คดีมาตรา 112 ลงโทษหนักแค่ไหน?

มาตรา 112 มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ไม่มีโทษปรับและโทษอื่นๆ หมายความว่า สำหรับการกระทำ 1 ครั้ง หรือในทางกฎหมายเรียกว่า 1 กรรม เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นความผิด ศาลก็มีดุลพินิจที่จะกำหนดโทษจำคุกเท่าไรก็ได้ระหว่าง 3-15 ปี
การวางอัตราโทษเอาไว้กว้างๆ เพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษให้เหมาะสมแตกต่างกันไปในแต่ละคดีเช่นนี้ เป็นเรื่องปกติเช่นเดียวกับการกระทำความผิดฐานอื่นๆ ในทางกฎหมาย ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีจะต้องดูความร้ายแรงของการกระทำ ความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมทั้งสถานะของจำเลย โอกาสที่จำเลยจะสำนึกผิดหรือกลับตัวกลับใจ แล้วค่อยกำหนดโทษให้แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละคดี
ในทางปฏิบัติ ผู้พิพากษาจะดูแนวทางที่ผู้พิพากษาคนอื่นเคยตัดสินเอาไว้ในคดีก่อนหน้าประกอบการตัดสินใจด้วย เพื่อไม่ให้ผลคำพิพากษาออกมาแตกต่างกันเกินไปสำหรับการกระทำที่คล้ายกัน ซึ่งการกำหนดโทษตามแนวทางเดียวกันนี้ เรียกกันว่า “ยี่ต๊อก”

ศาลปกติ 5 ปี

ผู้พิพากษาที่พิจารณา คดีม.112 ในศาลระบบปกติ ไม่ว่าจะเป็นศาลที่ตั้งอยู่ในจังหวัดต่างๆ หรือศาลอาญา ที่ทำหน้าที่คล้ายเป็น “สำนักงานใหญ่” ของการดำเนินคดีอาญา ส่วนใหญ่จะมองดู “ยี่ต๊อก” และวางแนวทางที่ใกล้เคียงกัน คือ เมื่อตัดสินว่าจำเลยมีความผิด ก็กำหนดบทลงโทษ จำคุก 5 ปี ต่อการกระทำ 1 ครั้ง
ทั้งการโพสข้อความบนเฟซบุ๊ก ไม่ว่าเพจนั้นๆ มีคนติดตามมากหรือน้อยเพียงใด หรือการนำข้อความขึ้นบนเว็บไซต์ หรือการส่งอีเมล์ หรือการปราศรัยในที่ชุมนุมทางการเมือง ศาลปกติก็วางโทษตาม “ยี่ต๊อก” ที่ 5 ปีเช่นเดียวกัน
ตัวอย่างเช่น
คดี “อากง SMS” หรือคดีที่อำพล อายุ 61 ปี ถูกฟ้องว่าส่งข้อความสั้น SMS ไปหาเลขานุการของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งหมด 4 ครั้ง ศาลพิพากษาให้จำคุก การกระทำละ 5 ปี รวมโทษจำคุก 20 ปี
คดีของ “ดา ตอร์ปิโด” หรือคดีที่ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ถูกฟ้องว่ากล่าวปราศรัยที่ท้องสนามหลวง 3 ครั้ง เมื่อปี 2551 ศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุก การกระทำละ 5 ปี รวมโทษจำคุก 15 ปี 
คดีของ “ธเนศ” ซึ่งถูกฟ้องว่า ส่งอีเมล์ไปหาชาวต่างชาติเพื่อขอให้ช่วยเหลือคนเสื้อแดงโดยการช่วยส่งต่อเนื้อหาเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ศาลพิพากษาให้จำคุก 5 ปี 
คดีของยุทธศักดิ์ คนขับรถแท็กซี่ที่ถูกฟ้องจากการพูดคุยกับผู้โดยสารขณะขับรถ และผู้โดยสารอัดเสียงไปเป็นหลักฐาน ศาลพิพากษาให้จำคุก 5 ปี 

ศาลทหาร 10 ปี

ระหว่างปี 2557-2559 ภายใต้ยุคการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 สั่งให้คดีม.112 ต้องพิจารณาคดีที่ศาลทหาร ซึ่งผู้ตัดสินคดีเป็นทหารทั้งหมด อัยการผู้ฟ้องคดี และเจ้าหน้าที่ศาลก็เป็นทหารทั้งหมด
ตุลาการศาลทหารกำหนดโทษจำคุกในคดีม.112 สูงขึ้นเป็นเท่าตัว โดย “ยี่ต๊อก” ของศาลทหารวางไว้ที่จำคุก 10 ปี ต่อการกระทำ 1 ครั้ง โดยไม่ได้มีคำอธิบายอะไรเป็นพิเศษ
ตัวอย่างเช่น
คดีของคฑาวุธ นักจัดรายการวิทยุทางอินเทอร์เน็ต ถูกฟ้องจากการทำคลิปเสียง 1 คลิป คฑาวุธเป็นคนแรกที่ถูกพิพากษาโดยศาลทหาร เขาถูกพิพากษาให้จำคุก 10 ปี
คดีของสมัคร ชาวนาที่ถูกฟ้องจากการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ ที่ตั้งอยู่ริมถนนขณะมึนเมา เขาถูกพิพากษาให้จำคุก 10 ปี
เท่าที่บันทึกข้อมูลมา ยังไม่เคยพบคดีที่ศาลตัดสินให้จำคุกด้วยอัตราสูงสุดเต็มที่ 15 ปี จากการกระทำครั้งเดียว
โทษจำคุกตาม “ยี่ต๊อก” นี้ยังไม่นับรวมการ “ลดโทษ” และ “บรรเทาโทษ” เพราะมีเหตุที่กฎหมายกำหนดให้ได้รับโทษน้อยลง เช่น เมื่อจำเลยรับสารภาพ หรือกรณีที่การให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี หรือเพราะเหตุอื่นที่ศาลเห็นควรก็อาจปรับลดให้อีกได้
จำเลยส่วนใหญ่ได้รับการลดโทษลงจาก “ยี่ต๊อก” ที่ศาลวางไว้ เช่น ยุทธศักดิ์ คนขับแท็กซี่ รับสารภาพและได้ลดโทษจำคุกครึ่งหนึ่ง จาก 5 ปี เหลือ 2 ปี 6 เดือน สมัคร ก็รับสารภาพและได้ลดโทษจำคุกครึ่งหนึ่ง จาก 10 ปี เหลือ 5 ปี ส่วนกรณีของ “ธเนศ” ซึ่งยอมรับว่าเป็นคนส่งอีเมล์จริง แต่ต่อสู้คดีว่าขณะส่งอีเมล์มีอาการป่วยทางจิต ศาลเห็นว่าส่วนที่ยอมรับเป็นประโยชน์กับการพิจารณาคดี จึงลดโทษจำคุกลง 1 ใน 3 จาก 5 ปี เหลือ 3 ปี 4 เดือน เป็นต้น

กรณีพิเศษหนัก-เบา ต่างไปบ้าง

อย่างไรก็ดี คำพิพากษาของศาลไม่ได้เป็นไปตาม “ยี่ต๊อก” เสมอไป ในบางคดีที่มีพฤติกรรมแตกต่างไป ศาลก็อาจลงโทษน้อยกว่า หรือมากกว่าอัตราที่ใช้ในคดีอื่นๆ ก็ได้ แต่ยังไงก็ยังต้องอยู่ในอัตราระหว่าง 3-15 ปี
มีบางคดีที่ศาลเห็นว่าการกระทำมีลักษณะรุนแรง และประกอบกับสถานการณ์อื่นๆ ในขณะนั้นก็อาจกำหนดโทษสูงกว่า “ยี่ต๊อก” ได้
ตัวอย่างเช่น
คดีของปิยะ ซึ่งถูกฟ้องจากการส่งอีเมล์ที่มีข้อความหยาบคายต่อพระราชินี ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นช่วงที่มีข่าวพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และพิพากษาให้จำคุก 9 ปี 
คดีของเอกฤทธิ์ ซึ่งถูกฟ้องจากการ โพสต์และแชร์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในอิริยาบถส่วนพระองค์ ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่10 โดยทำเป็นภาพประกอบข้อความที่เนื้อหาชัดแจ้ง การกระทำที่ถูกฟ้องเกิดขึ้นวันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันจักรีครั้งแรกในรัชกาลที่ 10 ศาลอาญาพิพากษาให้จำคุก 8 ปี 
ขณะที่ บางคดีที่ศาลเห็นว่า การกระทำมีลักษณะไม่รุนแรง ประกอบกับสถานะของจำเลยที่ศาลเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องได้รับโทษหนักจนเกินไป ก็อาจกำหนดโทษต่ำกว่า “ยี่ต๊อก” ได้
ตัวอย่างเช่น
คดีของ “แม่ทิพย์” บุคลากรทางการแพทย์ที่ถูกฟ้องว่าโพสต์รูปตัวเองใส่ชุดสีดำพร้อมข้อความ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2557 ศาลทหารที่จังหวัดขอนแก่นพิพากษาให้จำคุก 3 ปี เนื่องจากเธอรับสารภาพจึงลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน 
คดีของ “พิภพ” คนขายหนังสือเร่ ที่ถูกฟ้องว่านำหนังสือกงจักรปีศาจ ที่วิเคราะห์กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ไปขายในการชุมนุมเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ศาลฎีกาพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 3 ปี เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษเหลือ 2 ปี 

กรณีรอลงอาญา หายากมากๆ

สำหรับคดีที่ศาลจะลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี เมื่อศาลได้คำนึงถึงสถานะของจำเลย สุขภาพ สิ่งแวดล้อม การกระทำที่เกิดขึ้น หรือเหตุอื่นแล้ว ศาลอาจพิพากษาให้ลงโทษแต่ “รอลงอาญา” เอาไว้ก็ได้ หมายความว่า ให้โอกาสจำเลยยังไม่ต้องรับโทษจริงๆ ถ้าไม่ไปกระทำความผิดซ้ำอีก ซึ่งสำหรับคดีม.112 น้อยมากที่จะเห็นศาลใช้ดุลพินิจให้รอลงอาญา ในรอบกว่าสิบปีที่บันทึกข้อมูลพบอยู่สองกรณี
ได้แก่
คดีของบัณฑิต ซึ่งถูกฟ้องว่าไปแสดงความคิดเห็นและแจกเอกสารในงานเสวนาของคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อปี 2546 ศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกรวม 4 ปี แต่เห็นว่า จำเลยมีอาการป่วยทางจิต สมควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และอายุมากแล้ว เห็นควรให้กลับตัว จึงให้รอลงอาญา
คดีของนิรันดร์ ผู้ดูแลเว็บไซต์ข่าวผู้จัดการออนไลน์ ซึ่งเผยแพร่แถลงการณ์สำนักพระราชวังปลอมที่มีคนทำขึ้น และ “เนส” นักศึกษาซึ่งแชร์แถลงการณ์ดังกล่าวต่อ ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาลงโทษจำคุก 5 ปี เนื่องจากจำเลยรับสารภาพให้ลดโทษเหลือ 2 ปี 6 เดือน และเห็นว่าพฤติการณ์จำเลย “รีบแก้ไขทันที” จึงให้รอลงอาญา 

สถิติคดีที่โทษหนัก ก็หนักมาก

ภายใต้อัตราโทษที่สูงของม.112 และ “ยี่ต๊อก” ที่มีอยู่ หลายคดีจำเลยคนเดียวถูกฟ้องจากการกระทำหลายครั้ง เมื่อศาลพิพากษาลงโทษแล้วต้องนับโทษจากการกระทำทุกครั้งรวมกัน ทำให้เมื่อรวมแล้วจำเลยถูกลงโทษหนักมาก โดยมีสถิติคดีที่ลงโทษหนัก 5 อันดับแรก ดังนี้

1. อัญชัญ ซึ่งถูกฟ้องว่า อัพโหลดและแชร์คลิปเสียงของรายการ “บรรพต” ทั้งหมด 29 ครั้ง ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกการกระทำละ 3 ปี รวม 29 กรรม จำคุก 87 ปี เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษครึ่งหนึ่งเหลือจำคุกกรรมละ 1 ปี 6 เดือน รวมต้องจำคุก 29 ปี 174 เดือน 
2. วิชัย ซึ่งถูกฟ้องว่า แอบอ้างสร้างชื่อบัญชีเฟซบุ๊กปลอม และโพสต์ข้อความและภาพถ่ายรวมทั้งแชร์ข้อมูล 10 ครั้ง ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาลงโทษจำคุกกรรมละ 7 ปี รวมจำคุก 70 ปี เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษครึ่งหนึ่งเหลือจำคุกกรรมละ 3 ปี 6 เดือน รวมต้องจำคุก 30 ปี 60 เดือน
3. พงษ์ศักดิ์ ถูกฟ้องว่า แพร่รูปภาพและข้อความบนเฟซบุ๊กชื่อ “Sam parr” จำนวน 6 ข้อความ ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาลงโทษจำคุกกรรมละ 10 ปี รวมจำคุก 60 ปี เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษครึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 30 ปี 
4. ศศิวิมล ถูกฟ้องว่า ใช้เฟซบุ๊กชื่อของบุคคลอื่นโพสต์ข้อความ 7 ข้อความศาลทหารที่จังหวัดเชียงใหม่พิพากษาจำคุกกรรมละ 8 ปี รวมจำคุก 56 ปี เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษครึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 28 ปี 
5. เธียรสุธรรม ถูกฟ้องว่า ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “ใหญ่ แดงเดือด” โพสต์วิจารณ์ คสช.รวมถึงพาดพิงสถาบันกษัตริย์ฯ 5 ข้อความ ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาจำคุกกรรมละ 10 ปี รวมจำคุก 50 ปี เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษครึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 25 ปี