จากโรฮิงญา สู่คำถามต่อกฎหมายผู้ลี้ภัยไทย

จากกรณีมีข่าวชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนลักลอบเข้ามาในประเทศไทย และถูกเจ้าหน้าที่ของไทยควบคุมตัวไว้ที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และมีเสียงเรียกร้องด้านมนุษยธรรมว่า รัฐบาลไทยไม่ควรเร่งผลักดันออกนอกประเทศ หรือส่งตัวกลับ เพราะหากส่งตัวกลับไปยังพม่า พวกเขาก็ไม่มีสถานะความเป็นพลเมืองของพม่า ไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆ แถมยังต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน การทำร้ายอันถึงแก่ชีวิตจากทั้งรัฐบาลพม่าและพลเมืองของพม่าเอง รัฐบาลไทยจึงควรช่วยเหลือเช่นอาจให้ที่พักพิงหรือจัดส่งไปประเทศที่สาม

แต่ขณะเดียวกันตามกฎหมายของไทย ชาวโรฮิงญาเหล่านี้ก็เป็นได้เพียงคนหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเท่านั้น เมื่อกฎหมายที่มีอยู่ไม่เป็นไปในทางคุ้มครองสิทธิ จะมีช่องทางไหนที่จะสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้บ้าง

เมื่อเปิดกฎหมายของไทยที่เกี่ยวข้องกับ “คนเข้าเมือง” พบว่า การเข้าเมืองในลักษณะของชาวโรฮิงญา ไม่ว่าจะล่องเรือกันมาเอง มีนายหน้าพาเข้ามา หรือวิธีใด หากไม่ได้เข้ามาตามช่องทางการตรวจคนเข้าเมืองอย่างถูกต้องแล้ว ก็ถือเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 11ประกอบมาตรา 62 ซึ่งจะทำให้ชาวโรฮิงญาเหล่านี้มีความผิด และมีโทษตามกฎหมายไทยคือ จำคุกถึงสองปีเลยทีเดียว

           พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒
            มาตรา ๑๑ บุคคลซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรจะต้องเดินทางเข้ามาหรือออกไปตามช่องทาง ด่านตรวจคนเข้าเมือง เขตท่า สถานี หรือท้องที่และตามกำหนดเวลา ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีจะได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
            มาตรา ๖๒  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑ หรือมาตรา ๑๘ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
ทางการของไทยมีอำนาจดำเนินคดีต่อศาลเพื่อเอาผิดตามกฎหมาย หรือในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่อาจเลือกส่งตัวกลับออกไปนอกประเทศซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและประหยัดกว่า หรือจะเลือกดำเนินคดีก่อนแล้วค่อยส่งตัวกลับภายหลังก็ได้ ซึ่งกฎหมายให้อำนาจไว้ในมาตรา 54แต่ระหว่างการรอส่งตัวกลับนั้น เจ้าหน้าที่ไทยก็มีอำนาจควบคุมตัวคนเข้าเมืองผิดกฎหมายไว้ที่ใดก็ได้ หรือเรียกว่าคุมขังไว้ก่อนรอการส่งกลับก็ได้ เป็นอำนาจในมาตรา 54วรรค 3ซึ่งตามปกติแล้ว สถานที่ควบคุมตัวที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองก็มีสภาพไม่ต่างจากคุกนั่นเอง
            มาตรา ๕๔  คนต่างด้าวผู้ใดเข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการอนุญาตนั้นสิ้นสุดหรือถูกเพิกถอนแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะส่งตัวคนต่างด้าวผู้นั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักรก็ได้
            ถ้ามีกรณีต้องสอบสวนเพื่อส่งตัวกลับตามวรรคหนึ่ง ให้นำมาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
            ในกรณีที่มีคำสั่งให้ส่งตัวคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรแล้วในระหว่างรอการส่งกลับ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจอนุญาตให้ไปพักอาศัยอยู่ ณ ที่ใด โดยคนต่างด้าวผู้นั้นต้องมาพบพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด โดยต้องมีประกัน หรือมีทั้งประกันและหลักประกันก็ได้ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะกักตัวคนต่างด้าวผู้นั้นไว้ ณ สถานที่ใดเป็นเวลานานเท่าใดตามความจำเป็นก็ได้ ค่าใช้จ่ายในการกักตัวนี้ให้คนต่างด้าวผู้นั้นเป็นผู้เสีย…
กรณีของชาวโรฮิงญาที่เกิดขึ้นนั้น มีเสียงเรียกร้องให้นำ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551หรือ พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ มาบังคับใช้ เพราะเห็นว่าเป็นกรณีที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ คือ ชาวโรฮิงญาจำนวนมากเดินทางมาโดยถูกนายหน้าหลอกลวง หรือบังคับขู่เข็ญให้มา โดยทำเป็นขบวนการเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของนายหน้า ซึ่งหากใช้กฎหมายการค้ามนุษย์กับกรณีนี้ ผลก็จะแตกต่างไป ชาวโรฮิงญาเหล่านี้จะไม่ได้มีฐานะเป็นเพียงคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่จะเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์
เนื่องจากเรื่องค้ามนุษย์เป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่ร้ายแรง พ.ร.บ.ค้ามนุษย์จึงกำหนดให้รัฐไทยมีหน้าที่ต้องช่วยเหลือดูแลผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เป็นพิเศษ โดยต้องจัดหาอาหาร ที่พัก การรักษาพยาบาล ให้อย่างเหมาะสม ต้องจัดให้ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายหน้าที่หลอกมา จัดการส่งกลับภูมิลำเนาเดิม โดยคำนึงถึงความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และรับฟังความคิดเห็นของผู้เสียหายเป็นหลัก ตามมาตรา 33ไม่ว่าผู้เสียหายนั้นจะเป็นคนไทยหรือไม่ก็ตาม
           พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑
            มาตรา ๓๓  ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์อย่างเหมาะสมในเรื่องอาหาร ที่พักการรักษาพยาบาล การบำบัดฟื้นฟูทางร่างกายและจิตใจ การให้การศึกษา การฝึกอบรม การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย การส่งกลับไปยังประเทศเดิมหรือภูมิลำเนาของผู้นั้น การดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยให้คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความแตกต่างทางเพศ อายุ สัญชาติ เชื้อชาติ ประเพณีวัฒนธรรมของผู้เสียหาย การแจ้งสิทธิของผู้เสียหายที่พึงได้รับการคุ้มครองในแต่ละขั้นตอนทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการช่วยเหลือ ตลอดจนขอบเขตระยะเวลาในการดำเนินการช่วยเหลือในแต่ละขั้นตอน และต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้เสียหายก่อนด้วย
            การให้ความช่วยเหลือตามวรรคหนึ่ง อาจจัดให้บุคคลซึ่งเป็นผู้เสียหายได้รับการดูแลในสถานแรกรับตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี สถานแรกรับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก หรือสถานสงเคราะห์อื่นของรัฐหรือเอกชนก็ได้
แม้กฎหมายเรื่องการค้ามนุษย์ยังเป็นกฎหมายใหม่ที่รู้จักกันไม่แพร่หลาย แต่ก็มีบทบาทสำคัญมาก ในการดูแลและปฏิบัติต่อบุคคลที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย หากเข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์แล้ว จะต้องได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างไป คือ เป็นไปในเชิงคุ้มครองดูแล มากกว่าการป้องกันปราบปราม
ที่มาภาพ digital.democracy
นอกจากกฎหมายภายในประเทศแล้ว กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนี้ คือ อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย  ค.ศ.1951หรือ The 1951 Convention relating to the Status of Refugeesแต่ประเทศไทยยังไม่ได้ลงนามเข้าเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาฉบับนี้ ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักการต่างๆ ที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาก็ได้
สำหรับรัฐที่ลงนามเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาแล้ว มีหน้าที่ต้องปฏิบัติคือ หากมีบุคคลใดก็ตามที่เข้ามาในอาณาเขตของรัฐและร้องขอสถานะผู้ลี้ภัย รัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการตรวจสอบสถานะ โดยรัฐมีหน้าที่ต้องจัดการดูแลผู้นั้นระหว่างการตรวจสอบสถานะ จะส่งตัวกลับหรือส่งตัวออกไปนอกประเทศไม่ได้ และไม่ถือว่าผู้นั้นมีความผิดฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย
หากตรวจสอบแล้วพบว่า  บุคคลนั้นมีความกลัวอันมีมูลว่าจะได้รับภัยประหัตประหาร (Persecution) อันเกิดจากสาเหตุ ๕ ประการ คือ เชื้อชาติ (Race) ศาสนา (Religion) สัญชาติ (Nationality) สมาชิกภาพในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งทางสังคม (Membership of a Particular Social Group) หรือความคิดเห็นทางการเมือง (Political Opinion) และบุคคลนั้นไม่สามารถหรือไม่สมัครใจ (Unable or Unwilling) ที่จะรับความคุ้มครองจากรัฐแห่งสัญชาติของตนเนื่องจากความกลัวดังกล่าว ก็จะถือว่าบุคคลนั้นมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย
“ผู้ลี้ภัย” ไม่ใช่ผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย รัฐจะดำเนินคดีเอาผิดฐานนี้ไม่ได้ และจะส่งกลับประเทศภูมิลำเนาเดิมก็ไม่ได้ เว้นแต่เป็นความสมัครใจของผู้ลี้ภัยเอง สิ่งที่รัฐต้องปฏิบัติกับผู้ลี้ภัยคือ รับผู้ลี้ภัยนั้นไว้ในฐานะพลเมืองของรัฐนั้น หรือส่งตัวไปยังประเทศที่สามเพื่อเป็นพลเมืองของประเทศที่สาม ทั้งนี้ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือUNHCR และเป็นไปตามกฎหมายภายในของรัฐที่ต้องประกาศออกมาใช้ให้สอดคล้องไปกับอนุสัญญา ปี1951
จะเห็นว่าหากไทยเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ปี 1951รัฐบาลไทยย่อมต้องปฏิบัติต่อกรณีของชาวโรฮิงญาแตกต่างออกไป คือ อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลไทยจะต้องดูแลคนกลุ่มนี้อย่างดี อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นคน ที่สำคัญคือต้องไม่ผลักดันส่งกลับประเทศโดยไม่สมัครใจ ไปจนถึงอาจให้สิทธิคนกลุ่มนี้เข้ามาเป็นพลเมืองของไทยได้หากตรวจสอบแล้วว่าเป็นคนที่หนีภัยความตายมาจริง และรัฐยังมีหน้าที่ต้องออกกฎหมายภายในมารองรับสิทธิของคนที่หนีภัยความตายเข้ามายังดินแดนของไทยด้วย
เป็นข่าวร้ายที่รัฐบาลไทยทุกยุคสมัยไม่สนใจที่จะลงนามในอนุสัญญาฉบับนี้ และแม้ว่าองค์กรทั้งในประเทศและองค์กรระหว่างประเทศจะรณรงค์เรื่องนี้กันมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี รัฐบาลไทยก็ดูไม่มีทีท่าว่าจะลงนาม
อย่างไรก็ดี แม้จะไม่ได้ลงนามเข้าเป็นรัฐภาคี แต่ไทยก็ยังสามารถออกกฎหมายภายในของตัวเอง เพื่อคุ้มครองสิทธิของคนที่หนีภัยความตายมาจากประเทศของตัวเองได้ โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศแต่อย่างใด โดยก่อนหน้านี้ภาคประชาชนกลุ่มหนึ่งนำโดย มูลนิธิเพื่อคนมีปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติผู้ลี้ภัย พ.ศ. … ฉบับประชาชน ออกมาเพื่อเปิดให้คนไทยช่วยกันเข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยมีหลักการมุ่งคุ้มครองและให้สิทธิกับผู้ลี้ภัย ไม่ให้ต้องตกเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย คล้ายกับหลักการในอนุสัญญา ปี 1951
ขณะเดียวกัน แม้กฎหมายระหว่างประเทศ หรือกฎหมายภายในประเทศจะยังไม่มีออกมาคุ้มครองผู้ลี้ภัย แต่ในทางปฏิบัติ รัฐบาลไทยก็เคยเลือกใช้วิธีการอื่นๆ ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม มากกว่าการผลักดันส่งกลับประเทศ หรือดำเนินคดีฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย เช่น รัฐบาลไทยทำบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) กับ UNHCR เพื่อจัดตั้งค่ายผู้ลี้ภัย หรือ ที่พักพิงชั่วคราวของผู้ลี้ภัยชาวพม่ากว่า 90,000คน เป็นจำนวน 9แห่ง ในจังหวัดกาญจนบุรี ตาก แม่ฮ่องสอน เป็นต้น หรือในยุคการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดง รัฐบาลไทยก็เคยจัดตั้งค่ายพักพิงชั่วคราวให้ผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาเช่นกัน
ดังนั้น แม้กฎหมายต่างๆ จะยังไม่ได้ประกาศใช้ แต่การเรียกร้องให้เกิดการปฏิบัติอย่างดีต่อผู้ที่หนีความตายเข้ามาในประเทศไทยก็เป็นไปได้ โดยในขณะนี้มีกลุ่มนักกิจกรรมออกมาเรียกร้องให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเข้ามาช่วยเหลือชาวโรฮิงญา กดดันให้รัฐบาลไทยหยุดการส่งกลับ เรียกร้องให้ประชาคมอาเซียนเข้ามามีบทบาทในการปกป้องชาวโรฮิงญา โดยกดดันให้รัฐบาลพม่าและชาวพม่ากลุ่มอื่น ยุติการปราบปรามเข่นฆ่าและการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญาโดยทันที และให้รัฐบาลไทยใช้พ.ร.บ.ค้ามนุษย์กับกรณีนี้ ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวโรฮิงญาโดยไม่มีอคติทางเชื้อชาติ ศาสนา
สำหรับเฉพาะกรณีของชาวโรฮิงญาที่เข้ามาในประเทศไทยนั้น หากพิจารณาว่า ชาวโรฮิงญาหนีภัยความตายอันเกิดจากความแตกต่างทางเชื้อชาติ หรือศาสนามาแล้ว การมีพระราชบัญญัติผู้ลี้ภัย หรือการให้รัฐบาลไทยลงนามในอนุสัญญา หรือการเรียกร้องให้ดูแลชาวโรฮิงญาอย่างมีมนุษยธรรม อาจช่วยแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ดี ยังมีคนต่างชาติอีกจำนวนมากที่หนีภัยประเภทต่างๆ มาอยู่ในประเทศไทยด้วยสถานะคนหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งอาจถูกจับกุมดำเนินคดีหรือส่งตัวกลับไปเผชิญอันตรายได้เสมอ แม้จะมีอนุสัญญาหรือพระราชบัญญัติออกมาคุ้มครอง แต่หากเป็นกรณีคนที่หนีภัยทางเศรษฐกิจ เช่น ไม่มีงานทำ ข้าวยากหมากแพง หรือหนีภัยพิบัติทางธรรมชาติ มาอาศัยในประเทศไทย หรือกรณีอื่นๆ อีกหลายกรณี ก็ยังไม่มีอนุสัญญาหรือกฎหมายใดจะคุ้มครองให้คนหลบหนีเข้าเมืองได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรีในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่ได้รับความเดือดร้อน ดังนั้น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนหลบหนีเข้าเมืองจึงยังมีช่องโหว่อีก ที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาทางมนุษยธรรมได้เต็มที่
ไฟล์แนบ