ใครออกกฎหมาย? 5: ข้าราชการยึดอำนาจออกกฎหมาย ร่างเอง-โหวตเอง-ได้ประโยชน์เอง

ด้วยสถานการณ์พิเศษ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถูกตั้งขึ้นให้ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และวุฒิสภา (ส.ว.) โดยสนช.มาจากการแต่งตั้งของหัวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จำนวนไม่เกิน 250 คน เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาออกกฎหมาย



ในเวลาสองปีกว่าของ สนช. มีพ.ร.บ.จำนวนอย่างน้อย 214 ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบ โดยหน่วยงานหลักที่เสนอร่างกฎหมายเข้าสู่ สนช. มากที่สุดคือคณะรัฐมนตรี 185 ฉบับ คสช. 21 ฉบับ และสมาชิกสนช. 7 ฉบับ แน่นอนว่าร่างพ.ร.บ.ที่เสนอผ่าน ครม. และ คสช. ส่วนใหญ่เป็นร่างพ.ร.บ.ที่หน่วยราชการต่างๆ เสนอผ่าน ครม. ส่วนการเสนอร่างพ.ร.บ.โดยประชาชนถูกยกเลิกไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้ว นอกจากนี้ สัดส่วนสมาชิก สนช. ที่เคยเป็นข้าราชการ หรือทำงานในหน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ยังมีจำนวนมากที่สุดในสภา คือ 89%  

 

ออกกฎหมายเพิ่มสิทธิประโยชน์ช่วยเหลือข้าราชการอย่างเป็นรูปธรรม

 

กว่าสองปีของการออกกฎหมาย โดย สนช. เห็นชัดว่ามีร่างกฎหมายจำนวนหนึ่งที่ให้สิทธิประโยชน์กับข้าราชการอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอาชีพอื่น เช่น ในเดือนมีนาคม 2558 สนช.เห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.จำนวน 5 ฉบับ 1) ร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2) ร่างพ.ร.บ.เงินเดือนเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 3) ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 4) ร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร และ 5) ร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการรัฐสภา



ร่างกฎหมายทั้งหมดเป็นการเพิ่มเงินเดือนให้กับข้าราชการ มติชนออนไลน์ รายงานว่า การปรับขึ้นเงินเดือนและโครงสร้างเงินเดือนครั้งนี้ จะใช้เงินงบประมาณประจำปี 2558 เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมข้าราชการรวม 1.9 ล้านคน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มรายได้เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน และเป็นขวัญกำลังใจให้ข้าราชการทั่วประเทศ



นอกจากนี้ สนช.ได้เห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.การกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 เพื่อช่วยเหลือเยียวยาข้าราชการและผู้รับบำนาญซึ่งเป็นสมาชิกกบข. ซึ่งมีสมาชิกราว 971,361 คน

 

ข้าราชการ นักธุรกิจ ควบคุมร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตนเอง

 

ในอีกด้านหนึ่ง เป็นที่ทราบกันว่าข้าราชการประจำสามารถดำรงตำแหน่งในสนช.ได้ จากข้อมูลพบว่าข้าราชการประจำ โดยเฉพาะข้าราชการระดับหัวหน้าหน่วยราชการ มีบทบาทสำคัญในการผลักดันร่างกฎหมายที่หน่วยงานของตัวเองเกี่ยวข้อง ตั้งแต่การจัดทำร่างโดยหน่วยงานของตัวเอง การเป็นกรรมาธิการพิจารณากฎหมาย รวมทั้งการลงมติให้ความเห็นชอบประกาศใช้เป็นกฎหมาย และสนช.สายธุรกิจก็มีบทบาทสำคัญในร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการตัวเองด้วย ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างร่างกฎหมาย สี่ฉบับ ดังต่อไปนี้

 

1) ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือ ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก่อนถูกเสนอเข้าสู่ สนช. เจ้าภาพหลักในการร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) นอกจากนี้ยังรับผิดชอบในการร่างพ.ร.บ.ชุดเศรษฐกิจดิจิทัลฉบับอื่นๆ ด้วย โดยสพธอ. มี สุรางคณา วายุภาพ เป็นผู้อำนวยการ และเธอยังดำรงตำแหน่งสมาชิก สนช. ไปพร้อมๆ กัน เมื่อร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เข้าสู่การพิจารณาของสนช. ในวาระที่สอง เธอก็เข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ต่ออีกครั้ง จนถึงวาระที่สามก็ออกเสียงเห็นชอบร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่เธอร่างเองตั้งแต่ต้นจนจบ

 

 

2)  ร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร หรือ ร่างพ.ร.บ.ศาลทหาร เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยเขตอำนาจและวิธีพิจารณาคดีของศาลทหาร มีประเด็นสำคัญ คือ การกำหนดเรื่องอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาโดยไม่ต้องขอหมายศาล ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น ให้ผู้บัญชาการทหารสั่งการได้เลย และการขึ้นเงินเดือนให้กับตุลาการศาลทหาร และอัยการทหาร เมื่อร่างฉบับนี้เข้าสู่วาระสองขั้นกรรมาธิการฯ พลเรือเอก กฤษฎา เจริญพานิช เจ้ากรมพระธรรมนูญ และตุลาการศาลทหาร ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ศาลทหารฯ และวาระสามก็ลงคะแนนเห็นชอบเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย ควรกล่าวเพิ่มเติมว่าพลเรือเอก กฤษฎา เคยกล่าวว่า ภายใต้กฎอัยการศึก “กระบวนการยุติธรรมของศาลทหารกับศาลพลเรือน ไม่มีความแตกต่างกัน”

 

 

3)  ร่างพ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ ถูกเสนอจากคณะรัฐมนตรี ในการประชุม สนช. วาระที่หนึ่งเพื่อรับหลักการ คณะรัฐมนตรีส่งพลเอกอุดมเดช สีตะบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าชี้แจงหลักการ โดยมีพลเอก ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เข้าร่วมชี้แจงในฐานะหน่วยงานที่ร่างกฎหมายด้วย แต่พลเอก ทวีป ยังมีตำแหน่งเป็นสมาชิก สนช. ด้วย หลังจากชี้แจงหลักการเสร็จแล้ว พลเอก ทวีป ก็ได้ลงคะแนนเห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.สภาความมั่นคงฯ ที่เขาเพิ่งนำเสนอไป และถูกตั้งเป็นคณะกรรมาธิการฯ เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ในวาระที่สอง แน่นอนว่าเมื่อเข้าสู่วาระที่สาม พลเอกทวีป ก็กดปุ่มเห็นชอบให้ร่างพ.ร.บ.สภาความมั่นคงฯ ผ่านการพิจารณาและประกาศใช้เป็นกฎหมาย

 

 

4) ร่างพ.ร.บ.การประมง ถูกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยคัดค้าน เนื่องจาก เนื้อหาที่อาจกีดกันชาวประมงขนาดเล็ก รวมทั้งไม่ให้ความสำคัญกับรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของชาวประมงพื้นบ้าน หลัง สนช. รับหลักการร่างพ.ร.บ.ประมง ก็ได้มีการตั้งสมาชิก สนช. เป็นคณะกรรมาธิการฯ เพื่อพิจารณาในวาระสอง โดยมี วิทยา ฉายสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน และอีกคนที่สำคัญคือ พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ สนช. สายธุรกิจ ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการผู้ผลิตกลุ่มอาหารและอาหารทะเลแช่แข็งส่งออก อาหารกระป๋องสำเร็จรูป (ปลาทูน่า) และนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เป็นรองประธาน สุดท้ายร่างพ.ร.บ.ประมง ผ่านความเห็นชอบจาก สนช.

 

 

สี่ร่างกฎหมายข้างต้นเป็นตัวอย่างของการที่ผู้ร่างกฎหมายมีผลประโยชน์ทับซ้อนและมีส่วนได้ส่วนเสียจากการออกกฎหมายดังกล่าว แน่นอนว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียควรมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง แต่การที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคุมกระบวนการออกกฎหมายตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้การพิจารณาในขั้นตอนของสภาที่ควรจะเป็นเวทีกลางให้คนที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายได้ร่วมแสดงความคิดเห็น กลับการเป็นว่าร่างกฎหมายถูกพิจารณาโดยกลุ่มข้าราชการที่ได้ผลประโยชน์ และฝั่งธุรกิจที่ใกล้ชิด คสช. นี่เป็นตัวอย่างบางส่วนจากกฎหมายที่ได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบไปแล้วมากกว่า 200 ฉบับ