วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ผู้ชนะคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ชี้บทบาทศาลควรตรวจสอบกฎหมายของคณะรัฐประหาร

8 มิถุนายน 2564 วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ารับฟังคำพิพากษาของศาลแขวงดุสิต และศาลพิพากษายกฟ้องเรียบร้อย หลังเสร็จสิ้นคดีที่ต่อสู้มานยาวนาน 7 ปี พอๆ กับอายุของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แทบจะไม่มีนักข่าวสำนักข่าวกระแสหลักมารอฟังการแถลงข่าวบริเวณหน้าศาล เราจึงมีโอกาสได้ชวนวรเจตน์พูดคุยถึงการต่อสู้คดีที่ยาวนาน ผลทางกฎหมายที่จะเกิดขึ้นและความคาดหวังต่อศาลที่ควรจะเป็น
คดีที่ศาลพิพากษาในวันนี้ เป็นคดีในข้อหาไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งหัวหน้า คสช.  ฉบับที่ 5/2557 และ 57/2557 ที่ออกโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 และ 9 มิถุนายน 2564 ตามลำดับ อันเป็นความผิดตามประกาศคสช.ที่ 29/2557 และ 41/2557 ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษ สาเหตุที่ศาลตัดสินยกฟ้อง เนื่องจากประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 และ 41/2557 ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไปแล้วว่า ขัดกับรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถบังคับใช้ได้

ชนะคดี แต่รู้สึกเสมอตัว เพราะคดีอื่นๆ ยังไม่ยุติ

วรเจตน์เริ่มตอบคำถามหลังคดีจบว่า หากถามว่าวันนี้รู้สึกอย่างไรในด้านหนึ่งมันก็โอเค คดีมันก็จบสักทีหนึ่ง เนื่องจากตอนคดียังไม่สิ้นสุดก็ติดเงื่อนไขการประกันอยู่ตลอด ในช่วงที่คดีอยู่ในศาลทหารเงื่อนไขในการประกันตัวก็เข้ม พอย้ายมาศาลพลเรือนก็เหลือแต่วางตัวเงิน แต่เราก็ยังเป็นคนมีคดีอยู่ดี เมื่อศาลยกฟ้องแล้ว ถือว่ากลายเป็นไม่มีคดีแล้ว สำหรับจำเลยทุกคนศาลพิพากษายกฟ้องก็คือจบ แต่ว่าจุดเปลี่ยนสำคัญจริงๆ ของคดีน่าจะอยู่ตรงที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนั่นแหละ
รู้สึกว่าดีที่สู้คดีมาตลอดเจ็ดปี ต้องขอขอบคุณทนายวิญญัติ ชาติมนตรี และทีมงานที่มาช่วยมากๆ เพราะว่าวันที่ผมถูกแจ้งความดำเนินคดีที่กองปราบฯ ผมไม่รู้เรื่องมาก่อน ไม่มีทนายความ ทีมทนายวิญญัติ ก็ได้เข้ามาช่วยเป็นทนายความให้ตั้งแต่แรกแล้วสู้คดีด้วยกันมาเจ็ดปี
การต่อสู้คดีของผมแบ่งเป็นสองส่วน เป็นส่วนของคดีอาญา และส่วนของข้อกฎหมายที่ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ในส่วนที่เป็นคดีทางอาญาก็เป็นหน้าที่ของคุณวิญญัติ ที่พยายามสู้คดีในทางข้อเท็จจริงต่างๆ แต่ประเด็นข้อเท็จจริงสุดท้ายในคำพิพากษาไม่ได้นำมาใช้ เพราะว่า ศาลตัดสินให้ยกฟ้องไปตามประเด็นข้อกฎหมาย แต่ว่ามันก็แสดงให้เห็นถึงราคาที่ต้องจ่ายในระหว่างที่ต่อสู้คดี รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของคนอื่นๆ ที่ต้องมาเกี่ยวพันในคดีของผม
อีกความรู้สึกหนึ่งก็รู้สึกโล่งใจว่า ผมจะไม่ต้องรบกวนคุณวิญญัติมาทำคดีของผม จะได้มีเวลาไปช่วยเหลือคนอื่นๆ ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองเหมือนกันกับผม
ที่ผ่านมาเดินทางไปศาลทั้งศาลทหารและศาลพลเรือนเกือบ 20 ครั้ง ซึ่งก็มีสิ่งที่เสียไป มีราคาที่ต้องจ่าย สะท้อนให้เห็นว่า ที่ผ่านมาเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมในการเสริมอำนาจของคณะรัฐประหาร เป็นเครื่องมือที่เสริมและรองรับอำนาจที่ได้มาตั้งแต่ปี 2557  คำพิพากษาในวันนี้ถือได้ว่า เสมอตัวเท่านั้น ยังไม่เป็นชัยชนะ โดยยังมีอีกหลายคนที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร แม้ว่า  คสช. จะสิ้นอำนาจไปแล้วแต่คดีความและผลกระทบยังคงดำเนินต่อจนถึงวันนี้ อย่างเช่น คดีของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ถูกไล่ออกจากธรรมศาสตร์ ยังคงค้างอยู่ในชั้นศาลปกครองสูงสุด  และยังมีคดีอื่นๆ ที่ดำเนินการพิจารณาคดีกับจำเลยมาอย่างยาวนานซึ่งทุกคนก็ต้องสูญเสียเวลาและทรัพย์สินในการต่อสู้คดีทั้งนั้น หากพูดในแง่นี้ว่า การพิพากษาคดีในวันนี้ผมชนะอะไรไหม ผมเห็นว่าเราไม่ชนะอะไรเลย สำหรับผมถือว่าเสมอตัว แต่ความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นในคดีอื่นเดือดร้อนกว่าผมยังมีอีกมากมาย

กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือของคณะรัฐประหารมากที่สุดในประวัติศาสตร์

เมื่อถามถึวสิ่งที่เกิดขึ้นในทางกฎหมายตลอดเจ็ดปีที่ผ่านมา วรเจตน์เล่าว่า ตลอดเจ็ดปีที่ผ่านมามีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือไปตอบสนองอำนาจการรัฐประหาร ทั้งที่การรัฐประหารมันยุติจบสิ้นไปแล้ว ได้ปกครองแล้ว มีการเลือกตั้งแล้ว แต่ยังปล่อยให้คดีที่กระทำความผิดในยุค คสช. พวกนี้ดำเนินต่อไป และการรัฐประหารครั้งนี้เป็นการปล่อยให้อำนาจรัฐประหารเข้าสู่ระบบกฎหมายมากที่สุดอีกด้วย
ยกตัวอย่างในคดีของผม แม้ว่าจะมีการโอนคดีจากศาลทหารมาศาลปกติในศาลแขวงดุสิต แต่สังเกตุเห็นได้ว่า มีการเขียนกฎหมายโดยผู้ให้บริการทางกฎหมายแก่คณะรัฐประหารกำหนดให้บรรดากระบวนการพิจารณาคดีที่ทำในศาลทหาร เช่น การเอาพยานหลักฐานในช่วงนั้น และการสืบพยาน ถือว่า เป็นกระบวนพิจารณาของศาลปกติด้วย ซึ่งไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง การที่ให้ใช้กระบวนการพิจารณาคดีของศาลทหารแล้วต้องให้ศาลยุติธรรมยอมรับต่อเนื่องกันนั้น เป็นวิธีการที่นักกฎหมายที่ให้บริการคณะรัฐประหารคิดขึ้นมาในยุคหลัง ทำให้ระบบการดำเนินคดีในช่วงรัฐประหารนั้นกลายเป็นคดีปกติ สอดกระบวนการทางกฎหมายช่วงรัฐประหารเข้าสู่ระบบกฎหมายปกติซึ่งไม่ควรจะเป็นแบบนั้น
จริงๆ แล้วไม่ควรมีการโอนคดีจากศาลทหารมาดำเนินคดีต่อที่ศาลยุติธรรมด้วยซ้ำ ในเมื่อการรัฐประหารบรรลุผลไปแล้ว คณะรัฐประหารได้อำนาจไปแล้ว คำถามง่ายๆ คือ จะดำเนินคดีกับผมเพื่อลงโทษผมทำไม มันได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาที่จะเอาผิดกับผม ในเมื่อวัตถุประสงค์ในการลงโทษทางอาญามันไม่เหลืออยู่แล้ว เมื่อคุณยึดอำนาจสำเร็จ การที่จะไปหรือไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของคุณก็ไม่สำคัญเพราะคุณได้รับอำนาจทั้งหมดไปแล้ว 
ปกติแล้วการลงโทษในทางอาญากระทำเพื่อเตือนคนว่าสิ่งที่คุณกระทำเป็นสิ่งที่ผิด ทำร้ายกฎหมาย และทำร้ายสังคม ในฐานความผิดต่างๆ ก็ต้องถูกลงโทษ แต่ผมถามกลับว่า คนที่ไม่ไปรายงานตัวกับ คสช. เขาทำอะไรผิด ในทางสำนึกต่างๆ เขาไม่มีความผิดอะไรเลย เขาอาจจะคิดว่าการที่คุณยึดอำนาจมามันไม่ถูก ทำไมต้องไปตามคำสั่งที่ไม่ถูกต้องเท่านั้นเอง ศาลก็ต้องมานั่งเขียนคำพิพากษาในคดีของผม มีต้นทุนที่เกิดขึ้นในกระบวนยุติธรรมทั้งทางด้านบุคคลากรและเอกสารที่ต้องจ่ายอีก ค่าใช้จ่ายแบบนี้ควรจะเอาไปทำในคดีอื่นๆ เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนของความไม่ถูกต้องของการใช้กฎหมายไปเสริมอำนาจรัฐประหาร   
ผมอยากให้หลักการเหล่านี้เป็นบทเรียนให้สังคมไทย ให้กับวงการนิติศาสตร์ไทย วงการกฎหมายไทยด้วย และไม่ใช่เฉพาะคดีของผม ควรจะบันทึกไว้ทุกคดี ในส่วนคดีของผมที่ผมอดทนสู้มายาวนานก็เพื่อจะให้เกิดหลักการแบบนี้ขึ้นมา อย่างน้อยควรจะมีความรู้สึกหรือความคิดแบบนี้บ้าง ส่วนใครที่ใช้กฎหมายไม่ถูกต้องก็น่าจะต้องรู้สึกน่าละอายบ้าง ผมก็หวังให้เป็นอยางนั้น  

ผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจะส่งผลดีต่อคนที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาไม่ไปรายงานตัว

วรเจตน์ตอบคำถามถึงผลของคำพิพากษา ทั้งในคดีของศาลรัฐธรรมนูญ และศาลแขวงดุสิต ว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 30/2563 ว่า ประกาศของคสช. ทั้งสองฉบับนั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญในส่วนของการกำหนดโทษทางอาญา โดยหลักทั่วไปแล้วเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กรของรัฐหมายความว่า ประกาศของ คสช. ที่ให้คนมารายงานตัวสองฉบับนี้เป็นอันใช้ไม่ได้ คนที่ฝ่าฝืนไม่ไปตามประกาศสองฉบับนี้ก็ไม่มีความผิด เพราะคดีของเขาศาลก็บอกว่า ไม่มีความผิด คงจะเป็นบรรทัดฐานให้คนอื่นๆ ที่ถูกดำเนินคดีไม่มีความผิดด้วย ซึ่งยังมีคดีความที่คงค้างอยู่ ที่ทราบมาก็มีคดีที่ค้างในชั้นอัยการอยู่คดีหนึ่งที่กำลังจะพิจารณาว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ ก็คงจะได้รับอานิสงส์ของคำพิพากษาในคดีนี้ไปด้วย

หลังจากนี้ศาลควรเข้าไปตรวจสอบสถานะของกฎหมายที่ออกโดย คสช.

วรเจตน์ได้พูดถึงสิ่งที่ศาลควรจะทำหลังจากคดีของเขาสิ้นสุดลงว่า ก่อนคดีผม คดีที่เกี่ยวเนื่องกับประกาศ คำสั่ง คสช. มีหลายมิติ คดีประเภทที่คัดค้านการออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ของ คสช. ก็อยู่ที่ศาลปกครอง บางคดีก็อยู่ที่ศาลยุติธรรม เท่าที่ผ่านมาทั้งหมดพอมันเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับพวกประกาศ คำสั่งของ คสช. โดยทั่วไปแล้วศาลไทยจะไม่ยอมเข้าไปตรวจสอบกฎหมายเหล่านี้ โดยอ้างว่า มีมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญ 2560 รับรองความชอบด้วยกฎหมายไว้เลย ส่งผลให้บางคดีที่ประกาศ คำสั่ง ที่ออกโดย คสช. มีสภาพเป็นกฎ ศาลปกครองกลับไม่รับตรวจสอบ หรือคดีที่ขึ้นสู้ศาลยุติธรรมหากอ้างว่า ประกาศ คำสั่ง ที่ออกโดย คสช. ไม่ใช่กฎหมาย หรือขัดกับรัฐธรรมนูญศาลก็จะไม่รับตรวจสอบประเด็นนั้น
พอในคดีของผมมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมายืนยันความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพวกประกาศ คำสั่ง ที่ใช้ดำเนินคดี ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะข้ามผ่านในประเด็นที่ต่อสู้ไปว่า มาตรา 279 ไม่สามารถใช้ยืนยันความชอบด้วยกฎหมายของพวกประกาศ คำสั่ง ที่ คสช. ออกไว้ได้ แต่ว่าในคำร้องที่ผมส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญมีการขอให้ไปตรวจสอบสถานะของประกาศ คำสั่งที่ใช้ในคดี แล้วโดยผลของคดีศาลรัฐธรรมนูญก็เข้าไปตรวจสอบสถานะของกฎหมายให้ เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่า น่าจะมีผลต่อแนวทางของศาลปกครองและศาลยุติธรรมในการช่วยกันตรวจสอบกฎหมายต่อไป ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้พิพากษาแต่ละองค์คณะแต่ละคดี ขึ้นอยู่กับโจทก์ และจำเลยในแต่ละคดีว่าจะหยิบประเด็นนี้ขึ้นสู้อย่างไร แต่ประเด็นที่เคยเป็นบรรทัดฐานของการใช้มาตรา 279 รับรองไว้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนประกาศ คำสั่ง คสช. แตะต้องไม่ได้ บรรทัดฐานนี้ถูกทำลายลงไปแล้ว ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 30/2563 แม้ว่าเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินจะไม่ถึงขนาดที่น่าพอใจสำหรับผมสักเท่าไหร่ แต่ว่าโดยผลของมันได้ทำลายมาตรฐานเดิมที่ศาลถือปฏิบัติกันมาแล้ว
นับต่อแต่นี้ไป ศาลยุติธรรมและศาลปกครองก็ควรเข้าตรวจสอบบรรดาประกาศ คำสั่ง ที่ออกโดย คสช. ที่อยู่ในเขตอำนาจของแต่ละศาล ส่วนเมื่อตรวจสอบแล้วกฎหมายเหล่านั้นจะขัดกับรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ไม่ควรจะตัดแต่แรกอ้างว่า “มาตรา 279 รับรองเอาไว้แล้วศาลไม่มีอำนาจตรวจสอบ” ไม่ควรจะเป็นแบบนั้นอีกต่อไป  

กระบวนการลบล้างความผิด ให้คนที่ถูกดำเนินคดีโดยคณะรัฐประหารยังต้องทำต่อ

วรเจตน์ฝากถึงการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นกับคนที่เคยถูกตัดสินว่า ผิด ในข้อหานี้ไปแล้วว่า อีกเรื่องที่ผมอยากจะฝากไว้คือ พอมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 30/2563 ทำให้ประกาศ คำสั่ง คสช. เรื่องการเรียกเข้าไปรายงานตัวใช้ไม่ได้แล้ว แต่มีบุคคลจำนวนหนึ่งที่ไม่ไปรายงานตัวแล้วถูกลงโทษไปแล้วโดยศาลทหารบ้าง ศาลยุติธรรมบ้าง รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ว่า เมื่อบุคคลได้รับโทษไปแล้ว เมื่อพ้นโทษต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนกับคนที่ไม่เคยกระทำความผิด หลังจากนี้ควรจะมีระบบที่ไปล้างความผิดของคนเหล่านี้ออก ซึ่งตอนนี้ยังไม่รู้จะทำกันอย่างไร 
เรื่องจะยังไม่จบเพียงแค่วันที่คดีของผมจบ คนที่ถูกลงโทษไปก่อนหน้านี้เขาไม่มีโอกาสสู้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะช่วงเวลาที่เขาถูกดำเนินคดีอาจจะเป็นช่วงก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ หรือหลังบังคับใช้รัฐธรรมนูญแล้วยังไม่เห็นประเด็นที่จะยื่นไปสู่ศาลรัฐรรมนูญ แล้วคนเหล่านั้นก็ถูกลงโทษไป แต่บัดนี้เราทราบกันแล้วว่า กฎเกณฑ์ที่ศาลใช้ลงโทษบุคคลเหล่านั้นไปก่อนมันใช้ไม่ได้ คนที่ถูกลงโทษไปแล้วเหล่านั้นเขาควรได้สิทธิอะไรคืนมาบ้าง อย่างน้อยควรมีกระบวนการล้างความผิดให้กับคนเหล่านั้น

เมื่อสังคมกลับมาสู่ประชาธิปไตย ศาลควรออกมาลบล้างอำนาจรัฐประหาร

เมื่อถามวรเจตน์ถึงเรื่องบทบาทของศาลไทยกับการรับรองอำนาจรัฐประหาร วรเจตน์อธิบายว่า เรื่องศาลกับอำนาจรัฐประหารนั้นต้องแบ่งระยะเวลา ถ้าเป็นช่วงที่การรัฐประหารสำเร็จผลไปแล้วในช่วงแรก เป็นเรื่องยากที่จะเรียกร้องให้ศาลไปสู้กับคณะรัฐประหาร เขาสู้ไม่ได้หรอก ถ้าจะต่อต้านก็ต้องลาออกอย่างเดียว
แต่ในช่วงระยะเวลาที่คณะรัฐประหารผ่อนคลายอำนาจลงกลับสู่ระบบปกติแล้ว มีเทคนิคทางกฎหมายหลายอันที่ทำให้ศาลเข้าไปคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ และตรวจสอบกฎหมายได้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ศาลควรทำ ไม่ใช่ว่าต้องยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหารไปเรื่อยๆ จนทำเสมือนว่า กฎหมายที่คณะรัฐประหารออกมาเป็นกฎหมายที่มีความชอบธรรมเหมือนกฎหมายจากสภาที่มาจากการเลือกตั้งในสถานการณ์ปกติ 
ศาลควรจะต้องตระหนักว่า อำนาจรัฐประหารกับการออกกฎหมายไม่ควรแนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน แต่การที่ศาลจะเข้าไปตรวจสอบอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในแต่ละช่วงเวลา ในแต่ละคดี เราอาจจะบอกไม่ได้หรอกว่า ศาลคุณต้องไปเข้าตรวจสอบและปฏิเสธอำนาจรัฐประหารตั้งแต่เข้ายึดอำนาจเลย ในทางความเป็นจริงคณะรัฐประหารก็จะปลดศาลเหล่านั้นทิ้งไป แต่เราก็ยังสามารถเรียกร้องในทางการเมืองได้ว่า ศาลควรจะสู้กับคณะรัฐประหารสิ หรือควรจะปฏิเสธอำนาจรัฐประหารอย่างไร ซึ่งในทางความเป็นจริงโดยวัฒนธรรมตอนที่คณะรัฐประหารเข้ามาแล้ว จะเรียกร้องอะไรได้ยากมาก หากจะปฏิเสธอำนาจโดยเด็ดขาดก็ต้องลาออกกันหมด อาจารย์มหาวิทยาลัยจะต่อต้านก็ต้องไม่ไปสอนหนังสือ ทนายความจะต่อต้านก็ต้องไม่ไปทำคดี ไม่ไปศาล ไม่ยอมรับกฎหมาย แต่มันยากในการปฏิบัติ เมื่อประชาชนสู้ไม่สำเร็จ แล้วถูกดำเนินคดีโดยใช้กระบวนการทางกฎหมาย ถึงขั้นนี้แล้วศาลก็ควรจะต้องมีบทบาทเข้ามาตรวจสอบ ไม่ใช่ยอมรับว่าคณะรัฐประหารบอกมาว่าทุกอย่างชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยกฎหมาย เป็นที่สุด แล้วก็ไปยอมรับอำนาจตรงนั้นตามที่คณะรัฐประหารบอกมันไม่ถูก
ผมคิดว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 30/2563 จะช่วยทำให้ศาลเห็นว่า ศาลมีอำนาจในการตรวจสอบได้ แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนรับรองเอาไว้ตามมาตรา 279 แล้ว ก็สามารถตรวจสอบได้ เพียงแต่ว่า จะใช้วิธีการไหน ก็เอาไว้ว่ากันในวันข้างหน้า ซึ่งในทางกฎหมายกับในทางการเมืองมีเงื่อนไขในการเรียกร้องที่ต่างกัน ในทางกฎหมายก็จะยุ่งยากกว่า มีข้อจำกัดมากกว่า ต้องรอกระบวนการในศาลหลายขั้นตอน แต่ในทางการเมืองประชาชนจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง หรือเรียกร้องให้ศาลออกมาลบล้างมรดกคณะรัฐประหารก็สามารถทำได้

ศาลต้องถูกทบทวนและตรวจสอบ เพื่อไม่ให้เป็นเครื่องมือของคณะรัฐประหารอีกต่อไป

วรเจตน์ทิ้งท้ายถึงสิ่งที่อยากจะทำหลังจากคดีของเขาจบว่า จากประสบการณ์ที่ถูกดำเนินคดีมากว่าเจ็ดปี ที่ขึ้นมาทั้งศาลทหาร และศาลยุติธรรม คอยเฝ้าสังเกตุกระบวนการทางกฎหมาย เห็นว่าสิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การยุบศาลของไทยทั้งระบบ ซึ่งระบบศาลคิดว่าเป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้ ต้องมาพูดคุยกันว่าวันข้างหน้าเราจะออกแบบระบบของศาลใหม่ทั้งระบบอย่างไร ในยามที่เกิดรัฐประหารศาลควรจะมีการตอบโต้อย่างไร ในกรณีปกติศาลควรจะทำงานอย่างไร แม้แต่วัฒนธรรมในองค์กรของศาลเองควรจะปรับเปลี่ยนอย่างไร 
จากประสบการณ์ที่ได้เห็นเอง คิดว่าในวันข้างหน้าจะได้ทำข้อเสนอและร่วมกันเปลี่ยนแปลงต่อไป อย่างเช่น โครงสร้างของศาลควรจะเป็นอย่างไร ผู้พิพากษาควรมีที่มาอย่างไร ศาลทหารถือว่าเป็นศาลในความหมายของศาลจริงๆ หรือไม่ ทำไมเวลาที่ผมไปศาลทหารถึงมีตุลาการที่ดำเนินกระบวนพิจารณาคนเดียว และมีตุลาการบนบัลลังก์ที่จบการศึกษาทางด้านนิติศาสตร์เพียงคนเดียวอีกสองคนไม่ต้องสำเร็จการศึกษาทางนิติศาสตร์ แล้วประกอบขึ้นเป็นศาลได้อย่างไร สุดท้ายสมควรหรือไม่ที่จะใช้ศาลทหารมาดำเนินคดีกับพลเรือนแม้ในช่วงที่ประกาศกฎอัยการศึก สิ่งเหล่านี้ต้องเอามาพูดคุยกันต่อไป
ดูรายละเอียดการต่อสู้คดีของวรเจตน์ ย้อนหลังในฐานข้อมูลได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/th/case/618