อัพเกรดกฎหมายอาญา! เพิ่มโทษปรับ 10 เท่าทั้งฉบับ ฐานทุจริตโทษปรับขั้นต่ำเพิ่ม 50 เท่า

 

ค่าเงินเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แค่ค่าปรับที่กฎหมายเขียนไว้ไม่ได้ปรับตามสักที สนช. เลยถือโอกาสยกเครื่องกฎหมายอาญาทีเดียวทั้งฉบับ เพิ่มค่าปรับขึ้น 10 เท่าทุกฐานความผิด แถมพิเศษ ความผิดฐานเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต เพิ่มค่าปรับขั้นต่ำ 50 เท่า

26 มกราคม 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเห็นชอบพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 หรือ การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ครั้งที่ 26 ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย และราชกิจจานุเบกษาตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป 
การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักอย่างเดียว คือ การเพิ่มโทษปรับในความผิดต่างๆ ให้สูงขึ้น เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญานั้น ใช้มาตั้งแต่ปี 2499 เป็นเวลา 60 ปีแล้ว สภาพเศรษฐกิจและค่าเงินบาทได้เปลี่ยนไปมาก ค่าปรับที่เคยเขียนไว้ในกฎหมายเดิมจึงอาจล้าสมัย ความผิดที่ร้ายแรงมีโทษจำคุกสูงแต่กลับมีโทษปรับน้อย ไม่เหมาะสมกับความร้ายแรงของการกระทำความผิดนั้นๆ 
การแก้กฎหมายในครั้งนี้ จึงเป็นลักษณะยกเครื่องประมวลกฎหมายอาญาทีเดียวแทบทั้งฉบับ โดยเพิ่มโทษปรับในอัตราเดียวกัน คือ 10 เท่าตัว สำหรับ 241 ฐานความผิด ตัวอย่างเช่น ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ตามมาตรา 295 จากเดิมกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก็เปลี่ยนเป็น จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือความผิดฐานลักทรัพย์ ตามมตรา 334 จากเดิมกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท ก็เปลี่ยนเป็น จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท
มีที่เพิ่มเติมเป็นพิเศษอยู่สองมาตรา คือ ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตายสาหัส ในมาตรา 297 ที่จากเดิมไม่มีโทษปรับ มีเพียงโทษจำคุก 6 เดือนถึง 10 ปี การแก้ไขครั้งนี้เพิ่มให้มีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับควบคู่กัน โดยให้โทษปรับคิดเป็นเงินตั้งแต่ 10,000 ถึง 200,000 บาท และฐานทำร้ายร่างกายบุพการี หรือเจ้าพนักงาน เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ในมาตรา 298 จากเดิมที่ไม่มีโทษปรับ เพิ่มเป็นให้มีโทษจำคุก 2 ปีถึง 10 ปี และปรับ 40,000 ถึง 200,000 บาท
 
เจ้าหน้าที่รัฐคอร์รัปชั่น โทษปรับขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 50 เท่า
การแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มโทษปรับ 10 เท่าครั้งนี้ ยังมีจุดที่แก้ไขเป็นพิเศษในหมวด ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งหมด 10 มาตรา คือ มาตรา 147-151 มาตรา 154-156 และมาตรา 201-202 ซึ่งไม่เพียงแต่จะแก้ไขโทษปรับในอัตราสูงสุดให้เพิ่มขึ้น 10 เท่า แต่ยังแก้ไขอัตราโทษปรับในอัตราต่ำสุดให้เพิ่มขึ้น 50 เท่า 
ตัวอย่างเช่น ความผิดฐานเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน ตามมาตรา 149 จากเดิมมีโทษจำคุก 5 ปีถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000-40,000 บาท หรือประหารชีวิต เปลี่ยนเป็น จำคุก 5 ปีถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท หรือประหารชีวิต หรือความผิดฐานเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบบัญชี ทำบัญชีเท็จ จากเดิมมีโทษจำคุก 5 ปีถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000-40,000 บาท เปลี่ยนเป็น จำคุก 5 ปีถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท
เท่ากับว่า ในความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 10 มาตรานี้ ไม่ว่าการกระทำความผิดจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม และไม่ว่าการกระทำจะร้ายแรงเพียงใดก็ตาม หากพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดจริงศาลไม่อาจลงโทษจำคุกจำเลยน้อยกว่า 5 ปี และไม่อาจลงโทษปรับน้อยกว่า 100,000 บาทได้
ความผิดที่เพิ่งเขียนขึ้นใหม่ โทษปรับทันสมัยอยู่แล้ว ไม่ต้องเพิ่มอีก
ความผิดบางหมวดในประมวลกฎหมายอาญา ถูกเขียนขึ้นหลังการเขียนประมวลกฎหมายอาญาในปี 2499 ซึ่งเป็นการเขียนขึ้นใหม่ตามความจำเป็นของแต่ละยุคสมัย และเนื่องจากความผิดเหล่านี้ยังไม่ล้าสมัย จึงกำหนดโทษปรับเอาไว้ตามอัตราค่าเงินที่คง ไม่จำเป็นต้องปรับเพิ่มขึ้นอีก 
ความผิดที่เขียนขึ้นใหม่จึงไม่ถูกเพิ่มโทษปรับด้วย ได้แก่
1) ความผิดเกี่ยวกับก่อการร้าย ตามมาตรา 135/1 – 135/4 ซึ่งถูกเขียนขึ้นในปี 2546
2) ความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ตามมาตรา 269/1 – 269/7 ซึ่งถูกเขียนขึ้นในปี 2547
3) ความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทาง ตามมาตรา 269/8 – 269/15 ซึ่งถูกเขียนขึ้นในปี 2550
4) ความผิดเกี่ยวกับศพ ตามมาตรา 366/1 – 366/4 ซึ่งถูกเขียนขึ้นในปี 2558
ในปี 2535 มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาสองครั้ง ครั้งหนึ่งเพื่อเพิ่มโทษความผิดฐานหมิ่นประมาท ในมาตรา 326, 328 ทั้งโทษจำคุกและโทษปรับให้สูงขึ้น อีกครั้งหนึ่งเพื่อเพิ่มโทษความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ โดยเพิ่มโทษปรับให้สูงขึ้น 10 เท่า ดังนั้น ความผิดทั้งสองฐาน จึงมีโทษปรับที่สูงเหมาะสมกับการกระทำอยู่แล้ว ไม่ถูกเพิ่มโทษปรับอีกในครั้งนี้ด้วย
ในปี 2558 มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ในความผิดเกี่ยวกับเพศ สามครั้ง รั้งหนึ่งแก้ไขความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ในมาตรา 277 อีกครั้งหนึ่งเพิ่มความผิดฐานครอบครอบและจำหน่ายสื่อลามกเด็ก ในมาตรา 287/1, 287/2  ดังนั้น ความผิดทั้งสามมาตรานี้ จึงมีโทษปรับที่สูงเหมาะสมกับการกระทำอยู่แล้ว ไม่ถูกเพิ่มโทษปรับอีกในครั้งนี้ด้วย
นอกจากนี้ ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่มีโทษเล็กน้อย ตั้งแต่มาตรา 367-398 เช่น ความผิดฐานส่งเสียงอื้ออึง ความผิดฐานพกพาอาวุธเข้าไปในที่สาธารณะ ความผิดฐานเมาสุราจนประพฤติวุ่นวาย ก็เพิ่งถูกเพิ่มโทษ 10 เท่าไปแล้วในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาอีกครั้ง ในปี 2558 การแก้ไขครั้งนี้จึงไม่ได้เพิ่มโทษปรับให้สูงขึ้นอีก