แก้กฎหมายศาลทหาร หวังยกมาตรฐานเทียบเท่าศาลพลเรือน

พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยอำนาจของศาลทหาร และวิธิพิจารณาคดีในศาลทหาร เป็นกฎหมายที่เก่ามากแล้ว แก้ไขครั้งล่าสุดเมื่อปี 2526
ตามปกติศาลทหารมีไว้พิจารณาคดีอาญาที่ทหารเป็นจำเลยเท่านั้น แต่หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศฉบับที่ 37/2557 และ 38/2557 ให้คดีการเมืองซึ่งจำเลยเป็นพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร ทำให้ศาลทหารถูกจับตามองจากสังคม จากองค์กรระหว่างประเทศ และวงการนิติศาสตร์มากขึ้น
ในโอกาสที่ประเทศไทยปกครองด้วยรัฐบาลทหาร และมีสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยทหารทำหน้าที่ออกกฎหมาย จึงเป็นโอกาสที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร เพื่อแก้ไขกฎหมายของศาลทหารในส่วนที่ยังล้าสมัย ไม่ทันต่อกระแสสิทธิมนุษยชนโลก ให้มีมาตรฐานคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าหลักการในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งใช้กันในศาลพลเรือนทั่วไป
ดังที่เหตุผลของการเสนอร่างแก้ไขกฎหมายศาลทหารครั้งนี้ระบุไว้ว่า
“โดยที่พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน บทบัญญัติหลายมาตราไม่เหมาะสมกับกาลสมัย เนื่องจากโครงสร้างและกิจการทางทหารได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และบทบัญญัติบางมาตราไม่สอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนั้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติดังกล่าว…..”
เพิ่มเงินเดือนตุลาการทหาร ให้เท่ากับผู้พิพากษาพลเรือน
ร่างพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ฉบับใหม่ กำหนดให้เพิ่มมาตรา 11/1 ว่า
          “มาตรา 11/1 โดยที่ตำแหน่งตุลาการพระธรรมนูญและอัยการทหารเป็นตำแหน่งเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ให้ตุลาการพระธรรมนูญและอัยการทหารได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งเพื่อให้ดำรงตนอยู่ในความยุติธรรมได้อย่างสมเกียรติ โดยเปรียบเทียบกับค่าตอบแทนและเงินประจำตำแหน่งของผู้พิพากษาหรือตุลาการศาลอื่่น และพนักงานอัยการแล้วแต่กรณีด้วย ทั้งนี้ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงกลาโหมกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง”
ซึ่งเงินเดือนรวมเงินประจำตำแหน่งสำหรับผู้พิพากษาปัจจุบันเริ่มต้นที่ประมาณ 36,000 บาท ส่วนตำแหน่งพนักงานอัยการปัจจุบันเริ่มต้นที่ประมาณ 33,000 บาท ซึ่งอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนปีที่รับราชการและอาจสูงสุดได้ถึงประมาณ 140,000 บาท
ขณะที่ผู้พิพากษาศาลทหารบางส่วนเรียนจบด้านกฎหมาย แต่อีกบางส่วนเป็นข้าราชการทหารไม่ต้องมีความรู้กฎหมาย ส่วนอัยการทหารแม้จะเรียนจบด้านกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้ต้องผ่านการสอบของเนติบัณฑิตสภามาก่อน
แก้ไขหลักการพิจารณาคดีให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
การพิจารณาคดีในศาลทหาร ก็คือ การพิจารณาคดีอาญา และมาตรา 45 ของ พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ฉบับปัจจุบัน ก็กำหนดให้นำหลักการในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้กับการพิจารณาคดีในศาลทหารด้วย แต่ยังมีหลักการใน พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร หลายมาตราที่ไม่สอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือ มีมาตรฐานคุ้มครองสิทธิของจำเลยที่ต่ำกว่า
ดังนั้นจึงมีข้อเสนอการแก้ไขในหลายประเด็น โดยยกเอาถ้อยคำจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาใส่ไว้ในร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ฉบับแก้ไขใหม่ แทนที่หลักการเดิมที่ล้าสมัยไปแล้ว ตัวอย่างเช่น
1. กำหนดหน้าที่ให้ศาลต้องจัดหาทนายความให้กับจำเลยในคดีที่มีโทษประหารชีวิต ไม่ว่าจำเลยจะร้องขอหรือไม่ก็ตาม ซึ่งตามกฎหมายเดิมหากจำเลยไม่ร้องขอศาลก็ไม่ต้องจัดหาให้ (แก้ไขมาตรา 56)
2. กำหนดหลักการเรื่องการทำคำพิพากษาใหม่ หากระหว่างการพิจารณาคดีพบข้อเท็จจริงที่แตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้างมาในคำฟ้อง ถ้าไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญก็ให้ศาลพิพากษาไปได้ โดยร่างนี้กำหนดลักษณะของข้อเท็จจริงที่ไม่เป็นสาระสำคัญให้ชัดเจนเช่นเดียวกับตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา (แก้ไขมาตรา 60)
3. เพิ่มระยะเวลายื่นอุทธรณ์ หรือฎีกา คำพิพากษาของศาล เป็นสามสิบวัน ให้เท่ากับระยะเวลาในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งกฎหมายเดิมกำหนดไว้สิบห้าวัน (แก้ไขมาตรา 61)
4. กำหนดเรื่องการอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมาย ให้อุทธรณ์โดยตรงไปยังศาลทหารสูงสุดได้เลย ซึ่งเป็นหลักการในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่เดิมไม่มีอยู่ในกฎหมายของศาลทหาร (เพิ่มมาตรา 61/1)
เปลี่ยนหลักการสั่ง “ขัง” แต่อำนาจยังคงอยู่ที่ผู้บังคับบัญชาทหาร
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หากเจ้าหน้าที่ต้องการควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ในระหว่างที่การสอบสวนยังไม่เสร็จ ต้องแสดงเหตุจำเป็นและร้องขอต่อศาลเพื่อขออนุญาต “ฝากขัง” ไว้ มีกำหนดเวลาคราวละไม่เกิน 12 วัน และควบคุมตัวติดต่อกันได้นานที่สุด 84 วัน ขึ้นอยู่กับฐานความผิด
ตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ฉบับปัจจุบัน มาตรา 46 กำหนดว่าให้ผู้บังคับบัญชาทหารมีอำนาจสั่งควบคุมตัวได้ ตามอำนาจในกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร แต่การสั่งควบคุมรวมกันต้องไม่เกิน 90 วัน โดยไม่ได้กำหนดว่าต้องขออำนาจจากศาลทหารในการควบคุมตัวผู้ต้องหา
ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ไม่ได้แก้ไขประเด็นนี้ให้มีมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิของจำเลยให้เท่ากับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่กำหนดว่า หากมีเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่อาจร้องขอต่อศาลได้ทัน ให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ณ ที่นั้น มีอำนาจสั่งควบคุมผู้ต้องหาได้ไม่เกินระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
          “มาตรา 46 ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอย่างอื่นทำให้ไม่อาจร้องขอให้ศาลทหารที่มีอำนาจสั่งขังผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ ให้ผู้บังคับบัญชาทหารสูงสุด ณ ที่นั้นเป็นผู้มีอำนาจสั่งควบคุมผู้ต้องหาไว้ตามความจำเป็นและกำหนดระยะเวลาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการขัง
          เมื่อเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นดังกล่าวในวรรคหนึ่งได้สิ้นสุดลงแล้ว ถ้ายังมีความจำเป็นต้องควบคุมผู้ต้องหาไว้ต่อไปอีก และการควบคุมนั้นยังไม่ครบกำหนดระยะเวลาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการขัง ให้ร้องขอต่อศาลที่มีอำนาจเพื่อสั่งขังผู้ต้องหานั้นต่อไปได้
          ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับแก่บุคคลตามมาตรา 16 ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามมาตรา 14 ด้วยโดยอนุโลม”
ร่างฉบับใหม่ ได้เปลี่ยนหลักการเบื้องต้นในการควบคุมตัวผู้ต้องหาว่าต้องขออนุญาตจากศาลก่อน แต่กำหนดชัดเจนว่าในกรณีที่มีเหตุจำเป็นก็ไม่ต้องขออนุญาตจากศาล ให้ผู้บังคับบัญชาทหารเป็นผู้สั่่งได้เลย และยังแก้ไขเรื่องระยะเวลาการควบคุมตัวปรับลดจาก 90 วันให้เท่ากับระยะเวลาในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งอาจมากน้อยแตกต่างกันไปตามข้อกล่าวหา สูงสุด คือ ไม่เกิน 84 วัน
นอกจากนี้อำนาจการควบคุมตัวในร่างฉบับใหม่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะใช้ได้กับผู้ต้องหาที่เป็นทหารหรือพลเรือน จึงเท่ากับว่า หากเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นผู้บังคับบัญชาทหารก็มีอำนาจสั่งให้ควบคุมตัวพลเรือนที่ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดได้เลย ขณะที่ตามกฎหมายเดิมนั้นอำนาจการสั่งควบคุมตัวผู้ต้องหาตามมาตรา 46 ยังจำกัดเฉพาะผู้ต้องหารที่เป็นทหาร
ในประเด็นนี้ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์คัดค้านร่างแก้ไขมาตรา 46 โดยให้เหตุผลว่า เป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวางในการควบคุมตัวบุคคลอันอาจมีผลเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหา ขาดการกลั่นกรองเเละการตรวจสอบจากองค์กรตุลาการ อาจทำให้เกิดการควบคุมตัวโดยพลการ และในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นขึ้นจริงพนักงานสอบสวนก็สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 87 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความได้อยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องบัญญัติกฎหมายให้แตกต่างกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่มีอยู่
ไฟล์แนบ