ร่าง พ.ร.บ.แร่ “รัฐไม่ต้องเผยข้อมูล หากกระทบความมั่นคง”

ร่างพระราชบัญญัติแร่ (พ.ร.บ.แร่) จำนวน 188 มาตรา เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการปรับปรุง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 และ พ.ร.บ.พิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ.2509 สำหรับเหตุผลของการแก้ไขเนื่องจากเนื้อหาของกฎหมายเดิมบางส่วนไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
โดยร่าง พ.ร.บ.แร่ ฉบับนี้เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีเนื้อหาที่ดีขึ้นบ้างจากร่าง พ.ร.บ.แร่ ฉบับที่ครม.ชุดเดียวกันอนุมัติหลักการช่วงเดือนตุลาคม 2557 อย่างไรก็ตามหลายส่วนยังคงมีปัญหา เพราะดูเหมือนเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนมากกว่าชุมชน
รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลการบริหารจัดการแร่ เว้นแต่กระทบต่อความมั่นคง
ใน ร่าง มาตรา 8 “ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกันจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่…เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการแร่ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยการจัดทำต้องมีการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนทราบ เว้นแต่ข้อมูลของแร่ประเภทที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่งคงประเทศ”
รัฐลงทุนสำรวจพื้นที่ทำเหมืองก่อน เพื่อให้เอกชนประมูล    
ในร่าง มาตรา 132 หากปรากฏว่าพื้นที่ใดน่าจะมีแร่เหมาะสมเพียงพอที่จะพัฒนาเป็นแหล่งแร่เพื่อทำเหมือง รัฐมนตรีอาจให้กรมอุตสาหรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จัดทำเอกสารที่จำเป็นในการขอประทานบัตร และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับพื้นที่นั้น ก่อนออกประทานบัตรให้ทำเหมืองในพื้นที่ดังกล่าว เมื่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับพื้นที่นั้นได้รับความเห็นชอบแล้ว กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่อาจนำพื้นที่นั้นออกประมูล
รมต.มีอำนาจประกาศเขตแร่เพื่อทำเหมืองได้
      
ในร่าง  มาตรา 12 “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองได้เป็นอันดับแรกก่อนการสงวน หวงห้าม หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นในพื้นที่นั้น” ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ
โดยพื้นที่ที่จะกำหนดต้องเป็นพื้นที่ 1) มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง 2) ไม่ใช่พื้นที่ที่มีกฎหมายเฉพาะห้ามการเข้าใช้ประโยชน์ใดๆ โดยเด็ดขาด รวมถึงพื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่งคงแห่งชาติ
ขณะที่ ร่างมาตรา 13 “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจนำพื้นที่ที่มีแร่อุดมสมบูรณ์และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูง มาประกาศให้มีการประมูลแหล่งแร่ในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อให้ผู้ชนะการประมูลได้สิทธิในการสำรวจแร่และทำเหมืองในพื้นที่นั้น”
สำหรับหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการประมูล ตลอดจนการให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐ ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมประกาศตามคำแนะนำของคณะกรรมการแร่
ถ้าทำเหมืองต้องจัดรับฟังความเห็น แต่หลักเกณฑ์ให้ รมต.กำหนด
ในร่าง มาตรา 53 “เมื่อได้รับคำขอประทานบัตรแล้วให้เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ ประกาศการขอประทานบัตรของผู้ยื่นคำขอโดยปิดประกาศเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ณ สำนักงานเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และที่ทำการผู้ใหญ่บ้านที่มีการยื่นขอประทานบัตร เมื่อครบกำหนดให้มีการจัดให้มีการับฟังความคิดเห็นของชุมชนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด”
ยกเว้นค่าธรรมเนียมหากผู้ประกอบกิจการรับผิดชอบต่อสังคม
ในร่าง มาตรา 131 คณะกรรมการแร่อาจให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีเพื่อออกกฎกระทรวงยกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียมในกรณีที่ 1) ผู้ถือประทานบัตร ผู้รับใบอนุญาตแต่งแร่ หรือผู้รับใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่ประกอบกิจการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมสูงกว่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด 2) เหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรืออุบัติภัย และ 3) เหตุอื่นสมควร
ไฟล์แนบ