ตำรวจสั่งไม่ให้ชุมนุม โดยอ้างโควิด 19 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ในสถานการณ์ปกติ การจัดการชุมนุมอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมายหลัก คือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) แต่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และเมื่อรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เงื่อนไขและข้อจำกัดของการชุมนุมจึงเปลี่ยนแปลงไป โดยพ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดไว้แล้วว่า จะไม่บังคับใช้ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน

ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ ก็ทำให้มีอำนาจตามมาตรา 9(2) ที่จะสั่งห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และในวันเดียวกันก็อาศัยอำนาจตามมาตรา 9(2) ออกข้อกำหนด ฉบับที่ 1 โดยมีข้อ 5 กำหนด “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนด”

ดังนั้น การจัดการชุมนุมใดๆ ภายใต้ช่วงเวลานี้ จึงไม่มีขั้นตอนที่ต้องแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า 24 ชั่วโมง หรือไม่มีข้อจำกัดเรื่องห้ามชุมนุมใกล้เขตพระราชวัง หรือกีดขวางทางเข้าออกของหน่วยงานรัฐ หรือต้องแจ้งล่วงหน้าหากจะมีการเคลื่อนขบวน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเงื่อนไขของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่กลับต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดแบบกว้างขวาง ที่ห้ามชุมนุมในสถานที่แออัด หรือยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้จัดการชุมนุมบางกลุ่มจึงจัดการชุมนุมไปเลยโดยไม่ได้แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า ซึ่งบางกิจกรรมดำเนินไปได้ด้วยดี บางกิจกรรมตำรวจเข้ามาแจ้งในพื้นที่จัดกิจกรรมว่า ไม่ให้จัดเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 และมีอย่างน้อย 6 กิจกรรมที่ภายหลังกิจกรรมเสร็จสิ้นแล้วผู้จัดได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขณะเดียวกันผู้จัดการชุมนุมบางกลุ่มก็เลือกที่จะแจ้งให้ตำรวจทราบล่วงหน้าก่อน เพื่อให้ตำรวจคอยอำนวยความสะดวกระหว่างการจัดกิจกรรมด้วย แต่พบว่า ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการชุมนุมในประเด็นใด ตำรวจก็จะทำหนังสือตอบกลับเสมอว่า ไม่ให้จัดกิจกรรม พร้อมกับการเตือนอย่างชัดเจนว่า อาจถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วย

เท่าที่ทราบข้อมูล มีกิจกรรมที่ผู้จัดตัดสินใจแจ้งให้ตำรวจทราบล่วงหน้า แต่ก็ได้รับการปฏิเสธไม่ให้จัดเป็นหนังสือชัดเจน ดังนี้

ค้านเขื่อนกันคลื่น ชายหาดม่วงงาม

23 พฤษภาคม 2563 ชาวบ้านบริเวณหาดม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ทำหนังสือแจ้งความประสงค์จะจัดกิจกรรมต่อ สภ.ม่วงงาม โดยระบุว่า กิจกรรมมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์หาดทรายม่วงงามให้เป็นหาดทราย กิจกรรมมีการนำเสนอข้อมูลชายหาด ผลกระทบโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง และอ่านเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์ชายหาด มีการติดป้ายรณรงค์ริมชายหาด กิจกรรมวางแผนจะจัดขึ้นหน้าร้านครัวหมัยเอี้ยม ริมชายหาดม่วงงาม เวลา 16.00 – 18.00 น. ในวันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม 2563 โดยจะไม่มีการรวมตัวของผู้มาร่วมชุมนุม

ในหนังสือยังอธิบายด้วยว่า ผู้จัดกิจกรรมครั้งนี้ตระหนักดีว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ดังนั้น การดำเนินกิจกรรมครั้งนี้จะมีเพียงตัวแทนสองคน และการแสดงของชมรมผู้สูงอายุ 20 คน ในพื้นที่ที่กำหนดไว้ และจะมีการเว้นระยะห่าง การใส่หน้ากากอนามัย

ทั้งนี้การดำเนินกิจกรรมริมพื้นที่ชายหาดม่วงงาม ถือเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกเพื่อพิทักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้หวังผลประโยชน์ทางการเมือง

ทันทีที่ยื่นหนังสือฉบับนี้ ผู้กำกับการ สภ.ม่วงงาม ได้ตอบทันทีโดยการเขียนลายมือไว้ที่ด้านหลังของหนังสือว่า

– ทราบ
– ไม่อนุญาต เนื่องจากอยู่ในระหว่างประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในภาวะฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ประกอบกับการสุ่มเสี่ยงต่อการเฝ้าระวังของโรคติดต่อ COVID 19

ในวันนัดหมายจัดกิจกรรม ตำรวจหลายสิบนายได้ตั้งแถวตรึงกำลังตลอดแนวชายหาด พร้อมกับมีสื่อมวลชนจำนวนมากมารอทำข่าวด้วย และยังมีการเตรียมป้ายไวนิลขนาดใหญ่ที่ข้อความเป็นประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม มาติดไว้หน้าชายหาดด้วย

รำลึกสังหารหมู่เทียนอันเหมิน หน้าสถานทูตจีน

4 มิถุนายน 2563 กลุ่มนิสิตนักศึกษา นำโดยเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล วางแผนจะจัดกิจกรรมรำลึก 31 ปี กรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สังหารโหดนักศึกษาและประชาชน ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน บริเวณหน้าสถานทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ตั้งแต่เวลา 13.00-18.00 คาดหมายผู้มาร่วมชุมนุมสิบคน

ผู้กำกับการ สน.ห้วยขวาง มีหนังสือแจ้งมายังผู้จัดการชุมนุมระบุว่า การชุมนุมดังกล่าวอาจเป็นการชุมนุมที่ขัดต่อประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่องห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ต้องรับโทษ ตามมาตรา 18 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จึงเรียนมาเพื่อทราบและดำเนินการตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่องห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ต่อไป

ทวงถามร่าง พ.ร.บ.บำนาญประชาชนฯ หน้าทำเนียบ

เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ วางแผนจะจัดกิจกรรมชุมนุม เพื่อทวงถามให้นายกรัฐมนตรีรับรองร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ที่เข้าชื่อกันเสนอโดยประชาชน ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล และได้ทำหนังสือแจ้งการชุมนุมไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563

ผู้กำกับการ สน.นางเลิ้ง มีหนังสือแจ้งมายังผู้จัดการชุมนุมในวันถัดมาระบุว่า เนื่องด้วยอยู่ในห้วงของการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ซึ่งได้มีประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่องห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม เพื่อเป็นการลดโอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 มิให้ยายไปในวงกว้าง จึงกำหนดห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อโรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค ณ ที่ใดๆ ทั่วราชอาณาจักร เว้นแต่เป็นการทำกิจกรรมภายในครอบครัวที่อยู่ในเคหะสถานของตนเอง หรือกิจกรรมของทางราชการ ซึ่งมีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลที่ปลอดภัย

ดังนั้น การจัดชุมนุมดังกล่าวอาจเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อประกาศและข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งผู้ฝ่าฝืนอาจมีความผิด ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จึงแจ้งมาเพื่อทราบและดำเนินการตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่องห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ต่อไป

ชุมนุมค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกขู่จะผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

เครือข่าย People Go Network ต้องการจัดกิจกรรมเพื่อให้กำลังใจสมาชิกในเครือข่ายสี่คน ที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการไปยื่นหนังสือต่อสถานทูตกัมพูชาให้ตรวจสอบการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ โดยวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 เป็นกำหนดวันที่ทั้งสี่คนจะต้องไปรายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.วังทองหลาง เครือข่ายจึงนัดจัดกิจกรรมในวันดังกล่าว โดยตอนเช้าจะเดินเท้าจาก MRT ลาดพร้าว ทางออก 4 ไปยังศาลแพ่งเป็นระยะทางประมาณ 300 เมตร เพื่อยื่นฟ้องขอให้ศาลแพ่งสั่งยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และเดินทางโดยขบวนรถต่อไปยัง สน.วังทองหลาง เพื่อให้กำลังใจผู้เข้ารายงานตัว และเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

แม้ว่าภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะไม่ใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แต่เพื่อให้ตำรวจทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม วันที่ 8 กรกฎาคม 2563 ทางเครือข่ายจึงยื่นหนังสือแจ้งให้ตำรวจ สน.พหลโยธิน ทราบเพื่อดูแลการชุมนุม และในวันเดียวกัน ผู้กำกับการ สน.พหลโยธินก็ทำหนังสือตอบกลับสรุปการพิจารณาการชุมนุมสาธารณะ โดยสรุปใจความได้ว่า

ตามมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ซึ่งได้มีประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่องห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม เพื่อเป็นการลดโอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 มิให้ขยายไปในวงกว้าง ดังนั้น การจัดกิจกรรมตามที่แจ้งจึงอาจฝ่าฝืนต่อประกาศและข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท

จึงแจ้งมาเพื่อทราบและดำเนินการตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่องห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ต่อไป