ใครร่างนั้นสำคัญไฉน?: เปรียบเทียบคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสามชุดในรอบ 20 ปี

ภายหลังจากที่สภาปฏิรูปแห่งชาติไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2558 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่จำนวน 21 คน ภายใน 30 วัน หรือภายในวันที่ 6 ตุลาคม 2558
สังคมกำลังจับตามองกันว่า ใครจะเข้ามาเป็นผู้ร่างชุดใหม่? 
ประวัติศาสตร์การร่างรัฐธรรมนูญในรอบ 20 ปี ที่ผ่านมา กับประสบการณ์คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ 3 ชุด น่าจะช่วยให้เห็นภาพได้บ้างว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่พึงปรารถนาควรมีที่มาอย่างไร? ควรประกอบด้วยกลุ่มบุคคลที่หลากหลายเพียงใด? หรือ เราจะยังคงวนเวียนอยู่กับนักร่างรัฐธรรมนูญหน้าเก่าๆ หรือไม่? 
  
เปิดที่มากรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญในแต่ละยุค
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญช่วงปี พ.ศ. 2539 จำนวน 21 คน มาจากการลงมติเลือกกันภายในของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จำนวน 99 คน โดย สสร. จำนวน 99 คน มีที่มา 2 รูปแบบ คือ 
            1) ตัวแทนจาก 76 จังหวัด รวม 76 คน โดยหากจังหวัดใดมีจำนวนผู้สมัครเกิน 10 คน ให้ผู้สมัครทุกคนลงคะแนนเสียงเลือกกันเองให้เหลือ 10 คน เมื่อได้ผู้สมัครครบ 10 คน แล้ว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดส่งรายชื่อผู้สมัครทั้ง 10 คนให้แก่ประธานรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาเลือกให้เหลือจังหวัดละ 1 คน
            2) ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ รวม 23 คน ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน 8 คน ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ 8 คน และผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดินหรือการร่างรัฐธรรมนูญ 7 คน โดยให้สภาสถาบันอุดมศึกษาที่มีสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์แต่ละแห่งคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติประเภทต่างๆ ประเภทละไม่เกิน 5 คน ส่งให้รัฐสภาเลือกให้ได้ตามจำนวนที่กำหนด
ผลการเลือกของ สสร. 99 คน ทำให้ได้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 21 คน ประกอบด้วย สสร.จังหวัด 6 คน ผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน 6 คน ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ 6 คน และผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดินหรือการร่างรัฐธรรมนูญ 3 คน
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญช่วงปี พ.ศ. 2549 จำนวน 35 คน มีที่มาจาก 
            
            1) สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ปี พ.ศ. 2549 จำนวน 100 คน คัดเลือกกันเองเหลือ 25 คน
            2) คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) คณะรัฐประหารที่เข้ายึดอำนาจการปกครอง เสนอชื่อ 10 คน
โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ปี พ.ศ. 2549 จำนวน 100 คน คัดสรรมาจากการให้สมาชิกสมัชชาแห่งชาติจำนวน 1982 คน ลงมติคัดเลือกกันเอง จนเหลือ 200 คน และให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) คัดเลือกอีกครั้งจนเหลือ 100 คน ประกอบด้วยบุคคลในภาครัฐ 28 คน ภาคเอกชน 27 คน ภาคสังคม 23 คน และภาควิชาการ 22 คน
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญช่วงปี พ.ศ. 2557 มีจำนวน 36 คน มีที่มาจาก
            1) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอชื่อจำนวน 20 คน
            2) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอชื่อจำนวน 5 คน
            3) คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอชื่อจำนวน 5 คน
            4) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอชื่อจำนวน 5 คน และเลือกประธานกรรมาธิการ อีก 1 คน
โดยสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 250 คน มีที่มาจากคณะกรรมการสรรหาจังหวัดเสนอรายชื่อตัวแทนจังหวัดให้ คสช. คัดเลือกเหลือ 77 คน และคณะกรรมการสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 11 ด้าน เสนอรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิให้ คสช. คัดเลือกเหลือ 173 คน
ส่วน คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ จำนวน 21 คน ที่กำลังจะได้มานั้น จะเป็นการแต่งตั้งโดยตรงจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งหมด
ผู้ร่างมาจากกลุ่มอาชีพใด มีผลต่อเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่
เมื่อศึกษาประสบการณ์ในอดีตของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสามชุดที่ผ่านมา พบว่า
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ช่วงปี พ.ศ. 2539 จำนวน 21 คน ประกอบด้วย อดีตนักการเมือง 8 คน, นักวิชาการ 8 คน, ทนายความ 3 คน, อดีตอัยการ 1 คน, และสื่อมวลชน 1 คน 
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ช่วงปี พ.ศ. 2549 จำนวน 35 คน ประกอบด้วย ข้าราชการระดับสูง 11 คน, นักวิชาการ 8 คน, อดีตผู้พิพากษา 5 คน, ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ 2 คน, อดีตอัยการ 2 คน, ภาคธุรกิจ 2 คน, ทนายความ 1 คน, อดีตนักการเมือง 1 คน, ข้าราชการทหาร 1 คน, สื่อมวลชน 1 คน, และตัวแทนภาคประชาสังคม 1 คน
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ช่วงปี พ.ศ. 2557 จำนวน 36 คน ประกอบด้วย นักวิชาการ 11 คน, ข้าราชการระดับสูง 7 คน, อดีตนักการเมือง 4 คน, ข้าราชการทหาร 4 คน, อดีตผู้พิพากษา 2 คน, สื่อมวลชน 2 คน, ภาคธุรกิจ 2 คน, และตัวแทนภาคประชาสังคม 4 คน
ข้อสังเกต จะพบว่าในการยกร่างรัฐธรรมนูญช่วงปี พ.ศ. 2539 กรรมาธิการยกร่างฯ ส่วนใหญ่เป็นอดีตนักการเมืองและนักวิชาการ ไม่ปรากฎว่ามีข้าราชการระดับสูงเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการ โดยไม่มีตัวแทนจากภาคธุรกิจและภาคสังคม อย่างไรก็ตาม ในส่วนของอดีตนักการเมืองในคณะกรรมาธิการยกร่างชุดดังกล่าว ล้วนเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ในส่วนของนักวิชาการก็ล้วนเป็นนักวิชาการชั้นนำด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์
ขณะที่ในการยกร่างรัฐธรรมนูญช่วงปี พ.ศ. 2549 นั้น กรรมาธิการยกร่างฯ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าราชการระดับสูง, นักวิชาการ, และอดีตผู้พิพากษา มีตัวแทนจากภาคธุรกิจและภาคสังคม แต่มีอดีตนักการเมืองเพียง 1 คน เท่านั้น คือนาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ ฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์มองว่า สัดส่วนคณะกรรมาธิการเช่นนี้เป็นผลให้ได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับตุลาการภิวัฒน์ ดังที่ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ให้อำนาจฝ่ายตุลาการเป็นผู้เลือกองค์กรอิสระที่เข้ามาควบคุมฝ่ายการเมือง
ส่วนในการยกร่างรัฐธรรมนูญช่วงปี พ.ศ. 2557 พบว่า กรรมาธิการยกร่างฯ ส่วนใหญ่มากจากกลุ่มนักวิชาการและข้าราชการระดับสูง และกรรมาธิการที่เป็นข้าราชการทหารถึง 4 คน ผลลัพธ์คือได้ร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ คอยควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกที ซึ่งสุดท้ายร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ
ต้องจับตาดูต่อไปว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ที่ คสช. กำลังจะแต่งตั้งนั้น จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ประกอบด้วยบุคคลหลากหลายและเป็นที่ยอมรับ (หรือไม่เป็นที่ยอมรับ) ดังในอดีตหรือไม่
หน้าเก่าเวียนรับเป็นเนติบริกร
จากการศึกษาคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญทั้งสามชุด พบว่า บุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งอยู่ในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มากกว่า 1 ชุด มีดังนี้
ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ (2 ชุด) เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่าง รธน. ช่วงปี พ.ศ. 2539 และเป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ช่วงปี พ.ศ. 2557 โดย ศ.ดร.บวรศักดิ์เป็นนักกฎหมายมหาชนที่มีชื่อเสียง เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยและจัดอบรมของรัฐสภา และเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสมัย นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร  
ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ (2 ชุด) เป็นรองเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่าง รธน. ช่วงปี พ.ศ. 2539 และเป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ช่วงปี พ.ศ. 2549 โดย ศ.ดร.สมคิด เป็นนักกฎหมายมหาชนชั้นนำ เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์
ศ.ดร.สุจิต บุญบงการ (2 ชุด) เป็นกรรมาธิการยกร่าง รธน. ช่วงปี พ.ศ. 2539 และเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่าง รธน. ช่วงปี พ.ศ. 2557 โดย ศ.ดร.สุจิต เป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2533 – 2541) และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (2543-2547) 
กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ (2 ชุด) เป็นรองเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่าง รธน. ช่วงปี พ.ศ. 2549 เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่าง รธน. ช่วงปี พ.ศ. 2557 และกาญจนารันต์ ยังเป็นเป็นอดีตผู้ช่วย สสร. อานันท์ ปันยารชุน (2539) ด้วย โดยกาญจนารัตน์เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครอง 
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ (2 ชุด) เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่าง รธน. ช่วงปี พ.ศ. 2549 และเป็นกรรมาธิการยกร่าง รธน. ช่วงปี พ.ศ. 2557 โดย นพ.ชูชัย เป็นแพทย์ชนบทที่มีชื่อเสียง เคยดำรงตำแหน่งประธานชมรมแพทย์ชนบท เลขาธิการแพทยสภา และต่อมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (2 ชุด) เป็นกรรมาธิการยกร่าง รธน. ช่วงปี พ.ศ. 2549 และเป็นกรรมาธิการยกร่าง รธน. ช่วงปี พ.ศ. 2557 โดย ศ.ดร.นครินทร์ เคยเป็นคณะบดีคณรัฐศาตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และเพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน
มานิจ สุขสมจิต (2 ชุด) เป็นกรรมาธิการยกร่าง รธน. ช่วงปี พ.ศ. 2549 และเป็นกรรมาธิการยกร่าง รธน. ช่วงปี พ.ศ. 2557 โดยนายมานิจเป็นบรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย และประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
รศ.วุฒิสาร ตันไชย (2 ชุด) เป็นกรรมาธิการยกร่าง รธน. ช่วงปี พ.ศ. 2549 และเป็นกรรมาธิการยกร่าง รธน. ช่วงปี พ.ศ. 2557 โดย รศ.วุฒิสารเป็นเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร (2 ชุด) เป็นโฆษกกรรมาธิการยกร่าง รธน. ช่วงปี พ.ศ. 2549 และเป็นกรรมาธิการยกร่าง รธน. ช่วงปี พ.ศ. 2557 โดย รศ.ดร.ปกรณ์เป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
กระบวนการร่าง การแปรญัตติ การเห็นชอบ ในแต่ละยุคสมัยแตกต่างกัน
หากเปรียบเทียบกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญในแต่ละยุคสมัย จะพบว่ากระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2539 เปิดโอกาสให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดใหญ่มีโอกาสขอแปรญัตติเพื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะกรรมาธิการยกร่างฯ อย่างเต็มที่ ขณะที่กระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในปี 2549 และ 2557 ออกแบบมาให้การแปรญัตติเพื่อขอแก้ไขทำได้ยากกว่า ทำให้ร่างฉบับของคณะกรรมาธิการมีน้ำหนักมาก
สำหรับกระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ.2539 เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จำนวน 21 คน ซึ่งมีอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดกรอบในการจัดทำร่างฯ รับฟังความเห็นเบื้องต้นจากประชาชน ยกร่างฯ แรกแล้วเสร็จ และสภาร่างรัฐธรรมนูญมีมติรับหลักการของร่างฯ แรก จึงจัดตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ มาทำหน้าที่ทบทวนแก้ไขร่างฯ ตามความคิดเห็นของประชาชน และคำแปรญัตติจาก สสร. โดย สสร. ที่ต้องการแปรญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ สามารถยื่นคำขอแปรญัตติได้เป็นรายมาตราเป็นลายลักษณ์อักษร โดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ เช่น ไม่ต้องมีผู้รับรองขั้นต่ำ ไม่มีข้อจำกัดว่า 1 คน ยื่นได้แค่ 1 ครั้ง และพิจารณาอย่างเปิดเผยในที่ประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญเรียงเป็นรายมาตรา 
คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะเชิญผู้ขอแปรญัตติแก้ไขมาชี้แจง หากผู้ขอแปรญัตติพอใจก็ไม่ต้องอภิปรายในสภาร่างรัฐธรรมนูญ หากยังไม่พอใจก็ขออภิปรายในการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ ผลที่เกิดขึ้น คือ มีสมาชิก สสร. ขอแปรญัตติทั้งสิ้น 55 มติ ซึ่งเป็นการขอแก้ไขร่างเดิมของคณะกรรมการยกร่างฯ ถึง 305 มาตรา
สำหรับกระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2549  ได้กำหนดให้สสร. สามารถแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องมีสมาชิกลงชื่อรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 (10 คน จาก 100 คน) ทั้งยังได้จำกัดสิทธิการแปรญัตติของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญไว้ โดยสสร. หนึ่งคนจะยื่นขอแปรญัตติหรือรับรองคำแปรญัตติ ได้ 1 มติ เท่านั้น จากนั้นคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะพิจารณาคำขอแปรญัตติ ว่าจะแก้ไขหรือไม่แก้ไข และยื่นร่างฯ สุดท้ายต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ 
สำหรับกระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2557 ได้กำหนดให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อาจขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องมีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติลงชื่อรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (25 คน จาก 250 คน) หนึ่งคนจะยื่นขอแปรญัตติหรือรับรองคำแปรญัตติ ได้ 1 มติ เท่านั้น จากนั้นให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมภายในหกสิบวัน โดยไม่มีกระบวนการอภิปรายรวมในสภา คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอาจแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ก็ได้ตามที่เห็นสมควร และยื่นร่างฯ สุดท้ายต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
จะเห็นได้ว่า กระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2549 และ 2557 ได้ถูกออกแบบมาให้ยึดตามร่างฯ ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เป็นหลัก สิทธิของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือสภาปฏิรูปแห่งชาติชุดใหญ่ ที่ไม่ได้เป็นคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ในการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญถูกจำกัดมาก ไม่สามารถมีส่วนร่วมได้มากเหมือนกระบวนการในช่วงปี พ.ศ. 2539
เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญช่วงปี พ.ศ. 2557 ยกร่างขึ้น จึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ แต่เนื่องจากสภาปฏิรูปแห่งชาติได้สิ้นสภาพลงแล้ว จึงอาจกล่าวได้ว่าในการร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะมีขึ้นใหม่นั้น ร่างรัฐธรรมนูญฯ จะอยู่ภายใต้อุ้งมือของคณะกรรมการยกร่างฯ จำนวน 21 คน อย่างเบ็ดเสร็จ
นอกเหนือจากนั้น ในการร่างรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2539 ร่างรัฐธรรมนูญต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาร่างรัฐธรรมนูญและรัฐสภา ส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2549 ร่างรัฐธรรมนูญ ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาร่างรัฐธรรมนูญก่อน จากนั้นจึงนำไปทำประชามติ เช่นเดียวกับในการร่างรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2558 ร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติก่อน จึงจะนำไปทำประชามติได้ อย่างไรก็ตาม ในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งใหม่ เมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดําเนินการออกเสียงประชามติได้เลย
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ช่วงปี พ.ศ. 2539
ชื่อ ตำแหน่ง ที่มา ประสบการณ์
อานันท์  ปันยารชุน ประธาน ผู้มีประสบการณ์ด้าน
การเมืองการบริหารราชการแผ่นดินหรือการร่างรัฐธรรมนูญ
อดีตนายกรัฐมนตรี
เกษม  ศิริสัมพันธ์  รองประธาน สาขากฎหมายมหาชน อดีต สส.
ศ. ดร. คณิต   ณ นคร  รองประธาน สาขากฎหมายมหาชน อัยการสูงสุด
ศ. ดร.บวรศักดิ์  
อุวรรณโณ  
เลขานุการ
สาขากฎหมาย
มหาชน
อาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาฯ
นายพงศ์เทพ  
เทพกาญจนา
ผู้ช่วยเลขานุการ สสร. สมุทรสาคร ทนายความ
รศ. ดร.สมคิด  
เลิศไพฑูรย์
ผู้ช่วยเลขานุการ
สาขากฎหมาย
มหาชน
อาจารย์นิติศาสตร์ มธ.
คณิน  บุญสุวรรณ โฆษก สสร.ชลบุรี อดีต สส.
โกเมศ  ขวัญเมือง ผู้ช่วยโฆษก
สาขากฎหมาย
มหาชน
อาจารย์นิติศาสตร์ รามคำแหง
ศ. ดร. เขียน  ธีรวิทย์  
สาขารัฐศาสตร์
และรัฐประศาสนศาสตร์
อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ
ทองใบ  ทองเปาด์  
สาขากฎหมาย
มหาชน
ทนายความ
พลตำรวจเอกประมาณ  อดิเรกสาร  
ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง
การบริหารราชการแผ่นดินหรือ
การร่างรัฐธรรมนูญ
อดีต สส. และอดีตรองนายกฯ
รศ.วิสุทธิ์  โพธิแท่น  
สาขารัฐศาสตร์
และรัฐประศาสนศาสตร์
อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ.
พันเอกสมคิด  
ศรีสังคม
  สสร. อุดรธานี อดีต สส.
สวัสดิ์  คำประกอบ  
ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง
การบริหารราชการแผ่นดิน หรือ
การร่างรัฐธรรมนูญ
อดีต สส.
ศ. ดร.สุจิต  
บุญบงการ
 
สาขารัฐศาสตร์
และ รัฐประศาสนศาสตร์
อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ
เสรี  สุวรรณภานนท์   สสร. กทม. ทนายความ
เอนก  สิทธิประศาสน์  
สาขารัฐศาสตร์
และ รัฐประศาสนศาสตร์
อดีต รมช.มหาดไทย
ศ. ดร.กระมล  ทองธรรมชาติ
ประธานคณะกรรมาธิการวิชาการข้อมูลและศึกษาแนวทางการร่างกฎหมาย
ประกอบรัฐธรรมนูญ
สาขารัฐศาสตร์
และ รัฐประศาสนศาสตร์
อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ
เดโช  สวนานนท์   ประธานคณะกรรมาธิการจดหมายเหตุ ตรวจรายงานการประชุมและกิจการสภา สสร. สุราษฎร์ธานี อดีต สส.
สมเกียรติ  อ่อนวิมล ประธานคณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์ สสร. สุพรรณบุรี สื่อมวลชน  
ศ. ดร.อมร  รักษาสัตย์ ประธานคณะกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นและประชาพิจารณ์
สาขารัฐศาสตร์
และ รัฐประศาสนศาสตร์
อาจารย์รัฐศาสตร์ นิด้า

 

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญช่วงปี พ.ศ. 2549

ชื่อ ตำแหน่ง ที่มา ประสบการณ์
นาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ ประธาน เสนอโดย คมช.
อดีตรมว.ต่างประเทศ
อดีตเลขาธิการนายกฯ เปรม
อัครวิทย์ สุมาวงศ์ รองประธาน เสนอโดย คมช. รองประธานศาลปกครองสูงสุด
ศ.(พิเศษ) จรัญ ภักดีธนากุล รองประธาน สสร. อดีตผู้พิพากษา / 
ปลัดกระทรวงยุติธรรม
ศ. (พิเศษ) วิชา มหาคุณ รองประธาน สสร. อดีตผู้พิพากษา
ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธาน สสร.

อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท, 
เลขาธิการแพทยสภา

ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการ สสร. คณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. 
อัชพร จารุจินดา รองเลขานุการ สสร. รองเลขาธิการ
คณะกรรมการกฤษฎีกา
กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ รองเลขานุการ เสนอโดย คมช. ที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครอง / 
อดีตผู้ช่วย สสร. อานันท์ ปันยารชุน (2540)
คมสัน โพธิ์คง รองเลขานุการ สสร. อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มสธ. 
ผศ. ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย รองเลขานุการ สสร. คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
รศ. ธงทอง จันทรางศุ โฆษก เสนอโดย คมช. รองปลัดกระทรวงยุติธรรม
พิสิฐ ลี้อาธรรม โฆษก สสร. อดีต รมช.คลัง 
และมีประสบการณ์ภาคเอกชน 
ไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ โฆษก สสร. เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 
รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร โฆษก สสร. อาจารย์คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า
ศ.เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม   สสร. กรรมการ ปปช., อดีตอธิการบดี มธ., 
สสร. (2534, 2540) 
ศ.ไชยยศ เหมะรัชตะ   สสร. อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ (กม.เอกชน) 
เดชอุดม ไกรฤทธิ์   เสนอโดย คมช. ทนายความ
วิจิตร สุระกุล   เสนอโดย คมช. อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี 
ธนพิชญ์ มูลพฤกษ์   สสร. อดีตอัยการ
รศ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์   สสร. อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ.
นุรักษ์ มาประณีต   สสร. อดีตผู้พิพากษา
ประพันธ์ นัยโกวิท   สสร. อดีตอัยการ
พวงเพชร สารคุณ   สสร. รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 
ไพโรจน์ พรหมสาส์น   สสร. อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย 
มนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด   เสนอโดย คมช. อดีตผู้พิพากษา
มานิจ สุขสมจิตร   สสร. สื่อมวลชน 
วิจิตร วิชัยสาร   เสนอโดย คมช. อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี
วิทยา งานทวี   สสร. นักธุรกิจ / 
นายกสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย 
รศ.วุฒิสาร ตันไชย   สสร. รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
รศ.ศรีราชา เจริญพานิช   สสร. อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มสธ. 
สดศรี สัตยธรรม   สสร. อดีตผู้พิพากษา 
สนั่น อินทรประเสริฐ   สสร. อดีตอธิบดีกรมพลศึกษา
สุพจน์ ไข่มุกต์   เสนอโดย คมช. อดีตเอกอัครราชทูต
อังคณา นีละไพจิตร   สสร. นักเคลื่อนไหวภาคสังคม 
พลเอกอัฏฐพร เจริญพานิช   เสนอโดย คมช. เจ้ากรมพระธรรมนูญ 
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญช่วงปี พ.ศ. 2557
ชื่อ ตำแหน่ง ที่มา ประสบการณ์
ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน เสนอโดย คสช ลขานุการคณะกรรมการยกร่างปี 2540,
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ รองประธาน เสนอโดย ครม อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ
รมว.กระทรวงการต่างประเทศ 
มานิจ สุขสมจิตร รองประธาน สัดส่วน สปช. สื่อมวลชน
ศ.ดร.สุจิต บุญบงการ รองประธาน เสนอโดย คสช อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ 
และ อดีตตุลาการศาล รธน.
รศ. นรีวรรณ จินตกานนท์ รองประธาน สัดส่วน สปช. อดีตคณบดีคณะสถิติประยุกต์ นิด้า
ปรีชา วัชราภัย รองประธาน สัดส่วน สนช. อดีตเลขาธิการ กพ.
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธาน สัดส่วน สปช. อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท, เลขาธิการแพทยสภา,
เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 
จรูญ อินทจาร   เสนอโดย คสช. อดีตผู้พิพากษา, อดีตประธานศาล รธน. (2556) 
ศ.(พิเศษ)ประสพสุข บุญเดช   เสนอโดย คสช. อดีตผู้พิพากษา, อดีตประธานวุฒิสภา (2551) 
ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ    เสนอโดย คสช. คณบดีคณะนิติศาสตร์ นิด้า
กฤต ไกรจิตติ   เสนอโดย คสช. อดีตเอกอัครราชทูต
ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์   เสนอโดย ครม อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. 
เจษฎ์ โทณวณิก   เสนอโดย ครม คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิต
รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร โฆษก เสนอโดย ครม. อาจารย์คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า 
วิชัย ทิตตะภักดี   เสนอโดย ครม. อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,
มีประสบการณ์ในภาคธุรกิจ
ดิสทัต โหตระกิตย์ เลขานุการ สัดส่วน สนช. เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขานุการ สัดส่วน สนช. รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง /
อดีตผู้ช่วย สสร. อานันท์ ปันยารชุน (2540) 
ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์   สัดส่วน สนช. อธิการบดี ม.รามคำแหง,
อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง
พลเอกยอดยุทธ บุญญาธิการ   สัดส่วน สนช. อดีตผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 5 
ไพบูลย์ นิติตะวัน   สัดส่วน สปช. นักธุรกิจ, อดีตสมาชิกวุฒิสภา 
ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์   สัดส่วน สปช. อดีตอาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. / อดีตนักการเมือง 
ถวิลวดี บุรีกุล   สัดส่วน สปช. ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า 
คำนูณ สิทธิสมาน โฆษก สัดส่วน สปช. บรรณาธิการอาวุโสของเครือผู้จัดการ 
จรัส สุวรรณมาลา   สัดส่วน สปช. อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ 
รศ. วุฒิสาร ตันไชย โฆษก สัดส่วน สปช. เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
กอบศักดิ์ ภูตระกูล   สัดส่วน สปช. ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพฯ 
มีชัย วีระไวทยะ   สัดส่วน สปช. อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี,
ผู้ก่อตั้งสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน 
พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก สัดส่วน สปช. อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร 
บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์   สัดส่วน สปช. กรรมการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคม
และสิ่งแวดล้อม
สุภัทรา นาคะผิว โฆษก สัดส่วน สปช. อดีตประธานคณะกรรมการ
องค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) ประเทศไทย 
สมสุข บุญญะบัญชา   สัดส่วน สปช. อดีตผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
พลโทนาวิน ดำริกาญจน์ โฆษก สัดส่วน สปช. ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 
จุมพล สุขมั่น   สัดส่วน สปช. อดีตผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีจังหวัด
พิษณุโลก เชียงใหม่ ลำปางและเชียงราย
เชิดชัย เสรีวงศ์   สัดส่วน สปช. อดีตสมาชิกสภาจังหวัดภูเก็ต
พลโทนคร สุขประเสริฐ   สัดส่วน สปช. ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก
ประชา เตรัตน์   สัดส่วน สปช. อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด