คดี “พิเศษ” อำนาจ “พิเศษ” ของดีเอสไอ [ตอน2]

 

บทวิเคราะห์ในตอนที่แล้ว กล่าวถึงคุณสมบัติและที่มาของการกระทำอาชญากรรมที่เข้าข่ายเป็น “คดีพิเศษ” ในความดูแลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ สำหรับบทวิเคราะห์ตอนนี้ ว่าด้วย “อำนาจพิเศษ” ที่ทำให้ตำรวจดีเอสไอเหนือกว่าตำรวจธรรมดาทั่วไป
ความ “พิเศษ” ของคดีในความดูแลของกรมสอบสวนคดีพิเศษอยู่ที่ว่า การสืบสวนสอบสวนนั้นจะแตกต่างไปจากคดีปกติ ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547
                “มาตรา 25 ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เอกสารหรือข้อมูลข่าวสารอื่นใดซึ่งส่งทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด ถูกใช้หรืออาจถูกใช้ เพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษพนักงานสอบสวนคดีพิเศษซึ่งได้รับอนุมัติจากอธิบดีเป็นหนังสือจะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารดังกล่าวก็ได้
                การอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาพิจารณาถึงผลกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลหรือสิทธิอื่นใดประกอบกับเหตุผลและความจำเป็นดังต่อไปนี้
                (1) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีการกระทำความผิดหรือจะมีการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ
                (2) มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะได้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษจากการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารดังกล่าว
                (3) ไม่อาจใช้วิธีการอื่นใดที่เหมาะสมหรือมีประสิทธิภาพมากกว่าได้”
อำนาจตามมาตรา 25 นี้มีประเด็นที่น่าสังเกตอยู่มาก เพราะแม้การใช้อำนาจยังอยู่ภายใต้การอนุมัติโดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจ และยังอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ในวรรคสองเพื่อคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลก็ดี แต่มาตรา 25 นี้เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐสามารถดักฟังโทรศัพท์ อ่านจดหมาย หรือการสื่อสารใดๆ ของประชาชนได้ เพราะอำนาจปกติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ดังนั้น อำนาจพิเศษของดีเอสไอตามมาตรา 25 นี้จึงเป็นอำนาจที่พิเศษจริงๆ
อำนาจปลอมเอกสาร ปลอมตัว ครอบครองอาวุธอันตราย
นอกจากอำนาจของดีเอสไอตามมาตรา 25 แล้ว ในคดีพิเศษดีเอสไอยังมีอำนาจเป็นพิเศษอีกในหลายประเด็น เช่น
                   “มาตรา 27 ในกรณีจำเป็นและเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อธิบดีหรือผู้ได้รับมอบหมายมีอำนาจให้บุคคลใด จัดทำเอกสารหรือหลักฐานใดขึ้นหรือเข้าไปแฝงตัวในองค์กรหรือกลุ่มคนใด เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่อธิบดีกำหนด”
มาตรานี้กำหนดให้การปลอมเอกสาร หรือการปลอมตัว เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะไม่มีผลเป็นการละเมิดสิทธิของปัจเจกชนโดยตรง แต่หากเป็นการปลอมเอกสาร หรือการปลอมตัวเข้าไปในหน่วยงาน เช่น บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ เพื่อสืบสวนการกระทำความผิด แต่ก็อาจจะกระทบต่อสิทธิในความลับทางการค้าบางอย่าง หรือเรื่องภายในขององค์กรที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดได้เช่นกัน
                 “มาตรา 29 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์เช่นเดียวกับราชการทหารและตำรวจตามกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้ การมีและใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง สิ่งเทียมอาวุธปืน และยุทธภัณฑ์ ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด”
แม้ที่ผ่านมา ยังไม่เคยปรากฏกรณีว่า เจ้าหน้าที่ดีเอสไอใช้อำนาจตามมาตรานี้กระทำการใดที่กระทบสิทธิของประชาชนโดยตรง แต่การได้รับการยกเว้นไม่อยู่ภายใต้กฎหมายที่ควบคุมอาวุธปืน และวัตถุอันตรายนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายทางกายภาพได้มาก นอกจากนี้ปัจจุบันก็ยังไม่มีการประกาศระเบียบกระทรวงยุติธรรมที่จะออกมาควบคุมการครอบครองอาวุธของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ จึงเท่ากับว่า ทุกวันนี้การครอบครองอาวุธและวัตถุอันตรายของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอยังไม่มีกฎหมายใดเลยมาควบคุมดูแล หรือจำกัดอำนาจดังกล่าว
 
จำเป็นต้องใช้ดีเอสไอ เพื่อความเชี่ยวชาญจริงหรือ?
แม้คดีบางประเภทเป็นคดีที่ต้องใช้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษในการสืบสวนสอบสวน จึงควรให้เป็นอำนาจของดีเอสไอ แต่ขณะเดียวกัน แม้จะไม่มีดีเอสไอการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในคดีประเภทบางประเภทก็มีกฎหมายอื่นและหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจดูแลเป็นพิเศษอยู่แล้ว
ตัวอย่างเช่น คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 18 ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่พิเศษซึ่งผ่านการฝึกอบรมมาโดยเฉพาะมีอำนาจขอทราบข้อมูลการใช้งานคอมพิวเตอร์จากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้อยู่แล้ว
และตามกฎหมายดังกล่าวยังมีประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ ที่กำหนดรายละเอียดหน้าที่ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตว่าข้อมูลประเภทใดบ้างที่จะต้องเก็บรักษา ด้วยวิธีการอย่างไร เป็นเวลานานเท่าไร และเจ้าหน้าที่รัฐจะมีขั้นตอนในการขอทราบข้อมูลดังกล่าวได้อย่างไรบ้าง 
แม้หลักเกณฑ์การขอข้อมูลการจราจรคอมพิวเตอร์ดังกล่าว จะยังมีข้อที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้าง แต่อย่างน้อยก็มีหลักเกณฑ์ที่ประกาศออกมาชัดเจนตายตัว ให้ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใจได้อยู่แล้ว จึงยังน่าสงสัยว่า มีเหตุจำเป็นเพียงพอหรือไม่ที่จะต้องกำหนดให้คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เป็นคดีพิเศษ และให้ดีเอสไอใช้อำนาจตามมาตรา 25 เพื่อได้มาซึ่งข้อมูลการสื่อสารทางคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีอื่นของประชาชน โดยที่ยังไม่มีหลักเกณฑ์ในรายละเอียดกำกับการใช้อำนาจไว้อย่างใดเลย 
ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แม้จะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะในการสืบสวนสอบสวน แต่รัฐก็ได้ตั้งกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ขึ้นมาในปี 2552 เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเพียงพอสำหรับรับภาระหน้าที่ดังกล่าวแล้ว สุดท้ายจึงควรตั้งคำถามด้วยว่า เหตุใดจึงต้องประกาศให้คดีเช่น คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาอยู่ในอำนาจของดีเอสไอ และเป็นการชอบธรรมแล้วหรือไม่?
นอกจากประเด็นความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีแล้ว หากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ก็ยังมี กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เป็นหน่วยงานพิเศษที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางอีกอยู่แล้ว แต่เมื่อตั้งดีเอสไอก็มีการประกาศให้คดีความตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและเงินตราอยู่ในอำนาจของดีเอสไออีก ซึ่งอาจเกิดการทับซ้อนอำนาจระหว่างหน่วยงานได้ด้วย
ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือมีอำนาจกำหนดได้เองว่าหน่วยงานของตนจะรับคดีใดมาอยู่ในความดูแล ซึ่งนำมาสู่การใช้อำนาจ "พิเศษ" ทั้งสามารถดักฟัง ลักลอบเข้าถึงข้อมูล แฝงตัวเข้าไปในองค์กร และอาจครอบครองอาวุธโดยไม่มีกฎหมายกำกับ ด้านหนึ่งอาจจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งการสืบสวนสอบสวนคดี แต่สิ่งเหล่านี้ก็อาจเปิดช่องให้เกิดการใช้อำนาจที่เกินความจำเป็นละเมิดสิทธิของประชาชนด้วย 
เมื่อมีอำนาจมากความรับผิดชอบที่มากขึ้นก็ควรจะตามมา กฎหมายหนึ่งฉบับที่ถูกออกแบบให้ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ ขณะเดียวกันก็ควรต้องมีกลไก จำกัดกรอบการใช้อำนาจอย่างเข้มงวดด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความโปร่งใสที่จะต้องรายงานผลการดำเนินงานโดยใช้อำนาจพิเศษ กำหนดความรับผิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะยังขาดหายไปในกฎหมายฉบับนี้ 

 

ไฟล์แนบ