ประกาศแนวทางจัดเรตรายการโทรทัศน์ : จัดเรตแล้วจะยังต้องแบนอีกไหม?

สัญลักษณ์ระดับความเหมาะสม หรือ “เรต” ของรายการโทรทัศน์ เริ่มปรากฏตามหน้าจอโทรทัศน์ ตั้งแต่ปลายปี 2549 ผู้ชมทางบ้านจะได้เห็นทั้งก่อนจะเริ่มรายการและระหว่างที่รายการออกอากาศ วัตถุประสงค์คือให้เป็นปราการคุ้มครองเด็กและเยาวชนในเบื้องต้นจากสื่อโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมกับช่วงวัย รวมทั้งพัฒนาระบบการกำกับดูแลเนื้อหารายการกันเองของสถานีโทรทัศน์ด้วย 
ผ่านมากว่า 7 ปี เสียงวิพากษ์วิจารณ์ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งข้อกังขาในเรื่องมาตรฐานในการกำหนดเรตติ้งของแต่ละรายการ, เนื้อหาในละครบางฉากที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชนแต่ยังได้รับเรตที่เยาวชนดูได้, รวมทั้งขอโต้แย้งในการใช้อำนาจแบนละครบางเรื่อง ฯลฯ
วันที่ 29 ตุลาคม 2556 กสทช.ได้ออกประกาศ แนวทางการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ฉบับใหม่ (ประกาศแนวทางจัดเรตฯ) ลงในราชกิจจานุเบกษา โดยใช้ประกอบกับประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2556 
เรตรายการโทรทัศน์ จัดอย่างไรบ้าง?
ประกาศแนวทางจัดเรตฯ ยังคงแบ่งระดับความเหมาะสมของผู้ชมออกเป็น 6 กลุ่มเช่นเดิม อันได้แก่  
“เรต ป.” รายการสำหรับเด็กปฐมวัย อายุ 3-5 ปี 
“เรต ด.” รายการสำหรับเด็ก อายุ 6-12 ปี 
“เรต ท.” รายการที่เหมาะสำหรับผู้ชมทุกวัย 
“เรต น.13” รายการที่เหมาะสำหรับผู้ชมที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป ผู้ชมที่มีอายุน้อยกว่า 13 ปี ควรได้รับคำแนะนำ 
“เรต น.18” รายการที่เหมาะสำหรับผู้ชมที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ผู้ชมที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรได้รับคำแนะนำ และ 
“เรต ฉ.” รายการเฉพาะ ไม่เหมาะสำหรับเด็กและเยาวชน
โดยในไม่มีเรต ห. หรือเรตห้ามฉายเหมือนกรณีการจัดประเภทภาพยนตร์ที่จะเข้าฉายตามโรงหรืออัดเป็นแผ่นขาย
สัญลักษณ์ของเรตต่างๆ ตามประกาศฉบับนี้ยังมีหน้าตาเช่นเดิม ดังที่พอจะคุ้นตากันอยู่บ้างแล้ว
ในส่วนเนื้อหารายการก็จำแนกออกเป็น 
1. เนื้อหาที่ควรมีการจำกัด มี 3 ประเด็น คือ พฤติกรรมและความรุนแรง เรื่องทางเพศ และการใช้ภาษา โดยมีตารางแยกว่ารายการโทรทัศน์ในเรตระดับใด สามารถมีหรือไม่มีเนื้อหาลักษณะใดได้บ้าง เช่น ด้านพฤติกรรมความรุนแรง รายการที่มีเรต ป.หรือ เรต ด. ต้องไม่มีการใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น เรื่องเพศ เรต ท.และ เรต น.13 ต้องไม่มีภาพสรีระและการแต่งกายโป๊ ไม่มิดชิด ซึ่งมีเจตนายั่วยุทางกามารมณ์ เว้นแต่เป็นไปตามบริบทของเรื่องที่ไม่พบบ่อยในเรื่อง หรือเป็นการแต่งกายในกิจกรรมที่สังคมยอมรับ ถูกกาลเทศะและกติกาสากล (Dress Code) หรือด้านการใช้ภาษาที่ไม่สุภาพ ก้าวร้าว ดูหมิ่น เรต น.13 และเรต น.18 สามารถมีได้ตามบริบทของเรื่อง เป็นต้น
2. เนื้อหาที่ควรมีการส่งเสริม คือ เนื้อหาที่ส่งเสริมให้เกิดระบบวิธีคิดให้เป็นไปตามสมองของแต่ละวัย เนื้อหาที่ส่งเสริมความรู้วิชาการ คุณธรรมจริยธรรม ทักษะชีวิต ความหลากหลายในสังคม ฯลฯ 
ถ้อยคำยังคลุมเครือ
น่าสังเกตว่า แม้ตามประกาศแนวทางจัดเรตฯ จะพยายามระบุรายละเอียดเนื้อหารายการที่ควรระวังให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด เช่น ระบุให้ผู้ผลิตสื่อควรนำเสนอการมีสัมพันธภาพทางเพศในรูปแบบใด แทนการแสดงออกที่จะทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึก เป็นต้น แต่ก็ยังคงมีการระบุถึงคำอย่าง “เนื้อหาที่ขัดต่อศีลธรรมและความสงบของสังคม” หรือ “พฤติกรรมเกี่ยวกับค่านิยมที่ไม่เหมาะสม” 
ด้านประกาศหลักเกณฑ์จัดทำผังรายการฯ ซึ่งใช้ควบคู่กันก็ยังใช้คำกว้างๆ นิยามเนื้อหาของรายการประเภท ฉ อยู่ด้วย เช่น “การใช้ภาษา หรือมีพฤติกรรมที่ขัดต่อศีลธรรม วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียม ประเพณีอันดีงามของชาติ” เป็นต้น 
ซึ่งที่ผ่านมาคำเหล่านี้เป็นปัญหาอย่างมากในการตีความและยากที่ผู้ผลิตรายการจะทราบได้ว่าตนเองสามารถนำเสนอเนื้อหาภายในขอบเขตเพียงใด แต่ก็แทบจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปเสียแล้วว่ากฎระเบียบที่ควบคุมเนื้อหาในสื่อนั้นจะต้องมีคำกว้างๆ เช่นนี้อยู่ด้วยเพื่อให้ครอบคลุมกรณีต่างๆ ได้หมด
ผลของการไม่ทำตามประกาศ?
แม้จะมีการระบุรายละเอียดเนื้อหารายการไว้อย่างละเอียดแต่เมื่อประกาศที่มุ่งคุ้มครองเด็กและเยาวชนฉบับนี้มีสถานะเป็นเพียง “แนวทาง” คำถามที่ตามมาคือ หากผู้ผลิตรายการ และเจ้าของสถานีโทรทัศน์ไม่ปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้แล้ว คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ(กสท.) จะทำอะไรได้บ้าง?
เจตนาหนึ่งของการจัดระดับเรตรายการก็เพื่อพัฒนาระบบการกำกับดูแลกันเองของสถานีโทรทัศน์ ดังนั้น อำนาจในการควบคุมรายการของกสท.จึงจำกัดเฉพาะการพิจารณาสัดส่วนรายการจากผังรายการที่สถานีโทรทัศน์ต้องส่งให้กสท.พิจารณาล่วงหน้า ว่าเป็นไปตามประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการฯ หรือไม่เท่านั้น เช่น รายการที่มีเรต น.18 ออกอากาศเฉพาะเวลา 22.00-05.00 น.หรือไม่ รายการที่มีเรต ฉ. ออกอากาศเฉพาะเวลา 24.00 – 05.00 น. หรือแต่ละช่องมีรายการสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างน้อยวันละ 60 นาที ระหว่าง 06.00-18.00 น. ของทุกวันหรือไม่ เป็นต้น
ส่วนด้านเนื้อหา และการกำหนดเรตของแต่ละรายการนั้น เป็นเรื่องที่สถานีโทรทัศน์จะพิจารณาควบคุมรายการของตนเอง โดยอาศัยประกาศแนวทางการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ฯ เป็นกรอบ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการบังคับใช้ที่ชัดเจนว่า หากมีการกำหนดระดับเรตรายการที่น่าจะขัดกับประกาศดังกล่าวแล้ว กสท.จะจัดการเช่นไร เมื่อไม่มีกฎหมายระบุอำนาจไว้โดยตรง
อำนาจ “สั่งแบน” ยังอยู่
เนื่องจากอำนาจทั้งการจัดเรตและการสั่งแบนนั้นเป็นอำนาจตามกฎหมายคนละมาตรา อำนาจทั้งสองไม่ซ้อนทับกัน และกสท.มีอำนาจทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกัน ดังนั้นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าติดตามคือ เมื่อมีแนวทางกำหนดรายละเอียดการจัดเรต รายการที่ชัดเจนมากขึ้นแล้ว จะช่วยลดแนวโน้มการใช้อำนาจระงับการออกอากาศรายการตามพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 37 ซึ่งเป็นการจำกัดเสรีภาพของสื่อที่หนักที่สุดได้หรือไม่ 
หากพิจารณาจากกรณีปัญหาที่ผ่านมา ก็พบว่า กสท.มักจะกล่าวอ้างถึงอำนาจตามม.37 บ่อยครั้ง จนกลายเป็นอำนาจหลักที่ใช้ควบคุมดูแลสื่อวิทยุโทรทัศน์มากกว่าใช้วิธีการตามระบบการจัดเรตรายการ ซึ่ง กสท.ยังมีทางเลือกคือการปรับระดับเรตให้สูงขึ้นโดยไม่ต้องสั่งแบนทั้งรายการ หรือสั่งปรับเจ้าของสถานีก็ได้ 
เมื่อเทียบเคียงกรณีการจัดประเภทภาพยนตร์ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ. 2551 แล้วจะพบว่า แม้จะมีกฎหมายที่ระบุรายละเอียดการจัดเรตภาพยนตร์เป็นประเภทต่าง ๆ แล้ว แต่กลับยังคงมีการใช้อำนาจออกคำสั่ง “ห้ามฉาย” ภาพยนตร์บางเรื่องอยู่ อันทำให้เกิดข้อถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงขอบเขตการใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จึงพอคาดการณ์ได้บ้างว่า แม้จะมีการประกาศใช้ระบบเรตติ้งอย่างเต็มตัวแล้ว ก็มิได้หมายความว่า แนวโน้มการใช้อำนาจ “แบน” รายการของหน่วยงานรัฐจะหมดไปหรือลดน้อยลง