กฎหมายข่มขืนใหม่ ทำอะไรจะผิดฐานข่มขืนบ้าง?

โดย ยิ่งรัก อัชฌานนท์

กฎหมายข่มขืนของไทย ถูกวิจารณ์มาเป็นเวลานานว่าคับแคบ ไม่เป็นธรรม ล้าหลัง ด้านนักสิทธิมนุษยชน นักสิทธิสตรี และประชาชนหลายกลุ่ม เรียกร้องให้มีการแก้ไขกันมานาน พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) จึงถูกประกาศใช้ ซึ่งขณะนั้นข่าวการเมืองกำลังร้อนแรง ข่าวการแก้ไขกฎหมายอาญาในบทความผิดทางเพศ จึงไม่ค่อยเป็นที่รับรู้กันมากนัก จึงยังคงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์แบบเบาๆ อยู่ว่ากฎหมายไทยไม่คุ้มครองเหยื่อจากความผิดทางเพศเพียงพอ 

การแก้ไขกฎหมายข่มขืนครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ลบคำครหาจากภาคสังคมจนสิ้นแล้ว กฎหมายยังวิวัฒนาการล้ำหน้าไปจนถึงขั้นที่ทำให้ผู้ใช้กฎหมายต้องตีความกันวุ่นวายปวดหัว 
ก่อนปี 2550 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 บัญญัติความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราไว้ว่า
              "ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภรรยาของตนโดยขู่เข็ญประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้หญิงเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกสี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันถึงสี่หมื่นบาท"
             ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ต้องระวางโทษจำคุกสิบห้าถึงยี่สิบปี ปรับตั้งแต่สามหมื่นถึงสี่หมื่นบาทหรือจำคุกตลอดชีวิต"
ในการแก้ไขมาตรา 276 เมื่อปี 2550 สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้เหตุผลหลักของการแก้ไขไว้ว่า เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญเรื่องการขจัดความแตกต่างของเพศและความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง บทบัญญัติใหม่ของมาตรา 276 จึงมีว่า 
             "ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท
             การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดย การใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น
             ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง หรือกระทำกับชายในลักษณะเดียวกันต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต
             ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำความผิดระหว่างคู่สมรสและคู่สมรสนั้น ยังประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติแทนการลงโทษก็ได้ ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก และคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป และประสงค์จะหย่า ให้คู่สมรสฝ่ายนั้นแจ้งให้ศาลทราบ และให้ศาลแจ้งพนักงานอัยการให้ดำเนินการฟ้องหย่าให้"
กฎหมายข่มขืน เมื่อแก้ไขในปี50 แล้วมีอะไรเปลี่ยนไป
เมื่อเปรียบเทียบกฎหมายข่มขืนก่อนและหลังการแก้ไข จะเห็นสาระสำคัญของการแก้ไข 3 ประการด้วยกัน คือ 
หนึ่ง การขจัดอคติในเรื่องเพศ กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นคนเพศใดก็เป็นผู้กระทำและเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานข่มขืนได้ จากที่กฎหมายเดิมจำกัดเพียงผู้กระทำเป็นชายและผู้ถูกกระทำเป็นหญิงเพียงกรณีเดียว 
สอง กำหนดให้กรณีสามีข่มขืนภรรยาของตัวเอง ก็เป็นความผิดฐานข่มขืน ซึ่ง ตามกฎหมายเดิมไม่มีความผิด เท่ากับเป็นการลบความคิดที่มองว่าผู้หญิงมีหน้าที่ต้องยอมให้สามีร่วมเพศด้วยทุกครั้งที่ต้องการออกไปจากกฎหมาย 
สาม การนิยามคำว่ากระทำชำเราให้เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากแนวคำพิพากษาฎีกาที่วางกันมาเป็นหลักตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 (ฎ.1133/2509) และเป็นนิยามที่ใช้คำกว้างจนอาจเกิดปัญหาการตีความตามมาได้ 
ในประเด็นที่หนึ่งและสองนั้น นับว่าเป็นความก้าวหน้าหนึ่งในวิวัฒนาการของกฎหมายไทยที่ควรบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ เป็นก้าวสำคัญของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมากขึ้นอีกระดับ แม้จะเป็นการคุ้มครองกรณีส่วนน้อยที่เกิดขึ้นก็ตาม แต่ส่วนน้อยที่ว่านั้นก็ไม่ใช่ไม่มีอยู่ ซึ่งจะปฏิเสธไม่รับรู้ไม่ได้ และเขาก็เป็นมนุษย์ที่ควรได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่สาม เรื่องการบัญญัตินิยามคำว่า "กระทำชำเรา" อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นประเด็นที่น่าสนใจที่สุด ทั้งนักวิชาการ ทนายความ อัยการและแม้แต่ผู้พิพากษาเอง ก็ตีความความหมายในวรรคที่สองของมาตรา 276 แตกต่างกันให้วุ่นวาย 
ขอบเขตของคำว่าข่มขืน ตามกฎหมายเดิม ต้องสอดใส่เข้าไปแล้ว
เนื่องจากมาตรา 276 เดิมที่บัญญัติใช้มาตั้งแต่ปี 2499 เป็นเวลาถึง 51 ปี นั้น ไม่เคยมีนิยามของคำว่าข่มขืนกระทำชำเราบัญญัติเอาไว้เลย ที่ผ่านมา การวินิจฉัยว่า ต้องกระทำไปแค่ไหนเพียงใดถึงจะเป็นความผิดฐานข่มขืน ก็จะยึดตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1133/2509 ที่วางหลักไว้ว่า ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราจะเป็นความผิดสำเร็จก็ต่อเมื่อของลับของชายล่วงล้ำเข้าไปในของลับของหญิง 1 องคุลี คือ ประมาณครึ่งข้อแรกของนิ้วกลาง โดยชายนั้นไม่ต้องสำเร็จความใคร่ หรือหญิงไม่จำต้องถึงกับเยื่อพรหมจารีหญิงฉีกขาดก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว
แนวคำพิพากษาดังกล่าวนี้เป็นที่ยึดถือกันมายาวนานในหมู่นักกฎหมาย ทำให้เดิม ความหมายของ การข่มขืนกระทำชำเราจำกัดอยู่เพียงแค่เมื่ออวัยวะเพศชายล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศหญิงเพียงกรณีเดียวเท่านั้น หากเป็นกรณีอวัยวะเพศชายล่วงล้ำทวารหนักของ หรือช่องปาก หรือใช้สิ่งของอื่นล่วงล้ำทางอวัยวะเพศหรือทวารหนัก แม้ว่าจะทำให้ผู้เสียหายทุกข์ทรมานเพียงใด ศาลก็จะวินิจฉัยว่าเป็นเพียงความผิดฐานอนาจารเท่านั้น ซึ่งมีโทษต่างกันมาก
เมื่อรสนิยมของการร่วมเพศในสมัยนี้ ไม่ได้มีเพียงแบบการร่วมประเวณีแบบพื้นฐานเท่านั้น ยังมีกิจกรรมทางเพศของคนเพศเดียวกัน แบบพึงพอใจกับการใช้วัตถุสิ่งของ หรือรสนิยมแบบต่างๆ ที่หลากหลาย ดังนั้นกฎหมายข่มขืนมาตรา 276 ที่มุ่งหมายจะคุ้มครองผู้ถูกกระทำทางเพศที่ไม่ใช่แค่เพียงตามแบบพื้นฐาน จึงต้องแก้ไขปรับปรุงให้ทันสังคม เพราะการกระทำทางเพศในแบบฝืนธรรมชาติอาจก่อความเสียหายทางจิตใจหรือทางร่างกายเท่ากับหรือมากกว่าการร่วมเพศแบบธรรมชาติเสียด้วยซ้ำ 
ที่มาภาพ เว็บไซต์mthai
 
ขอบเขตของคำว่าข่มขืน ตามกฎหมายใหม่ รวมทั้งทวารหน้กและช่องปาก
เมื่อวิเคราะห์ถึงคำนิยามตามมาตรา 276 วรรคสองที่ว่า "การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดย การใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น" นั้น จะเห็นได้ว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา หากเป็นไปเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ จะรวมทั้ง อวัยวะเพศชายสอดใส่ในอวัยวะเพศหญิง ทวารหนักหรือช่องปากของชายหรือหญิง หรือการใช้สิ่งอื่นใด ซึ่งอาจเป็น อวัยวะส่วนอื่น เช่น นิ้ว ลิ้น มือ หรืออาจเป็นสิ่งของ เช่น อวัยวะเพศเทียม ไม้ ขวด หรือสิ่งอื่นใด สอดใส่ในอวัยวะเพศหญิงหรือทวารหนัก ซึ่งน่าจะเป็นการแก้ไขกฎหมายให้พัฒนาทันกับสภาพสังคมได้ดีขึ้น
ปัญหาอยู่ที่ว่า หากเป็นกรณีใช้สิ่งของอย่างอื่นสอดใส่ทางช่องปาก หรือการกระทำอย่างอื่นกับอวัยวะเพศ หรือทวารหนัก แต่ไม่ใช่การสอดใส่เข้าไป จะเป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราหรือไม่ เนื่องจากกฎหมายใหม่นี้ใช้คำว่า "กระทำกับ" ปัญหาที่ปวดหัว จึงอยู่ที่ขอบเขตของคำว่า "กระทำกับ" นั้น ครอบคลุมมากแค่ไหน?
แค่จับ แค่ถู ผิดฐานข่มขืนหรือไม่
คำว่า "กระทำกับ" เป็นคำกว้าง ที่ไม่ได้หมายถึงเฉพาะกริยาการสอดใส่หรือล่วงล้ำเท่านั้น อาจหมายถึง การจับต้อง สัมผัส ลูบคลำ ถูไถ กรณีที่อวัยวะเพศชายเพียงถูไถกับอวัยวะเพศหญิง ทวารหนักหรือช่องปาก หรือที่เรียกว่า Dry sex โดยปราศจากเจตนาจะล่วงล้ำหรือสอดใส่ หรือการร่วมเพศของหญิงกับหญิง โดยการใช้อวัยวะเพศหญิงถูไถกับอวัยวะเพศหญิง หรือกรณีใช้นิ้วมือหรือลิ้นจับต้องลูบคลำอวัยวะเพศ ทวารหนักโดยไม่มีการสอดใส่ใด ๆ กรณีเหล่านี้ จะถือเป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราหรือไม่? 
หากนำตัวอย่างของกรณีตามคำพิพากษาศาลฎีกาในอดีตมาปรับบทกับกฎหมายฉบับปัจจุบัน  เช่น
ฎ.1620/2536 : จำเลยถอดกางเกงนอกและกางเกงในผู้เสียหายแล้วจับอวัยวะเพศของผู้เสียหายเป็นการใช้แรงกายกระทำต่อผู้เสียหาย ถือได้ว่าจำเลยกระทำอนาจารต่อผู้เสียหายโดยใช้กำลังประทุษร้าย
ฎ.117/2534 : จำเลยใช้อวัยวะเพศถูไถสัมผัสที่ด้านนอกของอวัยวะเพศผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ โดยไม่มีเจตนาสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของบุตรแต่อย่างใด ไม่มีเจตนาจะข่มขืนกระทำชำเรา จึงไม่เป็นพยายามกระทำชำเรา แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ตามมาตรา 279 เพราะจำเลยมีเจตนากระทำอนาจารและมีโทษหนักขึ้นตามมาตรา 285 
จะเห็นได้ว่า กรณีที่ผู้กระทำจับอวัยวะเพศผู้เสียหายก็ดี หรือการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำถูไถกับอวัยวะเพศของผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ก็ดี ไม่ใช่ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามกฎหมายเดิม เป็นเพียงความผิดฐานอนาจารเท่านั้น เพราะกรณีเห็นได้ชัดเจนว่าเจตนาของผู้กระทำความผิดไม่ได้ต้องการกระทำถึงขนาดการสอดใส่ แต่หากนำมาปรับกับนิยามคำว่าข่มขืนกระทำชำเราในมาตรา 276 ปัจจุบัน ก็อาจเป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราได้ทันที 
ส่องกฎหมายต่างประเทศ แค่ไหนถึงจะผิดฐานข่มขืนบ้าง
หากพิจารณาถึงที่มาของกฎหมายข่มขืนที่แก้ไขใหม่นี้ ซึ่งอ้างอิงมาจาก The Sexual Offences Act 2003 ของอังกฤษ ซึ่งแบ่งความผิดทางเพศออกเป็น 4 ประการ คือ ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศโดยการสอดใส่ ความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศโดยไม่มีการสอดใส่ และความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเข้าร่วมกิจกรรมทางเพศโดยปราศจากความยินยอม 
ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา คือ การร่วมประเวณีระหว่างชายและหญิง โดยสอดใส่อวัยวะเพศชายเข้าในอวัยวะเพศหญิง ทวารหนักหรือช่องปาก ซึ่งจำกัดผู้กระทำเป็นชายและผู้ถูกกระทำเป็นหญิง ส่วนการล่วงล้ำเข้าไปในร่างกายของผู้อื่นด้วยรูปแบบอื่น จะเป็นความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศโดยการสอดใส่ ซึ่งมีโทษเท่ากับการข่มขืนกระทำชำเรา ส่วนการล่วงละเมิดทางเพศโดยไม่มีการสอดใส่จะเทียบได้กับความผิดฐานอนาจารในประมวลกฎหมายอาญาไทย กล่าวคือ การล่วงละเมิดทางเพศต่อเนื้อตัวร่างกายผู้ถูกกระทำ
และถ้าส่องไปถึงประมวลกฎหมายอาญา ประเทศฝรั่งเศส ก็แบ่งความผิดทางเพศไว้เป็น 2 ฐานใหญ่ ๆ เหมือนบ้านเรา คือ ข่มขืนกระทำชำเราและอนาจาร และนิยามของทั้งสองความผิดก็บัญญัติไว้ให้เข้าใจง่าย ๆ ในมาตรา 222-23 และ 222-27 Code pénal ว่า การข่มขืนกระทำชำเรา คือ กิจกรรมทางเพศที่มีการสอดใส่ล่วงล้ำ และอนาจาร คือ กิจกรรมทางเพศอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการข่มขืนกระทำชำเรา 
ทั้งกฎหมายของอังกฤษและฝรั่งเศสก็กำหนดข้อแตกต่างหลักระหว่างความผิดฐานกระทำชำเรากับความผิดฐานอนาจารไว้ คือ การล่วงล้ำเข้าไปในร่างกายผู้กระทำผิดนั่นเอง หากการกระทำที่ไม่ได้มีการล่วงล้ำ แต่เพียงสัมผัส จับต้อง ถูไถ ก็ยังไม่เข้าความผิดกระทำชำเรา เนื่องจากกฎหมายมุ่งคุ้มครองเสรีภาพทางเพศ และผลกระทบที่จะตามมาทั้งทางร่างกายและทางจิตใจต่อผู้เสียหาย แน่นอนว่า การจับ ๆ ลูบคลำ อวัยวะเพศ ย่อมมีผลกระทบไม่เหมือนกับการเอาสิ่งของใดหนึ่งล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศเป็นแน่
เมื่อกลับมาดูกฎหมายไทยของเรา หากจะตีความคำว่า "กระทำกับ" ในวรรคสองของมาตรา 276 เป็นความหมายตามตัวว่าคือการกระทำอะไรก็ได้แบบกว้างๆ ก็คงจะไม่ตรงกับจุดประสงค์ของกฎหมายซะทีเดียว ถ้าให้ผู้กระทำมีเจตนาเพียงจับต้อง ลูบคลำมารับผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราก็จะเป็นการลงโทษที่หนักเกินเจตนา 
เมื่อพิจารณาบริบทแวดล้อมโดยรวมแล้ว เจตนาของการแก้ไขกฎหมายคงมีเพียงการขยายขอบเขตเพียงเพศของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ สิ่งที่กระทำ และอวัยวะที่ถูกกระทำ แต่คงไม่ได้ตั้งใจจะขยายขอบเขตการกระทำออกไปด้วย เพราะเมื่อดูถึงการใช้คำในวรรคสองของมาตรา 276 แล้ว ใช้คำว่า "การกระทำชำเรา… หมายความว่า….การใช้…กระทำกับ…” การใช้คำว่า "กระทำกับ" อาจหมายถึง "กระทำชำเรากับ" ก็เป็นได้ ดังนั้น การนำกฎหมายข่มขืนฉบับแก้ไขใหม่มาใช้ คงต้องยึดกับพฤติกรรมการล่วงล้ำหรือสอดใส่ หากไม่มีการกระทำดังกล่าว จะถือว่าเป็นการกระทำชำเราไม่ได้ 
การตีความกฎหมายอาญาต้องตีความอย่างเคร่งครัด การบัญญัติก็ต้องบัญญัติให้ชัดเจน ไม่เกิดข้อสงสัยแก่การตีความด้วย เมื่อปัญหาเกิดขึ้นตั้งแต่การร่างและการบัญญัติถ้อยคำ การตีความและการปรับใช้ก็เกิดปัญหาด้วยเป็นผลตามมา
เป็นเวลาห้าปีกว่าได้แล้วที่กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทุกคนยังได้แต่เท้าคางรอคอยคำพิพากษาฎีกาออกมาเป็นแนวทาง และหวังว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา จะตีความไปตามเจตนาเริ่มแรกของกฎหมาย และไปในทางคุ้มครองผู้เสียหายตามคุณธรรมของกฎหมายในแต่ละฐานความผิด ไม่อย่างนั้น จากกฎหมายที่ร่างมาไม่รัดกุมแล้ว ถ้าคนตีความยังว่ากันไปตามตัวหนังสือ เรื่องมันก็จะยิ่งไปกันใหญ่จนไม่รู้จะหาที่ลงตรงไหนได้เลย