กองทัพประจำการ ของสยาม/ประเทศไทย

เมธาวุฒิ เสาร์แก้ว I เขียน
คุุณูปการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่สำคัญยิ่ง นั่นคือ การวางพื้นฐานกองทัพประจำการสมัยใหม่ให้เกิดขึ้น อันก่อร่างสร้างตัวมาพร้อมๆกับการถือกำเนิดของรัฐชาติสมัยใหม่ของรัฐสยามประเทศ กองทัพประจำการนี้ได้ละทิ้งระบบการเกณฑ์ไพร่พลไปรบแบบเก่า แล้วหันมาพึ่งระบบการจัดการสมัยใหม่ในการกะเกณฑ์กำลังพลอย่างเป็นระบบ มิหนำซ้ำยังพรั่งพร้อมด้วยไปด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัย โดยมีหน้าที่ปกป้องรักษาอธิปไตยของชาติ และค้ำยันราชบังลังค์ขององค์อธิปัตย์แห่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
   
ทั้งนี้ภารกิจช่วงนั้นของกองทัพประจำการหาได้กระทำสงครามกับชาติที่เป็นอริราชศัตรูแต่อย่างใดไม่ ด้วยเพราะจุดสำคัญ คือ การปฏิรูประบบราชการ ปี พ.ศ.2435 ( ค.ศ.1892) ที่รวบอำนาจจากท้องถิ่นเข้าสู่ศูนย์กลางอย่างเบ็ดเสร็จ ส่งผลให้เกิดการสูญเสียอำนาจของเจ้าท้องถิ่น ประกอบกับการเรียกเก็บภาษีอย่างสูง จึงทำให้เกิดปรากฎการณ์การลุกฮือทั่วพระราชอาณาจักร ไม่ว่าจะการปราบฮ่อในภาคเหนือ กบฎผีบุญุในภาคอีสาน หรือ ซ่องโจรในพื้นที่ภาคใต้ กองทัพประจำการสมัยใหม่เข้าไปจัดการกับบรรดาพวกกบฎที่มีอาวุธเพียง "มีด จอบ ขวาน เสียม พร้า ผ้ายันต์" และความเชื่อ"พระศรีอาริยเมตไตย" อย่างราบเป็นหน้ากอง
     
ดังที่ "ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์" นักประวัติศาสตร์คนสำคัญ วิเคราะห์ ใน บทความ "ชาตินักรบ" ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 21-27ธ.ค.55 ว่า
"ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 19 สังคมไทยเลือกจะเผชิญกับอำนาจของตะวันตกอย่างไร ผู้ปกครองไทยเลือกทางยอมจำนน เพราะดินแดนที่เป็นหัวใจของอำนาจล้วนอยู่ริมทะเลหรือมีแม่น้ำใหญ่เข้าถึง (ที่จริงพระเจ้ามินดงแห่งพม่าก็ใช้นโยบายเดียวกัน แต่ก็ไม่สามารถรักษา "เอกราช" ของพม่าได้) รัฐไทยซึ่งอยู่ใกล้ทะเลกลายเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจอาณานิคมของฝรั่ง ดังนั้น จึงต้องเผชิญกับการลุกขึ้นสู้ของชาวบ้านไทยในทั่วทุกภาคเอง บางแห่งต้องใช้เวลาปราบปรามกันหลายสิบปีเหมือนกัน เช่น กบฏชาวนาในรูป "อ้ายเสือ" และกบฏจีนในนามของ "อั้งยี่" ในภาคกลางและใต้ หรือการฝืนอำนาจรัฐของ "พระป่า" สายต่างๆ ในอีสานและภาคเหนือ บางแห่งอาจใช้เวลาไม่นานเท่า เช่น "ผีบุญ" ในอีสานและภาคเหนือ"กระนั้น กองทัพประจำการไทยสร้างขึ้น โดยมีประสงค์เหมือนกองทัพอาณานิคมทุกประการ คือเพื่อควบคุมประชาชนภายในเท่านั้นที่ไม่ใช่เพื่อต่อสู้กับอริราชศัตรู"
 
พร้อมกันนี้ หลังจากการอภิวัฒน์ 2475 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่า กองทัพเข้ามามีบทบาทนำทางการเมืองมากขึ้น โดยวิธีการใช้กำลังในการยึดอำนาจรัฐผ่านการรัฐประหาร  หรือวิธีการใช้กำลังของตนในการรักษาความมั่นคงและความสงบของชาติ ตัวอย่างรููปธรรมของวิธีการอย่างหลัง คือ การปรามปราบผู้มีการกระทำเป็นคอมมิวนิสต์ในช่วงทศวรรษ 2500 – 2520. การปราบปรามนิสิตนักศึกษาในเดือนตุลาคม ปี 2516 และ 2519, การปราบปรามชนชั้นกลางในเดือนพฤษภาคม ปี 2535 และล่าสุดการปราบปรามชนชั้นกลางใหม่ ในเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 2553 
ทั้งหมดทั้งมวล อาจสรุปได้ว่า ศัตรูของกองทัพประจำการ คือ ประชาชนในชาติ ด้วยกันเองก็ว่าได้