โควิดระลอก 3 : ปล่อยผู้ต้องขังลดความแออัดของเรือนจำ

photo_2021-04-29_19-43-36

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หนึ่งในมาตรการที่สำคัญในการป้องกันโรคในยามที่วัคซีนยังไม่ถูกกระจายในวงกว้างคือ การรักษาระยะห่าง แต่การปฏิบัติดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ยากลำบากในเรือนจำที่มีความแออัดสูง ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไวรัสโควิด-19 กำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว รัฐบาลบางประเทศได้ตัดสินใจปล่อยผู้ต้องขังในเรือนจำบางส่วนเพื่อลดความแออัดในพื้นที่อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่มีผลต่อการแพร่กระจายของไวรัส

ย้อนกลับมาในไทย ที่ผ่านมามีความพยายามในการลดความแออัดของเรือนจำอยู่บ้าง แต่จากคำบอกเล่าของผู้ต้องขัง สภาพเรือนจำก็ยังแออัดอยู่และในปัจจุบันยังเริ่มปรากฏการแพร่ระบาดในเรือนจำแล้วเช่น เรือนจำจังหวัดนราธิวาส, เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ และเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ดังนั้นแล้วรัฐและกรมราชทัณฑ์อาจจำเป็นต้องพิจารณาการปล่อยตัวผู้ต้องขังด้วยช่องทาง เช่น การปล่อยตัวผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีและการพักโทษนักโทษเด็ดขาดชั้นดีไปจนถึงดีเยี่ยม

ทบทวนความแออัดของเรือนจำไทย

ข้อมูลจาก World Prison Brief รายงานสถิติเกี่ยวกับเรือนจำทั่วโลกระบุว่า ไทยอยู่อันดับที่ 6 ของประเทศที่มีผู้ต้องขังในเรือนจำมากที่สุดในโลกในสัดส่วน 449 คนต่อประชากร 100,000 คน และระบุถึงขีดความสามารถในการรับผู้ต้องขังในปี 2561 ว่า มีขีดความสามารถในการรับผู้ต้องขัง (Official capacity of prison system) จำนวน 110,000 คน ขณะที่รายงานประจำประเทศเกี่ยวกับแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลอเมริกาประจำปี 2020 ระบุว่า เรือนจำไทยมีขีดความสามารถในการรองรับผู้ต้องขังที่ประมาณ 210,000-220,000 คน นอกจากนี้ยังรายงานถึงสภาพความแออัดภายในเรือนจำและระบบระบายอากาศที่ไม่ดีนัก

ด้านสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) ทำการศึกษาสภาพความเป็นอยู่ผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงกลางในปี 2560 ระบุว่า สภาพชีวิตของผู้ต้องขังในไทยถือว่าต่ำกว่ามาตรฐาน คณะกรรมการกาชาดสากลกำหนดว่าผู้ต้องขังแต่ละคนต้องมีพื้นที่ขั้นต่ำ 3.4 ตารางเมตรต่อคน แต่ตามระเบียบของราชทัณฑ์กำหนดพื้นที่ขั้นต่ำให้ผู้ต้องขังชายที่ 1.2  ตารางเมตรต่อคน ผู้ต้องขังหญิง 1.1 ตารางเมตรต่อคน

ด้านกรมราชฑัณฑ์รายงานสถิติผู้ต้องขัง ณ วันที่ 1 เมษายน 2564 มีจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 307,910 คน ในจำนวนนี้เป็นนักโทษเด็ดขาดแล้ว 247,845 คน หรือร้อยละ 80.49 และเป็นผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุดจำนวน 58,842 คน หรือร้อยละ 19.11 แบ่งเป็นการฝากขังในชั้นสอบสวน 20,252 คน ชั้นไต่สวนพิจารณา 8,203 คน และชั้นอุทธรณ์และฎีกา 30,387 คน จากรายงานสภาพความแออัดของเรือนจำ ทัณฑสถานและสถานกักขังทั้งหมด 195 แห่ง ใน 10 เขตทั่วประเทศนั้นมี 31 แห่งที่มีจำนวนผู้ต้องขังเกินขีดความสามารถมากที่สุด 5 อันดับดังนี้

เรือนจำจำนวนผู้ต้องขังความจุเต็มที่ (เดิม)ความจุเต็มที่ (เพิ่ม 30%)จำนวนที่เกิน (คิดจากจำนวนเพิ่ม 30%)
ชาย หญิงชายหญิงชายหญิงชายหญิง
เรือนจำอำเภอหลังสวน926122314105409137517 (126.41) 
เรือนจำนราธิวาส2,2571521,131591,47177786 (53.43)75 (97.40)
เรือนจำจังหวัดบุรีรัมย์375141542320130174 (86.57) 
เรือนจำกลางจังหวัดนครศรีธรรมราช5,6381,0083,5165583,5165582,122 (60.35)450 (80.65)
เรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์2,7552471,1801781,5342321,221 (79.6)15(6.47)

โควิดระลอก 3 กับแนวทางการรับมือของราชทัณฑ์

นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิดระลอกที่ 1 ราชทัณฑ์มีนโยบายสำคัญคือ การให้ผู้ต้องขังออกนอกเรือนจำเท่าที่จำเป็น เช่น โรงพยาบาลหรือศาล โดยการออกศาลจะเน้นใช้ระบบประชุมภาพทางไกล (Video conference) มากขึ้น, งดให้ญาติเข้าเยี่ยมและกักโรคผู้ต้องขังใหม่ในแดนแรกรับเป็นเวลา 14 วัน ระหว่างนั้นจะมีการคัดกรองตรวจหาเชื้อในวันที่ 3 หลังรับเข้าแดนกักโรค และตรวจหาเชื้ออีกครั้งเมื่อครบ 14 วัน ก่อนออกจากแดนกักโรค มาตรการดังกล่าวถูกใช้เรื่อยมา ในช่วงที่สถานการณ์แพร่ระบาดเริ่มดีขึ้นนั้นเรือนจำกลับมาเปิดให้ญาติเข้าเยี่ยมได้อีกครั้ง

ต่อเนื่องในปี 2564 ผู้ต้องขังรายใหม่ยังคงต้องกักโรคเป็นเวลา 14 วันก่อนเข้าแบ่งแยกตามแดนกักในเรือนจำ โดยระหว่างนี้ญาติจะไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้ ยกเว้นทนายความ โดยหลังจากครบกำหนดแล้วญาติจึงจะสามารถเข้าเยี่ยมได้ อย่างไรก็ตามวันที่ 2 เมษายน 2564 ที่เรือนจำนราธิวาสพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 112 คน แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 23 คนผู้ต้องขังชาย 87 คน หญิง 1 คนและพยาบาลเรือนจำ 1 คน

ต่อมาวันที่ 8 เมษายน 2564 มีรายงานว่า มีผู้ต้องขังหญิงเสียชีวิต 1 คน เป็นผู้ต้องขังที่เข้าเรือนจำมาตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2563 นำไปสู่มาตรการงดให้ญาติเข้าเยี่ยมอีกครั้งระหว่างวันที่ 5 เมษายนจนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 โดยมีมาตรการอื่นๆ ดังนี้

  • งดเยี่ยมญาติแบบปกติที่เรือนจำ
  • งดนำผู้ต้องขังออกนอกเรือนจำ
  • งดย้ายผู้ต้องขังระหว่างเรือนจำ
  • พิจารณาแนวทางอื่นแทนการนำผู้ต้องขังออกศาล
  • งดนำบุคคลภายนอกเข้าเรือนจำ
  • แยกกักโรคผู้ต้องขังใหม่ โดยห้ามย้ายหรือออกจากห้องเป็นระยะเวลา 14-21 วัน
  • ประสานโรงพยาบาลแม่ข่ายในการเข้าตรวจหาเชื้อในผู้ต้องขังรายใหม่ 2 ครั้งก่อนออกจากห้องแยกกักโรค

นอกจากนี้หลังมีรายงานเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ติดเชื้อโควิด-19 กรมราชทัณฑ์มีหนังสือแจ้งให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังโรคและงดการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวจำนวนมากและเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงและออกมาตรการเพิ่มเติมในวันที่ 23 เมษายน 2564 คือ จัดหาวัคซีนให้แก่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทุกคนและเจ้าหน้าที่ต้องตรวจหาเชื้อทุก 14 วัน

การกักโรคของผู้ต้องขังคดีการเมืองกับเพื่อนร่วมห้องไม่ซ้ำหน้า

เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครถือเป็นเรือนจำหลักที่ผู้ต้องหาคดีการเมืองถูกคุมขัง จากรายงานความแออัดของกรมราชทัณฑ์ เรือนจำแห่งนี้สามารถรับผู้ต้องขังตามความจุเต็มที่เดิมจำนวน 4,796 คนและความจุแบบเพิ่มร้อยละ 30 จำนวน 6,235 คน โดยมีจำนวนผู้ต้องขัง ณ วันที่ 5 เมษายน 2564 จำนวน 3,293 คน จากรายงานความแออัดของเรือนจำ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครไม่ถือเป็นเรือนจำที่มีความแออัดยังสามารถรับผู้ต้องขังได้อีก แต่เป็นเรือนจำที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้ติดเชื้อโควิดระลอกที่ 3 มากที่สุดของไทย ถึงปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนพิเศษกรุงเทพมหานคร จำนวน 10 คน แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 1 คนและผู้ต้องขัง 9 คน โดยผู้ต้องขังที่ติดเชื้อไม่ได้อยู่ในเรือนจำชั้นใน

นับตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้ต้องหาคดีการเมือง ทั้งนักกิจกรรมและประชาชนทั่วไปทยอยเข้าเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดีเรื่อยมาจนถึงช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 มีไม่น้อย 21 คนถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี ระหว่างนั้นพวกเขาจำเป็นต้องออกศาลเพื่อรับฟังการไต่สวนคดีที่เป็นจำเลยหรือการไต่สวนประกันตัวและที่เกี่ยวข้อง  โดยเมื่อกลับเข้าเรือนจำพวกเขาต้องถูกแยกไปอยู่แดนกักโรค แต่เมื่อต้องออกศาลอยู่บ่อยครั้ง แดนกักโรคกลายเป็นพื้นที่ประจำของพวกเขาที่มีผู้ต้องขังหน้าใหม่ มากหน้าหลายตาผลัดเปลี่ยนมาร่วมห้องกับพวกเขา

สมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร กล่าวว่า ระหว่างการถูกคุมตัวเขามีเหตุต้องออกศาลหลายครั้ง แต่ละครั้งที่กลับเข้าเรือนจำจะต้องทำการกักตัวในแดนกักโรคก่อนเข้าเรือนจำชั้นใน ที่ผ่านมาเขาถูกกักโรค 3 รอบ รอบละ 14 วัน กระบวนการกักโรคคือ จะต้องอยู่ในห้องขนาดประมาณ 5×10 เมตร ร่วมกับคู่ความในคดี เช่น อานนท์ นำภา และ ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก รวมทั้งจำเลยรายอื่นๆ ที่ไม่รู้จักกันมาก่อนแต่มาจากศาลและเข้าเรือนจำในวันเดียวกัน ดังนั้นเมื่อต้องออกศาลบ่อยครั้ง ทำให้เขาต้องเปลี่ยนเพื่อนร่วมห้องอยู่เรื่อยๆ

การกักตัวแต่ละวันจะมีเจ้าหน้าที่มาทำการวัดอุณหภูมิร่างกายวันละ 2 ครั้งเท่านั้นและการกักตัวทั้ง 3 รอบของเขา ไม่เคยมีการตรวจหาเชื้อโควิด 19 แบบ SWAB เลย นอกจากนี้ยังมีข้อกังขาเรื่องการเปลี่ยนห้องกักตัว สมยศเล่าว่า วันที่ 8 เมษายน 2564 เขากลับจากศาลและต้องเริ่มกักตัวรอบที่ 3 เป็นการร่วมห้องกับอานนท์, ไมค์-ภาณุพงศ์ และจัสติน-ชูเกียรติ จากนั้นเมื่อครบกำหนด 7 วันในวันที่ 16 เมษายน 2564 เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงย้ายพวกเขา 4 คนไปรวมกับผู้ต้องขังอีกห้องหนึ่งที่มีจำนวนวันกักตัวเท่ากัน

อย่างไรก็ตามการนำคนสองกลุ่มที่เคยถูกแยกกักโรคไปรวมกัน หากพวกเขาทั้ง 4 คนติดเชื้อโควิด-19 แล้วแต่ยังตรวจไม่พบหรือไม่แสดงอาการไปรวมกับผู้ต้องขังอีกห้องหนึ่งก็มีความเสี่ยงทำให้แพร่เชื้อให้อีกฝ่ายได้ และยิ่งเสี่ยงมากขึ้นในกรณีที่เจ้าหน้าราชทัณฑ์ใช้กำหนดวันกักตัวเดิม กล่าวคือ นับวันที่ 16 เมษายน 2564 เป็นวันกักโรควันที่ 8 ของการกักโรคต่อเนื่องไปเลย ไม่เริ่มนับวันกักตัววันที่ศูนย์ใหม่ ดังนั้นเมื่อครบกำหนด 14 วันแล้ว ผู้ต้องขังที่อาจได้รับเชื้ออีกทอดจะสามารถเล็ดรอดเข้าไปในแดนชั้นในได้

ต่อมาวันที่ 23 เมษายน 2564 (หากนับจากวัน 8 เมษายน วันสุดท้ายที่เขาออกศาลเป็นวันที่ศูนย์จะเป็นเวลา 15 วัน) แพทย์ในเรือนจำส่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 มีผลเป็นบวกส่งผลให้มีผู้ที่ต้องเฝ้าระวัง 35 คน ก่อนหน้านี้วันที่ 22 เมษายน 2564 เฟซบุ๊กของอานนท์ นำภาได้โพสต์กล่าวถึงจัสตินว่า จัสตินมีอาการไข้สูงมาหลายวันแล้ว หวาดวิตกว่า จะติดเชื้อโควิด 19  แต่กรมราชทัณฑ์ชี้แจงว่า จัสตินมีไข้เนื่องจากเป็นฝีที่ท้ายทอย

ปล่อยผู้ต้องขังลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคในเรือนจำ

จากกรณีที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่า จุดเริ่มต้นแพร่ระบาดในพื้นที่เรือนจำรอบล่าสุดนั้นเกิดขึ้นภายในเรือนจำนราธิวาสที่มีความแออัดมากที่สุดแห่งหนึ่ง และมีผู้ต้องขังติดเชื้อรวมทั้งหมดไม่น้อยกว่า 88 คน คิดเป็นร้อยละ 3.6 ของจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งหมด เท่าที่สามารถติดตามได้ผู้ป่วยรายแรกเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำที่มีอาการป่วยตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2564  ไม่ชัดเจนว่า เป็นผู้ต้องขังในแดนกักโรคแรกรับหรือไม่ แต่การกระจายตัวสะท้อนให้เห็นสภาวะเปราะบางของผู้ต้องขังในเรือนจำแออัด

กรณีของจัสตินยังชี้ให้เห็นว่า ผู้ต้องขังที่ต้องออกศาลบ่อยมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้นและกว่าที่จะได้รับการตรวจอาจเนิ่นช้าเป็นเหตุให้เกิดความเสี่ยงในวงกว้าง ทั้งกับเพื่อนผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เอง แม้จนถึงขนาดนี้ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมจากจัสตินก็ตาม

นอกจากนี้ตัวเลขสัดส่วนห้องขังที่สมยศได้บอกเล่าไว้คือ ขนาด 5×10 เมตรหรือ 50 ตารางเมตร (รวมพื้นที่ใช้สอยอย่างห้องน้ำและวางสิ่งของ) กับผู้ต้องขังในห้องกักโรคไม่น้อยกว่า 25 คน หากใช้เกณฑ์คณะกรรมการกาชาดสากล พบว่า จำนวน  25 คนจะต้องใช้พื้นที่อย่างน้อย 85 ตารางเมตร เท่ากับว่า สถานการณ์ที่ไม่มีการแพร่ระบาดของโรค พื้นที่ห้องขังก็มีความแออัดพอสมควรแล้ว และจากคำบอกเล่าของผู้ต้องขังอย่างสมยศยังบอกอีกว่า การนอนในห้องกักโรคไม่มีระยะห่างนัก ทำให้การรักษาระยะห่างไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง นอกจากนี้ทั้งหมดต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน ตามมาตรการกักโรคปกติแล้วผู้ที่กักโรคจะต้องไม่ใช้ห้องน้ำร่วมกันกับผู้อื่น หรือหากจำเป็นจะต้องใช้ร่วมกันจะต้องเข้าเป็นคนสุดท้าย  ดังนั้นหากมีใครคนใดคนหนึ่งติดเชื้อโควิด 19 คนที่อยู่ร่วมห้องที่เหลือก็มีความเสี่ยงไปด้วย

ขณะที่ในเดือนมีนาคม 2563 มิเชล บาเชเลต์ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าวโดยสรุปว่า รัฐควรปล่อยผู้ต้องขังทุกคนที่ถูกคุมขังโดยขาดมูลฐานทางกฎหมายที่เพียงพอ ซึ่งรวมถึงนักโทษทางการเมืองและผู้ต้องขังอื่นๆ ที่ถูกคุมขังจากการแสดงออกและการจำคุกควรเป็นมาตรการสุดท้ายในสถานการณ์เช่นนี้

สภาพการณ์เช่นนี้นำไปสู่ข้อเสนอการลดความแออัดของเรือนจำและผู้ต้องขังสามารถปกป้องตนเองได้ตามศักยภาพที่ควรจะเป็น ดังนี้

การพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว

1. ผู้ต้องขังมีโรคประจำตัวซึ่งเป็นโรคที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตหากติดเชื้อโควิด-19 เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ รวมทั้งผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์  ทางเรือนจำอาจพิจารณาปล่อยตัวและมีมาตรการควบคุม เช่น ให้สวมกำไลข้อเท้าติดตามตัว (EM) จำกัดการเคลื่อนไหวให้อยู่เฉพาะบริเวณบ้านหรือภายในจังหวัดภูมิลำเนา และจัดให้มีพนักงานคุมประพฤติมาคอยติดตามเป็นระยะ หลังพ้นวิกฤติโรคระบาด ทางเรือนจำอาจพิจารณาปล่อยตัวนักโทษกลุ่มนี้เป็นการถาวรหรือเรียกกลับมารับโทษต่อ โดยพิจารณาจากเงื่อนไขด้านสุขภาพของผู้ต้องขัง ระยะเวลารับโทษคงเหลือ และพฤติการณ์ของผู้ต้องขังระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณา ในกรณีต้องรับโทษต่อให้นับเวลาระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นระยะเวลารับโทษด้วย

2. ผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุดจำนวน 58,842 คน หรือร้อยละ 19.11 แบ่งเป็นการฝากขังในชั้นสอบสวน 20,252 คน ชั้นไต่สวนพิจารณา 8,203 คนและชั้นอุทธรณ์และฎีกา 30,387 คน กรณีนี้ศาลอาจพิจารณากำหนดเงื่อนไขประกันตัวเพิ่มเติมกรณีของผู้ต้องขังในคดีที่อัตราโทษสูง หรือจำเลยที่ศาลชั้นต้นเคยมีคำพิพากษาจำคุกโดยไม่รอลงอาญาแล้ว เช่น กำหนดให้มีการรายงานตัวพนักงานคุมประพฤติ ห้ามออกนอกประเทศ สวมกำไลข้อเท้าติดตามตัว (EM) เป็นต้น

การพักโทษตามเกณฑ์ปกติ

ระเบียบกรมราชทัณฑ์กำหนดหลักเกณฑ์ในการพักโทษไว้คือ จะต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดที่มีคุณสมบัติ คือ เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดีขึ้นไป, ต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก, ได้รับเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเพื่อพิจารณาพักการลงโทษและมีผู้อุปการะ ผู้ได้รับเลือกอาจได้รับการพักโทษดังนี้

  • ชั้นเยี่ยม ไม่เกิน 1 ใน 3 ของกำหนดโทษที่ระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเด็ดขาด กรณีมีพระราชทานอภัยโทษให้ถือตามหมายแจ้งโทษเด็ดขาดฉบับหลังสุด
  • ชั้นดีมาก ไม่เกิน 1 ใน 4 ของกำหนดโทษระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเด็ดขาด กรณีมีพระราชทานอภัยโทษให้ถือตามหมายแจ้งโทษเด็ดขาดฉบับหลังสุด
  • ชั้นดี ไม่เกิน 1 ใน 5 ของกำหนดโทษระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเด็ดขาด กรณีมีพระราชทานอภัยโทษให้ถือตามหมายแจ้งโทษเด็ดขาดฉบับหลังสุด

คณะกรรมการพิจารณาการพักโทษอาจปรับเกณฑ์การพักโทษให้ยืดหยุ่นขึ้น  เช่นผู้ต้องขังที่มีโรคประจำตัวเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหากติดเชื้อโควิด-19, ผู้ต้องขังอายุเกิน 60 ปี และผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์ที่เข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษ ควรได้รับการพิจารณาพักโทษเป็นการเร่งด่วน

ผู้ต้องขังที่ไม่มีโรคประจำตัว อาจพิจารณาพักโทษจำคุกผู้ต้องขังตามเกณฑ์ที่กำหนดในระเบียบกรมราชทัณฑ์ และพิจารณาพักโทษผู้ต้องขังบางส่วนที่ระยะเวลารับโทษเหลือนานกว่าเกณฑ์ได้รับการพักโทษ แต่เหลือระยะเวลารับโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี (ระยะเวลา 3 ปี เป็นโทษจำคุกที่ศาลสามารถสั่งรอการลงโทษจำคุกจำเลยได้) ในส่วนของผู้ต้องขังคดีอื่นๆ คณะกรรมการอาจพิจารณาพักโทษผู้ต้องขังจากพฤติการณ์แห่งคดี อายุและสุขภาพของผู้ต้องขังเป็นสำคัญ

มาตราลดการแพร่ระบาดโควิดปล่อยตัวนักโทษในเรือนจำของต่างประเทศ

สำหรับกรณีตัวอย่างของต่างประเทศที่ใช้วิธีปล่อยนักโทษหรือผู้ต้องขังบางส่วนเพื่อลดความแออัด ได้แก่ อิหร่าน ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา โดยประเทศต่างๆ มีมาตรการดังนี้

อิหร่าน

ฟ็อกซ์นิวส์รายงานเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ว่า ทางการอิหร่านได้ปล่อยผู้ต้องขังจำนวน 85,000 คน เพื่อลดความแออัดในเรือนจำ โดยครึ่งหนึ่งของผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยเป็นผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ทั้งนี้การปล่อยตัวดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว ผู้ต้องขังเหล่านั้นจะต้องกลับมารับโทษต่อ แต่ทางการอิหร่านยังไม่ได้ประกาศกำหนดเวลาดังกล่าวออกมา แม้จะมีการปล่อยตัวผู้ต้องขังบางส่วนแล้วแต่สภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวก็ยังคงมีความน่ากังวล ฟ็อกซ์นิวอ้างถ้อยคำของนักโทษรายหนึ่งซึ่งได้รับผ่านทาง the National Council of Resistance of Iran ซึ่งเป็นองค์กรการเมืองฝ่ายซ้ายที่มีที่ทำการในประเทศฝรั่งเศสว่า

“สถานการณ์ในนี้ (เรือนจำอีวินในกรุงเตหะราน) แย่มาก พวกเราป่วยกันหมด พวกเราไอแห้งและมีไข้ ในนี้ไม่มีอุปกรณ์ทดสอบหาไวรัส พวกเราทำได้แค่แย่งกันไปรับการรักษาในคลินิค” “เมื่อไปถึงที่นั่นยามก็จะบอกว่าไม่มีหมอ ให้กลับไปยังห้องขังเสีย ไม่อย่างงั้นก็จะต้องใช้กำลัง และบางครั้งถึงแม้พวกเราจะได้เจอหมอแต่สิ่งที่พวกเขาทำก็เป็นแค่การส่องเครื่องวัดไข้ใส่เราเท่านั้น”

รัฐนิวเซาท์เวลส์ ของออสเตรเลีย

ที่ประเทศออสเตรเลีย สำนักข่าว ABC รายงานเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ว่า ผู้ต้องขังในเรือนจำของรัฐนิวเซาท์เวลส์ประมาณ 14,000 คน อาจได้รับการปล่อยตัว โดยอธิบดีที่รับผิดชอบระบบเรือนจำของรัฐจะมีอำนาจพิจารณาปล่อยตัวผู้ต้องขังบางส่วนภายใต้ทัณฑ์บน โดยผู้ต้องขังที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับทัณฑ์บนในสถานการณ์พิเศษนี้จะต้องได้รับการประเมินว่า มีความเสี่ยงต่ำ และจะต้องปฏิบัติตามทัณฑ์บนอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการคุมขังในบ้าน หรือสวมกำไลข้อเท้าติดตามตัว เป็นต้น

อัยการสูงสุด Mark Speakman ซึ่งเป็นผู้เสนอมาตรการพิเศษนี้ต่อสภาแห่งรัฐเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ระบุว่า มาตรการที่ยืดหยุ่นนี้จะทำให้อธิบดีผู้รับผิดชอบเรือนจำสามารถรักษาสุขภาวะที่ดีของทั้งผู้ต้องขังและผู้คุมที่ปฏิบัติหน้าที่ในเรือนจ

สำนักข่าว ABC รายงานเพิ่มเติมว่า ผู้ต้องขังที่จะได้รับการพิจารณาปล่อยตัวตามทัณฑ์บน คือ ผู้ต้องขังสูงอายุหรือบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว โดยฐานความผิดและระยะเวลาต้องโทษที่เหลือก็จะถูกนำมาพิจารณาด้วย ขณะที่ผู้ต้องโทษในความผิดฐานฆาตกรรม ก่อการร้าย หรือการล่วงละเมิดทางเพศอย่างรุนแรงจะไม่ได้รับการพิจารณาปล่อยตัว รวมถึงผู้ที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต แม้จะมีอำนาจพิเศษ แต่อธิบดีผู้รับผิดชอบเรือนจำก็จะต้องประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อความปลอดภัยของชุมชนที่ผู้ต้องขังจะกลับไปอยู่และต้องตรวจสอบด้วยว่า ผู้ต้องขังคนดังกล่าวเคยมีประวัติหรือมีความผิดฐานก่อความรุนแรงในครอบครัวด้วยหรือไม่

ขณะที่ Andrew Christopoulos ประธานของ The Australian Lawyer Alliance ซึ่งเป็นองค์กรทนายความก็ตอบรับข้อเสนอนี้ด้วยความยินดีว่า “ความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในเรือนจำเป็นเรื่องร้ายแรงมาก” “มันอาจเป็นหายนะของสิทธิมนุษยชนในออสเตรเลีย รัฐบาลควรต้องตอบสนองความเสี่ยงนี้อย่างทันท่วงที”

มลรัฐนิวเจอร์ซีย์

ที่สหรัฐอเมริกา The New York Times รายงานเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 ว่า มลรัฐนิวเจอร์ซีย์จะปล่อยผู้ต้องขังราว 1,000 คนจากเรือนจำ โดย Stuart Rabner ผู้พิพากษาศาลสูงประจำมลรัฐอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังที่กำลังรับโทษบางประเภทในเรือนจำระดับท้องถิ่น (county) เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่ไวรัสกำลังระบาดในเรือนจำทั่วประเทศ

ผู้มีสิทธิได้รับการปล่อยตัวตามคำสั่งนี้ได้แก่ผู้ที่ถูกพิพากษาจำคุกโดยศาลแขวง หรือถูกพิพากษาจำคุกในคดีที่ไม่ร้ายแรงโดยศาลที่สูงกว่าศาลแขวง ทั้งนี้ผู้ต้องขังบางส่วนได้รับการปล่อยตัวตั้งแต่วันอังคารที่ 24 มีนาคมแล้ว ผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวก็จะต้องกักตัวเอง 14 วันเพื่อดูอาการของโรคด้วย ขณะที่ในมลรัฐนิวยอร์ค มีการยืนยันในช่วงวันเสาร์ที่ 21 และวันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม 2563 มีผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ของเรือนจำติดเชื้อแล้วประมาณ 20 คน

 

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ