“อุ้มฆ่าทอม” ภาพสะท้อนอคติทางเพศสู่ความรุนแรงที่แสนลึกลับซับซ้อน

จากกรณีข่าวสะเทือนขวัญสังคม เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐกลายเป็นผู้ต้องหา “อุ้มฆ่า” สุภัคสรณ์ พลไธสง ผู้ซึ่งมีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นทอม จนนำไปสู่วงเสวนาเพื่อสะท้อนปัญหาจากการมีอคติหรือเกลียดชังต่อความแตกต่างทางเพศที่นำไปสู่ความรุนแรง ภายใต้ชื่องาน “อุ้ม ซ้อมทรมาน ฆาตกรรม: อาชญากรรมแห่งความเกลียดชังต่อ “ทอม” และความหลากหลายทางเพศ ที่โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา

ความรุนแรงจากความแตกต่างทางเพศ คือ “ภัยที่หลบซ่อนอยู่”

“เคสที่เป็นข่าวจนทำให้นึกถึงทุกวันนี้คงไม่ใช่เคสแรกและเคสสุดท้ายอย่างแน่นอน” ทิพย์อัปสร ศศิตระกูล ผู้จัดการโครงการลดการตีตรา การเลือกปฏิบัติ การละเมิดสิทธิในหญิงรักหญิง กะเทย สาวประเภทสอง สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เริ่มการเสวนาด้วยการสะท้อนปัญหาความรุนแรงต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศว่าสิ่งนี้เหล่านี้เกิดอยู่บ่อยครั้งและไม่ค่อยถูกนำมาพูดถึง
ทิพย์อัปสร เล่าให้ฟังว่า ปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มหญิงรักหญิงเกิดขึ้นทั่วประเทศและยังไม่มีท่าทีจะดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการอุ้มฆ่า หรือการข่มขืนแล้วฆ่า ทั้งที่ผู้ตกเป็นเหยื่อเหล่านี้ก็มีเลือดเนื้อร่างกายและหัวจิตหัวใจไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นเพศอื่น อีกทั้ง จากการเก็บข้อมูลพบว่า ผู้ใช้ความรุนแรงกลับกลายเป็นบุคคลในครอบครัว เช่น คุณพ่อ พี่ชาย ไม่ว่าจะเป็นการทุบตี เตะต่อย ข่มขืน เพื่อให้คนในบ้านกลับมาเป็นผู้หญิงที่รักผู้ชาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้สร้างความกลัวให้กับคนที่มีรสนิยมทางเพศเป็นหญิงรักหญิงถึงขนาดไม่กล้าไปไหนตอนกลางคืน ต้องหลบๆ ซ่อนๆ นัดเจอกันตามบ้านเพื่อน

“วาทกรรมแก้ทอมซ่อมดี้” กำลังส่งเสริมให้คนใช้ความรุนแรงโดยไม่รู้สึกผิด

กฤตยา อาชวนิจกุล นักวิชาการจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล มองคดีสุภัคสรณ์ อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง แต่การจะกะเกณฑ์ชี้วัดให้ชัดเป็นเรื่องยาก แต่ข้อหนึ่งในนั้นก็คือ “ผู้ทำคิดว่าทำไปด้วยความถูกต้อง” อย่างกรณีความรุนแรงต่อทอม มันเป็นผลจาก “วาทกรรมแก้ทอมซ่อมดี้” ที่ผู้ชายจำนวนหนึ่ง มีความคิดว่าสามารถทำทอมให้เป็นหญิงได้ และความคิดความเชื่อดังกล่าวค่อนข้างจะน่ากลัว เพราะมันส่งเสริมมายาคติว่าพวกเขากำลังทำสิ่งที่ถูกต้องและไม่มองว่าสิ่งที่ทำนั้นคือ “อาชญากรรม” 
ทั้งนี้ กฤตยา เสนอว่า ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องทำความเข้าใจอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง แสวงหาคำนิยาม และวางกฎกติกา เช่นที่ในตะวันตกมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ
ภายในงานมีกิจกรรมรำลึกถึงการจากไปของทอมผู้เสียชีวิต
โดยใช้ 'ก้อนหินสีขาว' มีความหมายว่า 'พลังของพวกเรา'
และ 'ดอกไม้' มีความหมายว่า 'ความเข้าอกเข้าใจที่มีต่อเพื่อนมนุษย์' 

สื่อไทยไม่เข้าใจความอ่อนไหวในการเลือกพาดหัวเพื่อระบุเพศ

พรรณิการ์ วานิช ผู้สื่อข่าวและพิธีกร ช่อง VOICE TV กล่าวถึง สื่อไทยไม่เซ้นซิทีฟ (Sensitive)กับการพาดหัวข่าว ซึ่งเบื้องต้นอาจมาจาก “สื่อมักง่ายเกินไป” ในการใช้คำว่า ‘ทอม’ เพราะคิดว่าคนรับสารจำได้แล้วนี่คือคดีอุ้มทอม ซึ่งพรรณิการ์ มองว่าไม่ถูกต้อง
“เราว่าไม่ใช่ คุณเป็นสื่อ คุณต้องมีตรรกะความรับผิดชอบมากกว่าแค่ว่า  พาดหัวคนดูจำแล้วก็ต้องใช้อันนี้  แล้วถ้าเกิดไม่ใช่ทอม คนเป็นทอมก็รู้สึกว่า  ฉันเป็นเหยื่อเหรอ ฉันเป็นคนที่โดนอุ้มฆ่า อีกทางหนึ่ง เป็นการลดถอนเหยื่อให้กลายเป็นแค่ทอมคนหนึ่ง คนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เค้าชื่ออะไร บ้านช่องเค้าอยู่ที่ไหน”
พรรณิการ์ ยกตัวอย่างคดีอุ้มหายว่า อย่างเช่นคดีอุ้มทนายสมชาย ก็ยังใช้อุ้มทนายสมชาย ใช่ เพราะเค้าเป็นทนายก็เลยโดนอุ้ม ก็เลยใช้ คดีอุ้มทนายสมชาย แล้วคดีสุภัคสรณ์ ตกลงคนโดนอุ้มเป็นทอมหรือเปล่า อย่างน้อยก็ควรเป็นคดีอุ้มสุภัคสรณ์ คดีอุ้มฆ่าสุภุคสรณ์ ควรจะเป็นแบบนี้หรือเปล่า หรือถ้าสื่อจะใช้อุ้มทอม ก็ต้องเป็นกรณีที่ต้องการจะสื่อว่า นี่เป็นอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังต่อเพศ

“การอุ้มหาย-อุ้มฆ่า” ทางเลือกยอดนิยมเมื่อรัฐไม่มีกฎหมายคุ้มครอง

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนายการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม พยายามชี้ให้เห็นว่า ความรุนแรงที่เกิดกับกลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลายอย่าง “การอุ้มหาย-อุ้มฆ่า” เป็นเพราะว่า ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ดังนั้น การซ่อนศพ จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งของอาชญากรที่มีเครือข่าย เพราะจุดประสงค์ของการทำให้หาย คือหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 
“ยกตัวอย่างง่ายๆ คดีทนายสมชาย ถึงชั้นศาลฎีกาแล้ว ก็ไม่สามารถระบุได้ว่า ใครมีส่วนเกี่ยวข้องกัยการอุ้มครั้งนั้น กรณีอุ้มฆ่าแล้วพบศพ ก็สามารถตั้งข้อหาฆ่าได้ กรณีที่เป็นเรื่องการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ต้องสืบเสาะกันลึกๆ ว่า การกระทำของจ้าหน้าที่รัฐ”
ทั้งนี้ พรเพ็ญ กล่าวต่ออีกว่า อาชาญกรรมร้ายแรงเหล่านี้ ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เรื่องเพศ อย่างกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะร่วมไปถึงความแตกต่างหรือความขัดแย้งจากความคิดทางการเมือง อีกทั้ง จากข้อค้นพบต่อปัญหาเหล่านี้คือ มีการปกป้อง คุ้มครอง บุคคลกรในหน่วยงานรัฐ  ยิ่งที่เป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการเมือง การปราบปราม การก่อการไม่สงบ ก็จะมีกลไกปกป้องคุ้มครองผู้ที่กระทำความผิดในนามของรัฐด้วยแล้ว