ยุติธรรมอย่างไทย: ยกเลิกแล้วแต่ยังอยู่?! คำสั่ง คสช.ห้ามชุมนุมทางการเมือง

ปัจจุบันแม้เรียกได้ว่าพ้นยุคทหารไปแล้ว แต่เชื่อหรือไม่ว่าข้อหาที่เกิดจากประกาศ/คำสั่งของคณะรัฐประหารยังคงมีผลอยู่ในระบบยุติธรรมของไทย

ในยุค คสช. ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการชุมนุมทางการเมือง เพราะมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12. สั่งห้ามชุมนุมทางการเมือง ที่ผ่านมามีผู้ถูกดำเนินคดีตามข้อหานี้อย่างน้อย 421 คน

ต่อมาเมื่อใกล้เลือกตั้ง คสช.จำต้องผ่อนปรนให้พรรคการเมืองและประชาชนทำกิจกรรมทางการเมืองได้ วันที่ 11 ธันวาคม 2561 จึงออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2561 ยกเลิกข้อห้ามชุมนุมทางการเมือง ความเข้าใจพื้นฐานที่ควรจะเป็น คือ การชุมนุมทางการเมืองและกิจกรรมทางการเมืองทั้งหลายจะต้องกลับมามีเสรีภาพอย่างเต็มที่อีกครั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะ

 

1. มีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ขัดขวางเสรีภาพการชุมนุม

ตำรวจยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับอยู่ในมือ ที่สำคัญ คือ

         1.1 พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการไม่อนุญาตให้จัดชุมนุมหลายต่อหลายกรณี หรือตั้งเงื่อนไขจนการชุมนุมไม่สามารถบรรลุผลได้ตามที่ผู้จัดตั้งใจไว้
         1.2 พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493
         1.3 พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ. 2522
         1.4 ข้อหาอั้งยี่ ข้อหามั่วสุมก่อความวุ่นวาย ตามมาตรา 209-215 ประมวลกฎหมายอาญา

จึงนับได้ว่าเสรีภาพการชุมนุมในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นทางการเมืองยังไม่เกิดขึ้นจริง นับตั้งแต่ คสช. เข้ายึดอำนาจการปกครองเมื่อปี 2557 เป็นต้นมา

 

2. การตีความของตำรวจ-อัยการ-ศาล ดำเนินคดีการชุมนุมที่ค้างอยู่ต่อไป

นอกจากนี้แม้คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2561 จะยกเลิกข้อห้ามชุมนุมทางการเมือง แต่ดูเหมือนมันยังมีอิทธิฤทธิ์ตัดตอนการชุมนุมอยู่ดี เพราะยังมีข้อ 2 ในคำสั่งดังกล่าวที่กำหนดไว้ว่า “การยกเลิกประกาศและคำสั่งไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดี การดำเนินการ หรือการปฏิบัติตามประกาศและคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนการยกเลิกโดยคำสั่งนี้”

นับเป็นการยกเลิกแบบไม่แน่ชัด เปิดพื้นที่ให้ตีความได้ต่อ

โดยหลักการทั่วไป เมื่อกฎหมายที่กำหนดให้การกระทำที่เป็นความผิดถูกยกเลิก การตั้งข้อหาและดำเนินคดีที่เกิดขึ้นไปแล้วย่อมต้องยกเลิกไปด้วย เพราะไม่มีกฎหมายที่กำหนดให้การกระทำนั้นเป็นความผิดอีกต่อไปแล้ว แต่การกำหนดเงื่อนไขในข้อ 2 เช่นนั้นเปิดช่องให้ตีความได้ว่า คดีความที่เริ่มเดินหน้าไปแล้วและยังค้างคาอยู่จะดำเนินต่อไปได้หรือไม่

เราลองมาดูผลลัพธ์การตีความเรื่องนี้กันในระบบยุติธรรมของไทยซึ่งมีการตีความไปทั้งสองทาง “ยกเลิกดำเนินคดี หรือ ดำเนินคดีต่อไป” แต่ดูเหมือนอย่างหลังจะได้รับความนิยมมากกว่า

 

ไม่ดำเนินคดีต่อ 

วันที่ 25 ธันวาคม 2561 ในคดีเวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร ศาลจังหวัดเชียงใหม่เห็นว่า เมื่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12. ถูกยกเลิก เป็นกรณีที่กฎหมายที่บัญญัติภายหลังมีผลให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดที่มีกฎหมายกำหนดไว้ โดยศาลยกเลิกกำหนดนัดสืบพยานที่เหลืออยู่ทั้งหมดและพิพากษาให้ยกฟ้อง

คำพิพากษาของศาลจังหวัดเชียงใหม่กลายเป็นบรรทัดฐานให้ศาลอื่นกล้าเดินตาม โดยเฉพาะศาลทหาร ในปี 2562 ศาลทหารทยอยสั่งยุติการพิจารณาคดีและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความอีกหลายคดี เช่น

วันที่ 16 มกราคม 2562 ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งจำหน่ายคดีที่แกนนำกลุ่ม นปช. 19 คน ถูกฟ้องจากการจัดกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ ที่ห้างบิ้กซีลาดพร้าว

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลทหารขอนแก่นมีคำสั่งจำหน่ายคดีของนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินสองคนที่ชูป้ายคัดค้านการรัฐประหาร ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2558 ซึ่งมีการฟ้องแยกเป็นสองสำนวนคดี คือ คดีของจตุภัทร์ หรือ “ไผ่ ดาวดิน” และคดีภาณุพงษ์ หรือ “ไนซ์ ดาวดิน”

ในช่วงปี 2562 จึงค่อนข้างเห็นแนวโน้มชัดเจนแล้วว่า คดีความฐาน “ชุมนุมทางการเมือง” จะค่อยๆ ทยอยถูกจำหน่ายออกจากศาล ผู้ถูกกล่าวหาในคดีลักษณะนี้ไม่ต้องหวั่นวิตกกับโทษตามกฎหมาย

 

ดำเนินคดีต่อ 

อย่างไรก็ดี การสั่งยุติคดีโดยศาลกลับไม่มีความสม่ำเสมอ ศาลฎีกากลับพิพากษาในคดีชุมนุมต่อต้านรัฐประหารของอภิชาตในอีกแบบหนึ่ง

8 พฤศจิกายน 2562 ในคดีอภิชาต ศาลฎีกาเห็นว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2561 นอกจากจะกำหนดเรื่องให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองไว้ในข้อ 1 แล้ว ยังกำหนดในข้อ 2 ไว้ด้วยว่าการยกเลิกประกาศและคำสั่งตามข้อ 1 ไม่ให้กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดีหรือการดำเนินการตามประกาศหรือคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนการยกเลิกตามคำสั่งนี้ และแม้จำเลยจะถูกฟ้องด้วยประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ก็ให้ลงโทษตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ได้ และให้ลงโทษปรับจำเลย 6,000 บาท

หลังจากมีคำพิพากษาศาลฎีกาออกมาวางแนวทางให้ปรับใช้ความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปกับคดีที่ดำเนินคดีไปก่อนแล้วก็มีปรากฏการณ์ต่อเนื่องตามมา

วันที่ 27 มกราคม 2563 คดีของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ชุมนุมเดินเท้าไปถึงหน้าอาคารสหประชาชาติ หรือ #UN62 อัยการประจำศาลแขวงดุสิตได้นำข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 กลับมาในฟ้องของคดีผู้ชุมนุมอีกครั้ง แม้คำสั่งดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้วก็ตาม โดยจำเลยทั้ง 38 คนจะยังถูกฟ้องในข้อหาดังกล่าว ทั้งที่ก่อนหน้านี้อัยการประจำศาลเดียวกันได้สั่งถอนฟ้องข้อหานี้ในคดีอื่นไปก่อนแล้วด้วย

วันที่ 28 มกราคม 2563 กลุ่มยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล แจ้งการชุมนุมต่อ สภ.เมืองสตูลว่าจะชุมนุมบริเวณศาลากลางจังหวัดสตูลเพื่อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ตำรวจ สภ.เมืองสตูลตอบว่า การแสดงออกในการชุมนุมสุ่มเสี่ยงว่าอาจเข้าข่ายขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป จึงให้ผู้จัดการชุมนุมระมัดระวังการแสดงออกด้วย

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 อัยการจังหวัดสมุทรปราการส่งฟ้องวรวุฒิ บุตรมาตร ในคดี “ประชามติบางเสาธง” จากกรณีแจกใบปลิวที่ตลาดการเคหะบางพลีเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อัยการยื่นฟ้องวรวุฒิในความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ร่วมกับข้อหาอื่นด้วย ซึ่งศาลจังหวัดสมุทรปราการรับฟ้องไว้พิจารณาคดีต่อ

จึงเห็นได้ว่า แม้คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 จะถูกยกเลิกไปตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2561 แล้ว แต่เนื่องจากมีเงื่อนไขในข้อ 2 ที่สร้างความไม่ชัดเจนในการตีความและทางปฏิบัติ จึงทำให้ข้อกล่าวหานี้ยังคงถูกนำมาใช้เพื่อดำเนินคดีและปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนได้อยู่ดี

สำหรับคดีที่อัยการตัดสินใจส่งฟ้องจำเลยในข้อหาชุมนุมทางการเมือง ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ทั้งสองกรณี เป็นคดีความที่การชุมนุมเกิดขึ้นตั้งแต่ระหว่างที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ยังมีผลใช้บังคับอยู่ เมื่อศาลรับคำฟ้องไปแล้วจึงต้องรอติดตามแนวทางวินิจฉัยจากศาลกันว่า ศาลแต่ละคดีจะตีความวลีที่ว่า “ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีที่ทำไปแล้ว” อย่างไร ซึ่งจะยึดตามแนวทางของศาลจังหวัดเชียงใหม่สั่งให้ข้อหานี้เป็นอันตกไป หรือจะยึดตามแนวทางของศาลฎีกาในคดีอภิชาตเพื่อดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหานี้ต่อและพิจารณาสั่งลงโทษจำเลยด้วย

ส่วนกรณีของ สภ.เมืองสตูล ที่สั่งห้ามการแสดงออกในการชุมนุมที่อาจเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมือง เป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นภายหลังการยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 แม้ว่าผู้ชุมนุมจะแสดงออกในประเด็นทางการเมือง ก็ไม่อาจนำคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 มาใช้ในกรณีนี้ได้ เพราะคำสั่งนี้ถูกยกเลิกไปก่อนที่การชุมนุมจะเกิดขึ้นแล้ว จึงน่าจะเป็นความเข้าใจผิดในการอ้างอิงกฎหมายของตำรวจ สภ.เมืองสตูล ที่อาจจะไม่รู้ถึงการสั่งยกเลิกข้อห้ามชุมนุมทางการเมือง และการนำคำสั่งที่ยกเลิกไปแล้วขึ้นมาอ้างเพื่อข่มขู่ไม่ให้ประชาชนแสดงออกเช่นนี้ ถือเป็นการอ้างกฎหมายผิดพลาดที่กระทบต่อเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง

รัฐธรรมนูญ มาตรา 279 รับรองให้ประกาศและคำสั่งของ คสช. ทุกฉบับมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยกฎหมายตลอดไป แม้ว่า คสช.จะหมดอำนาจไปตามมาตรา 265 แล้วก็ตาม เว้นแต่ว่า จะมีการออกกฎหมายมายกเลิก ซึ่งจากประกาศและคำสั่งของ คสช. ทั้งหมดอย่างน้อย 556 ฉบับ มีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. มายกเลิกเองแล้วอย่างน้อย 78 ฉบับ

หลายฉบับที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ยังคงถูกเก็บไว้ให้ใช้บังคับได้อยู่ เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 เรื่องให้อำนาจ กสทช. สั่งลงโทษสื่อได้โดยยกเว้นความรับผิด หรือประกาศ คสช. ฉบับที่ 26/2557 เรื่องคณะทำงานปิดเว็บไซต์ของ คสช. ซึ่งคำสั่งหัวหน้า คสช. ​ฉบับที่ 3/2558 ข้ออื่นๆ นอกจากข้อ 12 ที่ยกเลิกไปอย่างไม่ชัดเจนนั้น ก็ยังมีผลใช้บังคับอยู่ต่อไปด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอำนาจที่ให้ทหารสามารถจับกุมประชาชนไปกักตัวไว้ได้เจ็ดวัน โดยไม่มีข้อกล่าวหา

จึงเห็นได้ว่า แม้ คสช.จะหมดอำนาจไปแล้ว แต่มรดกทางกฎหมายอีกหลายประการที่ คสช. สร้างไว้ก็ยังอยู่กับเราต่อไปจนกว่าจะถูกทบทวนและออกกฎหมายมายกเลิกโดยไม่มีเงื่อนไข