ประวัติศาสตร์ศาลทั้งสี่ ผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ตามรัฐธรรมนูญไทย

โดย อาจารย์นิว ธราดล รานรินทร์
ศาล เป็นหน่วยงานฝ่ายยุติธรรม ซึ่งมีบทบาทในประวัติศาสตร์โลกมาเป็นเวลายาวนานหลายพันปี และหลายปีมานี้ ศาลและตุลาการมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมากในการเมืองไทย เป็นเหตุให้เราได้ยินชื่อของศาลต่างๆมากมาย เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ, ศาลยุติธรรม, ศาลปกครอง, ศาลทหาร, ศาลอาญา, ศาลแพ่ง, ศาลฎีกา, ศาลจังหวัด ฯลฯ 
ตามที่ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญไทย ฉบับปัจจุบัน (ฉบับ 2550) นี้ ศาลแต่ละประเภทมีบทบาทหน้าที่ และความเป็นมาอย่างไรกันบ้าง 
เรื่องของระบบศาลตุลาการ ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์โลกอย่างไรบ้าง?????
ศาลและตุลาการตัดสินคดีนั้น เป็นหนึ่งในสถาบันที่มีบทบาทในประวัติศาสตร์ทั่วโลกมายาวนานหลายพันปีแล้ว เพราะเมื่อมนุษย์มาอยู่ร่วมกันหลายคน ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นได้บ้าง และถ้าคู่ขัดแย้งนั้นไม่สามารถแก้ไขข้อขัดแย้งกันได้เอง ก็ย่อมเป็นไปได้ที่จะมีความพยายามหาทางออกอย่างสันติ ด้วยการหาผู้ที่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งอาจเป็น ผู้อาวุโสในหมู่บ้าน หรือ อาจารย์ผู้เฒ่าของชุมชน มาตัดสินเรื่องราว เพื่อยุติข้อพิพาทขัดแย้งเหล่านั้น ให้สถานการณ์กลับคืนสู่ความสงบ
มีร่องรอยและหลักฐานในประวัติศาสตร์มากมาย ที่บอกเล่าถึงระบบกระบวนการศาล และการตัดสินคดีของตุลาการในรูปแบบต่างๆในสมัยโบราณ เช่น ในพระชาดกทศชาติเรื่อง "พระเตมีย์ใบ้" ก็มีเรื่องที่พระราชบิดาของพระเตมีย์ ซึ่งเป็นกษัตริย์ครองกรุงพาราณสี (ซึ่งเชื่อว่าเป็นเมืองที่มีคนอยู่อาศัยกันมาต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก) ทำหน้าที่ตัดสินโทษคนร้ายสี่คน พระเตมีย์เป็นผู้มีบุญ เห็นแล้วก็ระลึกชาติได้ว่าตนเคยเกิดเป็นกษัตริย์ตัดสินคดีลงโทษคน ผลกรรมที่ลงโทษคน ทำให้ต้องไปรับโทษทัณฑ์ในนรก พระเตมีย์ไม่อยากขึ้นครองราชย์ตัดสินลงโทษคนอีก จึงแกล้งทำเป็นใบ้ เป็นง่อย นับแต่บัดนั้น เรื่องราวนี้ก็สะท้อนระบบการศาล ในยุคสมัยที่อำนาจทางการปกครองทุกด้าน รวมทั้งด้านตุลาการ ยังคงรวมศูนย์อยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์
หรือเรื่องราวในพระพุทธประวัติ ก็มีลักษณะของศาลแบบออกเสียงเชิงประชาธิปไตย คล้ายๆระบบคณะลูกขุน ในครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะ ช่วยชีวิตหงส์ขาว ซึ่งเจ้าชายเทวทัตยิงตก เจ้าชายเทวทัตหาว่าเจ้าชายสิทธัตถะขโมยหงส์ของตนไป จึงร้องต่อศาลของราชวงศ์ศากยะ บรรดาเจ้าแห่งราชวงศ์ศากยะจึงมาร่วมกันตัดสินคดี และสุดท้ายก็ให้เจ้าชายสิทธัตถะชนะคดี จากประโยคในศาลที่ว่า "ผู้ช่วยชีวิตหงส์ กับผู้ที่จะฆ่าหงส์ ใครควรเป็นเจ้าของหงส์กันแน่" 
การตัดสินคดีของศาล คงจะเริ่มประสบปัญหามากยิ่งขึ้น เมื่ออาณาจักรโบราณ มีการขยายเขตแดนและจำนวนประชากรออกไปหลายหัวเมือง ดังนั้นเราจึงเริ่มเห็นระบบประมวลกฎหมาย ซึ่งเป็นลักษณะของการบัญญัติกฎหมายไว้อย่างเป็นทางการในเอกสารหลักฐานรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แล้วให้ตุลาการศาลทั่วทั้งอาณาจักร ตัดสินคดีตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายเหล่านั้น ซึ่งก็เป็นรูปแบบการตัดสินคดีที่น่าจะสะดวก เป็นธรรม และทั่วถึงเท่าเทียมดี 
ในประวัติศาสตร์โลกเกี่ยวกับระบบตัดสินคดีแบบประมวลกฎหมายนี้ เรายกย่องวีรกรรมของพระเจ้าฮัมมูราบี แห่งอาณาจักรบาบิโลน (ครองราชย์ตั้งแต่ปี 1792-1750 ก่อนคริสตกาล) ซึ่งทรงรวบรวมและวางหลักกฎหมายให้เป็นแบบแผนเดียวกันทั่วทั้งอาณาจักร และให้สลักข้อความกฎหมายไว้ในเสาศิลาขนาดใหญ่ ตั้งประกาศไว้ทั่วอาณาจักร อาจจะนับได้ว่า ประมวลกฎหมายของพระเจ้าฮัมมูราบี เป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกๆของโลกก็ว่าได้
อย่างไรก็ดี ความเป็นธรรมในกฎหมายและการตัดสินคดีนั้น ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในทุกอาณาจักรโบราณ ในขณะที่ประมวลกฎหมายของพระเจ้าฮัมมูราบีในบาบิโลเนียโบราณ หรือ กฎหมายของจีนในสมัยราชวงศ์ฉิน เน้นการลงโทษแบบรุนแรง มีการตัดมือ ควักลูกตา ตัดขา ตัดจมูก ฯลฯ แต่กฎหมายของโรมัน ที่เรียกว่า "กฎหมายสิบสองโต๊ะ" นั้น มีการให้อภัยโทษ หรือ การให้คนร้ายทำงานชดใช้เจ้าทุกข์ได้ด้วย 
ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศก็เป็นที่ถกเถียงเช่นกัน เพราะในขณะที่อียิปต์โบราณมีกฎหมายที่ให้ผู้หญิงเป็นเจ้าของมรดกสืบต่อจากสามีได้ แต่ในกรีกโบราณ หรือแม้แต่ในกฎหมายตราสามดวงของไทย กลับให้ผู้ชายมีสิทธิ์เหนือผู้หญิงอย่างมากในหลายๆประเด็น เช่น ห้ามภรรยาฟ้องร้องสามี เป็นต้น 
และยังมีกรณีที่การตัดสินให้อภัยโทษ อาจแปรเปลี่ยนไปตามผู้ปกครองแต่ละคนได้อีกด้วย เช่น บันทึกในสมัยฮ่องเต้ถังไท่จงของจีน ที่ว่าทรงระบุให้ "ห้าม"ประหารนักโทษที่พระองค์ตัดสินประหาร เพราะทรงรู้ว่าอุปนิสัยของพระองค์นั้นพิโรธง่าย ต้องเว้นเวลาไปหลายวันแล้วมาถามพระองค์อีกครั้ง ถ้าทรงยืนยันอีก จึงจะให้ประหารได้ จึงอาจกล่าวได้ว่า ระบบศาลตุลาการในสมัยอาณาจักรโบราณนั้น มีความไม่แน่นอนสูงมากทีเดียว
แล้วระบบศาลตุลาการไทยในประวัติศาสตร์ เป็นอย่างไรบ้าง?????
สำหรับในประวัติศาสตร์ไทย ระบบศาลตุลาการก็มีพัฒนาการบางประการคล้ายประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เป็นต้นว่า ในสมัยสุโขทัย องค์พระมหากษัตริย์จะเป็นผู้ทรงพระราชอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีความให้แก่ราษฎร โดยยึดหลัก "คัมภีร์พระธรรมศาสตร์" คัมภีร์กฎหมายของอินเดียโบราณ ซึ่งมีหลักฐานปรากฏอยู่ในศิลาจารึกพ่อขุมรามคำแหง แต่เมื่ออาณาจักรและประชากรขยายใหญ่โตขึ้นในสมัยอยุธยา และสมัยธนบุรี อำนาจในการตัดสินคดีก็จะไปอยู่ในมือของบรรดา "ขุนศาลตระลาการ" ซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายศาล ทั้งในเขตเมืองหลวงและตามหัวเมืองต่างๆมากขึ้น
เมื่อถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงให้มีการชำระประมวลกฎหมาย จนออกมาเป็น "กฎหมายตราสามดวง" 
มูลเหตุของการชำระกฎหมายตราสามดวงนั้นมีรายละเอียดบางประการ ที่บอกถึงระบบการตัดสินคดีของศาลตุลาการอยู่ด้วย นั่นก็คือ ครั้งนั้นเกิดกรณีอำแดงป้อม ฟ้องหย่านายบุญศรี ช่างเหล็กหลวง ทั้งๆที่ตนได้ทำชู้ กับ นายราชาอรรถ และศาลได้พิพากษาให้หย่าได้ตามที่อำแดงป้อมฟ้อง โดยอาศัยการพิจารณาคดีตามบทกฎหมาย ที่มีความว่า “ชายหาความผิดมิได้ ถ้าหญิงมาขอหย่า ท่านว่าเป็นหญิงหย่าชาย ให้หย่าได้” ซึ่งนายบุญศรี รู้สึกว่าไม่ยุติธรรม จึงได้นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าถวายฎีกา ต่อรัชกาลที่ 1 ซึ่งพระองค์ก็ทรงเห็นด้วยว่าคำพิพากษาของศาลนั้น ขัดหลักความยุติธรรม จึงมีพระบรมราชโองการ ให้ตรวจสอบกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ คือ ฉบับที่ศาลใช้กับฉบับที่หอหลวงและที่ห้องเครื่อง แต่ก็ปรากฏ ข้อความที่ตรงกัน 
เมื่อเป็นดังนี้ จึงทรงมีพระราชดำริว่ากฎหมายนั้นไม่เหมาะสม สมควรที่จะจัดให้มีการชำระสะสางกฎหมายใหม่ เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงการที่หน่วยงานศาล ดำเนินการตัดสินคดีไปตามเนื้อหาที่ระบุไว้ในกฎหมายโบราณ มากกว่าความยุติธรรมตามความรู้สึกของคนในขณะนั้นอยู่พอสมควร 
ระบบศาลไทย มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสมัยการปฏิรูปการปกครองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้่าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 โดยทรงตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น ใน พ.ศ. 2434 เพื่อรวบรวมศาลตุลาการทั้งหลายที่เคยอยู่ใต้อำนาจหน่วยงานมากมาย ให้มาขึ้นตรงต่อกระทรวงยุติธรรมเพียงกระทรวงเดียว และมีการตราพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2451 ระบุให้มีศาลฎีกา, ศาลสถิตยุติธรรมกรุงเทพฯ และศาลหัวเมือง ลักษณะจึงกลายเป็นว่า มีศาลของเมืองหลวง, ศาลหัวเมืองต่างจังหวัด และศาลสูงสุดคือศาลฎีกา
ช่วงปี พ.ศ. 2455 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ก็มีการเพิ่มเติมศาลใหม่ โดยให้มีศาลในกระทรวงยุติธรรม 2 แผนก คือ แผนกศาลยุติธรรมกรุงเทพฯ ประกอบด้วยศาลฎีกา, ศาลอุทธรณ์, ศาลพระราชอาญา, ศาลแพ่ง , ศาลต่างประเทศ และศาลโปริสภา กับแผนกศาลหัวเมือง ประกอบด้วยศาลมณฑล ศาลเมือง และ ศาลแขวง ระบบศาลสมัยใหม่ของไทยจึงชัดเจนยิ่งขึ้น และมีอิทธิพลสืบมาจนถึงปัจจุบัน 
รัฐธรรมนูญไทย ฉบับ พ.ศ. 2550 ระบุถึงศาลอะไรไว้บ้าง?????
ตั้งแต่การปฏิรูปศาลในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 รวมทั้งอิทธิพลจากต่างประเทศ ก็ทำให้เกิดศาลต่างๆมากมายในไทย จัดหมวดหมู่ได้ เช่น 
– ชื่อศาล ที่แยกตามเขตปกครอง ก็เช่น ศาลจังหวัด , ศาลแขวง ฯลฯ 
– ชื่อศาล ที่แยกตามลักษณะคดี หรือเรียกว่าศาลชำนัญพิเศษ ก็เช่น ศาลเยาวชน, ศาลแรงงาน, ศาลแพ่ง, ศาลอาญา ฯลฯ
– ชื่อศาล ที่แยกตามลำดับชั้น ก็เช่น ศาลชั้นต้น, ศาลอุทธรณ์, ศาลฎีกา
แต่ในรัฐธรรมนูญหมวดที่ 10 ว่าด้วย "ศาล" นั้น ระบุชื่อศาลสำคัญไว้ 4 ศาล โดยแยกเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ, ศาลยุติธรรม, ศาลปกครอง และ ศาลทหาร ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงรายละเอียด จากศาลที่มีประวัติเก่าแก่ที่สุด ดังนี้
ศาลที่ 1. ศาลยุติธรรม ก็คือศาลตัดสินคดีทั่วไปทั้งหลาย ที่คนทั่วไปน่าจะรู้จักกันดี เพราะมักจะมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนทั่วไปมากที่สุด ศาลประเภทนี้น่าจะเก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เพราะเป็นศาลตัดสินคดีทั่วไป ดังที่ได้กล่าวถึงมาโดยลำดับ ชื่อของศาลที่เรามักได้ยินกันบ่อยๆ เช่น ศาลชั้นต้น , ศาลอุทธรณ์ , ศาลฎีกา ก็ล้วนอยู่ในประเภท "ศาลยุติธรรม" นี้ทั้งสิ้น 
ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ระบุอำนาจของศาลยุติธรรมไว้กว้างๆว่า "…ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น…" เรียกได้ว่า น่าจะมีอำนาจครอบจักรวาล แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีกฎหมายย่อยอีกมากมาย ที่บัญญัติให้คดีบางคดี ไปอยู่ในอำนาจของศาลอื่นๆ ซึ่งเราคงจะได้เห็นกันต่อไป
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้มีแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อยู่ในศาลฎีกาอีกด้วย ซึ่งเปรียบเสมือนช่องทางพิเศษสำหรับควบคุมดูแลนักการเมืองทั้งหลาย ไม่ให้กระทำความผิดอื่นใด ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบศาลยุติธรรม
ศาลที่ 2. ศาลทหาร เป็นศาลที่สันนิษฐานว่ามีความเก่าแก่รองลงมาจากศาลยุติธรรมทั่วไป เพราะเป็นศาลที่ใช้ตัดสินคดีของทหารทั้งหลายตามชื่อ ในประวัติศาสตร์ไทยมีศาลที่มีลักษณะของศาลทหารและการสงครามทั้งหลายมาแต่โบราณ เช่น กฎหมายลักษณะขบฎศึก จุลศักราช 796 หรือ ศาลกลาโหม ซึ่งอยู่ในสังกัดสมุหกลาโหม มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นอย่างน้อย 
กำเนิดของศาลทหาร เป็นที่เข้าใจได้ว่ามีพัฒนาการมาจากการทำศึกสงครามในสมัยโบราณ อันเป็นเหตุให้การกระทำบางประการ จำเป็นต้องถูกยกเว้นโทษ ยกเว้นจากการตัดสินด้วยศาลปกติ หรือแม้แต่ให้อำนาจแก่ทหารมากกว่าปกติก็มี 
ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ระบุถึงอำนาจของศาลทหารไว้เพียงสั้นๆว่า "…ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งผู้กระทำผิดเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารและคดีอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ…" ซึ่งทำให้เราทราบเพียงว่า ศาลทหารตัดสินคดีอาญาเท่านั้น (คดีแพ่ง จำพวกทหารฟ้องหย่า หรือทหารฟ้องแย่งมรดก ไม่เกี่ยว) 
ด้านพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ก็ระบุถึงบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารไว้ 8 ประเภท คือ 
          1.นายทหารชั้นสัญญาบัตรประจำการ
          2.นายทหารชั้นสัญญาบัตรนอกประจำการ เฉพาะเมื่อกระทำผิดต่อคำสั่งหรือข้อบังคับตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร
          3.นายทหารประทวนและพลทหารกองประจำการหรือประจำการ หรือบุคคลที่รับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร
          4.นักเรียนทหารตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
          5.ทหารกองเกินที่ถูกเข้ากองประจำการ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้รับตัวไว้เพื่อให้เข้ารับราชการประจำอยู่ในหน่วยทหาร
          6.พลเรือนที่สังกัดอยู่ในราชการทหาร เมื่อกระทำผิดในหน้าที่ราชการทหารหรือกระทำผิดอย่างอื่นเฉพาะใน หรือบริเวณ อาคาร ที่ตั้งหน่วยทหาร ที่พักร้อน พักแรม เรือ อากาศยาน หรือยานพาหนะใด ๆ ในควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร
          7.บุคคลซึ่งต้องขังหรืออยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารโดยชอบด้วยกฎหมาย
          8.เชลยศึกหรือชนชาติศัตรูซึ่งอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร
และจากมาตรา 6 ศาลทหารตามพระราชบัญญัตินี้ ยังแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ
– ศาลทหารชั้นต้น
– ศาลทหารกลาง
– ศาลทหารสูงสุด
และในเวลาที่มีการรบ หรือการสงคราม หรือมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก จะให้มีศาลอาญาศึก ด้วยก็ได้ 
ข้อมูลจากกรมพระธรรมนูญ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบศาลทหารโดยตรง ยังให้รายละเอียดที่น่าสนใจไว้อีกว่า ศาลทหารบางเขต เช่น ศาลทหารกรุงเทพ จะมีขอบเขตอำนาจกว้างขวาง ไม่จำกัดพื้นที่ ครอบคลุมทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร แต่โดยปกติถ้าการกระทำผิดเกิดขึ้นในท้องถิ่นที่มีศาลทหารจังหวัด หรือศาลทหารของมณฑลทหาร ก็ให้พิจารณาพิพากษาในศาลทหารท้องถิ่นเหล่านั้น 
ขณะเดียวกันก็มีการระบุไว้ด้วยว่า คดีที่จะไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารแน่ๆ ก็มี เช่น คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกัน (ทหาร ร่วมมือกับพลเรือน ไปทำความผิด), คดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน, คดีที่ต้องดำเนินในศาลคดีเด็กและเยาวชน และคดีที่ศาลทหารเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร 
ศาลที่ 3. ศาลปกครอง เป็นศาลที่เพิ่งเกิดขึ้นในไทย เมื่อ พ.ศ. 2540 ตามรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อตัดสิน "คดีปกครอง" ตามแบบอย่างที่ประเทศอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศส, สวีเดน, โปแลนด์, เยอรมนี ฯลฯ มีกัน ซึ่งคำว่า "คดีปกครอง" นี้ จะตีความง่ายๆว่า คดีที่เกี่ยวพันระหว่างผู้ปกครอง กับ ผู้ใต้ปกครองก็ได้ โดยจุดประสงค์คือจะคุ้มครองผู้อยู่ใต้ปกครอง 
รัฐธรรมนูญไทยปัจจุบัน พ.ศ. 2550 ระบุอำนาจของศาลปกครองไว้ค่อนข้างละเอียดมาก ว่า 
"…ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่าง
หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กับ "เอกชน" 
หรือคดีพิพาทระหว่าง หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ "ด้วยกันเอง"
อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ…"
และแม้รัฐธรรมนูญจะเปิดช่องให้มีการตั้งศาลปกครองชั้นอุทธรณ์ได้ แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีศาลปกครองแค่ 2 ชั้น คือศาลปกครองชั้นต้น กับ ศาลปกครองสูงสุด เท่านั้น
ตัวอย่างคดีที่ขึ้นศาลปกครองจนโด่งดังเป็นข่าว ก็มีหลายคดี เช่น คดีที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย กับ กรุงเทพมหานคร แย่งสิทธิ์เหนือตลาดสวนจตุจักร 
หรือ คดีที่ผู้ประกอบการรีสอร์ทวังน้ำเขียว ขอไม่ให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ มารื้อรีสอร์ท 
แม้จะตั้งมาสิบกว่าปี แต่ศาลปกครองก็แสดงอำนาจและบทบาทหน้าที่ ได้มากทีเดียว
ศาลที่ 4. ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นศาลที่เพิ่งเกิดขึ้นในไทย เมื่อ พ.ศ. 2540 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เช่นเดียวกับศาลปกครอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ หรืออธิบายง่ายๆ ก็คือ ถ้ามีข้อสงสัยใดใดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และสงสัยว่าจะขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ให้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญนี้ได้
ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่มีในบางประเทศ เช่น โปแลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมนี ฯลฯ แต่ในสหรัฐอเมริกาก็มีผู้อธิบายว่า ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ก็มีลักษณะเป็นศาลรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน เพราะตัดสินคดีที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญได้ด้วย
ในขณะที่ศาลยุติธรรม และ ศาลปกครอง มีคณะกรรมการศาลเป็นผู้ดำเนินการแต่งตั้งผู้พิพากษา 
ศาลทหารก็มีรัฐมนตรีกลาโหม และผู้บังคับบัญชาหน่วยทหาร จังหวัดทหาร มณฑลทหาร เป็นผู้แต่งตั้งผู้พิพากษาศาล
ศาลรัฐธรรมนูญมีวิธีสรรหาผู้พิพากษาที่ซับซ้อนไม่น้อย กล่าวคือ คณะตุลาการมี 9 คน พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของ "วุฒิสภา" จากบุคคลดังต่อไปนี้
1. ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวน 3 คน
2. ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จำนวน 2 คน
3. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์อย่างแท้จริง จำนวน 2 คน
4. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแท้จริง จำนวน 2 คน
และศาลรัฐธรรมนูญ ก็ยังเป็นศาลประเภทเดียวจาก 4 ศาลตาม ที่ไม่มีการกล่าวถึงอำนาจของศาลอย่างชัดเจนไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะในรัฐธรรมนูญนั้น ศาลอีก 3 ศาล จะมีการระบุอำนาจของศาลไว้ในมาตราแรกของส่วนนั้นเลย แต่ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญนั้น มาตราแรกจะระบุถึงการองค์ประกอบของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทันที โดยไม่ได้ระบุถึงอำนาจของศาลไว้แต่อย่างใดในมาตรานั้น
แต่ในมาตราต่อๆไป ก็จะมีการกล่าวถึงอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญอยู่พอประมาณด้วย เช่นในมาตรา 212 จะระบุว่า "…บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้…"
หรือในมาตรา 213 ก็มีการกล่าวไว้ว่า "…ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ ตลอดจนขอให้พนักงานสอบสวน หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ดำเนินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาได้…"
จึงถือว่าเป็นศาลที่มีอำนาจมากทีเดียว ซึ่งเราคงจะเห็นได้จากสถานการณ์ทั่วไปในปัจจุบัน ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีการแสดงบทบาทเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์บ้านเมืองอย่างไรบ้าง
และด้วยเหตุที่ศาลตุลาการทั้งหลาย เป็นหน่วยงานที่มีบทบาท อำนาจ อิทธิพล เป็นอย่างมาก จึงถูกคาดหมายว่า จะต้องอยู่เป็นหนึ่งในเสาหลักสำคัญของบ้านเมืองได้ตลอดไปเช่นกัน…….."
……………………………………………
อ้างอิง
1. เตมีย์ชาดก – ( พระเตมีย์ใบ้ ), เว็บไซต์ธรรมะไทย (เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557)
2. ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี (Code of Hammurabi), เว็บไซต์ trueปลูกปัญญา (เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557)
3. ภาพการแสดงพิพิธภัณฑ์ศาลไทย, เว็บไซต์สำนักงานศาลยุติธรรม (เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557)
4. บทความ: ยืดอกเดินขึ้นศาล ตามรอยตุลาการไทย, เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์, วันที่ 23 สิงหาคม 2554 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557)
5. กฎหมายตราสามดวง, เว็บไซต์ไทยลอว์ดอทคอม (เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557)
6. การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (กฎหมายและการศาล), เว็บไซต์หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ (เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557)
7. ข้อมูลเรื่องศาลทหาร (ประเทศไทย) ศาลปกครอง ศาลปกครอง (ประเทศไทย) ศาลรัฐธรรมนูญ และ ศาลรัฐธรรมนูญ (ประเทศไทย) จากวิกิพีเดียว (เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557)