ชีวิตสายบู๊บนถนนที่อยากทำเพื่อ “ช่วยคน” ของ “ตี้ พะเยา”

“ตี้ พะเยา” เป็นฉายาของนักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยาคนหนึ่งที่ปรากฎตัวขึ้นมาบนเวทีการเมืองเมื่อปี 2563 ท่ามกลางกระแสการลุกฮือของคนรุ่นใหม่ และตัวละครหนุ่มๆ สาวๆ มากหน้าหลายตา ชื่อจริงของเธอ คือ วรรณวลี ธรรมสัตยา เธอได้รับโอกาสสัมผัสประสบการณ์ในฐานะเป็นผู้ต้องขังทางการเมืองในคดีมาตรา 112 เพราะศาลไม่ให้ประกันตัว และต้องอยู่ในเรือนจำ 11 วัน ระหว่างวันที่ 27 เมษยน 2564 ก่อนได้ประกันตัวในวันที่ 7 พฤษภาคม 2564
นับถึงวันที่เข้าเรือนจำเป็นครั้งแรก เธออายุ 21 ปี เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ สาขาอาชีวอนามัย ซึ่งเธอสมัครเข้าโครงการพิเศษของมหาวิทยาลัยที่จะได้เรียน “คู่ขนาน” สองวิชาไปพร้อมกัน และเธอเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ ไปด้วย หากเรียนจบได้ตามตารางที่วางไว้ก็จะได้ปริญญาตรีสองใบพร้อมกัน นอกจากนี้เท่าที่มีเวลาว่างเธอยังไปสมัครเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงไว้อีกด้วย
ตี้เป็นคนรูปร่างผอมบาง แต่งตัวทะมัดทะแมง พูดจาเสียงดังโผงผางตรงไปตรงมา เธอนิยามตัวเองว่า เป็นคนชอบ “สายบู๊” มีบุคลิกเป็น “พี่ใหญ่” ที่คอยดูแลคนอื่น โดยทำงานร่วมกันกับน้องๆ ในทีมที่ตั้งขึ้นในนามกลุ่ม “ราษฎรเอ้ย” ซึ่งตั้งขึ้นโดยเธอและน้องๆ 3-4 คน มีที่มาจากคำพูดติดปากเวลาปราศรัย เป็นกลุ่มเล็กๆ ที่จัดชุมนุมโดยไม่เน้นคนเข้าร่วมจำนวนมาก แต่จะทำในเวลาที่กระแสไม่ดี หรือในจังหวะที่คนอื่นไม่ได้ทำอะไร

ครอบครัวที่เร่งรัดให้เติบโต และครอบครัวใหม่ในสนามการเมือง

ในช่วงเวลาปีเศษที่ตี้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างจริงจัง ถูกดำเนินคดี และเข้าเรือนจำ ครอบครัวของเขาไม่ได้มีบทบาทนักทั้งการแสดงความห่วงใย การห้ามปราม หรือการช่วยเหลือสนับสนุน เหมือนเช่นบทบาทของนักกิจกรรมที่หลายคน แต่กลับเป็นบทบาทของ “พ่อบุญธรรม” ที่ได้พบเจอกันในสนามการเมืองและนับกันเป็น “พ่อ-ลูก” ที่คอยดูแลเธอในยามลำบาก
ตี้เล่าถึงพื้นฐานครอบครัวของตัวเองว่า พ่อกับแม่แท้ๆ เลิกกันตั้งแต่เธออายุ 5 ขวบ หลังจากนั้นแม่ไปทำงานต่างประเทศแล้วเป็นกำลังหลักที่ส่งเงินกลับมาให้ใช้ เธอจึงอยู่อาศัยกับยายและน้องชาย สภาพครอบครัวทำให้เเธอต้องเป็นคนจัดการเรื่องต่างๆ ในบ้าน ทั้งการสมัครเรียนของตัวเธอและน้อง เรื่องเอกสารต่างๆ ต้องทำเอง เธอให้นิยามว่า เป็นเหมือน “หลักสูตรเร่งรัด” ให้โตขึ้น และมีความรับผิดชอบมากขึ้น
ตี้เป็นคนกรุงเทพโดยกำเนิด ย้ายไปอยู่กับยายที่จังหวัดราชบุรีช่วงหนึ่ง ก่อนจะไปเรียนระดับอุดมศึกษาที่จังหวัดพะเยา หลังจากนั้นก็ใช้ชีวิต “ไปๆ กลับๆ” ระหว่างมหาวิทยาลัยกับพื้นที่ทำกิจกรรมทางการเมือง
หลังเปิดหน้าเข้าสู่สนามการเมืองเต็มตัว เธอก็ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการชุมนุมหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ และไปรายงานตัวเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ที่สน.พหลโยธิน เธอเล่าว่า วันนั้นมีหลายคนไปรายงานตัวด้วยกัน คนที่ดังๆ เสร็จก่อนเขากลับไปก่อน ตัวเธอออกมาเป็นคนสุดท้ายก็ได้เจอกับ “พ่อชา” ยังรออยู่ หลังจากนั้นเวลามีการชุมนุมก็ได้เจอกับพ่อชาเรื่อยๆ พอมีเหตุการณ์อะไรพ่อชาจะวิ่งมาหาเราเสมอ โดนแก๊สน้ำตาด้วยกัน ลุยไปด้วยกัน จึงขอเรียกเขาว่าพ่อ เขาก็นับเราเป็นลูก
“เราไม่เสียดายเลยที่ได้เรียกเขาว่าพ่อ ช่วงเดือนมีนาคมกักตัวอยู่แต่หอพัก พ่อชาก็เอาข้าวมาให้พี่หอพัก ตอนโดนคดีที่เชียงใหม่พ่อชาก็ขับรถพาไป เขาอยากดูแลเราให้เหมือนลูก ช่วงที่ว่างก็ไปทานข้าวกัน เจอกับแฟนของพ่อชา เราก็ขอเรียกว่าแม่” ตี้เล่าถึงความสัมพันธ์กับครอบครัวแห่งใหม่
“ปี 2563 เมื่อได้เริ่มมาจัดการชุมนุม เราเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นตรงหน้า แต่ก็คิดว่า ถ้าตายไปก็ยังมีน้องชายดูแลครอบครัวต่อ เราจึงอยู่แนวหน้าตลอด เพราะเราเป็นคนขายาว วิ่งเร็ว ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นก็พาเพื่อนพาน้องหนีได้” ตี้เล่า
เมื่อเข้าเรือนจำแล้วตี้ไม่ต้องการติดต่อขอความช่วยเหลือจากครอบครัวเดิม เพราะไม่ต้องการให้คนที่บ้านเกิดต้องมาเดือดร้อนด้วย เธอไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าครอบครัวที่ให้กำเนิดทราบข่าวการถูกดำเนินคดีของเธอหรือไม่ ตี้มีความปรารถนาอยากให้พ่อชาจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรม และพ่อชาก็เต็มใจ เพื่อให้พ่อชามีอำนาจจัดการเรื่องเอกสารทางกฎหมายแทน แต่กระบวนการจดทะเบียนเมื่อเข้าเรือนจำแล้วก็ยังเป็นเรื่องยุ่งยาก 

สนใจเรื่องการเมืองเพื่อจะสร้างความเท่าเทียม

ตี้เล่าถึงชีวิตของตัวเองว่า เห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากเธอเกิดและเติบโตในกรุงเทพ ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่จังหวัดราชบุรีตอนชั้น ม.1 ขึ้น ม.2 ซึ่งย้ายไปเรียนต่อในโรงเรียนที่อยู่ในเขตชนบท ทำให้ได้เห็นความแตกต่างระหว่างเพื่อนๆ เห็นวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะด้านการศึกษา การเข้าถึงสาธารณูปโภค 
“ถ้าถนนดีมีไฟสว่าง คนจะไปค้าขายทำงานก็ไปได้ แต่ที่หมู่บ้านที่อยู่กลางคืนคนไม่กล้าไปไหนเพราะกลัวโจร ถนนก็เป็นลูกรัง เป็นหลุมเป็นบ่อ เราเห็นเพื่อนที่ไปโรงเรียนโดยไม่มีเงินกินข้าวกลางวัน เราก็เลยแบ่งเงินให้เพื่อนกินข้าวจนจบม.6 ก็คิดอยู่ว่าถ้าเรียนจบไปแล้วเพื่อนจะอยู่ยังไง ทราบข่าวว่า เพื่อนก็เรียนต่อปวส.ไปด้วย ทำงานไปด้วย ส่วนตัวเราได้เรียนต่อมหาวิทยาลัย”
ตี้เล่าว่า จากจุดนี้ก็เริ่มสังเกตว่า มันเกิดขึ้นแบบนี้เพราะอะไร แล้วก็ไปเรียนรู้ สาเหตุที่ไปลงเรียนเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาคู่ขนานในมหาวิทยาลัย เพราะอยากรู้ว่า จะต้องทำยังไง ถึงจะพัฒนาประเทศให้ดีกว่านี้ได้ 
“เรารู้ว่าประเทศไทยมีทรัพยากรเยอะมาก แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด พอศึกษาลึกลงไปก็พบว่า ผู้นำหลายคนก็รู้แต่ไม่ทำ เพราะขัดกับผลประโยชน์ของตัวเอง เช่น ไม่ให้บุหรี่ไฟฟ้าเข้าประเทศไทย เพราะจะได้ภาษีบุหรี่น้อยลง หรือกรณีเบียร์คราฟ ไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านธรรมดามีโอกาสหารายได้ แม้ชาวบ้านอาจจะทำเบียร์ได้ดี รสชาติดี แต่ไม่มีโรงงาน ไม่มีงบประมาณมากพอ ก็เท่ากับผูกขาดให้คนรวยที่มีเงินทุนเยอะๆ เป็นการตัดอาชีพ ตัดทางหารายได้ของชาวบ้าน”

ความฝันอยากทำอะไรที่ได้ช่วยคน

เมื่อถามถึงความฝันสมัยเด็ก ตี้หัวเราะออกมาแล้วเล่าว่า ตอนเด็กอยากเป็นทหารรักษาพระองค์ พ่อแท้ๆ ได้ปลูกฝังมาให้รักท่านมาก จึงเป็นคนหนึ่งที่คิดว่า ยอมแลกชีวิตเพื่อท่านได้ เมื่ออยู่มัธยมปลายตี้จึงไปสมัครเรียนรักษาดินแดน (รด.) และได้ตำแหน่งเป็นหัวหน้ากองร้อยด้วย ตี้รู้สึกว่า งานสายบู๊เป็นงานที่ชอบ มีความสุขกับการประกอบปืน 
“เราคิดว่าเป็นผู้หญิงคงไม่มีโอกาสไปอารักขาท่าน หรืออาจมีโอกาสก็ได้อารักขาพระองค์อื่น แล้วก็คิดว่าอยากสมัครไปเป็นทหารที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะได้ยินว่าขาดคน อยากให้ชีวิตของเราให้คุ้มค่าที่สุด”
แต่เมื่อเติบโตมากขึ้นตี้ก็เรียนรู้สังคมในมุมมองอื่นๆ อีก เมื่ออยู่ชั้นม.6 ตี้เล่าว่า มีโอกาสได้เรียนรู้มากขึ้น เมื่อเรียนรู้ข้อเท็จจริงก็เข้าใจประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า จริงๆ ไม่ได้มีสงครามที่ต้องสู้ขนาดนั้น แต่เป็นสงครามที่กองทัพต้องการเบิกจ่ายงบประมาณ หลังจากนั้นก็ไม่แน่ใจว่า จะทำอะไรต่อ เพราะเดิมมีสิ่งที่ฝันมาตลอด 
ตี้ยังเล่าว่า สาเหตุที่ตัดสินใจสมัครมาเรียนด้านสาธารณสุขเพราะอยากจะช่วยคน แต่ก็ยังไม่ได้ชอบในเนื้อหาวิชาที่เรียนมากนัก เธอยังสนใจวิชาด้านสังคมและคิดจะทำงานเพื่อปฏิรูประบบยุติธรรม ปฏิรูประบบการเมืองด้วย
“อะไรที่ช่วยคนได้อยากทำหมด ตอนเรียนก็ชอบตอนปฏิบัติ ชอบตอนได้ติวให้เพื่อน แต่ก็ยังไม่ใช่สิ่งที่ถนัดที่สุด ถนัดทำอะไรแบบสายบู๊มากกว่า ถ้าไม่โดนคดีนี้ก่อน มีเวลาเรียนนิติศาสตร์ ก็คิดว่าอยากจะสอบเนติ สอบเป็นผู้พิพากษาเพื่อไปล้างระบบเก่า ไปตัดสินคดีเพื่อช่วยคน หรือไปเป็นนักการเมือง ทำอะไรระดับชาติเพื่อช่วยคนให้ได้มากที่สุด อุดช่องโหว่เรื่องการคอร์รัปชั่น เปลี่ยนแปลงนโยบายที่เป็นปัญหา”

โดดเดี่ยวแต่ไม่เหงา ในเรือนจำ

ตี้ถูกส่งฟ้องในคดีปราศรัยที่วงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 คดีนี้ขึ้นศาลอาญาธนบุรี และเมื่อศาลไม่นุญาตให้ประกันตัว จึงถูกส่งตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงธนบุรี เขตบางบอน ขณะที่คู่คดีของเธอ คือ ชูเกียรติ หรือจัสติน ถูกคุมขังด้วยคดีอื่นอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ตี้จึงเป็นผู้ต้องขังทางการเมืองคนเดียวที่มาอยู่ที่เรือนจำแห่งนี้
เนื่องจากก่อนถูกส่งเข้าเรือนจำ เธอพักอาศัยในคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งที่มีผู้ติดเชื้อโควิด19 เธอแจ้งกับเจ้าหน้าที่เรือนจำ และทำให้เธอได้แยกกักตัวเพื่อดูอาการโควิดอยู่ในห้องคนเดียว เสมือนหนึ่งได้ห้องส่วนตัว
ตี้เล่าว่า ห้องนั้นมีขนาดกว้าง นอนได้ 20-30 คน แต่ในห้องมีเธอคนเดียวไม่มีคนอื่นเลย เธอต้องอยู่ในนั้นตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ได้ออกไปไหนเลย มีห้องน้ำในตัว และเมื่อถึงเวลาอาหาร “ผู้ช่วย” ซึ่งเป็นผู้ต้องขังที่ทำงานช่วยผู้คุมก็จะเอาอาหารและน้ำมาให้ ในห้องมีเพียง “ผ้าห่มสามผืน” ให้เธอ ผืนหนึ่งพับใช้หนุนหัว ผืนหนึ่งในปูรองนอน และอีกผืนหนึ่งในห่มกันหนาว ในระหว่างเวลากักตัว 14 วันแรก ญาติยังเยี่ยมไม่ได้ เธอจึงไม่มีโอกาสได้ติดต่อสนทนากับโลกภายนอก ยกเว้นเมื่อทนายความมาเยี่ยมเพื่อปรึกษาคดีเท่านั้น
“อยู่ที่นี่ทุกคนดูแลดีมากกกกก” ตี้เล่า พร้อมลากเสียงยาว
ตี้บอกว่า ตั้งแต่เรือนจำรู้ว่า เริ่มอดอาหารเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 ก็มีพยาบาลมาตรวจวัดความดัน และวัดระดับน้ำตาลในเลือดทุกวัน เช้า-เย็น พยาบาลแสดงความกังวลมากไม่อยากให้ตัวเธอเป็นอะไรไป นอกจากนี้เรือนจำยังให้นักสังคมสงเคราะห์มาพูดคุยด้วย ด้านผู้คุมที่เธอเรียกว่า “แม่” ก็บอกกับเธอไว้ว่า ถ้าระดับน้ำตาลต่ำเกินก็จะส่งออกไปโรงพยาบาลเลย เธอรู้สึกสบายใจและเคารพผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกคนที่ช่วยกันดูแลเธอตลอดจนเธอรู้สึก “เกรงใจ”
จากความรู้ด้านสาธารณสุขของตี้ เธอคำนวนว่า หากตัวเองกินแต่น้ำเปล่ากับเกลือแร่ น่าจะอยู่ได้ประมาณ 22-25 วัน เพราะเธอเป็นคนผอม น้ำหนักตัวน้อยกว่าเพนกวิ้นและรุ้ง น่าจะอยู่ได้ไม่นานเท่าเพื่อนอีกสองคน เธอจึงตัดสินใจว่าจะกินนมบ้าง เพื่อไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดตกเร็วเกินไป และไม่อยากให้ตัวเองกลายเป็นภาระกับพยาบาลที่ดูแลอยู่

อดอาหาร เพื่อพิสูจน์คุณค่าความเป็นมนุษย์ให้ตัวเองได้เห็น

เมื่อถามถึงสาเหตุและข้อเรียกร้อง ของการอดอาหาร ตี้อธิบายว่า เป็นการประท้วงต่อกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวเบื้องต้น ซึ่งควรจะได้ตั้งแต่แรก โดยไม่ต้องมาเรียกร้อง การอดอาหารครั้งนี้ไม่ได้ต้องการเรียกร้องความเห็นใจจากสังคม เป็นการพิสูจน์ด้วยตัวเองว่า ระหว่าง “นายสั่ง” กับคุณค่าความเป็นมนุษย์อะไรจะยิ่งใหญ่กว่ากัน
“เราอยากรู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร และเบิกเนตรให้คนไทยรู้ไปพร้อมกัน แม้มีหลายคนกำลังพยายามต่อสู้เรื่องนี้ แต่ก็อยากเห็นด้วยตาตัวเอง อยากให้ตุลาการได้ระลึกไว้ว่าที่เข้ามาเป็นตุลาการนั้นเพราะอะไร เพราะอยากให้สังคมดีขึ้น หรือเพียงจะเพิ่มเงินตราและอำนาจให้ตัวเอง”
ตี้ยังอธิบายว่า การอดอาหารนับเป็นการอารยะขัดขืนอย่างหนึ่ง ถ้าหากว่า ที่ทำไปนั้นตุลาการรุ่นนี้ไม่เล็งเห็น ก็ไม่ผิดหวัง ยังเชื่อว่าจะเป็นบทเรียนให้ตุลาการรุ่นต่อไปจะเล็งเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ ถ้าหากการต่อสู้ของเธอและเพื่อนไปถึงวันนั้นได้ ประเทศไทยก็จะดีขึ้น ไม่มีเรื่องอย่าง คดีเสือดำหรือบอส กระทิงแดง การตัดสินคดีก็จะเป็นธรรมมากขึ้น เงินหรือฐานะจะไม่ใช่ปัจจัยหลักในการตัดสินคดี 
“เราทำสิ่งใด เรารู้อยู่แก่ใจ เหมือนที่รู้อยู่แล้วว่าพูดแล้วจะโดนคดีหรือไม่ เราเลือกเอง ไม่มีใครมาบังคับเรา”
“สิ่งที่หนูทำ ทำได้เท่านี้ ไม่สามารถต่อสู้เพื่อใครได้ สู้แค่เพื่อสิทธิเสรีภาพของตัวเอง ถ้าสู้คนเดียวมันไม่ชนะอยู่แล้ว ถ้าทุกคนสู้พร้อมกันถึงมีโอกาส เวลาเราเข้าใกล้ชัยชนะ ฝั่งนั้นจะไม่บอกเราหรอก เดี๋ยวเราจะฮึกเหิม” ตี้กล่าว