ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ: เพราะเขาคือคนเหมือนเรา

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 มูลนิธิอิสรชนและบ้านมิตรไมตรี (กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)ร่วมกันจัดมหกรรมวันผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ หรือ Homeless Day ที่บริเวณสวนหย่อมหลังพระแม่ธรณีบีบมวยผม (คลองหลอด) ในงานมีการเสวนาโดยตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการจัดแสดงภาพถ่ายผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ มีการออกบู๊ทจากหน่วยงานสวัสดิการทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ หมายถึงบุคคลอย่างน้อย 13 ประเภท ได้แก่ คนไร้บ้าน เนื่องจากการไม่มีที่ดินหรือถูกไล่ที่ คนเร่ร่อนที่ใช้ท้องถนนเป็นที่อยู่อาศัย ครอบครัวเร่ร่อน ผู้ติดสุราจนครอบครัวไม่สามารถดูแลได้ ผู้ป่วยข้างถนนที่มีอาการผิดปกติทางสมองและพลัดหลงจากบ้านมา พนักงานบริการ ผู้ที่พ้นโทษออกมาจากเรือนจำแล้วไม่มีที่ไป คนจนเมือง หรือชุมชนแออัดที่ไม่มีที่อยู่อาศัยมั่นคง คนที่ใช้ที่สาธารณะหลับนอนชั่วคราวเพราะมาทำภารกิจบางอย่างแต่ไม่มีเงินพอที่จะเช่าห้องพัก ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ออกมาใช้ชีวิตข้างถนนเพราะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยแล้วตกยาก รวมทั้งแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน
กิจกรรม Homeless Day ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “คุณกับเขา เราเท่ากัน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารให้สังคมรู้จักผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมากขึ้น รวมทั้งเพื่อยกระดับการทำงานในรูปแบบเครือข่ายให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะปัจจุบันปัญหาผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น พบว่ามีผู้สูงอายุออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะมากขึ้น รวมทั้งมีคนต่างชาติมาเร่ร่อนในเมืองไทยด้วย
ในกิจกรรม Homeless Day มีการเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางการทำงานสวัสดิการผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ภายใต้สังคม AEC” โดยเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์การทำงานกับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะในปัจจุบัน
ปัญญา กางกรณ์ ผู้อำนวยการด้านกฎหมาย กองนิติกร กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การที่ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเข้าไปกีดขวางอยู่ในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ปกติแล้วเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่เราก็เข้าใจว่าพวกเขามีความจำเป็นต้องใช้ชีวิตในที่สาธารณะ นอกจากนี้เราก็ต้องการให้ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะได้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ปัจจุบันจึงมีการดำเนินการยกร่างพ.ร.บ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วและกำลังรอเข้าสู่การพิจารณาของสภา
ร่างกฎหมายฉบับนี้ จะช่วยให้ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะได้รับความคุ้มครองโดยได้รับการยกเว้นโทษในการอยู่อาศัยในที่สาธารณะ โดยไม่มีการจับกุม แต่มีเงื่อนไขว่า ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะต้องยินยอมมาอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าหน้าที่ เพื่อดูแลว่ามีความต้องการอะไร 
“ถ้าร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านบังคับใช้ได้ ก็จะมีการดูแลผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะอย่างเป็นระบบมากขึ้นและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เราเป็นพวกเดียวกันที่ไม่แตกต่าง” ปัญญากล่าว
ตัวแทนของของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ปัจจุบันทางกรมมีบ้านที่เรียกว่า “บ้านมิตรไมตรี” สำหรับช่วยเหลือคนใช้ชีวิตในที่สาธารณะ 10 แห่งทั่วประเทศ โดยกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ส่วนที่กรุงเทพฯบ้านมิตรไมตรีตั้งอยู่ที่เขตดินแดง ซึ่งจะดูแลปัจจัยสี่ และมีแผนพัฒนารายบุคคล โดยพิจารณาเป็นรายกรณีว่าใครต้องการอะไร เช่น หางานทำ หาทางติดต่อญาติ นอกจากนี้ยังมีการจัดสถานีสวัสดิการเป็นเหมือนหน่วยโมบายยูนิต ออกสำรวจข้อมูลของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะตามชุมชนต่างๆ ด้วย
ผู้แทนจากสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร เล่าว่า ปัจจุบันทางกรุงเทพมหานครได้จัดตั้ง “บ้านอิ่มใจ” ขึ้นเป็นสถานที่ดูแลคนเร่ร่อน โดยตั้งอยู่บริเวณสี่แยกแม้นศรี ซึ่งเปิดมาได้ 1 ปีแล้ว ตอนแรกเปิดมามีคนใช้ชีวิตในที่สาธารณะไปอยู่ 10 คน ตอนนี้มีคนอยู่เรือนร้อย ซึ่งบ้านอิ่มใจนั้นเป็นบ้านเปิด เป็นศูนย์คัดกรองก่อนพิจารณาว่าต้องการการพัฒนาด้านไหนบ้าง ไม่ใช่บ้านพัก ไม่ใช่สถานสงเคราะห์ คนที่มาที่บ้านอิ่มใจจะไม่ถูกจับกุม คนที่ไม่มีที่นอนอย่างปลอดภัยในตอนกลางคืนสามารถมานอน และออกไปทำงานตอนกลางวันได้
คนที่จะเข้ามาที่บ้านอิ่มใจจะไม่มีบัตรประชาชนก็ได้ เราเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่สามโมงเย็นถึงสี่ทุ่ม โดยจะรับคนมาพักได้จนบ้านเต็ม ตอนนี้บ้านอิ่มใจสามารถรองรับคนได้200คนโดยแบ่งชาย100คนหญิง100คน ไม่จำกัดว่าเคยมาพักแล้วหรือไม่ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะสามารถมาทานอาหารเย็นได้ตอนหกโมงเย็น อาบน้ำ ซักผ้า และตอนเช้าก็จะมีอาหารเช้าบริการตอนเจ็ดโมงและให้ลงทะเบียนออกตอนเก้าโมง หลายคนกลัวว่าบ้านอิ่มใจเมื่อเข้าไปแล้วจะไม่ได้ออกมา ซึ่งไม่จริง
เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลบ้านอิ่มใจ ยังกล่าวด้วยว่า อยากเชิญชวนหน่วยงานราชการที่กำลังทำลักษณะ “บ้านปิด” ให้ลองเปลี่ยนความคิดมาลองทำ “บ้านเปิด” บ้าง
เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่างานในปัจจุบันของมูลนิธิคือการทำงานกับผู้ป่วยข้างถนน  หรือที่เรียกว่าคนบ้า ปัจจุบันยังไม่พบโครงการของกรุงเทพมหานคร หรือหน่วยงานไหนที่ทำงานกับคนกลุ่มนี้จนนำไปถึงการส่งตัวไปรักษา ซึ่งสิ่งที่ภาครัฐควรทำคือเร่งพัฒนาสัดส่วนของนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์เพื่อมาดูแลผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ