จับตากฎหมายเตรียมเข้า สนช. ระวังเผลอแป๊บเดียวผ่าน

การพิจารณากฎหมายในยุค คสช. เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในชั้นของ สนช. ที่เมื่อกฎหมายใดผ่านเข้าสภาไปได้ก็มักจะไม่มีการคัดค้านหรือแก้ไขมากนัก ไอลอว์ชวนจับตากฎหมายที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน เช่น ร่าง พ.ร.บ.แร่ ที่ตัดช่องทางประชาชนค้านเหมือง ร่าง พ.ร.บ.ยา ที่ให้ผู้ไม่ใช่เภสัชกรจ่ายยาได้ ก่อนที่กฎหมายเหล่านี้จะผ่าน สนช. และมีผลบังคับใช้จริง
จากการติดตามการพิจารณากฎหมายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในยุครัฐบาลคสช. พบว่ามีร่างกฎหมายที่ผ่านวาระที่สามแล้ว 155 ฉบับ ซึ่งหมายความว่าร่างกฎหมายทั้ง 155 ฉบับกำลังรอที่จะประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยในจำนวนนี้มีถึง 140 ฉบับ ที่ประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว

เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2550 ถูกยกเลิกไป จึงไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจประชาชนเสนอกฎหมายได้ ร่างกฎหมายแทบทั้งหมดถูกร่างขึ้นโดยหน่วยงานราชการ คณะรัฐมนตรีรับมาพิจารณาแล้วส่งต่อให้ สนช. พิจารณาเพื่อออกเป็นกฎหมาย ซึ่งจากการเฝ้าจับตาการพิจารณากฎหมายที่ผ่านมาพบว่า เมื่อร่างกฎหมายใดเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. แล้ว มักจะผ่านฉลุยอย่างรวดเร็ว ไม่ค่อยมีการแก้ไขในสาระสำคัญนัก

ไอลอว์ชวนมาจับตาดูว่าร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีจ่อเสนอเข้า สนช. ในช่วงต้นปี 2559 นั้น มีฉบับใดน่าสนใจบ้างหรือมีข้อห่วงกังวลจากภาคประชาชนอยู่บ้าง เพราะหลายครั้งกฎหมายที่มีข้อถกเถียงอย่างมาก เช่น ร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ  จะถูกคัดค้านหรือยับยั้งในชั้นของคณะรัฐมนตรี แต่เมื่อผ่านเข้า สนช. แล้วก็ดูยากที่จะชะลอ หยุดยั้ง หรือสอดแทรกข้อเสนอใดๆ เข้าไปได้

ดูบันทึกการจับตากฎหมายจาก สนช. ได้ที่ http://ilaw.or.th/NLAWatch

                

ร่าง พ.ร.บ.แร่ ตัดช่องทางประชาชนค้านเหมือง

เป็นร่าง พ.ร.บ. ที่มีคิวเข้าพิจารณาโดย สนช. ในช่วงต้นเดือนมีนาคม ซึ่งที่ผ่านมาภาคประชาชนได้ออกมาคัดค้านเนื่องจากหลายประเด็น เช่น ร่างฉบับใหม่ได้เปลี่ยนขั้นตอนการอนุญาตจากการให้สัมปทานและขอประทานบัตรมาเป็นการประมูลแทน ซึ่งจะทำให้แร่กลายเป็นสิทธิของรัฐร่วมกับบริษัทของเอกชน, เพิ่มอำนาจให้ฝ่ายข้าราชการ โดยเปลี่ยนผู้อนุญาตทำเหมืองจากรัฐมนตรีเป็นข้าราชการประจำ, ประชาชนอาจคัดค้านการทำเหมืองไม่ได้ เพราะร่างฉบับใหม่ตัดขั้นตอนที่เปิดโอกาสให้ประชาชนโต้แย้งประกาศขอประทานบัตรออกไป, ประเด็นปลดล็อคการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ป่า พื้นที่หวงห้ามหรือพื้นที่พิเศษที่เคยติดข้อกำหนด จำกัด ห้ามทำเหมือง โดยให้ประกาศเป็น “เขตแหล่งแร่” เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนมาสำรวจ และทำเหมืองแร่ในบริเวณนั้น รวมถึงอาจไม่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA

อ่านเต็มๆ ที่ http://ilaw.or.th/node/3473

ร่าง พ.ร.บ.ยา ไม่ได้เป็นเภสัชก็จ่ายยาได้

ร่าง พ.ร.บ.ยา กำลังจะถูกเสนอเข้าที่ประชุม ครม. ซึ่งกลุ่มเภสัชกรเคยคัดค้านและเสนอร่างฉบับที่ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายได้มีส่วนร่วมแล้ว แต่าร่างฉบับที่จะเข้า ครม. กลับเป็นฉบับเดิมที่เคยถูกคัดค้านมาตลอด โดยประเด็นสำคัญที่ทำให้ถูกต่อต้าน เช่น การเปิดให้ผู้ที่ไม่ใช่เภสัชกร แต่ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ เช่น พยาบาล แพทย์แผนไทย ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ สามารถจ่ายยาได้ ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนการจ่ายยาที่เคยรัดกุมโดยมีเภสัชกรตรวจสอบความถูกต้องก่อนจ่ายยานั้นหายไป ผู้ป่วยจึงอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น, มีข้อยกเว้นให้ผู้ประกอบวิชาชีพฯ ไม่ต้องขออนุญาตผลิต ขาย หรือ นำเข้ายาแผนปัจจุบัน ยาแผนไทย ยาแผนทางเลือก ยาสำหรับสัตว์ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ใช่เภสัชกรสามารถผสมยาได้, ไม่ได้กำหนดการห้ามโฆษณายาทุกประเภทและยาที่รักษาโรคร้ายแรง, ไม่ได้กำหนดห้ามการขายยาชุด, ไม่กำหนดความรับผิดทางแพ่งและปกครอง ซึ่งหมายถึงผู้ป่วยจะเรียกร้องความเสียหายทางแพ่งไม่ได้, ไม่มีการทบทวนทะเบียนตำรับยาหลังจากต่อทะเบียนตำรับยาหลังห้าปีแรกแล้ว ยานั้นจะให้ใช้ได้ตลอดไป เว้นแต่จะพบปัญหา


ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ดักฟัง

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันเด็กลอกเลียนแบบพฤติกรรมจากข่าว พฤติกรรมน่าหวาดเสียว หรือยั่วยุให้เกิดการเอาอย่าง ซึ่งมีนักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก เช่น อธิป จิตตฤกษ์ เห็นว่า อันที่จริงร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ควรเป็นกฎหมายปราบปรามสิ่งลามกอนาจารเด็ก แต่เขียนกว้างมากเกินไป เช่น ขอบเขตของสิ่งยั่วยุความรุนแรง เขียนคลุมสื่อกระตุ้นความรุนแรงเกือบหมด และคำว่า “ยั่วยุ” ก็ไม่ชัดเจน กฎหมายอาจจะถูกนำมาใช้ในทางที่ผิดได้ง่าย นอกจากนี้ร่างกฎหมายยังให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปตรวจค้นในเคหสถานหรือสถานที่ของบุคคล เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีสิ่งยั่วยุฯ หรือทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิด แต่ต้องขอหมายศาลก่อน ซึ่งไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่สามารถค้นสถานที่เป็นเวลากี่วันเหมือนกับกฎหมายอื่น ที่สำคัญคือให้เจ้าหน้าที่สามารถดักฟังได้โดยจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ไม่ได้ระบุว่าดักฟังได้ในเรื่องใด และหากเกิดความเสียหายขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ

*สิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย หมายถึง เอกสาร ภาพ สิ่งพิมพ์ รูปรอย เครื่องหมาย รูปถ่าย ภาพยนตร์ เสียงหรือถ้อยคำ ข้อความ ข้อมูล หรือสิ่งใดๆ ที่กระตุ้น ส่งเสริม หรือยั่วยุ ที่น่าจะก่อให้เกิดการกระทำวิปริตทางเพศ ความสัมพันธ์หรือการกระทำทางเพศกับเด็ก การทารุณกรรมเด็ก การฆ่าตัวตายของเด็กหรือเป็นหมู่คณะ การใช้ยาเสพติด หรือการกระทำผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฆ่าผู้อื่น หรือทำร้ายร่างกายโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย

อ่านต่อที่ http://ilaw.or.th/node/3485

ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ห้ามพระเรี่ยไร ห้ามพระเบี่ยงเบนทางเพศ

แนวทางในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาที่น่าสนใจในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เช่น จัดให้มีการสอดส่อง ปกป้องกิจการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ไม่ให้มีการกระทำละเมิด ดูหมิ่น เหยียดหยาม ทำลาย ลอกเลียน ดัดแปลง หรือทำให้วิปริตผิดเพี้ยนไปและหากทำลายศาสนา จะมีโทษหนัก เช่น ทำให้หลักศาสนธรรมผิดเพี้ยนไปจากพระไตรปิฎก ต้องระหว่างโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, พระภิกษุ สามเณร เรี่ยไรโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งผู้ที่ร่วมกับทำความผิด ผู้สนับสนุน ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในบทบัญญัตินั้นๆ หนึ่งในสาม,

ผู้ใดประกอบการค้า สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา พระเครื่องหรือวัตถุมงคลใดๆ ไม่ดำเนินการจัดวางไว้ในสถานที่ที่เหมาะสม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, พระภิกษุที่มีอำนาจหน้าที่ในการบรรพชาอุปสมบท จงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำการบรรพชาอุปสมบทให้แก่ผู้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, พระภิกษุ สามเณรใด ที่มีพฤติการณ์เบี่ยงเบนทางเพศกระทำการใดๆ อันเป็นที่เสื่อมเสียแก่พระพุทธศาสนา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านต่อที่ http://ilaw.or.th/node/3527

ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ชายไทยต้องเกณฑ์เป็นตำรวจด้วย

ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ตำรวจกองประจำการ) หรือ “กฎหมายตำรวจเกณฑ์” ได้จัดให้มีตำรวจกองประจำการขึ้น ในลักษณะเช่นเดียวกับทหารกองประจำการ หมายความว่า เมื่อชายไทยมีอายุครบ 20 ปี จะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารที่แบ่งย่อยเป็นกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ต่อไปนี้จะต้องแบ่งสัดส่วนมายัง “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ด้วย โดยตำรวจส่วนนี้จะไม่มียศ

เมื่อประจำการครบกำหนด 2 ปีแล้ว ให้ปลดจากกองประจำการ มีสถานะเหมือนทหารกองหนุน และไม่มีผลผูกพันว่าจะต้องมารับราชการตำรวจต่อ แต่ถ้าอยากจะเป็นตำรวจต่อจะต้องมาเข้ารับการคัดเลือกแบบเดียวกับเจ้าหน้าที่ทหารกองประจำการที่ปลดจากการเป็นทหาร

ส่วนอัตราเงินเดือนและการให้ได้รับเงินเดือนของตำรวจกองประจำการนั้น ให้เป็นเหมือนกับระเบียบข้าราชการทหาร โดยช่วงเวลา ในการเกณฑ์ตำรวจน่าจะอยู่ในช่วงเดียวกับการเกณฑ์ทหาร ประมาณเดือนเมษายนหรือกรกฎาคมของทุกปี
ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ห้ามแบ่งขาย ห้ามบริษัทบุหรี่ทำ CSR

เป็นการยกเลิก พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับ 2535 โดยกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ยาสูบ จากเดิม 18 ปี เป็น 20 ปี, ห้ามแบ่งขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ แยกเป็นมวน, ห้ามขายผ่านรูปแบบของพริตตี้ ห้ามขายในวัด สถานบริการ สาธารณสุข สถานศึกษา สวนสาธารณะ, ห้ามโฆษณาในรูปแบบเป็นผู้สนับสนุนการประกวด และการแข่งขัน รวมทั้งห้ามโฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ และยังกำหนดห้ามไม่ให้ดำเนินกิจกรรมในลักษณะให้การอุปถัมภ์หรือการสร้างความ รับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม (ซีเอสอาร์) อีกด้วย, กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ครอบคลุมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่มีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบ เช่น บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนการสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ เพิ่มโทษจากเดิมปรับไม่เกิน 2,000 บาท เป็นปรับไม่เกิน 5,000 บาท

ขณะที่สมาคมชาวไร่ยาสูบคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นี้ เพราะเห็นว่า มาตรการดังกล่าวจะเป็นการทำร้ายอุตสาหกรรมทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ยาสูบ ผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าปลีก ผู้นำเข้าและผู้ผลิต โดยการลิดรอนสิทธิในการประกอบอาชีพและการได้รับความคุ้มครองต่างๆ รวมถึงร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้มีส่วนร่วมของสมาคมชาวไร่ยาสูบ


ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ เตรียมเปิดเสรี GMO?

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ ซึ่งมีภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านจนครม.ต้องชะลอการเสนอเข้า สนช. ไว้ก่อน แต่ก็ต้องจับตาดูต่อไปว่าร่าง พ.ร.บ.นี้จะถูกแก้ไขหรือมีความคืบหน้าอย่างไร โดยประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงในร่างฉบับนี้ เช่น กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่ห้ามผลิตหรือนำเข้า ซึ่งมีข้อวิจารณ์ว่าเหมือนเป็นการเปิดเสรีจีเอ็มโอ เพราะเท่ากับว่าจีเอ็มโออะไรก็ตามสามารถนำเข้ามาได้หมด ยกเว้นจีเอ็มโอที่ประกาศห้ามไว้ ซึ่งขัดแย้งกับ “หลักการป้องกันไว้ก่อน” ในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่ไทยเป็นภาคี

กฎหมายไม่ได้ระบุว่าต้องประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EIA/EHIA) สำหรับการใช้จีเอ็มโอในสภาพควบคุมหรือในภาคสนาม, ถ้าไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ชัดว่าจีเอ็มโอก่อให้เกิดอันตรายหรือสร้างความเสียหายต่อสิ่่งแวดล้อม สุขภาพมนุษย์หรือสัตว์ จะสั่งยกเลิกทดลองไม่ได้ ซึ่งขัดแย้งกับกติกาสากล, ในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัย หรือเกิดจากการกระทำของผู้ได้รับความเสียหายเอง ผู้ประกอบการไม่ต้องรับผิด ซึ่งประเด็นนี้หลายฝ่ายมองว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะปกติการใช้จีเอ็มโอมีความเสี่ยงมากที่จะผสมข้ามกับพืชทั่วไปและพืชในธรรมชาติ ศาลอาจจะตีความว่าเป็นเหตุสุดวิสัยได้ ทั้งที่ในพิธีสารเสริมนาโงยา-กัวลาลัมเปอร์ยกเว้นไม่ต้องชดใช้ความเสียหายเพียงสองกรณีคือ ภัยพิบัติตามธรรมชาติและสงคราม

อ่านต่อที่ http://ilaw.or.th/node/3962

ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษา เปิดช่องนายจ้างหักเงินเดือนใช้หนี้ กยศ.

ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษา ตั้งใจที่จะแก้ปัญหาการกู้ยืมเงินกองทุนฯ แล้วไม่ส่งคืนซึ่งปัจจุบันมีคนติดหนี้กองทุนประมาณ 2 ล้านคน เป็นเงินกว่า 52,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นข้าราชการ เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.นี้ที่สำคัญ เช่น ควบรวมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เข้าด้วยกัน, ให้ผู้จัดการกองทุนสามารถจ้างสถาบันการเงินหรือนิติบุคคล เข้ามาบริหารเงินและตามทวงหนี้ได้ กำหนดให้ผู้กู้ยืมเงินต้องยินยอมให้กองทุนเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล หรือเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมเงินและการจ่ายคืนตั้งแต่การทำสัญญา และเมื่อผู้กู้เข้าทำงานในหน่วยงานรัฐหรือเอกชน นายจ้างต้องส่งข้อมูลดังกล่าวให้กองทุนฯตรวจสอบ หากเป็นหนี้กองทุนฯ ให้อำนาจนายจ้างสามารถหักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืม ในลำดับเดียวกับหนี้ค่าภาษีอากรซึ่งเปิดให้หักแต่ไม่ให้กระทบต่อการดำรงชีวิต ผลจากร่างพ.ร.บ.นี้อาจทำให้ผู้กู้หางานได้ยากขึ้นเพราะนายจ้างหลายแห่งตั้งเงื่อนไขในการรับเข้าทำงานว่าต้องเคลียร์หนี้ให้เรียบร้อยก่อน

ร่างกฎหมายชุดความมั่นคงดิจิทัล 10+3 ฉบับ

ชุดกฎหมายกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล ถูกเสนอเข้า ครม.ไปครั้งนึง ก่อนที่ชาวเน็ตจะรวมพลังกันคันค้านจนรัฐบาลรับปากว่าจะแก้ไขร่างให้รัดกุมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพมากขึ้น ในบรรดาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องถึง 13 ฉบับ มี 3 ฉบับที่กระทบกับสิทธิเสรีภาพบนโลกออนไลน์เป็นพิเศษและน่าจับตามอง ได้แก่

1. ร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ฯ ซึ่งเดิมตามมาตรา 35(3) กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจตรวจสอบการสื่อสารของประชาชนได้ทุกช่องทาง โดยไม่มีขอบเขตและไม่มีกระบวนการตรวจสอบใดๆ เลย (อ่านต่อที่ http://ilaw.or.th/node/3404)

2. ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเดิมกำหนดว่าการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลไม่ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก็ได้ เพียงแค่แจ้งให้ทราบเฉยๆ และให้ย้ายหน่วยงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไปสังกัดภายใต้หน่วยงาน “ความมั่นคงไซเบอร์” (อ่านต่อที่ http://ilaw.or.th/node/3405)

3. ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งจะแก้ไขให้ชัดเจนขึ้นว่าการหมิ่นประมาทออนไลน์ไม่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และจะเข้มงวดเรื่อง “ภาพโป๊เด็ก” โดยกำหนดให้ผู้จัดทำ-เผยแพร่-ครอบครอง มีโทษจำคุกหกปี โดยที่นิยามเรื่องภาพโป๊เด็กยังไม่ชัดเจน (อ่านต่อที่ http://ilaw.or.th/node/3393)

ปัจจุบันร่างกฎหมายทั้งสามฉบับยังอยู่ในขั้นตอนที่รอ ครม.เห็นชอบ โดยปลัดกระทรวง ICT ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะยื่นให้ สนช.พิจารณาภายในเดือนมีนาคมนี้ ถึงตอนนี้ประชาชนยังไม่เห็นว่าสุดท้ายมีการแก้ไขจริงหรือไม่ ข้อกังวลต่างๆ ของสังคมได้ถูกปรับปรุงหรือยัง ซึ่งอาจต้องรอจนกว่าร่างกฎหมายต่างๆ ผ่าน ครม.เดินทางเข้าสู่ สนช.แล้วก็ได้ ถึงจะได้เห็นกันว่าเป็นอย่างไร