คนรักเพศเดียวกัน อยู่ตรงไหนในระบบกฎหมายไทย

2 สิงหาคม 2556
 
ภาควิชากฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง "คู่รัก LGBT ภายใต้ระบบกฎหมายไทย" อัครวัฒน์ เลาวัณย์ศิริ ผู้รับผิดชอบโครงการกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของงานครั้งนี้ว่า ปัจจุบันประเด็นเรื่องสิทธิในการตั้งครอบครัวของกลุ่ม LGBT ทวีความสำคัญมากขึ้น มีการจัดงานเสวนาและกิจกรรมรณรงค์โดยภาคประชาสังคมหลายครั้ง แต่ยังไม่มีการศึกษาเจาะลึกไปในประเด็นทางกฎหมาย จึงหวังว่าโครงการนี้จะช่วยให้องค์ความรู้เกี่ยวกับกลุ่ม LGBT สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
 
 
 
 
ประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างครอบครัวของกลุ่ม LGBT มีอยู่หลายมิติ ศ.ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายครอบครัวและมรดก กล่าวว่า ในกฎหมายครอบครัว การสมรสดูจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับกลุ่ม LGBT เพราะปัจจุบันการสมรสที่ได้รับการรับรองและได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย คือการสมรสระหว่างชายและหญิงเท่านั้น ขณะที่การสมรสระหว่างคนเพศเดียวกันยังไม่ได้รับการรับรองโดยรัฐไทย เป็นเหตุให้กลุ่มคนรักเพศเดียวกันพยายามเรียกร้องสิทธิดังกล่าว 
 
ศ.ดร.ไพโรจน์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีคู่รักชายหญิงหลายคู่ที่ปฎิเสธจะจดทะเบียนสมรสเพราะมองว่าการสมรสเป็นเรื่องส่วนตัว รัฐไม่ควรจะเข้ามาเกี่ยวข้อง กลุ่ม LGBT จึงอาจจะต้องทบทวนว่าการที่จะได้มาซึ่งสิทธิเฉกเช่นคู่รักชายหญิงจำเป็นจะต้องทำผ่านการจดทะเบียนที่รัฐให้การรับรองเท่านั้นหรือไม่ ซึ่งเท่ากับยอมให้รัฐเข้ามาจัดระเบียบการสร้างครอบครัวอันเป็นเรื่องส่วนบุคคล หรือควรจะแสวงหาทางเลือกอื่นเช่นการทำสัญญาระหว่างคู่ชีวิต
 
ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ ออรุ่งโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายครอบครัวและสิทธิเด็ก กล่าวว่า คนทั่วไปมักมองโดยผิวเผินว่ากลุ่มLGBTเหมือนกันทั้งหมดและมีความต้องการไม่ต่างกัน แต่เมื่อพิจารณาให้ลึกซึ้งจะพบว่ากลุ่มLGBTมีความหลากหลายและมีความต้องการแตกต่างกัน นักกฎหมายจึงควรศึกษาความต่างภายในกลุ่มLGBTเพื่อที่จะออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างครอบครัวให้สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะกลุ่ม
 
ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ จำแนก กลุ่ม LGBT ออกเป็นสามประเภท หนึ่งคือกลุ่มคนที่มีรสนิยมทางเพศที่แตกต่าง ซึ่งดูเผินๆ การแสดงออกไม่ต่างจากคนที่มีรสนิยมชอบเพศตรงกันข้าม สองคือกลุ่มคนที่การแสดงออกขัดกับลักษณะทางกายภาพ กลุ่มที่สามคือกลุ่มคนที่แปลงเพศแล้ว ซึ่งโดยส่วนตัว มองว่าคนกลุ่มที่สามอยู่ภายใต้สภาวะความกดดันมากที่สุดเพราะนอกจากจะต้องเปลี่ยนตัวเองใหม่หมดแล้วยังถูกสังคมมองว่าเป็นพวก"ประหลาด"ด้วย
 
ในส่วนของการปรับปรุงกฎหมาย ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ให้ความเห็นว่า การปรับปรุงกฎหมายเพื่อรับรองการสร้างครอบครัวของกลุ่ม LGBT มีอยู่สองแนวทาง หนึ่งคือการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งอาจทำได้ยากเพราะจะมีผลกระทบถึงตัวบทจำนวนมาก สองคือการออกเป็นกฎหมายเฉพาะเช่นการออกกฎหมายพ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งดูจะทำได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ดีการออกกฎหมายต่างๆจำเป็นจะต้องคำนึงถึงลักษณะเฉพาะของกลุ่มย่อยที่อยู่ภายใต้ร่ม LGBT ด้วย เพราะบางครั้งการให้สิทธิเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของคนแต่ละกลุ่มอาจกลายเป็นการสถาปนาความอยุติธรรมขึ้นมาได้
 
อัครวัฒน์ เลาวัณย์ศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวว่า ไม่มีการรับรองสิทธิการตั้งครอบครัวของกลุ่ม LGBT ทั้งในกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ  ในส่วนของกฎหมายระหว่างประเทศ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ไม่ได้บัญญัติสิทธิในการมีครอบครัวของกลุ่ม LGBT ไว้เป็นการเฉพาะ บทบัญญัติในเอกสารทั้งสองเพียงแต่ห้ามการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลทางเพศสภาพเท่านั้น  
 
อัครวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของรัฐไทย การที่กฎหมายไม่รับรองสิทธิในการสร้างครอบครัวของกลุ่ม LGBT ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อคู่รัก LGBT ที่คนหนึ่งเป็นคนไทยและอีกคนหนึ่งเป็นคนต่างชาติ เพราะการไม่ได้รับการรับรองสถานะครอบครัว ย่อมทำให้เสียสิทธิอื่นๆที่ผูกพันกับการสร้างครอบครัว เช่น สิทธิในการเข้าเมือง สิทธิในการอยู่อาศัย และสิทธิในการขอสัญชาติ
 
กีรติ นิธิกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติปรัชญา ชี้ว่า ในระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน การทำสัญญาประชาคมโดยการเลือกตั้ง คือจุดเริ่มต้นของการปกครองโดยระบบกฎหมายหรือระบบนิติรัฐ อย่างไรก็ดีการทำสัญญาประชาคมอาจเกิดความผิดพลาดได้และคนหลายกลุ่มเช่นกลุ่มชาวนาชาวไร่ กลุ่มคนพิการ รวมทั้งกลุ่ม LGBT อาจถูกทิ้งไว้นอกสัญญาประชาคมนั้น ดังจะเห็นได้จากการที่ระบบกฎหมายมีลักษณะไม่เป็นมิตรซ้ำยังกดทับตัวตนและสถานะของคนชายขอบเหล่านี้ 
 
การเคลื่อนไหวของกลุ่ม LGBT จึงถือเป็นส่วนหนึงของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อสู้กับความอยุติธรรมโดยใช้การป่วนทางวัฒนธรรม หรือการดื้อแพ่งมาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้
 
กีระเกียรติ พระทัย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายภาษีอากรกล่าวว่า กฎหมายภาษีอากรในปัจจุบันเขียนด้วยภาษาที่กีดกันทั้งคู่รักต่างเพศที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายและคู่รักที่เป็นคนรักเพศเดียวกันออกไปจากการรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพราะตัวบทใช้คำว่า "สามีภรรยา" ดังนั้นคู่รักหญิงชายที่ไม่ได้จดทะเบียนและคู่ชีวิตที่เป็นเพศเดียวกันจึงไม่มีสถานะเป็นสามีภรรยาตามกฎหมายและไม่สามารถใช้รับสิทธิประโยชน์ของคู่ตนได้เหมือนกับคู่สามีภรรยาตามกฎหมาย เช่น ไม่สามารถนำค่าเลี้ยงดูบิดามารดาของคู่ของตนมาหักภาษี 
 
กีระเกียรติเสนอว่าเนื่องจากกฎหมายภาษีอากรแยกจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การแก้ไขปัญหานี้จึงน่าจะเป็นไปได้โดยแก้ไขนิยามคำว่าสามีภรรยาให้ครอบคลุมทั้งคู่รักต่างเพศที่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายและคู่ชีวิตที่เป็นคนเพศเดียวกันด้วย
 
iLaw would like to thanks torbakhopper for Thumbnail image