รื้อถอนมายาคติ “การซ้อมทรมาน” กันอีกสักครั้ง?

ตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 โลกกำลังเผชิญหน้ากับภัยก่อการร้ายหลายรูปแบบ และข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งวิธีการที่เจ้าหน้าที่จะได้ข้อมูลมานั้น ส่วนหนึ่งมาจากาการซ้อมทรมานทั้งให้รับสารภาพบ้าง หรือให้คายข้อมูลสำคัญออกมาก และหลายประเทศก็นิยมใช้ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาหรือแม้แต่ประเทศไทยเอง
ประเด็นการซ้อมทรมานยังเต็มไปด้วยข้อถกเถียงถึงความคุ้มค่าและปัญหาด้านจริยธรรม ไอลอว์ หยิบยกเหตุผลของผู้ที่เห็นความจำเป็นของการซ้อมทรมาน และเหตุผลที่ต้องต่อต้านการซ้อมทรมาน เพื่อให้ทบทวนกันอีกครั้งว่า “เรายัง ‘รับได้’ กับการซ้อมทรมานหรือเปล่า”
เหตุผลสนับสนุนข้อที่หนึ่ง : "ผู้ที่ก่อเหตุคดีใหญ่ๆ ต้องปกปิดร่องรอยอยู่แล้ว การหาหลักฐานตรงๆ แทบเป็นไปไม่ได้ การซ้อมทรมานช่วยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยวิธีปกติ และมันมีประสิทธิภาพ"
เหตุผลคัดค้าน : แม้ว่าผู้สนับสนุนการซ้อมทรมานในชั้นสอบสวนมักอ้างว่า วิธีนี้ทำให้ได้ข้อมูลที่อาจหาไม่ได้ด้วยวิธีสอบสวนแบบธรรมดา แต่จาก 'รายงานของคณะกรรมการข่าวกรองแห่งวุฒิสภา' (SIC: เอสไอซี) ของประเทศสหรัฐอเมริกา กลับชี้ว่า ยุทธวิธีการสอบสวนโดยการซ้อมทรมาน ไม่ทำให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพหรือมีปริมาณมากเมื่อเทียบกับวิธีการอื่นๆ 
ยกตัวอย่างการสอบสวน "ฮัสซัน กูล" หนึ่งในสมาชิกของอัลเคดา ที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าวิธีการซ้อมทรมานทำให้ได้ข้อมูลสำคัญ  เช่น ข้อมูลเพื่อที่จะเข้าถึงตัว "อาบู อาหมัด อัล-คูไวติ" คนส่งสารคนสนิทของบิน ลาเดน รวมถึงที่อยู่ของผู้นำอัลเคดา ทว่าในรายงานของเอสไอซี กลับโต้แย้งประเด็นนี้ว่า ข้อมูลที่ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงอัล-คูไวติ และการพบที่ซ่อนของบิน ลาเดน ในเมืองอับบอตตาบัดนั้น เจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลมาก่อนที่จะมีการซ้อมทรมาน "ฮัสซัน กูล" เสียอีก
หรือกรณี 'คาหลิด ชีค โมฮัมเหม็ด'  ผู้อยู่เบื้องหลังการวางแผนก่อวินาศกรรม 9/11 เขาถูกทรมานด้วยการทำให้หายใจไม่ออกในลักษณะเหมือนจมน้ำหรือที่เรียกว่า "วอเตอร์บอร์ดดิ้ง" และยอมให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ แต่ทว่าข้อมูลเหล่านั้นกลับเป็นเพียง “นิทานอันซับซ้อน” ที่สร้างขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ยุติการทรมานเท่านั้น
แน่นอนว่า วิธีการซ้อมทรมานมีประสิทธิภาพทำให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลได้โดยใช้ต้นทุนต่ำ ทว่าข้อมูลที่ได้มานั้นบรรลุวัตถุประสงค์ในการต่อต้านการก่อการร้ายหรือไม่ ในเมื่อข้อมูลขาดความน่าเชื่อถือ ซึ่งรายงานของเอสไอซี คือตัวอย่างที่ดีในการพาเรามานั่งคิดทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง
เหตุผลสนับสนุนข้อที่สอง : "การซ้อมผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้ายอาจทำให้เราเข้าถึงเครือข่ายของผู้ร้ายได้มากขึ้น รวดเร็วขึ้น หากไม่ซ้อมทรมาน ก็คงไม่บอกความจริง ถ้าไม่ผิดจริงเจ้าหน้าที่คงไม่ซ้อม"
เหตุผลคัดค้าน : รายงานพิเศษ '10 ปีกับการซ้อมทรมาน 10 ปีของความยุติธรรมที่หายไป' ของประชาไท ได้แสดงตัวเลขสถิติคดีความมั่นคงซึ่งถูกรวบรวมไว้โดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ มกราคม 2547 ถึง มกราคม 2557 พบว่า มีคดีความมั่นคง 2,184 คดี ที่ผู้กระทำความผิดถูกระบุตัว มีแค่ 685 คดีที่ศาลมีคำพิพากษา โดยมีแค่ 264 คดี (ซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหาในคดีทั้งหมด444 คน) ที่ถูกตัดสินว่าผิด ส่วนอีก 421 คดี (มีผู้ถูกกล่าวหาในคดีทั้งหมด 1,030 คน) ศาลพิพากษายกฟ้อง หรือประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ตำรวจจับและดำเนินคดี ศาลพบว่า พวกเขาไม่มีความผิด
ภาคประชาชน อาทิ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์ทนายความมุสลิม ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ใน  'รายงานเงา' ว่า อัตรายกฟ้องคดีที่สูงนั้น เป็นเพราะหลักฐานสำคัญในคดีมีแค่คำสารภาพที่ได้จากการซ้อมทรมาน เมื่อขึ้นศาล ศาลจึงไม่รับฟัง ขณะที่หลักฐานที่มีความน่าเชื่อถืออื่นๆ เช่น ภาพจากกล้องวงจรปิด และหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์นั้นมีน้อยมาก 
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังขยายผลการจับกุม โดยซ้อมผู้ต้องหาให้ซัดทอดไปยังผู้อื่น ซึ่งตามสัญชาตญาณมนุษย์ก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดและให้ข้อมูลอะไรก็ได้กับเจ้าหน้าที่ แม้ว่าจะเท็จก็ต้องให้ไป จึงไม่น่าแปลกใจที่ตัวเลขการยกฟ้องจึงสูงตามไปด้วย
จากข้อมูลที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า จำนวนผู้กระทำผิดจริงที่เจ้าหน้าที่จับกุมมามีไม่ถึงครึ่ง และวิธีการซ้อมทรมานเพื่อให้ผู้ต้องหารับสารภาพหรือซัดทอดไปยังคนอื่นๆ ก็ส่งผลให้มีคดีความขึ้นศาลเป็นจำนวนมาก และทำให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปอย่างล่าช้า นอกจากนี้ยังทำให้ภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมขาดความน่าเชื่อถือ
แม้ว่าผู้ถูกซ้อมทรมานจะเป็นผู้กระทำผิดจริงๆ แต่คำรับสารภาพที่มาจากการซ้อมทรมานนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลก็ไม่สามารถรับฟังมาเป็นหลักฐานในคดีได้ เท่ากับไม่มีทางดำเนินคดีหรือจับผู้ร้ายได้เลย และยังมีผู้บริสุทธิ์มากมายถูกซ้อมทรมาน แล้วอย่างนี้เราจะเชื่อว่า ถ้าไม่ผิดก็คงไม่ซ้อม หรือการซ้อมทำให้ได้ข้อมูลมากขึ้น รวดเร็วขึ้นอีกหรือไม่
เหตุผลสนับสนุนข้อที่สาม : "ลองคิดดูสิ พวกคดีโหดๆ เช่น ฆ่าข่มขืนเด็ก คนทำผิดสมควรถูกซ้อมอยู่แล้ว เทียบกับสิ่งที่เขาทำแค่นี้ยังน้อยไปด้วยซ้ำ วิธีนี้ทำให้โลกปลอดภัย การเจ็บตัวของคนหนึ่งคนเพื่อให้สังคมปลอดภัยเป็นสิ่งยอมรับได้"
เหตุผลคัดค้าน : ไม่ว่าจะมีใครกระทำผิดอย่างไร เราก็ยังต้องอยู่ภายใต้กฎหมายโดยเท่าเทียมและเป็นธรรม ในเมื่อไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้การซ้อมทรมานเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีอำนาจลงโทษใครเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
วิธีการเหล่านี้ จะช่วยรักษาบรรทัดฐานของสังคมให้สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องให้หลักประกัน และการซ้อมทรมานเองก็ขัดต่อ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อที่ห้า ที่กำหนดว่า "บุคคลใดๆ จะถูกทรมานหรือได้รับผลปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้ายผิดมนุษยธรรมหรือต่ำช้าไม่ได้" รวมถึงขัดต่ออนุสัญญาการต่อต้านการทรมานที่ไทยได้ลงนามและให้สัตยาบันไปแล้ว และต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวอีกด้วย
อย่างไรก็ดี การซ้อมทรมานไม่ได้ทำให้สังคมสามารถมั่นใจได้ว่าเราหรือคนอื่นๆ จะปลอดภัยจากอาชญากรรม เพราะภายใต้สังคมที่ยอมรับการซ้อมทรมานระหว่างการสอบสวนโดยยังไม่มีการไต่สวนที่ชอบธรรม จึงไม่มีความแน่นอนว่าการซ้อมทรมานจะไม่เกิดขึ้นกับเราหรือคนรอบตัวเสียเอง
นอกจากนี้ การซ้อมผู้ต้องหาไม่สามารถทำให้คนกลับตัวกลับใจมาใช้ชีวิตในสังคมปกติได้ แต่กลับทิ้งรอยแผลไว้ในใจจนยากที่ลบเลือน และหากเกิดกับผู้บริสุทธิ์ผลที่ตามมาคงยากที่จะเอ่ยว่า “แค่คนเจ็บหนึ่งคน” อย่างแน่นอน ทั้งนี้ 'รายงานสถานการณ์การทรมานในประเทศไทย' โดย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ระบุว่า ผู้ที่ถูกซ้อมทรมานจะมีอาการวิตกกังวล อาการซึมเศร้า รู้สึกผิด หวาดระแวง สับสนนอนไม่หลับ ฝันร้าย และสูญเสียความทรงจำ พวกเขาอาจจะไม่ไว้ใจคนอื่นได้ และอาจถึงขั้นปรับตัวให้เข้ากับสังคมปกติไม่ได้อีกเลย
เหตุผลสนับสนุนข้อที่สี่ : "พวกองค์กรสิทธิมนุษยชนชอบกล่าวหาว่ามีการซ้อมทรมานผู้ต้องหาในไทย แต่ไม่เห็นมีการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่เลย อีกอย่างรัฐบาลก็บอกว่าไม่เคยมีการซ้อมมาก่อน นี่จงใจจะใส่ร้ายกันหรือเปล่า"
เหตุผลคัดค้าน : เหตุที่มีคนสงสัยว่าการซ้อมทรมานเกิดขึ้นจริงในไทยก็เพราะว่า รัฐไม่เคยให้หลักประกันว่าจะมีการดำเนินการสอบสวนกรณีนี้อย่างเคร่งครัด หรือตั้งกรรมการมาพิจารณาที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นกลาง แต่รัฐกลับเลือกที่จะออกมาโต้เถียงด้วยปากเปล่าว่า ไม่มีการซ้อมทรมานแต่อย่างใด อย่างไรก็ดีการจะเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้อธิบายเหตุผลไว้ใน เว็บไซต์ประชาไท ดังนี้
ข้อที่หนึ่ง ผู้ที่จะร้องเรียนเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ไม่มั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรม และไม่มีหลักประกันเรื่องความปลอดภัย รวมถึงไม่มีความมั่นใจว่าจะมีองค์กรเข้าไปตรวจสอบในทันที สิ่งเหล่านี้ทำให้การเรียกร้องสิทธิมีต้นทุนสูง และบ่อยครั้งผู้ร้องเรียนหรือคนรอบข้างกลับโดนข่มขู่ และหากพยานหลักฐานไม่เพียงพออาจนำไปสู่การฟ้องกลับโดยทันที
ข้อที่สอง เหตุที่ผู้ร้องเรียนไม่มั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรมก็เพราะว่า ปัญหาเรื่องหน้าที่ทับซ้อนระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดและเจ้าหน้าที่ผู้ทำการสอบสวน เนื่องจากตามหลักกฎหมายแล้วเมื่อคดีเกิดในท้องที่ใดก็จำเป็นต้องดำเนินคดีในท้องที่นั้น ดังนั้น เมื่อการซ้อมทรมานกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และการดำเนินคดีนั้นต้องแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เดียวกันแล้ว ย่อมมีปัญหาในเรื่องความเป็นอิสระและเป็นกลางในการดำเนินคดี
ข้อที่สาม ปัญหาเรื่องความยากลำบากในการพิสูจน์พยานหลักฐาน เช่น การควบคุมตัวในสถานที่ลับ วิธีการทรมานที่ไม่เกิดบาดแผล ร่องรอยของบาดแผลที่หายไป เนื่องจากกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวได้เป็นเวลานาน (กฎอัยการศึกให้อำนาจ 7 วัน, พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้อำนาจ 30 วัน) โดยไม่ต้องแจ้งสิทธิผู้ต้องหา ไม่ต้องแจ้งสถานที่ควบคุมตัว ญาติและทนายความไม่มีสิทธิเข้าเยี่ยม ดังนั้นหากมีการทำร้ายร่างกายระยะเวลาการควบคุมตัวที่นานก็อาจทำให้แผลและร่องรอยหายไปได้ นอกจากนี้ยังมีวิธีการทรมานโดยไม่ทิ้งบาดแผลอีกด้วย ทำให้การพิสูจน์พยานหลักฐานเป็นไปโดยยากลำบากมากยิ่งขึ้น
ข้อที่สี่ ผู้ถูกซ้อมทรมานมักไม่ทราบตัวผู้กระทำ เนื่องจากการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษนั้นในคดีอาญาจำเป็นต้องทราบบุคคลผู้กระทำความผิด แต่ปัญหาที่ผ่านมานอกจากผู้ถูกทรมานจะถูกควบคุมตัวในสถานที่ลับซึ่งบุคคลธรรมดาไม่อาจเข้าถึงได้แล้ว ในระหว่างการสอบสวนมักปิดตาหรือใช้ถุงพลาสติกดำคลุมศีรษะ จึงไม่สามารถฟ้องร้องโดยตรงได้ ต้องรอหน่วยงานอื่นเข้ามาตรวจสอบเท่านั้น
ข้อสุดท้าย พูนสุขย้ำว่า หากผู้เสียหายได้ผ่านอุปสรรคที่กล่าวมาแล้วสี่อย่างข้างต้น แต่ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่ทหารและไม่มีพลเรือนร่วมกระทำความผิดด้วย ผู้เสียหายก็ไม่อาจเข้าถึงความยุติธรรมโดยฟ้องคดีต่อศาลได้เอง เนื่องจากคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจศาลทหารซึ่งผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลทหารคืออัยการศาลทหารและผู้อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารเท่านั้น นั่นหมายความว่าผู้เสียหายไม่สามารถฟ้องคดีเองได้เลย