สิบปีของ นาย ก. ในคุก “Grade A” และ “Grade B”

                                                           
นาย ก. (นามสมมติ) เป็นอดีตนักโทษ นาย ก. โดนตัดสินในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพย์ติด ต้องไปใช้ชีวิตอยู่อย่าง “คนห้องกรง” กว่าสิบปี นาย ก. ผ่านประสบการณ์ทั้งจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง สถานที่คุมขังผู้ต้องขังคดียา ซึ่งต้องเข้าออกอยู่หลายครั้งระหว่างการต่อสู้คดี และจากเรือนจำกลางคลองเปรม ซึ่งนาย ก. อยู่อาศัยเป็นสิบปีจนเคยชินเสมือนเป็นที่อยู่ของตนเองไปเสียแล้ว
ปัจจุบันนาย ก. ได้รับโทษครบและออกมาใช้ชีวิตตามปกติกับครอบครัวได้ 2-3 ปีแล้ว นาย ก. พร้อมจะแลกเปลี่ยนข้อมูล และนำเสนอประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเรือนจำให้คนภายนอกได้รับรู้ แต่เนื่องจากลูกชายยังไม่ทราบว่านาย ก. เคยติดคุกมาก่อน นาย ก. จึงยังไม่ต้องการเปิดเผยประวัติชีวิต และชื่อเสียงเรียงนามของตัวเอง ไอลอว์จึงแอบไปพูดคุยกับนาย ก. และนำเรื่องราวมาถ่ายทอดต่อให้ได้มากที่สุด
จากประสบการณ์ส่วนตัว นาย ก. จำแนกคุกออกเป็นสองประเภท คือ คุก Grade A ได้แก่ เรือนจำขนาดใหญ่รองรับนักโทษคดีร้ายแรงที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 15 ปีขึ้นไป เช่น เรือนจำกลางคลองเปรม เรือนจำกลางบางขวาง และ คุก Grade B ได้แก่ เรือนจำอื่นๆ ที่รองรับนักโทษคดีเล็กน้อย หรือผู้ต้องขังที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี เช่น ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเรือนจำประจำจังหวัดต่างๆ เป็นต้น 
ความเป็นอยู่ในคุก Grade A จะดีและอยู่สบายกว่าคุก Grade B เพราะจะต้องอยู่ด้วยกันนาน สถานที่มีความแน่นหนาคงทน เจ้าหน้าที่จึงไม่เข้มงวดกวดขันระเบียบวินัยมากนัก เพื่อให้ผู้ต้องขังอยู่ได้อย่างสบาย ไม่เครียดเกินไป
เรื่องที่หลับที่นอน
นาย ก. เล่าว่า ในคุก GradeB ที่นอนค่อนข้างคับแคบ ต้องนอนสลับฟันปลากัน คือ ต้องเอาขายื่นไปที่หัวของเพื่อนนักโทษคนอื่น ห้องหนึ่งๆ ควรจะนอนได้ประมาณ 30-40 คน แต่ความเป็นจริงบางครั้งก็นอนกันประมาณ 70 คน จนต้องมานอนที่พื้นและทางเดิน ในห้องนอนมีห้องน้ำ 1 ห้อง เป็นโถส้วมนั่งยอง เปิดโล่ง มีฝากั้นมองเห็นได้ครึ่งตัว สำหรับใช้ร่วมกันทุกคน
ทุกคนจะมีที่นอนประจำของตัวเอง โดยมี “หัวหน้าห้อง” เป็นคนจัดที่นอน หากใครมาใหม่ก็ต้องนอนพื้นข้างล่าง จนเมื่อมีคนย้ายออก คนที่เข้ามาก่อนก็จะได้ย้ายไปนอนข้างบน การซื้อขายที่นอนมีได้ คนที่มีเงินหรือมีบุหรี่ในการซื้อ ก็อาจจะแซงคิวได้ย้ายขึ้นไปนอนข้างบนก่อน
สำหรับคุก Grade A จะนอนห้องละประมาณ 10 คน นอนกันได้สบายกว่า ถ้าช่วงที่มีผู้ต้องขังแน่นหน่อยก็ประมาณ 14 คน มีห้องน้ำ 1 ห้อง ลักษณะเดียวกัน 
เรื่องอาหารการกิน
นาย ก. เล่าว่า สำหรับทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางที่เข้าไปตอนแรก ซึ่งจัดเป็นคุก Grade B เห็นอาหารแล้วสงสัยเลยว่าสำหรับคนกินหรือเปล่า มีแกงหนึ่งอย่างเรียกกันว่า “แกงปลาระเบิด” คือ เป็นแกงปลากับมะเขือ แต่แทบไม่มีเนื้อปลา เหลือเป็นชิ้นเล็กๆ เท่านั้น สมัยก่อนเป็นข้าวแดงต่อมาก็เปลี่ยนเป็นข้าวขาว ตอนเข้าไปแรกๆ ไม่มีช้อนก็ต้องใช้มือหยิบกิน จนกว่าจะอยู่ไปสักพักแล้วหาช้อนประจำตัวกันได้
งบประมาณในการจัดอาหารก็จำกัด คนทำอาหารก็เป็นผู้ต้องขังกันเอง บางวันก็มีไข่ต้มหรือกล้วยแจก หากใครที่กินอาหารหลวงไม่ได้ก็มีช่องทางให้สั่งอาหารกินกันเองได้ และวัฒนธรรมการทำอาหารก็แตกต่างกันไปตามท้องที่ เช่น เรือนจำในทางภาคอีสานก็อาจมีข้าวเหนียวกิน
เมื่อนาย ก. ย้ายเข้าไปอยู่ในเรือนจำคลองเปรม ซึ่งเป็นคุก Grade A พบว่าสภาพอาหารดีขึ้น ไม่แพ้อาหารข้างนอก แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับยุคสมัยด้วยว่าใครเป็นผู้บริหารเรือนจำ และจะจัดสรรงบประมาณมาเป็นค่าอาหารมากน้อยแค่ไหน หรือจะสูญเสียไปกับการคอร์รัปชั่นจนมาถึงผู้ต้องขังจริงๆ ได้เท่าไร
 
ในเรือนจำคลองเปรม จะมีการคัดเลือกผู้ต้องขังที่โทษไม่สูง ไปอยู่แดนพิเศษเรียกว่าแดน “สูตกรรม” มีหน้าที่หมุนเวียนกันไปทำอาหาร ซึ่งจะมีเวลาตื่นนอน เข้านอน ไม่เหมือนกับแดนอื่น  
เรื่องร้านค้าร้านรวง
นาย ก. เล่าว่า ในเรือนจำมีระบบการค้าขายแบบเฉพาะ ผู้ต้องขังห้ามถือหรือใช้เงินจริงๆ ผู้ต้องขังทุกคนจะมีบัญชีเงินของตัวเอง เงินในบัญชีนี้สามารถใช้เบิกของที่ต้องการจากเจ้าหน้าที่ได้ วิธีการซื้อของจากเพื่อนนักโทษ แทนที่จะจ่ายกันด้วยเงินสด ก็จะให้เพื่อนนักโทษไปเบิกของอื่นโดยหักจากเงินในบัญชีของเราได้ตามจำนวนที่ตกลงกัน
ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางนั้นมีการแลกเปลี่ยนกันด้วยบุหรี่ กำหนดราคากันว่าจะให้บุหรี่หนึ่งซองเท่ากับเงินเท่าไร เช่น 50-60 บาท ถ้าใครได้บุหรี่มาเยอะๆ ก็อาจให้เจ้าหน้าที่เอาไปขายกับร้านค้าข้างนอกเปลี่ยนเป็นเงินจริงๆ มาได้ โดยต้องแบ่งให้เจ้าหน้าที่ด้วยส่วนหนึ่ง 
ผู้ต้องขังบางคนที่ขยันค้าขายก็พอจะมีเงินส่งกลับบ้านได้ ส่วนในคุก Grade A อย่างเรือนจำคลองเปรม แม้จะห้ามนักโทษถือเงินเช่นกัน แต่ช่องทางการแอบเล็ดลอดเข้ามานั้นมีมากกว่า เงินที่ถือกันก็จะเป็นแบงค์ใหญ่ๆ 500-1000 บาท เพราะถ้าเป็นแบงค์เล็ก ต้องเป็นปึกใหญ่ถึงจะมีค่ามาก ทำให้แอบเอาเข้ามายากกว่า
ที่เรียกกันว่า “ร้านค้า” นั้น ในคุก Grade B อย่างทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ไม่มีร้านจริงๆ แบบเป็นกิจจะลักษณะ แต่เป็นการขายของที่ผู้ต้องขังทำกันเอง แล้วแต่ว่าใครจะขายอะไร ก็จะมีมุมของตัวเอง มีกล่องเล็กๆ ตั้งไว้แล้วนั่งกับพื้นขายกัน แต่บางแห่งอย่างเช่นที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จะมีร้านสหกรณ์ของเรือนจำอยู่
ที่เรือนจำคลองเปรมเคยมีร้านขายของเป็นกิจจะลักษณะที่ดำเนินงานโดยผู้ต้องขัง แต่หลังจากโดนร้องเรียนแล้วก็โดนยุบไป บางคนที่ทำแล้วราบรื่นก็ได้เงินเยอะ บางคนที่ทำแล้วมีความขัดแย้ง เช่น ถูกร้องเรียน หรือพบการซุกซ่อนของผิดกฎระเบียบ ก็อาจโดนย้ายหรือโดนยุบ ดังนั้น บางช่วงจึงมีร้านแต่บางช่วงก็ไม่มีร้าน
เรื่องการทำงาน
นาย ก. เล่าว่า ในเรือนจำไม่ว่า Grade A หรือ Geade B ผู้ต้องขังทุกคนจะถูกบังคับให้ทำงานเช่น พับถุงกระดาษ ทำกรอบรูป ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าหน้าที่ไปหางานอะไรมาให้ทำได้บ้าง ถ้าเป็นในเรือนจำคลองเปรมจะมีงานหลากหลายกว่า เช่น ทำรองเท้า ทำเป้ทหาร ผู้ต้องขังจะได้ส่วนแบ่งค่าตอบแทน แต่ก็น้อยมาก ไม่คุ้มกับที่ลงแรงทำงานไป คนที่ไม่มีเส้นสายก็ต้องทำงานให้ได้ตามยอด คนที่มีเงินก็อาจจ่ายเงินเพื่อ “ตัดยอด” แล้วไม่ต้องทำงานก็ได้
ตารางชีวิตประจำวัน
ตารางชีวิตในเรือนจำ ตามที่ นาย ก. เล่า จะเป็นเหมือนกันทุกวัน คือ 
05.30 ตื่น จัดที่นอน นั่งเรียงแถวรอเช็คยอด
06.00 ปล่อยลงมาจากตึก ให้ทำธุระส่วนตัว อาบน้ำ ซักผ้า กินกาแฟ
07.00 เข้าแถว เตรียมเคารพธงชาติ เช็คยอด แยกย้ายไปตามกองงานของตัวเอง
12.00 พักเที่ยง กินข้าวกลางวัน
13.00 เตรียมตัวกลับขึ้นตึก ทำธุระส่วนตัว อาบน้ำ เก็บเสื้อผ้าที่ตากไว้ 
15.00 เช็คยอด กลับขึ้นตึก เจ้าหน้าที่จะล็อกห้องแล้ววันนั้นก็จะออกไปไหนไม่ได้อีก นักโทษก็จะนั่งคุยกัน สูบบุหรี่ หรือดูโทรทัศน์
ตารางชีวิตของคุก Grade A และ Grade B จะไม่ต่างกันมากนัก แต่ความเข้มงวดแตกต่างกัน ถ้าเป็นคุก Grade B จะค่อนข้างเข้มงวด ต้องเช็คยอดกันวันละ 5 ครั้งทุกวัน แต่คุก Grade A ไม่เข้มงวดมากนัก เพราะคนในห้องหนึ่งมีไม่มากนัก บางทีเจ้าหน้าที่มาดูผ่านๆ ก็เห็นว่าครบ หรือเวลาเคารพธงชาติบางคนไม่ได้เข้าแถวด้วย ก็ไม่มีการตรวจเช็คอะไร อาจจะนับกันแค่วันละ 2 รอบ
การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
นาย ก. เล่าว่า ในคุก Grade B จะมีโทรทัศน์ให้ดูห้องละหนึ่งเครื่อง แต่ไม่ให้ดูข่าว มีแต่ละคร หรือบางทีก็เปิดหนังให้ดูแก้เครียดเท่านั้น นักโทษไม่มีสิทธิเลือก แต่ในคุก Grade A ทุกห้องจะมีโทรทัศน์ซึ่งเลือกช่องดูได้เอง มีช่องฟรีทีวีให้ดูเหมือนกับคนข้างนอก เมื่อก่อนในคุกเคยมีหนังสือพิมพ์ให้อ่านแต่บางช่วงก็ไม่มี ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้บริหารแต่ละคน
ในคุก Grade A มีห้องสมุดด้วย แต่ไม่มีเวลาให้ไปใช้บริการมากนัก ผู้ต้องขังสามารถยืมหนังสือจากห้องสมุดมาอ่านในห้องนอนได้ เพราะจะเป็นช่วงที่มีเวลา ส่วนคุก Grade B บางแห่งอาจจะไม่มีห้องสมุด หรือเท่าที่มีก็เล็กๆ 
ในคุกก็มีระบบการจัดการศึกษาให้ผู้ต้องขัง มีตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เรียนกับการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ระดับ ปวช. ปวศ. จนถึงระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งผู้ต้องขังต้องสมัครเรียนเอง คนที่สมัครเรียนก็จะต้องถูกจัดอยู่ใน “หมวดการศึกษา” ในช่วงเวลาที่คนอื่นถูกบังคับให้ทำงานก็จะได้ไปอยู่หมวดการศึกษา คือ ได้ไปเรียน บางครั้งก็จะมีการฝึกอบรมพิเศษ เช่น ฝึกจิตภาวนา 
ขาใหญ่
นาย ก. เล่าว่า “ขาใหญ่” ในคุกนั้นมีจริง คนที่เป็นขาใหญ่มีอยู่สองประเภท คือ คนที่ใกล้ชิดนาย มีบทบาทคอยช่วยประสานงานกับเจ้าหน้าที่กับผู้ต้องขัง กับคนที่มีเงินหรือมีเส้น แต่ไม่ถึงขนาดมีคนที่กุมกำลังนักเลงไว้แบบในหนัง ซึ่งขาใหญ่ในคุกเหล่านี้ก็อาจทำอะไรที่พิเศษกว่าผู้ต้องขังคนอื่นได้บ้าง คนมีชื่อเสียงที่มีคนฝากฝังมาก็จะอยู่สบายหน่อย เจ้าหน้าที่จะให้เกียรติ บางคนก็มีลูกน้องไว้คอยดูแล
การแต่งตัว
ชีวิตประจำวันปกติในเรือนจำ นาย ก. เล่าว่า ผู้ต้องขังจะใส่กางเกงขาสั้น กางเกงผ้าร่ม บางทีเรียกว่า “กางเกงจับหมู” หรือถ้าใส่กางเกงยีนส์ก็ต้องเป็นขาสั้น ทุกคนจะต้องถูกบังคับใส่กางเกงขาสั้นเพื่อป้องกันการหลบหนี ส่วนคนภายนอกที่จะเข้ามาทำงานในเรือนจำก็ต้องใส่กางเกงขายาว เพื่อแยกแยะให้ออก เสื้อก็เป็นเสื้อยืดธรรมดา แล้วแต่คนจะหามาได้ ในการใช้ชีวิตปกติบางทีก็จะไม่ใส่เสื้อเลยเพราะอากาศร้อน ปกติในเรือนจำก็มีเสื้อผ้าขาย ผู้ต้องขังสามารถซื้อได้โดยการหักบัญชีอีกเช่นกัน 
หากผู้ต้องขังจะได้ออกนอกเขตเรือนจำก็จะมีเสื้อผ้าพิเศษต่างหาก เป็นชุดสีน้ำตาล เวลาเยี่ยมญาติก็จะเป็นชุดสีฟ้า ส่วนกางเกงต้องเป็นขาสั้นเสมอ ปัญหาของเรื่องชุด คือ ผู้ต้องขังต้องใส่ชุดของทางเรือนจำ ซึ่งซักแค่สัปดาห์ละครั้ง โดยให้ผู้ต้องขังซักกันเองและก็ไม่ได้สะอาดมาก เหงื่อนไคลและกลิ่มตัวก็หมักหมมอยู่ที่เสื้อ อาจทำให้เกิดโรคผิวหนังติดต่อกันได้ ผู้ต้องขังที่อยู่นานๆ ก็อาจหาเสื้อมาเก็บเอาไว้เป็นของส่วนตัว หรือไม่ก็หาเสื้อสีเดียวกันแต่ไม่ใช่เสื้อของทางเรือนจำเอาไว้ใส่เวลาต้องเดินทางออกไปข้างนอก 
นาย ก. เล่าว่า ปกติญาติจะฝากเสื้อผ้าเข้าไปให้ก็ได้ แต่เคยมีกรณีการซุกซ่อนยาเสพย์ติดโดยการละลายน้ำ แล้วเอาเสื้อผ้าชุบน้ำ ตากให้แห้ง ให้มียาติดอยู่ตามเสื้อผ้าแล้วส่งเข้ามา ต่อมาเลยต้องเข้มงวดมากขึ้น บางทีก็เอาเข้าไปไม่ได้เลย ตลอดเวลาที่อยู่ในเรือนจำมาเป็นสิบปีก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงของกฎระเบียบต่างๆ เสมอ บางยุคก็ทำได้ง่าย บางยุคก็ทำไม่ได้ บางยุคก็อนุโลมให้ทำได้เฉพาะคนบางกลุ่ม ความเข้มงวดทั้งหลายก็เกิดจากการกระทำของผู้ต้องขังทั้งนั้น
การรักษาพยาบาล
นาย ก. เล่าว่า เนื่องจากข้างในเรือนจำมีคนอยู่เยอะ สถานที่อยู่จำกัด บางครั้งน้ำก็ขาดแคลน บางช่วงก็มีโรคติดต่อ คนที่เข้ามาใหม่ๆ บางคนปรับตัวไม่ได้ก็จะเป็นโรคผิวหนัง สมัยที่อยู่ในคุก Grade B ซึ่งมีสภาพแออัด เคยเป็นแผลที่เท้าแล้วแผลก็เน่าเลย ยิ่งผู้ต้องขังที่เป็นโรคเบาหวานแล้วแผลหายช้าบางทีต้องถูกตัดนิ้วไปทีละนิ้วทีละนิ้ว จนต้องตัดทั้งขา
ผู้ต้องขังที่ไปหาหมอแต่ละวันมีเป็นร้อยคน บางครั้งหมอก็ตรวจไม่ไหวก็จ่ายยาพาราเซตามอลให้ บางช่วงงบประมาณจำกัด ยาก็ขาดแคลน ไม่มียาแจกผู้ต้องขัง ทำให้ผู้ต้อขังบางคนพยายามมาขอยาแล้วเอาไปเก็บตุนไว้เป็นการส่วนตัว ใครเป็นอะไรก็ต้องพึ่งแต่ยาพาราเซตามอลเป็นคำตอบของทุกอย่าง 
เนื่องจากเวลากลางวันไม่อนุญาตให้ขึ้นตึกนอน บางคนที่ป่วยเป็นไข้ แม้อยากจะนอนก็ไม่มีที่ให้นอน ต้องรอเวลาขึ้นตึก ซึ่งเป็นเรื่องที่ทรมานมาก เมื่อขึ้นห้องขังเสร็จก็จะล็อคห้องแล้วส่งกุญแจไปเก็บไว้นอกแดน หากกลางคืนเจ็บป่วยก็ต้องรอเป็นเวลานานกว่าจะเรียกหมอจากข้างนอกมาถึง ซึ่งเมื่อมาถึงก็ยืนอยู่ข้างนอกไม่ได้เปิดห้องเข้ามารักษา เรื่องการรักษาพยาบาลและอนามัย เป็นสิ่งแรกที่ นาย ก. เห็นว่าควรต้องปรับปรุงโดยเร่งด่วน
อีกมากมายหลายเรื่องที่ต้องปรับปรุง
นอกจากประเด็นเรื่องการรักษาพยาบาลแล้ว นาย ก. ยังมีประเด็นที่น่าสนใจฝากให้เกิดการแก้ไขปรับปรุงอีก 
ประเด็นแรก เรื่องการให้กักขังแทนค่าปรับ ปัจจุบันคนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับตามกฎหมายต้องถูกกักขังแทน ในอัตรา 200 บาทต่อวัน ซึ่งควรแก้ไขได้แล้วเพราะไม่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันที่ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท และเมื่อคิดราคาเสรีภาพของมนุษย์ควรต้องมากกว่านั้น และเนื่องจากโทษปรับมุ่งต่อทรัพย์สิน แต่พอคนไม่มีทรัพย์สินกลับต้องมาสูญเสียเสรีภาพ ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง นาย ก. ยังเสนอว่า อย่างน้อยระหว่างการกักขังก็ควรมีวิธีให้ผู้ต้องขังหารายได้เพื่อมาจ่ายค่าปรับได้ด้วย
ประเด็นที่สอง เรื่อง หลักการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ ซึ่ง ตามกฎหมายจะต้องปรากฏว่ามีพยานหลักฐานใหม่ หรือพยานหลักฐานในคดีเดิมเป็นพยานเท็จ ควรจะต้องนำมาใช้อย่างจริงจังเพื่อช่วยผู้บริสุทธิ์ออกจากคุก เพราะมีคนจำนวนมากยืนยันว่าตัวเองไม่ได้ทำความผิด แต่ก็ไม่รู้จะต้องทำอย่างไร 
ประเด็นที่สาม เรื่อง สิทธิการมีส่วนร่วมทางกรเมือง ควรแก้ไขให้ผู้ต้องขังมีสิทธิเลือกตั้งได้ รวมทั้งการลงประชามติครั้งสำคัญๆ และคนที่พ้นโทษมาแล้วก็น่าจะมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง เล่นการเมืองได้ 
ชีวิตหลังพ้นโทษ
นาย ก. เล่าว่า เคยเห็นเพื่อนนักโทษหลายคนที่เมื่อพ้นโทษออกมาแล้วก็ต้องกลับเข้าไปใหม่ เพราะในสภาพเศรษฐกิจสังคมปัจจุบันพอติดคุกนานๆ แล้วก็ยากที่จะตามไปแข่งขันกับคนอื่นได้ทัน ยิ่งบางคนติดคุกมาตั้งแต่เด็ก โตมาในคุก พอออกมาแล้วก็ตามสังคมไม่ทัน ถ้าไม่มีญาติพี่น้องคอยประคับประคองหรือไม่มีทุนก็ลำบาก ขณะที่เพื่อนนักโทษที่ออกมาแล้วมีอาชีพการงานก็มีเยอะ
จากประสบการณ์ นาย ก. เห็นว่า กระบวนการปรับเปลี่ยนนิสัยของเรือนจำมันใช้ได้จริงไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ กระบวนการจัดการศึกษาในคุกก็มีอยู่ แต่พอคนเรียนจบมาก็ลำบากที่จะตั้งตัว เช่น กรณีนายเสริม สาครราษฎร์ แม้เรียนจบกฎหมายจากในคุกก็ถูกปฏิเสธไม่ให้เป็นสมาชิกเนติบัณฑิตสภา ถ้าเป็นคนที่เรียนมาทางออกแบบก็พอมีอาชีพส่วนตัวได้ สำหรับการฝึกอาชีพในเรือนจำนั้นไม่สามารถพัฒนาทักษะอะไรได้จริงเลย เหมือนกับไปใช้แรงงานมากกว่า 
“ถึงอย่างไร คนที่ออกมาก็ยังไม่มีความมั่นใจที่จะเปิดตัว ยังไม่มีหลักประกันว่าสังคมจะมีทัศนคติที่ดีต่อคนที่ถูกคุมขังมา” นาย ก. กล่าวถึงความรู้สึกของตัวเอง