#ส่องประชามติ: เมื่อการอำนวยความสะดวกของรัฐไปไม่ถึงคนทุกกลุ่ม

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในการออกเสียงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่มีผู้มาใช้สิทธิจำนวน 27,623,126 คน จากจำนวนทั้งหมด 50,585,118 คนนั่น มีคนจำนวนหนึ่งที่เข้าไม่ถึงการอำนวยความสะดวกของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการขอใช้สิทธิลงประชามตินอกเขต หรือการเข้าถึงเอกสารเนื้อหาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ ปกาเกอะญอ และกลุ่มคนมลายู จังหวัดยะลา เป็นต้น

 

ถ้าจะฟันธงว่าภาครัฐไม่อำนวยความสะดวกประชาชนเลยก็ออกจะใจร้ายเกินไป เพราะภาครัฐเองก็มีความพยายามที่จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนอยู่หลายอย่าง เช่น การจัดหน่วยออกเสียงประชามติทั่วประเทศจำนวน 22 แห่ง และจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญอักษรเบรลล์ เพื่อรองรับการใช้สิทธิของกลุ่มคนพิการและยังจัดเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยฯ คอยอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการทางร่างกายที่ต้องใช้วีลแชร์ โดยข้อเท็จจริงชุดนี้มี สมชาย เจริญอำนวยสุข อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นผู้ยืนยัน

 

มิใช่แค่นั้น ธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารกลาง ได้ชี้แจงและย้ำถึงการจัดยานพาหนะเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยหน่วยงานของรัฐว่า สามารถทำได้ตาม มาตรา 62 วรรค 2 ในกรณีพื้นที่ดังกล่าวมีความยากลำบากในการเดินทาง และเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการ ทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ โดยหน่วยงานดังกล่าวจะจัดได้ต้องร้องขอเท่านั้น และกรรมการประจำเขตต้องอนุญาต และการดำเนินการต้องทำด้วยความระมัดระวังไม่ให้เป็นการจูงใจ หรือควบคุมผู้มีสิทธิออกเสียงไปออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง มิฉะนั้นจะมีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือศาลอาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี

 

ธนิศร์ ยังกล่าวถึงการอำนวยความสะดวกผู้พิการทางสายตา ว่า กกต.มีการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับอักษรเบรลล์ จำนวน 500 ฉบับ และมีการแจกจ่ายไปทั้งหมดแล้ว 48 องค์กร เช่น โรงเรียนการศึกษาคนพิการตาบอดซ้ำซ้อน จ.ลพบุรี โรงเรียนการศึกษาคนตาบอด อ.แม่สาย จ.เชียงราย เป็นต้น รวมทั้งมีการจัดทำบัตรภาพที่มีคำถามเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ และคำถามพ่วงไว้สำหรับอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้สิทธิ ขณะเดียวกันได้จัดหน่วยออกเสียงพิเศษให้แก่ผู้สูงอายุ คือ บ้านบางแค 1 และ 2

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น การอำนวยความสะดวกดังกล่าวเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติ ณ ที่ออกเสียงสําหรับคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ

แต่ทว่า จากการติดตามและพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ ที่ต้องการการอำนวยความสะดวกจากรัฐ ทำให้เราพบข้อเท็จจริงจำนวนหนึ่งว่า การอำนวยความสะดวกจากรัฐยังไม่เป็นที่น่าพอใจและบางปัญหาเป็นสิ่งที่กลุ่มคนเหล่านี้ต้องแบกภาระมาโดยตลอด
ถึงแม้จะมีการจัดหน่วยออกเสียงประชามติสำหรับคนพิการทั่วประเทศ 22 แห่ง แต่ก็มีเสียงสะท้อนปัญหาจากกลุ่มคนพิการจำนวนหนึ่่งว่า การจัดหน่วยออกเสียงประชามติสำหรับคนพิการเป็นการริเริ่มของ กกต. ที่ดี ที่จัดให้มีหน่วยพิเศษสำหรับคนพิการ แต่ก็ยังมีข้อควรปรับปรุงในครั้งต่อไป เนื่องจากมีการกำหนดเงื่อนไขว่า ถ้าจะจัดหน่วยออกเสียงสำหรับคนพิการหรือผู้สูงอายุนั่น ต้องมีบุคคลมาลงทะเบียนไว้ไม่น้อยกว่า 100 คน  อีกทั้ง การอำนวยความสะดวกด้านสถานที่ มีบางหน่วยอยู่ชั้น สองชั้นสามของตึก บางหน่วยมีขั้นบันได หรือแม้แต่ด้านการรับ-ส่งกลุ่มคนพิการ ไม่มีรถรับ-ส่ง ตัวคนพิการ ต้องพึ่งพาญาติพี่น้องเอง  ศุภวัฒน์ สมาชิกเครือข่ายผู้พิการ  กล่าว
ศุภวัฒน์ เสนอแนะในครั้งต่อไปว่า หากมีการทำงานครั้งต่อไป การจัดหน่วยออกเสียงพิเศษ ไม่ควรทำงานกับสมาคมเครือข่ายคนพิการ เพียงอย่างเดียว เพราะสมาคมก็จะมีแต่บัญชีรายชื่อสำหรับคนพิการที่ลงทะเบียนเป็นคนพิการเท่านั้น กกต. ต้องทำงานในระดับท้องถิ่น  ลงไปดูในระดับพื้นที่ ลงไปประชาสัมพันธ์เป็นข้อๆ ติดต่ออะไร กับใคร อย่างไร เพื่อดูว่า คนในพื้นที่นั้นๆ มีจำนวนคนพิการที่มีสิทธิแต่ไม่ลงทะเบียนเป็นคนพิการเท่าไหร่ เพื่อให้ทุกคนได้ข้อมูลเท่ากัน และคนพิการสามารถไปบอกต่อข้อมูล ตลอดจนรัฐสามารถอำนวยความสะดวกในการเดินทางจัดเป็นหน่วยออกเสียงย่อย เช่น เป็นตำบล อำเภอ ได้ 
ในส่วนของการอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ในบริบทที่เป็นจริงนั้น นลัทพร ไกรฤกษ์ ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้เล่าว่า ตอนที่ไปใช้สิทธิลงประชามติ ในเขตที่ตนมีสิทธิ ไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย คอยอำนวยความสะดวกให้คนพิการทางร่างกายที่ต้องใช้วีลแชร์  
ไม่เห็นจำเป็นให้เราไปลงทะเบียนคนพิการ มันไม่ใช่ สมมติว่า เราพิการที่ไหน ก็จะมีชื่อเราอยู่ในฐานข้อมูล เขาต้องมีข้อมูล ที่เป็นอะไรบ้าง จึงไม่จำเป็นต้อลงทะเบียนต้องการความช่วยเหลือพิเศษ นลัทพร กล่าว
ทั้งนี้ ปัญหาของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติก็ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ความแตกต่างทางร่างกายที่ไม่เท่ากัน แต่ยังรวมไปถึงความแตกต่างทางภาษาอีกด้วย
กิตติศักดิ์ ปัตตานี ผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการ คนหนุ่มสาว เพื่อศักยภาพชุมนุมชน (YICE) ผู้ที่ทำงานกับนักศึกษา เยาวชน และภาคประชาสังคม ที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เล่าให้ฟังถึง สถานการณ์ที่คนมลายูบางส่วนเข้าไม่ถึงร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ 2559 ที่ผ่านมาว่า คนรอบตัวที่เป็นมลายู ไม่มีความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติที่ผ่านมา พวกเขารู้แค่ว่า ไม่มีความชอบธรรม เพราะร่างดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นมาบนฐานที่ประชาชนออกแบบ
ขณะที่ รุสลัน อาแซ กลุ่มคนมลายู จังหวัดยะลา คือ ผู้ที่อ่านร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ เขาก็พบปัญหาว่า เขาอ่านร่างดังกล่าวแล้ว บางส่วนเขาก็ไม่เข้าใจ เพราะเขาแปลร่างดังกล่าวไม่ออก และกังวลใจว่า อาจจะตีความร่างผิดไปจากเนื้อความที่ กกต. ต้องการจะสื่อ เพราะร่างนี้ เป็นภาษาไทย ไม่ใช่ภาษามลายู
ไม่ค่อยจะมีคนมาชี้แจง น่าจะมีการแจก พิมพ์ ใบปลิว อย่างน้อยให้มีภาษามลายู เผื่อชาวบ้านเค้าไม่อ่านภาษาไทย บางทีชาวบ้าน เข้าใจตามภาษาเค้า เค้าดูจากข่าว เข้าใจผิวเผิน ไม่ได้เข้าใจลึก รุสลันกล่าว
รุสลัน ยังเพิ่มเติมถึงอุปสรรคที่เกิดขึ้นในพื้นที่บางส่วนของยะลาอีกว่า แม้ว่ากลุ่มคนมลายู จังหวัดยะลา ติดตามข่าว แต่บริเวณพื้นที่ดังกล่าวก็ไม่มีคลื่นสัญญาณที่ชัดเจน เวลาจะเล่นอินเทอร์เน็ต ต้องออกจากหมู่บ้านมาที่ตลาดสด ประมาณ 10 กิโลเมตร ถึงจะมีคลื่นสัญญาณ ในการติดตามข่าวสาร ข้อมูล ผ่านเฟซบุ๊ก และไลน์กลุ่ม
นอกจากผู้ใช้ภาษามลายูแล้ว ยังมีกลุ่มอื่นๆ อีกด้วยที่ประสบปัญหาการเข้าถึงเนื้อหาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ ปัญหาที่มีนั้นก็ไม่ต่างของคนเมือง ที่รัฐไม่มีการส่งเสริม สนับสนุนเปิดโอกาสให้มีพื้นที่ทำความเข้าใจและตัดสินใจเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเพียงพอ 
ธนารักษ์ สมฤทธิ์ อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 11 ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น บอกเล่าว่า จากการรับฟังข้อมูลของคนทำงานในแต่ละพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักในชีวิตประจำวัน พบว่า โดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทำให้เกิดความยากลำบากในการเข้าถึงเนื้อหาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐจัดให้มีด้วย เช่น ไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม หรือได้รับแต่ก็มีไม่เพียงพอ และเมื่อไม่มีโอกาสทำความเข้าใจอย่างมากพอ เมื่อใกล้วันประชามติ การตัดสินใจนั้นจึงอยู่กับผู้นำในหมู่บ้านที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เหมือนกัน เนื่องจากมีความน่าเชื่อถือซึ่งเป็นไปตามวัฒนธรรมดั้งเดิม เป็นผู้ที่มีโอกาสได้รับข้อมูลจากรัฐมากกว่าคนอื่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
วรวุธ ตามี่ ชาติพันธุ์ลีซู (ลีซอ) เจ้าหน้าที่ภาคสนาม ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ได้เล่าถึงปัญหาการเข้าถึงเนื้อหาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติว่า "ข้อมูลข่าวสารเรื่องเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญไปไม่ถึงมือชาวบ้านชนเผ่าทุกราย ส่วนใหญ่ กลุ่มที่เข้าถึง คือ กลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านจะตีความได้ทุกมาตรา แล้วอธิบายให้กับพี่น้องชนเผ่าลูกบ้านทีอยู่ในความปกครองดูแล ได้แค่ไหน อย่างไร" 
ในส่วนของความรู้ความเข้าใจก่อนลงประชามติต่อว่า บริบทในพื้นที่ก่อนลงประชามติ ที่บ้านดอยล้าน  ตำบลวาวี จังหวัดเชียงราย มีจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงหรือลงประชามติมีจำนวน 3 ร้อยกว่าโดยประมาณ ส่วนใหญ่คนในพื้นที่ได้เพียงจุลสารที่เป็นเล่มเล็ก ที่มีความเห็นเพิ่มเติมของ กรธ. และ กกต. หลังคาละเล่มพร้อมกับรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเท่านั้น ตอนเช้าๆ ของบ้านดอยล้าน จะมีป้อหลวงหรือผู้ใหญ่บ้าน ประกาศเสียงตามสายว่า ให้ไปลงทะเบียนผู้ยากไร้ที่มีรายได้ไม่เกินหนึ่งแสนบาท ที่บ้านป้อหลวง เพื่อรัฐบาลใหม่ช่วยเหลือ หากประชามติผ่าน  
ผู้นำไม่ค่อยประชาสัมพันธ์ มีส่วนน้อยที่อ่านไทยได้ ส่วนมากกลุ่มวัยรุ่นอ่านไทยได้ ส่วนคนเฒ่าคนแก่ต้องให้เราอ่านให้ฟัง หรือพวกเราเผ่าลีซอ จะดูข่าวสารที่ทีวี มูหล่า ชาติพันธุ์ลีซอ (ลีซู) อาศัยอยู่ที่้บ้านดอยล้าน กล่าว
แม้ว่า ภาครัฐจะมีความมุ่งมั่นจัดการออกเสียงประชามติให้บรรลุเป้าหมาย คือ ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกในการลงประชามติ แต่ในเชิงปฏิบัติ ก็มีกลุ่มคนบางส่วนที่ไม่ได้รับเจตนารมณ์ของเป้าหมายนั้นอย่างทั่วถึง หมายความว่า การแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญ และการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อวีดีโอ แผ่นพับ การออกเสียงประชามติ ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่จะให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างดีก่อนจะไปลงประชามติ