ดูหมิ่นนายกฯ: ข้อหาเก่า-กลยุทธ์ใหม่ เพื่อใช้หยุดการวิพากษ์วิจารณ์

36485086793_99aeec0c62_o
โดยปกติ ความผิดฐาน “ดูหมิ่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครอง “เกียรติหรือชื่อเสียงของบุคคล” ไม่ให้ผู้ได้มาสบประมาท ดูถูกเหยียดหยาม หรือ ทำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งอับอายหรือได้รับความเกลียดชัง ซึ่งทำหน้าที่คุ้มครองศักดิ์ศรีของบุคคลที่สถานะเท่าๆ กันน หรือคุ้มครองบุคคลที่สถานะอ่อนด้อยกว่าไม่ให้ถูกรังแก แต่ความไม่ปกติของกฎหมายกำลังเกิดขึ้น เมื่อมันถูกนำมาใช้เพื่อป้องปราบผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยเฉพาะผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
ที่สำคัญ กระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ปกตินี้กำลังดำเนินการอย่างเป็นระบบ ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า “คณะกรรมการตรวจสอบและดําเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค” หรือ คตส. ที่ตั้งขึ้นตามคําสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 32/2563 ที่คอยทำหน้าที่แจ้งความดำเนินคดีกลุ่มที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ดังที่เกิดขึ้นกับ “มิลลิ-ดนุภา คณาธีรกุล” ศิลปินแรปเปอร์ที่ถูกดำเนินคดีและเปรียบเทียบปรับจากการทวีตข้อความวิจารณ์รัฐบาล

เส้นขนานระหว่าง “ดูหมิ่น” กับ “วิพากษ์วิจารณ์”

การแสดงออกที่โกรธเกรี้ยวของประชาชนหลายต่อหลายครั้ง ชวนให้เส้นแบ่งของการแสดงออกในเชิงวิพาษ์วิจารณ์ หรือ การติชมเพื่อพัฒนา เป็นสิ่งเดียวกันกับการดูหมิ่น แต่แท้จริงแล้ว สองสิ่งนี้เป็นเพียง “เส้นคู่ขนาน” แม้จะเหมือนแต่ก็มีความต่าง
ความผิดฐาน “ดูหมิ่น” ถูกบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ว่า “ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ขอบเขตและคำนิยามของคำว่าดูหมิ่นยังไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน คำพิพากษาศาลฎีกาในอดีตพยายามอธิบายไว้ว่า การดูหมิ่นคือ การแสดงออกในเชิงเหยียดหยาม มุ่งโจมตีด้วยบุคคล ทำให้ได้รับความเจ็บใจ ทำลายเกียรติยศศักดิ์ศรี หรือเป็นการลดทอนคุณค่า ลดทอนสถานะของบุคคล เช่น การใช้คำว่า “ตอแหล” “อีเหี้ย” “อีสัตว์” “อีควาย” หรือ “ไอ้หน้าโง่” เป็นต้น 
ในขณะที่การวิพากษ์วิจารณ์แม้จะเป็นการโจมตีตัวบุคคลหรือมีการใช้คำหยายคาย แต่เจตนาของการแสดงออกนั้นเป็นไปเพื่อติชมโดยหวังให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น หรือ การแสดงความรู้สึกไม่พอใจต่อการทำงานของรัฐบาล หรือ การแสดงความไม่พอใจต่อตัวนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือคนอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยในการตรวจสอบการทำงานของรัฐ ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์จึงไม่ใช่ความผิดฐานดูหมิ่นที่มีเจตนาดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย 

รัฐบาล คสช. กำลังสร้างบรรทัดฐานรัฐบาลวิจารณ์ไม่ได้

21 กันยายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคำสั่งให้ตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบและดําเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค” หรือ คตส. ขึ้นมา โดยมี “อภิวัฒน์ ขันทอง” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทั้งนี้ อภิวัฒน์ เคยให้สัมภาษณ์ถึงจุดเริ่มต้นของ คตส. ว่า เนื่องจากปี 2563 มีการโพสต์ข้อความโจมตีนายกฯ ผ่านโซเชียลมีเดียด้วยถ้อยคำเสียๆ หายๆ จำนวนมาก แต่ไม่มีหน่วยงานใดมาดำเนินการเลย พล.อ.ประยุทธ์จึงปรึกษากับดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และอดีตเลขาธิการกฤษฎีกา และตั้ง คตส. ขึ้นมา
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า อภิวัฒน์ ขันทอง ได้เป็นตัวแทนของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการร้องทุกข์กล่าวโทษผู้แสดงความเห็นทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง และพบว่าเขาเป็นผู้กล่าวหาไม่น้อยกว่า 23 คดี เป็นคดีมาตรา 112 หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ 5 คดี รวมถึงคดีหมิ่นประมาท-ดูหมิ่นอีกหลายคดี โดยมีคดีของคนที่เป็นคนดังหรือคนที่เป็นรู้จักในสังคมมากมาย ยกตัวอย่างเช่น
  • 13 พฤษภาคม 2564 คดีของ ‘ฮาร์ท-สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล’ นักร้อง จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กวิพากษ์การจัดหาวัคซีน COVID-19 โดยมีคำว่า “เจ้านาย” ในโพสต์ ในคดีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
  • 28 พฤษภาคม 2564 คดีของ ‘จอห์น-วิญญู วงษ์สุรวัฒน์‘ นักจัดรายการวิพากษ์การเมืองชื่อดัง จากการทวีตข้อความ 2 ข้อหา ในเดือน ธันวาคม 2563 และเดือน เมษายน 2564 ในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน และหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา
  • 22 กรกฎาคม 2564 คดีของ  ‘มิลลิ-ดนุภา คณาธีรกุล‘ ศิลปินแรปเปอร์ที่ถูกดำเนินคดีจากการทวีตข้อความวิจารณ์รัฐบาล และเจ้าตัวได้ยอมให้ตำรวจเปรียบเทียบปรับเป็นจำนวนเงิน 2,000 บาท ตามความผิดฐานดูหมิ่นตามประมวลกฎฆมายอาญา 393
นอกจาก คตส. ยังมีกลุ่มที่พยายามตีกรอบเสรีภาพในการวิจารณ์รัฐบาลอีก อย่างเช่น ‘ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์‘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ออกมากล่าวเตือนเรื่องการใช้โซเดียลมีเดียโจมตีรัฐบาล หรือ สนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎร และอดีตผู้สมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ร้องขอให้ตำรวจตรวจสอบดารานักแสดงผู้มีชื่อเสียงที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง อย่างน้อย 20 ราย ขณะที่ฝ่ายตำรวจก็รับลูกทางเดียวกัน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าบุคคลที่มีรายชื่อปรากฏได้มีการกระทำตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ หากเป็นการกระทำโดยสุจริตก็ไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งต้องไม่ก่อให้เกิดความมั่นคงต่อรัฐ และความวุ่นวายบ้านเมือง และไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น
จากทั้งหมดที่ได้กล่าวมา จะเห็นได้ว่า รัฐบาลกำลังพยายามสร้างบรรยากาศใช้การแสดงออกซึ่งความไม่พอใจต่อรัฐบาลต้องระมัดระวังว่าอาจจะ “ความผิด” อีกทั้งยังนำกฎหมายในข้อหา “ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน” มาเรียกชื่อเป็นข้อหาใหม่ว่า “ดูหมิ่นรัฐบาล” แต่จากความพิพากษาของศาลฎีการะบุว่า รัฐบาลไม่ได้มีสถานะเป็นบุคคลหรือนิติบุคคล จึงเป็นคู่ความไม่ได้ เป็นผู้เสียหายไม่ได้ ความผิดฐานดูหมิ่นรัฐบาลจึงเกิดขึ้นไม่ได้ และความหมายของคำว่า “เจ้าพนักงาน” ก็ไม่ครอบคลุมไปถึงตำแหน่งรัฐบาล คณะรัฐมนตรี 

รัฐบาลประชาธิปไตยต้องอดทนอดกลั้นต่อเสียงวิจารณ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ขู่และดำเนินคดีกับดารา นักแสดง ศิลปิน ที่ออกมาแสดงจุดยืนและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (Freedom of opinion) เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (Fundamental rights) ของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครอง 
ผศ.ดร.พรสันต์ กล่าวด้วยว่า  ศาลในต่างประเทศเองก็เคยมีคำวินิจฉัยไม่ว่าจะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, แคนาดา ฯลฯ รวมถึงศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Court of Human Rights) เคยมีคำวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับกรณีรัฐบาลฟ้องเอกชนไว้อย่างชัดเจนว่า “องค์กรของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งนั้น ควรต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนบนความอดทนอดกลั้นต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ที่สูงกว่าองค์กรอื่นๆ”