7 ปี แห่งความถดถอย : รวมกฎหมายที่ถูก “ขุด” มาดำเนินคดีปิดปาก

ตลอด 7 ปี ของการปกครองโดย คสช. ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง “กฎหมาย” ที่มีอยู่ถูกนำมาใช้ตั้งข้อหาดำเนินคดีกับผู้ที่แสดงความคิดเห็นแตกต่างจากผู้ปกครอง กฎหมายและกระบวนการบังคับใช้กฎหมายกลายเป็น “เครื่องมือ” สำหรับ “ปิดปาก”​ ฝ่ายตรงข้าม

ยิ่ง คสช. อยู่นาน นอกจากจำนวนคดี จำนวนผู้ต้องคดีที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วจำนวนกฎหมาย ที่กลายมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้อีก

เท่าที่บันทึกไว้ได้ มีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ 23 ฉบับ พระราชกำหนด 1 ฉบับ มีประกาศและคำสั่งของ คสช. กับของหัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ รวม 16 ฉบับ มีข้อกำหนด 7 ฉบับ โดยมีมาตราที่เกี่ยวข้อง อย่างน้อย 71 มาตรา ดังนี้ 

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออก

ประมวลกฎหมายอาญา

๐ ข้อหา #ประทุษร้ายพระราชินี
มาตรา 110 ผู้ใดกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินี หรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบหกปีถึงยี่สิบปี

๐ ข้อหา #หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี

๐ ข้อหา #ยุยงปลุกปั่น
มาตรา 116 ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย
(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
(3) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

๐ ข้อหา #ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน
มาตรา 136 ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๐ ข้อหา #แจ้งความเท็จ
มาตรา 137 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๐ ข้อหา #ต่อสู้ขัดขวาง
มาตรา 138 ผู้ใดต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๐ ข้อหา #แต่งกายเลียนแบบสงฆ์
มาตรา 208 ผู้ใดแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวชในศาสนาใดโดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๐ ข้อหา #อั้งยี่
มาตรา 209 ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท

๐ ข้อหา #ซ่องโจร
มาตรา 210 ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาคสองนี้ และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๐ ข้อหา #มั่วสุมก่อความวุ่นวาย
มาตรา 215 ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๐ ข้อหา #มั่วสุมไม่ยอมเลิก
มาตรา 216 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไป ผู้ใดไม่เลิก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๐ ข้อหา #วางเพลิงเผาทรัพย์
มาตรา 217 ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่ 10,000 – 140,000 บาท

๐ ข้อหา #ทำร้ายร่างกาย
มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย หรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๐ ข้อหา #ลักทรัพย์
มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท

๐ ข้อหา #ทำลายทรัพย์สินสาธารณะ
มาตรา 360 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๐ ข้อหา #บุกรุกสถานที่ราชการ
มาตรา 364 ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เข้าไปหรือซ่อนตัวอยู่ในเคหสถาน อาคารเก็บรักษาทรัพย์หรือสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่น หรือไม่ยอมออกไปจากสถานที่เช่นว่านั้นเมื่อผู้มีสิทธิที่จะห้ามมิให้เข้าไปได้ไล่ให้ออก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๐ ข้อหา #พกพาอาวุธ
มาตรา 371 ผู้ใดพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดย เปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท และให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบอาวุธนั้น

 ๐ ข้อหา #ปล่อยข่าวลือ
มาตรา 384 ผู้ใดแกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือจนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจ
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๐ ข้อหา #กีดขวางทางสาธารณะ
มาตรา 385 ผู้ใดโดยไม่ได้รับอนุญาตอันชอบด้วยกฎหมายกีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวาง หรือทอดทิ้งสิ่งของ หรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด ถ้าการกระทำนั้นเป็นการกระทำโดยไม่จำเป็น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

๐ ข้อหา #ทำร้ายผู้อื่น
มาตรา 391 ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาท

ประมวลกฎหมายอาญา

๐ ข้อหา #หมิ่นประมาท
มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๐ ข้อหา #หมิ่นประมาทคนตาย
มาตรา 327 ผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สาม และการใส่ความนั้นน่าจะเป็นเหตุให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ในมาตรา 326 นั้น

๐ ข้อหา #หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท

๐ ข้อหา #ดูหมิ่นซึ่งหน้า
มาตรา 393 ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๐ ข้อหา #ก่อความเดือดร้อนรำคาญ
มาตรา 397 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 หรือ #พรบคอม

มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได

(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทําต่อประชาชน แต่เป็นการกระทําต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทํา ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้

ข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการชุมนุม

พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

๐ จัดการชุมนุมสาธารณะในสถานที่ต้องห้ามตามมาตรา 7 จำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

๐ ชุนนุมสาธารณะในลักษณะกีดขวาง ทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงาน หรือการใช้บริการสถานที่ตามมาตรา 8 จำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

๐ จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้ง การชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่ม การชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ตามมาตรา 10 ปรับไม่เกิน 10,000 บาท

๐ เป็นผู้จัดการชุมนุมแต่มิได้แจ้งล่วงหน้า ต่อหัวหน้าสถานีตำรวจซึ่งมีหน้าที่ รับผิดชอบดูแลการชุมนุมสาธารณะนั้น ว่าจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้าย ผู้ชุมนุมจะเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุม ตามมาตรา 17 ปรับไม่เกิน 10,000 บาท

๐ เป็นผู้ชุมนุมแต่ไม่เลิกการชุมนุม สาธารณะภายในระยะเวลาที่ผู้จัดการ ชุมนุมได้แจ้งไว้ต่อผู้รับแจ้ง ตามมาตรา 18 ปรับไม่เกิน 10,000 บาท

๐ ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุม หรือจัดการ ชุมนุมระหว่างมีคำสั่งห้ามชุมนุมตาม มาตรา 11 จำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ห้ามมิให้มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 ๐ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ฉบับที่ 4 เรื่อง ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุม ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้ามตามประกาศนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม

๐ ข้อหา #ละเมิดอำนาจศาล
ประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 กระทำการละเมิดอำนาจศาล มีบทลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่งคือ ไล่ออกจากบริเวณศาล หรือให้ลงโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีกำหนดโทษจำคุกและปรับนั้นให้จำคุกได้ไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกิน 500 บาท

๐ ข้อหา #ข่มขืนใจเจ้าพนักงาน
มาตรา 139 ผู้ใดข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่ หรือให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกิน 80,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๐ ข้อหา #ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน
มาตรา 142 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สิน หรือเอกสารใด ๆ อันเจ้าพนักงานได้ยึด รักษาไว้ หรือสั่งให้ส่งเพื่อเป็นพยานหลักฐาน หรือเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ว่าเจ้าพนักงานจะรักษาทรัพย์หรือเอกสารนั้นไว้เอง หรือสั่งให้ผู้นั้นหรือผู้อื่น ส่งหรือรักษาไว้ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๐ ข้อหา #ให้ที่พักพิง
มาตรา 189 ผู้ใดช่วยผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทำความผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด อันมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อไม่ให้ต้องโทษ โดยให้พำนักแก่ผู้นั้น โดยซ่อนเร้นหรือโดยช่วยผู้นั้นด้วยประการใดเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๐ ข้อหา #หลบหนีระหว่างการคุมตัว
มาตรา 190 ผู้ใดหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาล ของพนักงานอัยการ ของพนักงานสอบสวน หรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๐ ข้อหา #ดูหมิ่นศาล
มาตรา 198 ผู้ใดดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือ ปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๐ ข้อหา #ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน
มาตรา 368 ผู้ใดทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโควิด 19

๐ ความผิดที่เกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนประกาศและข้อกำหนดต่างๆที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ข้อกำหนดและประกาศที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมมีดังนี้

* ข้อกำหนด ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 ข้อ 5 ระบุว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ภายในพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงกำหนด”

* ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ลงวันที่ 3 เมษายน 2563 กำหนด “ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนหรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค”

* ข้อกำหนด ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ระบุว่า ห้ามให้จัดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะ “มั่วสุมประชุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย” เว้นแต่เป็นการจัดโดยเจ้าพนักงานหรือได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ โดยต้องเว้นระยะห่าง อยู่ในที่ไม่แออัดและใช้ระยะเวลาทำกิจกรรมไม่นาน รวมทั้งมีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด

* ข้อกำหนด ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ข้อ 3 ระบุว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ภายในพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงกำหนด”

* ข้อกำหนด ฉบับที่ 16 ลงวันที่ 3 มกราคม 2564 ข้อ 2 ระบุว่า ห้ามการจัดกิจกรรมในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย

* ข้อกำหนด ฉบับที่ 18 ลงวันที่ 29 มกราคม 2564 ข้อ 1 (2) กำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ข้อ 3 (2) ห้ามการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากและมีโอกาสแพร่ระบาดของโรคได้ง่าย เว้นแต่เป็นกิจกรรมที่มีลักษณะตามข้อยกเว้นที่กำหนดในข้อ 2 ของข้อกำหนดฉบับที่ 16

* ข้อกำหนดฉบับที่ 20 ลงวันที่ 16 เมษายน 2564 ข้อ 1(2) ระบุว่า ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีการรวมตัวกันมากกว่า 50 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมทที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค

* ข้อกำหนด ฉบับที่ 22 ลงวันที่ 29 เมษายน 2564 ข้อ 3 ระบุว่า ห้ามจัดกิจกรรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของกลุ่มบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 20 คนในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดได้แก่ กทม., ชลบุรี,เชียงใหม่, นนทบุรี, ปทุมธานีและสมุทรปราการ

* ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2563 กำหนดที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมดังนี้

ข้อ 1 ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค

ข้อ 2 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในพื้นที่ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศหรือมีคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด

ข้อ 3 การชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด…ต้องขออนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดก่อนดำเนินการ และต้องแสดงแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรคประกอบการพิจารณา

* ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 7 มกราคม 2564 ยกเลิกประกาศฉบับที่ 1 โดยกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการรวมตัวดังนี้

ข้อ 1 ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค

ข้อ 2 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย ซึ่งมีประกาศหรือคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด

* ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ยกเลิกประกาศฉบับที่ 2 โดยกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมดังนี้

ข้อ 1 ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค

ข้อ 2 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย ซึ่งมีประกาศหรือคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด

* ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2564 ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคโควิด 19

 ๐ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 34 (6) ร่วมกันฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ โดยกระทําการๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตราย หรือโรคระบาดแพร่ออกไป มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

๐ ประกาศของจังหวัดต่างๆ เช่น ประกาศกรุงเทพมหานครเรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 26) ผู้ฝ่าฝืนอาจมีความผิดตามมาตรา 52 ของพ.ร.บ.โรคติดต่อ มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๐ คำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดต่างๆ เช่น ประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ที่ 39/2564 เรื่อง การห้ามดำเนินการจัดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ข้อ 2 ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 50 คนเว้นแต่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ผู้ฝ่าฝืนอาจมีความผิดตามมาตรา 52 ของพ.ร.บ.โรคติดต่อ มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดที่เกี่ยวกับสื่อ

พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 37 ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง

หากตรวจสอบแล้วเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเกิดจากการละเลยของผู้รับใบอนุญาตจริง ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งแก้ไขตามสมควร หรืออาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตก็ได้

พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 8 จัดทำสิ่งพิมพ์ซึ่งเป็นหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์และพิมพ์ขึ้นในราชอาณาจักรโดยไม่แสดงข้อความ (1) ชื่อของผู้พิมพ์และที่ตั้งโรงพิมพ์, (2) ชื่อและที่ตั้งของผู้โฆษณา และ (3) เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือที่หอสมุดแห่งชาติได้ออกให้ มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 23 ร่วมกันสร้างภาพยนตร์ในลักษณะที่เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงและเกียรติภูมิของประเทศไทย มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ในกรณีที่ปรากฏว่าบุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพนักงานเจ้าหน้าที่อาจส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกดําเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ (บทกำหนดโทษตามที่พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงฯ ให้อำนาจกรรมการกสทช.ไว้

ความผิดเกี่ยวกับการรณรงค์ประชามติและการเลือกตั้ง

พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559

๐ มาตรา 59 ทำลายบัตรลงคะแนนโดยไม่มีอำนาจ

๐ มาตรา 60 (9) ฐานก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียง

๐ มาตรา 61 วรรคสอง ผู้ใดดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีโทษจำคุกไม่เกินสิบปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท

ประมวลกฎหมายอาญา

๐ ข้อหา #ทำลายเอกสารของผู้อื่น
มาตรา 188 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งพินัยกรรมหรือเอกสารใดของผู้อื่น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท

๐ ข้อหา #ทำให้เสียทรัพย์
มาตรา 358 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดเกี่ยวกับการไม่รายงานตัวตามคำสั่งคสช.

ประกาศ คสช. ที่ 25/2557 เรื่อง ให้มารายงานตัว หรือแจ้งเหตุขัดข้อง ระบุว่า ให้บุคคลที่มีรายชื่อตามที่คสช.เรียกรายงานตัวมารายงานตัวภายในเวลาที่กำหนด หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประกาศ คสช. ที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งคสช. ระบุว่า หากผู้ที่มีชื่อต้องมารายงานตัวไม่มารายงานตัวตามระยะเวลาที่กำหนด มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท

ประกาศ คสช. ที่ 39/2557 เรื่อง การกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวของบุคคลที่มารายงานตัวต่อคสช.ระบุว่า ให้บุคคลที่มารายงานตัวต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติและได้รับการปล่อยตัวปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามแบบแนบท้ายคำสั่งนี้อย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท

ประกาศ คสช. ที่ 40/2557 เรื่อง การกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวของบุคคให้บุคคลที่ถูกกักตัวตามพระราชบัญญัติกฏอัยการศึก 2457 มาตรา 15 ทวิ ระบุว่า ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามแนบท้ายประกาศนี้อย่างเคร่งครัดลที่ถูกกักตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก 2457 มาตรา 15 ทวิ และได้รับการปล่อยตัวปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามแบบแนบท้ายคำสั่งนี้อย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท

ประกาศ คสช. ที่ 41/2557 เรื่อง ให้การฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวเป็นความผิดระบุว่า บุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวต่อคสช. มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกสั่งห้ามกระทำการใด ๆ หรือสั่งให้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินหรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินด้วย

ข้อหาตามกฎหมายอื่นๆ ที่ไม่ได้มีเจตนารมณ์ใช้จำกัดการแสดงออก

พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522

๐ ข้อหา #กีดขวางการจราจร (ด้วยคน)
มาตรา 108 ห้ามมิให้ผู้ใดเดินแถว เดินเป็นขบวนแห่ หรือเดินเป็นขบวนใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท โดยมีข้อยกเว้นคือ เป็นแถวทหารหรือตำรวจ ที่มีผู้ควบคุมตามระเบียบแบบแผนและแถวหรือขบวนแห่หรือขบวนใดๆ ที่เจ้าพนักงานจราจรได้อนุญาตและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานจราจรกำหนด

๐ ข้อหา #กีดขวางทางเท้า
มาตรา 109 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ บนทางเท้าหรือทางใด ๆ ซึ่งจัดไว้สำหรับคนเดินเท้าในลักษณะที่เป็นการกีดขวางผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

๐ ข้อหา #กีดขวางการจราจร (ด้วยของ)
มาตรา 114 ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใด สิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการ ใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535

มาตรา 39 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการปิดกั้นทางหลวง หรือวางวัตถุที่แหลมหรือมีคม หรือนำสิ่งใดมาขวางหรือวางบนทางหลวง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ บนทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ความสะอาดฯ)

๐ มาตรา 10 การโฆษณาด้วยการปิด ทิ้ง หรือโปรยแผ่นประกาศหรือใบปลิวในที่สาธารณะ จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับหนังสืออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ และต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่กำหนดในหนังสืออนุญาตด้วย มีโทษปรับ ไม่เกิน 5,000 บาท

๐ มาตรา 19 ห้ามมิให้ผู้ใดตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน เว้นแต่เป็นการกระทำในบริเวณที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกำหนดด้วยความเห็นชอบของเจ้าพนักงานจราจร มีโทษปรับ ไม่เกิน 10,000 บาท

๐ มาตรา 37 ห้ามมิให้ผู้ใดยืน นั่งหรือนอนบนราวสะพานสาธารณะ หรือนอนในที่สาธารณะ มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493

มาตรา 4 ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับ ไม่เกิน 200 บาท

พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.2487

มาตรา 8 การเรี่ยไรในถนนหลวงหรือในที่สาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาทหรือจำคุกไม่เกินสองเดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504

มาตรา 10 ห้ามมิให้ผู้ใดซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติม ทำลาย เคลื่อนย้ายโบราณสถานหรือส่วนต่าง ๆ ของโบราณสถาน หรือขุดค้นสิ่งใด ๆ หรือปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณโบราณสถาน เว้นแต่จะกระทำตามคำสั่งของอธิบดีหรือได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี ฝ่าฝืนมีจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498

การใช้วิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตก่อนตามมาตรา 6 มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี

พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ.2497

มาตรา 24 ห้ามมิให้ผู้ใดบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินหรือทิ้งร่มอากาศ นอกจากได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรี มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พ.ร.บ. ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530

มาตรา 15 ห้ามมิให้ผู้ใดสั่งเข้ามา นําเข้ามา ผลิต หรือมีซึ่งยุทธภัณฑ์เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากปลัดกระทรวงกลาโหม มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พ.ร.บ.ธง พ.ศ.2522

๐ มาตรา 53 ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อธง ดังต่อไปนี้
(3) ใช้ ชัก หรือแสดงธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงไว้ ณ ที่หรือโดยวิธีอันไม่สมควร
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 54 ผู้ใดกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการเหยียดหยามต่อธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงที่ได้บัญญัติกำหนดลักษณะไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งออกตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พ.ร.บ.บัตรประจําตัวประชาชน พ.ศ. 2526

มาตรา 17 ผู้ถือบัตรผู้ใดไม่อาจแสดงบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับ เมื่อเจ้าพนักงานตรวจบัตรขอตรวจ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท

ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25

 ผู้ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญามีหน้าที่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ ลายมือหรือลายเท้าตามคำสั่งของพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดฐานกระทำความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ