“มันกดดันกว่าครั้งแรก เราถูกกักตัวตามมาตรการควบคุมโควิด 19 ต้องอยู่ในห้องขังเกือบตลอด 24 ชั่วโมง…ผมอยากตั้งคำถามถึงมาตรการควบคุมโรคของเรือนจำว่ามีประโยชน์จริงหรือ มีผู้ต้องขังใหม่เข้ามาทุกวัน เวลานอนก็นอนเบียดกัน ไม่มีรักษาระยะห่าง ในห้องมีเกือบ 30 คน มีช้อนกินข้าว 10 กว่าคัน ต้องเวียนใช้”
ความในใจของกุ๊ก หนึ่งในผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการร่วมการชุมนุมคณะราษฎรอีสานเมื่อ 13 ตุลาคม 2563
“วันนั้น (13 ตุลาคม 2563) ผมกับน้องๆ ในเครือข่าย (เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย) ตั้งใจจะไปช่วยเตรียมงานเตรียมกิจกรรมการชุมนุมล่วงหน้าก่อนวันชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคม”
“ผมต้องยืนยันก่อนว่าการชุมนุมเป็นการทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ระบุว่าการชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่สามารถทำได้โดยปราศจากอาวุธ ซึ่งเราก็ไปชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยโดยไม่มีอาวุธ”
“ตอนที่ตำรวจเข้ามาคุยกับเราก่อนสลายการชุมนุม เรายืนยันว่าเราสามารถมาอยู่ในพื้นที่ตรงนี้ได้ (จุดตั้งเต็นท์ใกล้แม็คโดนัลด์ราชดำเนิน) แต่ไม่รู้ว่าเพราะอะไร ตำรวจถึงทำแบบนั้นกับเรา ผมมองว่ามันไม่ถูกกฎหมายและไม่ชอบธรรม และต้องยืนยันว่าความรุนแรงวันนั้นทั้งหมดมาจากฝั่งตำรวจที่ใช้กำลังสลายการชุมนุมโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนเลยแม้แต่น้อย”
“ก่อนหน้าที่จะถูกจับ ผมอยู่ด้านล่างของรถเครื่องเสียง พอเห็นตำรวจบีบวงล้อมเข้ามา ผมก็ขึ้นไปบนรถเครื่องเสียงเพราะตอนนั้นไผ่ (จตุภัทร์) อยู่คนเดียว หลังจากผมขึ้นไปบนรถเครื่องเสียงไม่นานตำรวจก็จับไผ่แล้วก็ลากผมไปด้วย จำได้ว่าตำรวจคนหนึ่งจับคอผม ส่วนอีกสองคนหามปีกสองข้างแล้วลากผมไปขึ้นรถ ผมพยายามถามเจ้าหน้าที่ว่าจับผมทำไม ข้อหาอะไร ดูเหมือนเขาจะอารมณ์หลุดเพราะขึ้นมึงขึ้นกู ‘กูบอกให้พวกมึงหยุด พวกมึงอย่าโวยวาย’ อะไรแบบนี้ ผมพยามถามว่าพี่จะพาพวกผมไปไหน เขาก็ตอบแค่ว่า ‘พวกมึงเข้าไปข้างในรถเลย’ ความจริงมันเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ที่จะจับเราแล้วไม่บอกว่าจะพาไปไหน ข้อหาก็ไม่บอก พอขึ้นมาบนรถก็ใส่กุญแจมือน้องบางคน มีสองคนถูกใส่กุญแจเหล็ก คนอื่นๆ เป็นสายรัดพลาสติก แต่มันก็แน่นอยู่”
“ถ้าถามว่าตอนอยู่บนรถผมกลัวไหม ยอมรับว่ากลัว จะพาเราไปไหน แต่อีกใจหนึ่งก็บอกตัวเองว่า เราสู้มาขนาดนี้แล้ว และที่สำคัญในตอนนั้นมีน้องๆ ที่อยู่ปีหนึ่งหลายคน ผมอายุเยอะกว่าน้อง ทั้งผมทั้งไผ่และคนอื่นๆ ที่อายุเยอะเป็นรุ่นพี่ก็ต้องพยายามดูแลน้องๆ
“พอไปถึงที่ ตชด. (กองบังคับการ ตชด.ภาค 1 ปทุมธานี) พวกเราพยายามถามตำรวจที่ดูมียศใหญ่ว่าจับเรามาข้อหาอะไร เขาบอกไม่ทราบ แม้เราจะอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่อย่างเบ็ดเสร็จ แต่เขาก็ยังไม่ถอดกุญแจมือให้ ระหว่างนั้นไผ่จะไปถ่ายหนัก ตำรวจก็ยังไม่ยอมถอดที่รัดข้อมือออกให้ แล้วก็มีตำรวจผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่าต้องทำความสะอาดก้นทั้งแบบนั้น ประมาณสองโมงเช้าเขาถึงมาถอดพันธนาการมือให้พวกเรา ต่อมามีพลตำรวจโทคนหนึ่งเข้ามา น่าจะเป็นระดับผู้บังคับบัญชา เราก็พยายามถามว่าจับพวกเรามาข้อหาอะไร และเราขอพบทนายซึ่งตอนนั้นพี่ๆ จากศูนย์ทนายสิทธิฯ มาถึงแล้ว แต่ก็ไม่มีคำตอบ พี่ทนายมาถึงตั้งแต่ประมาณห้าหกโมงเย็นแล้ว แต่ตำรวจไม่ยอมให้เราพบทนายหรือญาติ เราต้องรอถึงประมาณห้าทุ่มจึงได้พบทนาย และกว่าที่ตำรวจจะแจ้งข้อหา สอบสวนพวกเราก็หลังเที่ยงคืนไปแล้ว”
“เราถูกควบคุมตัวที่ ตชด.หนึ่งคืนและถูกสอบสวนช่วงกลางดึก เช้าวันรุ่งขึ้นเจ้าหน้าที่ก็พาเราไปที่ศาลแขวงดุสิตทำการฝากขัง ในห้องพิจารณาคดีที่เราถูกเอาตัวมาไต่สวนคัดค้านการฝากขัง มี ส.ส.พรรคก้าวไกลมารอใช้ตำแหน่งประกันตัวให้พวกเรา ในฐานะที่ผมเรียนจบกฎหมาย ต้องบอกว่าคดีของเรามีแต่เรื่องผิดคาด ความผิดที่เราถูกกล่าวหามันเป็นความผิดที่โทษไม่สูง คือ จำคุกไม่เกินสองปี ไม่มีความจำเป็นต้องฝากขัง และทนายเองก็บอกว่าสุดท้ายแล้วพวกเราน่าจะได้รับการประกันตัว ตอนที่ศาลเสร็จสิ้นกระบวนการไต่สวนแล้วอนุญาตให้ฝากขังพวกเรา เจ้าหน้าที่ศาลบอกว่าให้รีบทำเรื่องประกันตัวเลยเดี๋ยวจะดึก เจ้าหน้าที่ศาลรีบทำเรื่องการประกันตัวให้เรา แต่สุดท้ายพอแจ้งว่าพวกเราไม่ได้ประกันตัว ตอนนั้นยอมรับว่าช็อค น้องที่อยู่ปีหนึ่งก็ตกใจเพราะพ่อแม่ยังไม่รู้ ผมเองก็ไม่นึกว่าศาลจะลงโทษด้วยการฝากขังแบบนี้”
“ตอนที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีมีจังหวะที่ศาลเดินออกไป บางทีก็หายไปพักใหญ่ แต่ก็บอกไม่ได้ว่าที่ศาลออกไปจะเกี่ยวกับการพิจารณาคดีของพวกเราหรือไม่”
“การเข้าเรือนจำครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สองในชีวิตผม ผมเลยพอจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร และพอจะปรับตัวได้ แต่มันกดดันกว่าครั้งแรก เราถูกกักตัวตามมาตรการควบคุมโควิด 19 ต้องอยู่ในห้องขังเกือบตลอด 24 ชั่วโมง ได้ลงไปข้างล่างแค่วันแรกเพื่อทำประวัติ หลังจากนั้นต้องอยู่ในห้องแคบๆ เกือบตลอดเวลา ยกเว้นช่วงที่ทนายมาเยี่ยม ต่างจากผู้ต้องขังคนอื่นๆ ที่จะอยู่ในห้องขังหลังบ่ายสามจนถึงหกโมงเช้าวันถัดไป เราพยายามขอเจ้าหน้าที่ไปเข้าห้องน้ำด้านล่างก็ไม่ได้รับอนุญาต ‘บล็อก’ หรือห้องน้ำในห้องขังมันค่อนข้างแคบ กว้างประมาณเมตรครึ่ง ถ่ายหนัก ถ่ายเบา แปรงฟัน ล้างหน้า ล้างจาน ทำที่เดียวกัน และผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการกักตัวจะได้รับของที่ญาติหรือทนายฝากให้ช้ากว่าปกติ”
“ผมเองอยากตั้งคำถามถึงมาตรการควบคุมโรคของเรือนจำว่ามีประโยชน์จริงหรือ มีผู้ต้องขังใหม่เข้ามาทุกวัน เวลานอนก็นอนเบียดกันไม่ได้มีการรักษาระยะห่าง ในห้องมีกันเกือบ 30 คน มีช้อนกินข้าวทั้งหมด 10 กว่าคัน เวลากินข้าวต้องเวียนกันใช้ ไม่มีน้ำยาล้างจานได้แค่ใช้น้ำเปล่าล้าง นี่คือสิ่งที่เรือนจำบอกว่ากักโควิด”
“ผู้ต้องขังที่ถูกกักตัวแทบไม่ได้ต่างจากผู้ต้องขังทั่วไป แค่พบญาติไม่ได้ นอนก็เบียดกัน แล้วเมื่อลงมาพบทนายก็จะอยู่ในสถานที่เดียวกับผู้ต้องขังแดนอื่นๆ ไม่ได้จัดแยกกัน”
“เรื่องอาหารการกิน ปกติผมเป็นคนที่กินง่ายๆ กินอะไรก็ได้ แต่อยากเรียกร้องเรื่องคุณภาพชีวิตให้ผู้ต้องขังคนอื่นด้วย บางมื้ออาหารของเราคือ แตงกวาลูกใหญ่ๆ ต้มน้ำ ผมไม่รู้เขาใส่อะไรไปบ้าง แต่ผมกินแล้วรู้สึกว่ามันเหมือนน้ำเปล่า ไม่มีเนื้ออะไรเลย กินกับข้าวแข็งๆ จริงๆ ผมกินอะไรก็ได้ แต่ผมรู้สึกว่าความเป็นคนมันอยู่ตรงไหน หมาที่วัดมันยังกินดีกว่าเรา”
“ที่หน้าห้องขัง ทางเรือนจำจะติดรายชื่อคนที่อยู่ในห้องพร้อมข้อหาว่าแต่ละคนถูกคุมขังด้วยคดีอะไร นอกจากไผ่ที่ถูกตั้งข้อหาด้วยมาตรา 116 แล้ว เขาติดว่าพวกเราถูกดำเนินคดี พ.ร.บ.ความสะอาด มันก็ตลกดี พอครบ 6 วันเรามีกำหนดจะต้องวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับศาลอีกครั้ง เพราะตำรวจจะฝากขังต่อเป็นผัดที่ 2 พอถึงเวลาเราแจ้งศาลว่าเราอยากขอปรึกษาทนายเรื่องการคัดค้านการฝากขังก่อนไต่สวนผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แต่ศาลบอกว่าแล้วทำไมไม่โทรคุยกับทนายก่อนหน้านี้ เราก็ได้แต่บอกว่าเราอยู่ในเรือนจำ ไม่มีโทรศัพท์ติดต่อทนาย แล้วศาลก็แจ้งว่าศาลให้ฝากขังต่อตามคำร้องของพนักงานสอบสวนแล้ว ต่อมาเมื่อทนายยื่นประกันตัวปรากฏว่าศาลชั้นต้นก็ยกคำร้องอีก โชคยังดีที่พอยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ปล่อยตัวพวกเรา จึงถูกคุมขัง 6 วัน”
“ระหว่างถูกคุมขังเราโชคดีที่ได้พี่เต้น (ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ) คอยช่วยเหลือแบ่งปันพวกมาม่า อาหารกระป๋องให้ รวมทั้งแบ่งหนังสือประวัติศาสตร์ที่แกมีบางส่วนมาให้ การอยู่ในเรือนจำโดยเฉพาะกรณีของพวกเราที่ต้องอยู่ในห้องขังเกือบ 24 ชั่วโมงต่อวัน สิ่งที่ช่วยได้มากก็คือหนังสือ”
“ตอนแรกผมแอบคิดว่าพวกเราน่าจะติดกันแบบยาวๆ เพราะผู้มีอำนาจเขาลุแก่อำนาจ แต่พอศาลอุทธรณ์อนุญาตให้พวกเราประกันตัวพวกเราก็ดีใจกันนะ แต่ก็แอบกังวลว่าหลังจากนั้นไผ่ต้องอยู่คนเดียว จะปลอดภัยไหม เป็นห่วงเพื่อน”
วันที่ 13 ตุลาคม นักกิจกรรมซึ่งส่วนหนึ่งเรียกตัวเองว่า “คณะราษฎรอีสาน” เดินทางมาตั้งเต็นท์เตรียมเข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ของคณะราษฎรในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 หลังพวกเขาตั้งเต็นท์บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยฝั่งแม็คโดนัลด์ราชดำเนินแล้วเสร็จและเริ่มตั้งเวทีปราศรัย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ใช้กำลังเข้ารื้อเต็นท์และทำการจับกุมผู้ชุมนุมรวม 21 คน ไปควบคุมตัวที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 ปทุมธานี หนึ่งคืน
ผู้ถูกจับกุมทั้ง 21 คน ถูกตั้งข้อกล่าวหารวม 10 ข้อกล่าวหา ได้แก่
- ชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง, ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์, ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเจ้าพนักงาน, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร, ร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, 358, 368, 385, 391 ตามลำดับ
- ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมทำกิจกรรมในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค
- กระทำการซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายแพร่ระบาดออกไป ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6)
- ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114
- ร่วมกันขูด กระเทาะ ขีด เขียน พ่นสี บนพื้นถนน, ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12, 19 ตามลำดับ
- ขณะที่จตุภัทร์หรือ ไผ่ ดาวดิน ถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพิ่มเติมอีกข้อหาหนึ่ง
ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่คณะราษฎรนัดชุมนุมใหญ่ ผู้ต้องหา 19 คน ไม่รวมจตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นที่ถูกดำเนินคดีในศาลอาญาและผู้ต้องหาเยาวชนอีกหนึ่งคนที่ถูกดำเนินคดีในศาลเยาวชน ถูกนำตัวไปที่ศาลแขวงดุสิตเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง ซึ่งศาลมีคำสั่งให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวนและไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้งหมดประกันตัวโดยอ้างเหตุว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์รุนแรงและต่อสู้กับเจ้าพนักงาน ผู้ต้องหาทั้ง 19 คนถูกฝากขังเป็นเวลา 6 วัน ก่อนจะได้รับการประกันตัวในวันที่ 19 ตุลาคม 2563 เบื้องต้นศาลแขวงดุสิตไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้ง 19 คน ประกันตัว แต่ทั้งหมดอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมดในวันเดียวกัน