตรา 20 ก. (1) กำหนดว่า เครือข่ายที่จะยื่นคำขอคำรับรองได้ สมาชิกต้องมีสัญชาติไทย และมีจำนวนไม่น้อยกว่า 15 คน
หมายความว่า เครือข่ายที่รวมตัวกันไม่ถึง 15 คน ที่ประสงค์จะมีส่วนร่วมต่อต้านการทุจริต ก็จะยื่นคำขอคำรับรองเพื่อรับการสนับสนุนไม่ได้ และหากสมาชิกของเครือข่ายไม่ใช่คนสัญชาติไทย ก็ไม่อาจมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตได้
ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรที่อาศัยอยู่ในดินแดนไทย แต่ยังไม่มีสัญชาติใดกว่า 400,000 คน มีคนสัญชาติอื่นจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามารับจ้างทำงานกว่า 1,000,000 คน และยังมีชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเพราะมาประกอบธุรกิจ มาอยู่อาศัยกับครอบครัว หรือมาท่องเที่ยวอีกเป็นจำนวนมาก ร่างกฎหมายคุ้มครองผู้ชี้เบาะแสฯ ได้กีดกันคนเหล่านี้ออกจากการมีส่วนร่วมต่อต้านการทุจริต ไม่สร้างบรรยากาศเป็นมิตรและเอื้ออำนวยให้กับคนอีกจำนวนมากที่อยากจะช่วยชี้เบาะแสหากพบเห็นการทุจริตในระบบราชการไทย
4. บังคับผู้ชี้เบาะแสต้องเปิดเผยชื่อ ที่อยู่ พร้อมเซ็นต์ชื่อ แทนที่จะสร้างช่องทางปกปิดตัวตน
มาตรา 32 กำหนดว่า การแจ้งเบาะแสต้องระบุชื่อ และที่อยู่ ของเครือข่ายต่อต้านการทุจริตภาคประชาชน ต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ถูกกล่าวหา และลงลายมือชื่อผู้แจ้งเบาะแสด้วย
เท่ากับ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ชี้เบาะแสฯ กำหนดให้ กรณีทั่วๆ ไปผู้แจ้งเบาะแสต้องเปิดเผยตัวตน ทั้งชื่อของตัวเอง และเครือข่าย อย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งก็เพราะกฎหมายนี้มุ่งจะเอาผิดและหาผู้รับผิดชอบกรณีการแจ้งข้อมูลเท็จ แต่การบังคับให้ต้องเปิดเผยตัวเช่นนี้ ทำให้ผู้ที่ต้องการจะชี้เบาะแสอาจรู้สึกไม่ปลอดภัย ทั้งจากการข่มขู่คุกคามต่อชีวิตร่างกาย และจากการถูกฟ้องคดีเพื่อปิดปากด้วย การบังคับให้ต้องเปิดเผยตัวมีแต่แนวโน้มที่จะทำให้ผู้พบเห็นข้อมูลการทุจริตไม่กล้าจะชี้เบาะแสเพื่อเอาผิดผู้ทุจริต โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ชี้เบาะแสเป็น "คนใน" ที่พบเห็นการทุจริตภายในหน่วยงานราชการของตัวเอง ก็ยากที่จะยอมเปิดเผยตัวออกมาให้คนอื่นล่วงรู้แหล่งที่มาของการเปิดโปง
แม้ร่างกฎหมายนี้ จะมีบางมาตราที่เจตนามุ่งคุ้มครองไม่ให้ผู้ชี้เบาะแสถูกดำเนินคดี หรือถูกทำร้าย แต่วิธีที่น่าจะปลอดภัยสำหรับผู้ชี้เบาะแสมากกว่า คือ การสร้างช่องทางให้ส่งข้อมูลได้โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตนเลยตั้งแต่ต้น เปิดเผยเพียงแต่ข้อมูลชิ้นสำคัญเท่านั้น แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้กำลังเดินไปในทิศทางตรงกันข้าม
5. มาตรการคุ้มครอง ไม่มีอะไรใหม่และส่อทำไม่ได้จริง 
มาตรา 28 กำหนดว่า การดำเนินการของเครือข่ายต่อต้านทุจริตภาคประชาชน ในการรณรงค์ เผยแพร่ข้อมูล ที่เกี่ยวกับการทุจริต ผู้ใดจะฟ้องร้องทางอาญา ทางแพ่ง และเรียกค่าเสียหายมิได้ มาตรา 39 กำหนดว่า ผู้ชี้เบาะแส อาจได้รับความคุ้มครองโดยการ ปกปิดมิให้เปิดเผยตัว เปลี่ยนชื่อ ห้ามโยกย้ายตำแหน่ง มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จัดหาที่พักที่ปลอดภัย รวมถึงคุ้มครองครอบครัวของผู้ชี้เบาะแสด้วย
มาตรา 28 และมาตรา 39 เป็นเพียงสองมาตราที่ชัดเจนว่า เป็นประโยชน์ต่อผู้ชี้เบาะแส แต่เมื่อพิจารณามาตรการคุ้มครองผู้ชี้เบาะแสในมาตรา 39 ก็ยังคล้ายกับมาตรการที่มีอยู่แล้วใน พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2546 ร่างกฎหมายคุ้มครองผู้ชี้เบาะแสฯ จึงไม่ได้นำเสนอมาตรการคุ้มครองแบบใหม่เพิ่มเติมขึ้นมา 
ส่วนหลักการในมาตรา 28 นั้นเป็นหลักการที่ภาคประชาชนต้องการ แต่จากข้อมูลพบว่า เมื่อเครือข่ายภาคประชาชนจัดกิจกรรมเผยแพร่ข้อมูล ก็มักจะถูกดำเนินคดีเพื่อปิดปาก ด้วยกฎหมายอื่นๆ เช่น ความผิดฐานนำเข้าข้อมูลเท็จตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, ความผิดฐานชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, ความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558, ความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามมาตรา 326, ความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ฯลฯ ซึ่งวิธีการป้องกันปัญหาการฟ้องคดีเพื่อปิดปากที่ตรงจุดมากกว่า คือ การแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายอื่นๆ ที่มักถูกนำมาใช้ฟ้องคดีเพื่อปิดปากให้ชัดเจนขึ้น การที่ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ชี้เบาะแสฯ เขียนมาตรา 28 ไว้เช่นนี้ ยังไม่แน่ว่า เมื่อมีการฟ้องคดีด้วยข้อหาตามกฎหมายอื่นๆ จะนำไปสู่การตีความกฎหมายอย่างไร
6. มุ่งข่มขู่เอาผิดผู้ชี้เบาะแส หากแจ้ง "ข้อมูลอันเป็นเท็จ"
มาตรา 54 กำหนดว่า ผู้ใดแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่ที่รับเรื่องร้องเรียนการทุจริต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท มาตรา 20 ก.(4) กำหนดว่า ผู้ที่จะยื่นคำขอคำรับรองต้องไม่เคยมีพฤติกรรมแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการชี้เบาะแสการทุจริตมาก่อน มาตรา 22(3) กำหนดว่า เครือข่ายที่รายงานข้อมูลอันเป็นเท็จอาจถูกเพิกถอนการรับรองได้ มาตรา 37 วรรคสอง กำหนดว่า หากผู้ชี่่เบาะแสแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จ อาจสั่งให้มาตรการคุ้มครองสิ้นสุดลงได้
ทั้ง 7 มาตรานี้ คือมาตราลงโทษใน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ชี้เบาะแสฯ สำหรับผู้ที่แจ้ง "ข้อมูลอันเป็นเท็จ"
โดยหลักการ เมื่อมีการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหน้าที่สืบสวนสอบสวนต่อ มีอำนาจเรียกเอกสาร และเรียกบุคคลมาให้ปากคำ เพื่อหาข้อเท็จจริง และสุดท้ายศาลจะเป็นผู้ตัดสินใจว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดจริงหรือไม่ แต่การกำหนดให้การแจ้ง "ข้อมูลอันเป็นเท็จ" ต้องได้รับผลร้ายก็เป็นดาบสองคมสำหรับคนที่ต้องการแสดงออกถึงการต่อต้านการคอร์รัปชัน
อีกทั้ง มาตราดังกล่าวจะกลายเป็นเครื่องมือให้กับเจ้าหน้าที่รัฐตอบโต้ผู้ออกมาชี้เบาะแสให้ได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นการร้องเรียนให้เพิกถอนการคุ้มครอง หรือการดำเนินคดีกลับฐานแจ้ง "ข้อมูลอันเป็นเท็จ"
7. อคติต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน วางบทลงโทษหนักฐาน "บิดเบือน"
มาตรา 53 กำหนดว่า ผู้ใดอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนตามพระราชบัญญัตินี้ไปบิดเบือนเพื่อประโยชน์ในทางมิชอบ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท
การบิดเบือนเพื่อประโยชน์ในทางมิชอบ ยังไม่มีคำนิยาม หรือคำอธิบายที่ชัดเจนว่า หมายถึงการกระทำลักษณะใดบ้าง ทั้งที่โดยสภาพแล้วการมีส่วนร่วมของประชาชนในการต่อต้านการทุจริต และการชี้เบาะแส ไม่อาจนำเอาไปบิดเบือนเพื่อให้ได้ผลประโยชน์อย่างใดได้ หากมีการชี้เบาะแสเพื่อกลั่นแกล้งคู่แข่งทางการค้า หรือฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบแล้ว หากเป็นความจริง คนที่ทุจริตก็ย่อมสมควรที่จะถูกลงโทษโดยไม่ต้องคำนึงว่า ผู้ชี้เบาะแสมีวัตถุประสงค์แอบแฝงอะไร แต่หากเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูล เจ้าหน้าที่ก็ไม่ดำเนินการต่อ โดยไม่น่าจะเกิดความเสียหายต่อผู้ใด และไม่มีใครได้รับประโยชน์ในทางมิชอบ
การเขียนบทลงโทษในมาตรา 53 ที่กว้างขวางและไม่ชัดเจนเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงอคติทีมร่างกฎหมาย ที่มอง "กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน" ในแง่ร้าย ว่าอาจถูกบิดเบือนไปหาประโยชน์ได้ แต่ทีมร่างกฎหมายเองก็ "คิดไม่ออก" เหมือนกันว่าจะทำได้อย่างไร จึงไม่ได้เขียนองค์ประกอบความผิดไว้ให้ชัดเจนเจาะจงไปที่การกระทำนั้นๆ แต่กลับเปิดกว้างไว้ มาตรา 53 จึงเสี่ยงต่อการถูกตีความนำไปใช้กลั่นแกล้งฟ้องร้องคดีต่อผู้ที่ออกมาชี้เบาะแสการทุจริตได้ โดยความผิดฐานนี้ยังมีอัตราโทษหนักกว่าการแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จอย่างมาก
8. การแจ้งเบาะแส ต้องยื่นที่ศูนย์ประสานความร่วมมือ ของ ป.ป.ท. เท่านั้น
มาตรา 30 กำหนดว่า เมื่อพบเห็นหรือได้ทราบกรณีการทุจริต เครือข่ายภาคประชาชนสามารถชี้เบาะแสการทุจริตดังกล่าวต่อศูนย์ประสานความร่วมมือต่อต้านการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ท. มาตรา 32 วรรคสอง ยังเปิดช่องไว้ว่า การยื่นอาจยื่นด้วยตัวเอง ฝากผู้อื่นนำส่ง หรือส่งทางไปรษณีย์ หรือวิธีอื่นก็ได้ ส่วนจะแจ้งทางโทรศัพท์ หรือส่งโดยอีเมล์หรือช่องทางออนไลน์ได้หรือไม่ ยังไม่ได้กำหนดให้ชัดเจน
หมายความว่า ผู้ที่อยากชี้เบาะแสต้องไปยื่นต่อศูนย์ประสานความร่วมมือแห่งนี้เท่านั้นจึงจะได้รับการสนับสนุนและคุ้มครอง หากผู้ที่พบเห็นการทุจริตใช้วิธีการอื่น เช่น แจ้งต่อตำรวจที่สถานีตำรวจ จัดแถลงข่าวเอง ส่งข้อมูลให้สื่อมวลชน โพสต์ "แฉ" สิ่งที่พบเห็นบนเฟซบุ๊ก ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปมักกระทำหากพบเห็นการทุจริต ก็ไม่มีโอกาสได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้
ประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ หากประชาชนพบเห็นการทุจริตในศูนย์ประสานความร่วมมือของ ป.ป.ท. เอง ก็ไม่มีโอกาสที่จะชี้เบาะแสต่อหน่วยงานอื่น หรือโดยวิธีการอื่นที่จะยังได้รับความคุ้มครอง
9. องค์ประกอบกรรมการเป็นภาครัฐ โดยมี ป.ป.ท. เป็นใหญ่
มาตรา 5 กำหนดว่า ให้จัดตั้ง "คณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ" มาทำหน้าที่กำหนดนโยบายหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อคุ้มครองเครือข่ายประชาชน และพิจารณาให้การรับรองเครือข่ายที่มาขอคำรับรอง โดยคณะกรรมการชุดนี้ มี 11 คน ประกอบด้วย ประธาน ป.ป.ท. เป็นประธานกรรมการ, ผู้แทนป.ป.ช., ผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน, ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอีก 6 คน และเลขาธิการ ป.ป.ท. ทำหน้าที่เป็นเลขานุการด้วย
จะเห็นว่า คณะกรรมการที่ทำหน้าที่ส่งเสริมภาคประชาชนยังมีองค์ประกอบที่มีตัวแทนจากภาครัฐเป็นใหญ่ กับผู้ทรงคุณวุฒิที่ภาครัฐแต่งตั้งขึ้นทั้งสิ้น ทั้งที่คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ต้องส่งเสริมภาคประชาชนให้เข็มแข็งเพื่อต่อกรกับการทุจริตที่เกิดขึ้นในภาครัฐ และการให้ป.ป.ท.เป็นประธาน และเลขานุการ ก็แสดงให้เห็นว่า ป.ป.ท. ซึ่งเป็นผู้ร่างกฎหมายมีวิสัยทัศน์ชัดเจนที่จะเป็นผู้กุมอำนาจการดำเนินการส่งเสริมภาคประชาชน และคุ้มครองผู้ชี้เบาะแสตามกฎหมายนี้แต่เพียงผู้เดียว
หลักการเช่นนี้คงไม่มีปัญหา หากเราเชื่อว่า ป.ป.ท. เป็นองค์กรที่ซื่อสัตย์สุจริตและไว้ใจได้ จนไม่ต้องมีกลไกหรือช่องทางสำหรับภาคประชาชนที่จะตรวจสอบ ป.ป.ท. ได้เลย
10. เปิดช่องทางการทุจริตเสียเอง ตั้งกองทุนจ่ายเงิน เตรียมจัดอบรมสัมมนา
มาตรา 42 กำหนดให้จัดตั้งกองทุนต่อต้านการทุจริตขึ้นเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน จ่ายเงินรางวัลตอบแทนการชี้เบาะแส และคุ้มครองผู้ชี้เบาะแส โดยมาตรา 25 วรรคสอง กำหนดว่า เครือข่ายภาคประชาชนอาจร้องขอการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนนี้ได้ โดยคณะกรรมการตามมาตรา 5 เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่าย และมาตรา 16 กำหนดให้ตั้งคณะอนุกรรมการบริหารกองทุน โดยมีเลขาธิการ ป.ป.ท. เป็นประธาน พิจารณาการเบิกจ่ายงบประมาณ
ซึ่งหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายจะเป็นอย่างไรบ้างก็ยังไม่ได้กำหนดให้แน่ชัด และเครือข่ายภาคประชาชนที่จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจะต้องมีคุณสมบัติและต้องดำเนินกิจกรรมเช่นไร ก็ยังเปิดช่องไว้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ มาตรา 25 ยังกำหนดว่า ให้ศูนย์ประสานความร่วมมือต่อต้านการทุจริตจัดให้มีการอบรม สัมมนา เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของการทุจริต และมาตรา 27 กำหนดให้จัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมผู้นำเครือข่ายต่อต้านการทุจริตเป็นประจำทุกปี 
แน่นอนว่า การจัดอบรมสัมนานั้น ต้องเบิกจ่ายงบประมาณจากกองทุนดังกล่าว
ไฟล์แนบ