เปิด 3 เหตุผลทำไมต้องค้านร่าง ‘กม.บัตรทอง’ จากคนรักหลักประกันสุขภาพ

กระแสแก้กฎหมายบัตรทองหรือชื่อจริงๆ ว่า "พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เมื่อนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้กฎหมายบัตรทองเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 
ในคำสั่งระบุว่า ให้คณะกรรมการพิจารณาแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ. ดังกล่าวในประเด็นต่างๆ ที่มีปัญหา โดยให้นำข้อเสนอที่หน่วยงานต่างๆ ที่เคยทำไว้ และเกี่ยวข้องกับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 37/2559 เรื่องค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นแนวทางในการแก้ไขปรับปรุง
จนท้ายที่สุดก็ปรากฎออกมาเป็น "ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. …." ที่มีกำหนดรับฟังความคิดเห็นระหว่างวันที่ 2 – 18 มิถุนายน 2560 และคาดว่าจะถูกบรรจุอยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในเร็ววัน 
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กลุ่มภาคประชาชนในนาม "กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ" ซึ่งเป็นกลุ่มที่ติดตามและผลักดันเรื่องการยกระดับการรักษาพยาบาลมาโดยตลอดกลับมีความเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับเนื้อหาของร่างกฎหมาย และกระบวนการร่างกฎหมายซึ่งพอจะจำแนกได้หลักๆ 3 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง การแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ไม่มีความเป็นธรรม
อ้างอิงจากคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้กฎหมายบัตรทองเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 ปรากฎว่ามีคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย 26 คน แต่มีภาคประชาชนเข้าไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการดังกล่าวเพียง 2 คน และแม้จะมีการเสนอให้เพิ่มจำนวนคณะกรรมการฯ เพื่อความสมดุลแล้ว แต่ก็ไม่ผ่านการพิจารณา 
ประเด็นที่สอง เนื้อหาของการแก้ไขพ.ร.บ. 'ขัด' กับหลักการของระบบบัตรทองเดิม
ในประเด็นนี้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพมองต่างว่า การแก้ไขกฎหมายโดยเสนอให้เพิ่มจำนวนคณะกรรมการในฝั่งผู้ให้บริการและผู้ประกอบวิชาชีพในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข แต่ตัวแทนภาคประชาชนยังคงมีจำนวนเท่าเดิม และตัวแทนจากท้องถิ่นกลับถูดลดจำนวนลง
การแก้ไขดังกล่าวขัดกับหลักการเดิมของกฎหมายที่ต้องการให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจด้วยการแยกบทบาทระหว่างผู้ให้บริการ (กระทรวงสาธารณสุข) และผู้ซื้อบริการให้ประชาชน (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) เพื่อให้การจัดระบบบริหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและตรวจสอบได้จริง
นอกจากนี้ ยังแก้ไขบทบาทขององค์กรประชาชนที่ไม่แสวงหากำไรให้ทำได้แค่เรื่องส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเท่านั้น ส่วนการพัฒนาศักยภาพความเข้มแข็งให้ภาคประชาชนได้เข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพนั้นทำไม่ได้ ทั้งยังกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนหรือองค์กรชุมชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร ของบได้จากกองทุนหลักประกันสุขภาพพื้นที่หรือหน่วยให้บริการไม่สามารถขอจากบอร์ด สปสช. ได้โดยตรง ซึ่งทั้งหมดนี้ขัดกับหลักระบบสุขภาพเป็นของทุกคน ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบได้
ประเด็นที่สาม รูปแบบการมีส่วนร่วมต่อร่างกฎหมายไม่มีความเหมาะสม
ในประเด็นนี้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพมองว่า รูปแบบการรับฟังความคิดเห็นเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจาก ต้องมีการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์เท่านั้นจึงจะให้ความเห็นได้ นอกจากนี้ มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพียงแค่ 4 ครั้ง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น และสงขลา โดยคนที่สนใจร่วมเวทีต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาให้ความเห็น ขณะที่การเดินทางของข้าราชการเปิดโอกาสให้สามารถเบิกได้
อย่างไรก็ดี กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกว่า ประเด็นสำคัญที่อยู่ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ พ.ศ.2545 ซึ่งสมควรจะได้รับการแก้ไข กลับไม่ได้อยู่ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เลย ได้แก่ 
1) การไม่ยอมยกเลิก 'การร่วมจ่าย' ที่ทำให้การรักษาพยาบาลไม่ได้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึ่งได้รับจากรัฐ และกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้คนเข้าไม่ถึงการรักษาที่เท่าเทียม
2) การ 'ไม่ขยายสิทธิ' ให้ครอบคลุมกลุ่มคนที่รอพิสูจน์สถานะบุคคลและกลุ่มคนที่ตกสำรวจ ทั้งที่เป็นคนไทยเหมือนกันเพียงแต่ยังไม่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก 
3) กฎหมายที่มีอยู่ไม่อำนวยความสะดวกให้ สปสช. มีอำนาจในการจัดซื้อยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น เช่น ยากแก้พิษ เซรุ่ม ยากำพร้า ยารักษาโรคเรื้อรัง เพื่อเป็นหลักประกันให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าหากป่วยด้วยโรคใดก็ตามจะได้รับการรักษา ตามหลักการของกฎหมายที่ว่า "ประชาชนทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทยสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีมาตรฐาน"
ซึ่งทั้งหมดที่ได้ยกมานั้น คือเหตุผลให้ประชาชนผู้สนใจในระบบหลักประกันสุขภาพต้องออกมาคัดค้านและตั้งคำถามต่อการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวนั้นเอง