เครือข่ายสื่อเด็กภาคเหนือ แย้งรัฐรวบรัดพิจารณาร่างกฎหมายกองทุนพัฒนาสื่อเด็กและเยาวชน

เครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว ยื่นหนังสือถึง นายฤทธิพงษ์ เตชะพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจ.เชียงใหม่
ฝากเรื่องถึงรัฐบาลให้ช่วยรอพิจารณากฎหมายกองทุนสื่อภาคประชาชนด้วย
(ภาพจากผู้สื่อข่าวประชาธรรม)

 

28 สิงหาคม 2555 เว็บไซต์ประชาธรรมรายงานความเคลื่อนไหวของเครือข่ายสื่อเด็กเยาวชนฯ ภาคเหนือ หนึ่งในภาคีผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ… เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หวังให้รัฐหยุดรวบรัดพิจารณากฎหมายกองทุนสื่อสร้างสรรค์

ภายหลังจากเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว (ศสน.) และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ได้รวบรวมรายชื่อจำนวน 12,500 รายชื่อ และเสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. … ฉบับประชาชน ต่อประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2555 แต่ล่าสุดกลับพบว่า คณะรัฐมนตรีได้บรรจุวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. … ฉบับที่เสนอโดยกระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็นวาระเร่งด่วนในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2555 โดยไม่เปิดโอกาสให้ร่างพระราชบัญญัติกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. … ฉบับประชาชน ถูกพิจารณาไปพร้อมกัน

เครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัวภาคเหนือ (ศสน.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชน จึงเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ให้ชะลอการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. … ฉบับกระทรวงวัฒนธรรม และนำร่างกฎหมายฉบับภาคประชาชนเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

นายไพศาล ภิโลคำ ผู้ประสานงานฝ่ายกองทุนสื่อเพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัวภาคเหนือ เผยว่า ร่างกฎหมายฉบับกระทรวงวัฒนธรรมนั้นครอบคลุมเฉพาะการจัดการตัวเงินเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของการผลักดันให้มีกองทุนเพื่อเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพของคน ประกอบกับงานที่ส่งเสริมศีลธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรมอันดีของประชาชน  อีกทั้งการบริหารจัดการกองทุนควรกระจายงบประมาณลงสู่ท้องถิ่น และโครงสร้างของคณะกรรมการ ต้องมีสัดส่วนของภาคประชาชนในทุกภูมิภาค

นายประหยัด จตุพิทักษ์กุล ภาคีวิชาการของเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัวภาคเหนือ กล่าวว่า หลักสำคัญที่ประชาชนต้องการเน้นคือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยร่างฉบับประชาชนเสนอให้มีสภาสื่อสร้างสรรค์ และสมัชชาสื่อสร้างสรรค์ ในระดับจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นกลไกเสนอนโยบาย รวมทั้งทำหน้าที่ตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องงานสื่อต่างๆ ซึ่งร่างฉบับของกระทรวงวัฒนธรรมไม่ได้พูดถึงเรื่องดังกล่าว

นายประหยัด กล่าวเสริมว่า "วิธีคิดการจัดการกองทุนของรัฐที่ผ่านมาบริหารโดยระบบราชการ มองกองทุนที่ตัวเงินเป็นหลัก ขณะที่ภาคประชาชนมองรวมไปถึงทุนที่เป็นเรื่องของความรู้ ทุนคน ทุนองค์กรต่างๆ และคิดว่าจะทำอย่างไรให้เข้าถึงกองทุนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งฉบับร่างของรัฐบาลจะเน้นไปที่กลุ่มสื่อวิชาชีพและภาคธุรกิจมากกว่า แต่ฉบับภาคประชาชนจะเน้นไปถึงสื่อชุมชน สื่อท้องถิ่น รวมถึงมิติของกลุ่ม องค์กรชุมชนต่างๆ สามารถเข้าถึงกองทุนนี้อย่างเท่าเทียมกัน รัฐบาลจึงไม่ควรจะรวบรัดการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว และเปิดทางให้ร่างกฎหมายฉบับประชาชนเข้าสู่การพิจารณาควบคู่กันไป"

ด้านนายฤทธิพงษ์ เตชะพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวภายหลังเป็นตัวแทนรับจดหมายเปิดผนึกว่า ทางจังหวัดจะส่งเรื่องถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของเครือข่ายภาคประชาชน

(อ่านจดหมายเปิดผนึก จากเครือข่ายประชาชนผู้เสนอชื่อในร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ…. ที่ส่งถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ทางเว็บไซต์ประชาธรรม )

 

ที่มา: