ประมวลข้อมูล เหตุการณ์ตำรวจกดดัน-คุกคาม-สั่งห้ามกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง

กิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” เริ่มจากข้อถกเถียงเล็กๆ ของคนรุ่นใหม่ในทวิตเตอร์ และนำไปสู่การรวมตัวจัดการที่เป็นได้ทั้งงานกีฬา งานสันทนาการเพื่อการออกกำลังกาย และงานแสดงออกทางการเมืองที่กระแสคึกคักมากที่สุดในรอบหลายปี มีคนสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมที่กรุงเทพมหานครมากกว่าหมื่นคน และเกิดกิจกรรมต่อเนื่องขึ้นในอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ

แต่กิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ก็ได้เผยให้เห็นถึงบรรยากาศทางการเมืองภายใต้ยุคสมัยที่มีสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งว่า การแสดงออกยังทำได้ยากเย็น แม้ว่าจะไม่มีคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ซึ่งยกเลิกไปก่อนการเลือกตั้งแล้ว และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะก็ยังเปิดช่องให้จัดกิจกรรมกีฬาได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ตำรวจทราบล่วงหน้า แต่ตำรวจก็ยังใช้สารพัดวิธีเข้ากดดันและคุกคามผู้จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง การใช้อำนาจสั่ง “ไม่อนุญาต” ให้จัดงาน โดยอ้างเหตุผลที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็มีหลายกรณี การไม่อนุญาตให้นัดหมายรวมตัวกันในสถานที่ราชการซึ่งเป็นรูปแบบการปิดกั้นแบบเดิมๆ และการส่งคนไปเยี่ยมเยียนผู้จัดกิจกรรมที่บ้านหรือที่ทำงานก็ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง

ในบางพื้นที่การกดดันก็เป็นผลให้ผู้จัดตัดสินใจ “ถอย” ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิก การถอนตัว หรือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการเพื่อให้กิจกรรมสามารถดำเนินไปได้ แต่ในบางพื้นที่ผู้จัดก็ยืนยันใช้เสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเดินหน้าจัดกิจกรรมให้ได้ท่ามกลางการกดดันที่รายล้อมเข้ามาต่อเนื่องก่อนถึงวันจัดงาน

 

กรุงเทพฯ: จะแถลงข่าวยังยาก ห้ามวิ่งราชดำเนิน

กิจกรรมที่กรุงเทพมหานคร ถือเป็นจุดเริ่มต้นซึ่งมีกระแสขึ้นมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2562 โดยเริ่มแรกมีกำหนดจัดต้นปี 2563 แต่ยังไม่ได้ระบุวันที่และสถานที่ที่ชัดเจน กลุ่มผู้จัดจึงพยายามจะจัดงานแถลงข่าวเพื่อชี้แจงรายละเอียดงาน แต่เพียงแค่การแถลงข่าวก็ยังลำบาก เมื่อครั้งแรกวางแผนจะแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) แต่เจ้าของสถานที่ที่ติดต่อไว้ก็ขอยกเลิกเพราะถูกตำรวจกดดันอย่างหนัก ในวันที่ 9 ธันวาคม 2562

ต่อมาผู้จัดวางแผนย้ายการแถลงข่าวไปเป็นที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ในวันที่ 16 ธันวาคม 2562 แต่โรงแรมก็ขอยกเลิกการจองห้องอีกเพราะ “ถูกผู้มีอำนาจกดดันมา” สุดท้ายจึงเดินไปแถลงข่าวที่ลานโพธิ์ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งไม่ได้ขออนุญาตใช้สถานที่ไว้ก่อน ผู้จัดเพียงแค่ยืนชี้แจงกำหนดการสั้นๆ ท่ามกลางความสนใจของสื่อมวลชนจำนวนมาก

เดิมกิจกรรมนี้วางแผนจะจัดขึ้นจริงในวันที่ 12 มกราคม 2563 โดยจะเริ่มต้นเส้นทางวิ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันนทร์ ไปตามถนนพระอาทิตย์ เข้าถนนพระสุเมรุ ถนนหลานหลวง วนกลับมาถนนนครสวรรค์ และวิ่งตลอดแนวถนนราชดำเนินกลางกลับมาจบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ และทางตำรวจก็ไม่อนุญาตให้จัดงานวิ่งผ่านถนนราชดำเนินและบริเวณดังกล่าว ทางเฟซบุ๊กของเพจวิ่งไล่ลุงชี้แจงว่า “ถูกเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง และผู้มีอำนาจ กีดกันการให้อนุญาตใช้สถานที่และเส้นทางวิ่งอย่างหนัก ซึ่งทางเราได้ทำขออนุญาตอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา”

ผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่กรุงเทพมหานครจึงขออนุญาตใช้สถานที่กับทางกรุงเทพมหานคร และลงตัวได้ใช้สถานที่วิ่งคือ สวนรถไฟ

 

พัทยา: เปลี่ยนจุดวิ่งไม่กระทบการท่องเที่ยว สั่งเปลี่ยนชื่อกิจกรรม ห้ามไฮปาร์ค

อนุรักษ์ เจนตะวนิชย์ หรือ “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” เป็นผู้นัดหมายจัดกิจกรรมที่พัทยา โดยเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2563 สภ.เมืองพัทยาได้จัดประชุมร่วมกับผู้จัดกิจกรรมและมีหนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุมออกมาโดยมีรายละเอียดว่า

1. เห็นควรไม่ให้ใช้ชื่อกิจกรรมว่า “วิ่งไล่ลุง@Pattaya” เนื่องจากความไม่เหมาะสมในชื่อได้มีการกล่าวอ้างถึงเมืองพัทยาที่ถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย และเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก การนำชื่อเมืองพัทยาไปกล่าวอ้างในกิจกรรมอาจทำให้ภาพลักษณ์ของเมืองพัทยาในด้านการท่องเที่ยวเสื่อมเสียได้ นอกจากนี้ มติที่ประชุมยังกำหนดเงื่อนไขห้ามไม่ให้ใช้ป้าย หรือสัญลักษณ์ใดๆ ที่มีข้อความเสียดสี ด่าทอ หรือกล่าวถึงบุคคลอื่นในทางที่เสียหายโดยเด็ดขาด

2. เห็นควรให้ปรับเปลี่ยนเส้นทางวิ่ง จากเดิมที่เริ่มต้นบริเวณแยกนิภาลอร์ดจนสิ้นสุดกิจกรรมที่ท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย เป็นการเริ่มต้นกิจกรรมจากโค้งดุสิต (พัทยาเหนือ) และสิ้นสุดที่ซอยพัทยา 13/4 ใช้พื้นที่บริเวณชายหาดประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นการหลีกเลี่ยงให้กระทบกับการท่องเที่ยวน้อยที่สุด และหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจร โดยผู้จัดได้ขอตั้งจุดพักน้ำหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพัทยาบีช และมีเงื่อนไขไม่ให้มีการหยุดเพื่อปราศรัย หรือไฮปาร์ค

3. ให้ใช้เครื่องขยายเสียงประเภทโทรโข่งแบบมือถือได้ เพื่อควบคุมผู้ชุมนุมเพียง 3 ตัวเท่านั้น ซึ่งต้องกำหนดตัวบุคคลที่จะใช้โทรโข่งและแจ้งชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ ภาพถ่ายให้ทางตำรวจทราบ ไม่อนุญาตให้ใช้รถเครื่องขยายเสียง

 

แพร่: ตำรวจคุกคามผู้จัดอย่างหนักหลังประกาศจัดงาน

ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “หนึ่ง รูปหล่อ” หรือ ว่าที่ร้อยตรี ประเสริฐ หงวนสุวรรณ ประธานเครือข่ายผู้รักประชาธิปไตยแพร่ ซึ่งเป็นผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงจังหวัดแพร่ รายงานในเฟซบุ๊กส่วนตัวซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะว่า ในวันเสาร์ที่ 4 และวันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม 2563 เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าพบที่บ้าน และนัดพบหลายต่อหลายครั้ง เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการจัดงานวิ่งไล่ลุงในจังหวัดแพร่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ขอให้เขางดจัดงานโดยอ้างว่าเป็นเรื่อง “ความมั่นคง”

โดยในวันเสาร์ที่ 4 มกราคม 2563 ตำรวจมาหาเขาที่บ้านสองชุด และวันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม 2563 มีเจ้าหน้าที่ขอเข้ามาพูดคุยอีกครั้งหนึ่ง โดยครั้งนี้ประเสริฐนัดเจ้าหน้าที่ไปพูดคุยที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในเขตอำเภอเมืองฯ เมื่อถึงเวลานัดมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาพบเขารวม 3 นาย แจ้งว่า เป็นตำรวจสันติบาล สภ.เมืองแพร่ เจ้าหน้าที่ขอให้งดจัดงานวิ่งไล่ลุง เนื่องจากอาจจะกระทบความมั่นคง และแจ้งว่า แม้ประเสริฐจะยื่นหนังสือขอจัดงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถอนุญาตให้จัดงานได้ พร้อมทั้งอธิบายว่ากิจกรรมดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และกฎหมายอื่นๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการจราจร

ในวันจันทร์ที่ 6 มกราคม 2563 เวลา 10.00 น. ประเสริฐพร้อมด้วยกลุ่มผู้จัดวิ่งไล่ลุงแพร่อีก 8 คนไปที่ สภ.เมืองแพร่เพื่อยื่นหนังสือขอจัดงานวิ่งต่อผู้กำกับ สภ.เมืองแพร่ พร้อมแจ้งว่าน่าจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 500 คน สำหรับเส้นทางวิ่งเริ่มต้นที่ตลาดแพร่ปรีดา มารวมตัวกันที่สนามหลวงจังหวัดแพร่ จากนั้นจะการประกาศข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประเสริฐและผู้ร่วมจัดกิจกรรมยังไปที่เทศบาลเมืองแพร่เพื่อขออนุญาตจัดกิจกรรมวิ่งในพื้นที่สนามหลวง แต่เจ้าหน้าที่เทศบาลบ่ายเบี่ยงที่จะให้คำตอบ ประเสริฐยังได้ทราบจากเพื่อนบ้านของเขาในภายหลังด้วยว่ามีตำรวจไปถ่ายรูปบ้านของเขาในขณะเดียวกันด้วย นอกจากนั้นระหว่างที่ประเสริฐเดินทางในพื้นที่ก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยติดตามเขาเกือบตลอดเวลา

พฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ทำให้ประเสริฐตัดสินใจแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่า เขาต้องการเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เพื่อคุยเกี่ยวกับการจัดกิจกรรม ซึ่งผู้ว่าฯ นัดเขาเข้าพบในเวลา 15.30 น. ของวันเดียวกัน ผลการพูดคุยคือ ทางผู้ว่าฯ ยืนยันไม่ให้จัดกิจกรรม พร้อมระบุด้วยว่า สนามหลวงเมืองแพร่ใช้สำหรับพระราชพิธีเท่านั้น แต่ประเสริฐก็ยังยืนยันเดินหน้าจัดกิจกรรมต่อไป

 

ลำปาง: กดดันจนพ่อป่วย ทั้งยังบุกตามถึง รพ. ทั้งที่ไม่มีกิจกรรม

10 ม.ค. 63 นายกฤตภพ สติดีนิติวงศ์ อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 2 จังหวัดลำปาง ของพรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า ตนได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายหน่วยเข้าติดตามสอบถามข้อมูลส่วนตัวและถามเกี่ยวกับการทำกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ถึงปัจจุบันรวม 4 ครั้ง ทำให้คุณพ่อของตน ซึ่งอายุเกือบ 80 ปีและเป็นโรคเบาหวาน ถึงกับเครียดจนต้องเข้าโรงพยาบาล แต่ล่าสุดก็ยังมีตำรวจไปติดตามถามข้อมูลถึงในโรงพยาบาลอีก และยังโทรศัพท์สอบถามข้อมูลจากเขาเป็นระยะตลอดหลายวันที่ผ่านมา ทั้งที่จังหวัดลำปางไม่ได้มีการจัดกิจกรรมวิ่งแต่อย่างใด

กฤตภพเปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2562 ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ อ้างตัวเป็นตำรวจสืบสวน จำนวน 2-3 คน เดินทางไปที่บ้านของเขาในอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง โดยเขาไม่ได้อยู่บ้าน เพราะในช่วงหลังไปทำงานประจำอยู่ในกรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่จึงได้พบกับพ่อและแม่ของเขา ซึ่งทั้งสองคนอายุกำลังจะย่างเข้า 80 ปี อาชีพเกษตรกร และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองมาก่อน โดยเจ้าหน้าที่ได้พยายามสอบถามถึงข้อมูลส่วนตัวของเขา แต่ทางพ่อและแม่ก็พยายามปฏิเสธไม่ให้ข้อมูล เนื่องจากเป็นห่วงและไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่จะนำข้อมูลไปทำอะไร

กฤตภพระบุว่าทางด้านครอบครัวของเขาก็เกิดความเครียด เมื่อทราบเรื่องเขาถูกตำรวจติดตามตัว ทั้งพ่อยังมีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้พ่อเครียดและคิดมาก เพราะสำหรับคนสูงอายุวัยนั้น ความเข้าใจของคนโบราณคือ ตำรวจมาที่บ้านคือจะมาจับผู้ร้าย ทำให้พ่อลืมกินยาเบาหวาน จนช่วงสามวันก่อนความดันและน้ำตาลขึ้น ญาติจึงต้องพาตัวส่งโรงพยาบาลตอนตี 4 และต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล

กระทั่งเมื่อวานนี้ (9 ม.ค. 63) กฤตภพเปิดเผยว่ายังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 3 นาย ทราบว่าเป็นตำรวจสืบสวนของอำเภอวังเหนือ เดินทางมาที่บ้านของเขาอีก แต่ไม่มีใครอยู่บ้าน เนื่องจากพ่อและแม่อยู่โรงพยาบาล จึงไปพบกับพี่ชายของเขาที่บ้านข้างๆ ได้ทราบว่าพ่อเขาอยู่ที่โรงพยาบาลจากพี่ชายด้วย หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวได้เดินทางไปถึงโรงพยาบาลที่พ่อเขารักษาตัวอยู่ โดยแม่ของเขาได้โทรมาแจ้งว่า มีตำรวจ 3 นายมาหาถึงโรงพยาบาล

 

พะเยา: นักศึกษาถูกหมายเรียก กดดันที่บ้าน เข้าให้ถ้อยคำก่อน ตร.ห้ามจัด

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า 6 มกราคม 2563 ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองพะเยา ไอดิน ประอินทร์, นราวิชญ์ อ่อนทอง และทิวา ชีวะวัฒนาสกุล นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา ที่เตรียมจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ในพื้นที่อำเภอเมืองพะเยา ได้เดินทางเข้ารับหนังสือตอบกลับของผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองพะเยา ภายหลังจากที่ได้เข้าชี้แจงกิจกรรมกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจนานกว่า 5 ชั่วโมง

ผู้กำกับ สภ.เมืองพะเยาระบุในหนังสือตอบกลับว่า ไม่ให้ความอนุเคราะห์กับทางผู้จัดกิจกรรม เหตุยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากเทศบาลเมืองพะเยา และไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจราจรในการใช้เส้นทาง อีกทั้งกิจกรรมที่จะจัดขึ้นนั้น มีชื่อกิจกรรม รูปแบบ สัญลักษณ์เสื้อ เหรียญ และวันเวลาจัดกิจกรรม สอดคล้องกับการจัดกิจกรรมของกลุ่มผู้จัดกิจกรรม “วิ่ง ไล่ ลุง” ที่กรุงเทพมหานครและอีกหลายจังหวัด ในลักษณะเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ความคิดเห็นในทางการเมือง การจัดกิจกรรมลักษณะดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งหากจัดกิจกรรมโดยไม่ได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะ อาจเข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะได้

ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2562 นราวิชญ์ได้รับหมายเรียกพยานที่ไม่มีการระบุ “ผู้กล่าวหา” และ “ผู้ถูกกล่าวหา” ขอให้เข้าพบกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพะเยา ในวันที่ 6 มกราคม 2563 เวลา 13.30 น. จากนั้นอีกประมาณสองวัน ทิวาก็ได้รับหมายเรียกในลักษณะเดียวกัน และเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 ไอดินได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองพะเยา ขอให้เข้าไปพบกับทางเจ้าหน้าที่ก่อนวันนัดในหมายเรียก เขายังได้รับการติดต่อจากอาจารย์ในคณะว่าทางคณบดีอยากจะพบตัว เมื่อสอบถามถึงสาเหตุ ทางอาจารย์ระบุว่าอยากพูดคุยด้วย ให้มาโดยด่วน นายทิวาจึงสอบถามเพื่อนอีก 2 คน เพราะคาดว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง”

จากนั้น เวลาประมาณ 16.00 น. ไอดินได้รับแจ้งจากน้องซึ่งอาศัยอยู่ที่บ้านในอำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ว่าได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4-5 นาย เข้ามาที่บ้าน และสอบถามว่าแม่ของนายไอดินอยู่บ้านหรือไม่ เมื่อน้องบอกว่าแม่ไปวัด ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ติดตามไปพบถึงวัด และได้พยายามสอบถามแม่ของนายไอดินว่า ทราบหรือไม่ว่าลูกของตนนั้นได้ทำกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ที่จังหวัดพะเยา และแม่ได้ยินยอมให้นายไอดินจัดกิจกรรมดังกล่าวหรือไม่ ทั้งยังได้มีการจัดทำบันทึกการให้ถ้อยคำของแม่นายไอดินลงในกระดาษ A4 เขียนด้วยลายมือ พร้อมกับให้แม่นายไอดินลงลายมือชื่อด้วย ด้านนราวิชญ์ก็มีตำรวจไปหาที่บ้านในลักษณะเช่นเดียวกัน

 

เชียงราย: ตำรวจบอกเส้นทางวิ่งทับขบวนเสด็จ

หลังจากที่ผู้จัดกิจกรรมเข้ายื่นหนังสือขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองเชียงราย เพื่อขอใช้เส้นทางวิ่งในช่วงเย็นวันที่ 12 มกราคม 2563 ตั้งแต่บริเวณลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 (ศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่า) ถนนสิงหไคล มุ่งหน้าไปทางสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงราย และถนนเลียบค่ายเม็งรายมหาราช ก่อนจะวกเข้าไปทางเกาะแม่ฟ้า อ้อมกลับถนนสิงหไคล ไปสิ้นสุดการวิ่งที่ศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่า รวมระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตรนั้น

ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า ตำรวจ สภ.เมืองเชียงรายแจ้งว่าในวันเวลาดังกล่าว ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงรายมีภารกิจถวายความปลอดภัยแด่พระราชวงศ์ถึง 2 พระองค์ และเส้นทางขบวนเสด็จเป็นเส้นทางที่ทับซ้อนกัน ในเวลาที่คาบเกี่ยวกันพอดี จึงไม่สามารถอนุญาตให้ใช้ผิวการจราจร ทางสาธารณะ ในการประกอบกิจกรรมดังกล่าวได้ หากฝ่าฝืนอาจเสี่ยงต่อการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจราจรทางบก และกฎหมายอาญาอื่นที่เกี่ยวข้อง

ยกตัวอย่างเช่น ทางโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ ซึ่งจะจัดกิจกรรมการวิ่ง (1st D.S. Run For Health 2020th) ในวันที่ 12 มกราคม 2563 แม้จะเตรียมการมาเป็นเวลานานแล้วก็ได้ให้ความร่วมมือเลื่อนกิจกรรมดังกล่าวออกไป ดังนั้น จึงขอให้ผู้ที่จะเกี่ยวข้องใช้วิจารณญาณในการเข้าร่วมกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะเป็นการเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายซึ่งอาจได้รับโทษทางอาญาในภายหลังได้แล้ว ยังเป็นการไม่เหมาะสมอีกด้วย

 

บุรีรัมย์: ตำรวจเชิญผู้จัดวิ่งไล่ลุง อ.สตึก เข้าพบ พร้อมกดดันที่ทำงาน

4 มกราคม 2563 ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Jame Nattapong ซึ่งเป็นผู้จัดกิจกรรมในพื้นที่อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ให้ข้อมูลว่า เขาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยตั้งค่าเป็นสาธารณะเชิญชวนเพื่อนๆ ร่วมทำกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2563 เวลา 11.52 น. และมีการแชร์แปดครั้ง หลังเขาโพสต์กิจกรรมดังกล่าวไปก็มีคนรู้จักบอกเขาว่า จะมีตำรวจเข้ามาหาที่บ้าน วันต่อมาระหว่างที่เขาไปทำงานที่โรงงานก็มีเจ้าหน้าที่มาหาเขาที่บ้านแต่ไม่พบ เจ้าหน้าที่จึงไปพบกับเขาที่โรงงานและหัวหน้างานของเขาเป็นคนมาตามเขาไปพบกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งตัวเขาเองระบุชื่อสถานที่ทำงานไว้บนเฟซบุ๊ก การพูดคุยระหว่าง “เจมส์” กับเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.สตึกใช้เวลาประมาณ 20 นาที เจ้าหน้าที่พยายามสอบถามถึงจำนวนผู้เข้าร่วมและเส้นทางการวิ่ง

ต่อมาในวันที่ 5 มกราคม 2563 “เจมส์” ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่อีกครั้งให้ไปพบกับรองผู้กำกับ สภ.สตึก โดยเจ้าหน้าที่จะให้รถมารับเขาจากที่พักและเมื่อพูดคุยแล้วก็จะให้รถของเจ้าหน้าที่ขับไปส่งเขาที่โรงงาน แต่ “เจมส์” ยืนยันว่า เขาจะเดินทางไปด้วยรถของตัวเอง รองผู้กำกับถามมเขาทำนองว่า สนใจการเมืองหรือไม่ และรู้หรือไม่ว่ากิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” เป็นกิจกรรมทางการเมือง “เจมส์” ตอบไปทำนองว่า เขาแค่อยากจัดกิจกรรมวิ่ง ส่วน “วิ่งไล่ลุง” เขาตั้งใจจะสื่อว่า ยิ่งวิ่งยิ่งเด็ก รองผู้กำกับยังพูดกับเขาเพิ่มเติมในทำนองว่า อยากให้เลื่อนวันจัดงาน และไม่อยากให้เขาเป็นเบี้ยให้ “พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง” รวมทั้งบอกด้วยว่า อาจจะไปพบกับผู้บริหารโรงงานเขาเพื่อพูดคุยอีก

“เจมส์” เล่าต่อว่า เมื่อพูดคุยกับรองผู้กำกับ สภ.สตึกแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนคนหนึ่งพูดกับเขาทำนองว่า ขอให้หยุดเพราะ “คงพอรู้นะว่าพื้นที่ตรงนี้ของใคร” และยังถามเขาด้วยว่าพ่อกับแม่ของเขาประกอบอาชีพอะไร “เจมส์” ยอมรับว่า เขามีความกังวลว่าการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปหาเขาที่ที่ทำงานอาจส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานของเขา พร้อมทั้งแสดงความไม่สบายใจว่า การทำกิจกรรมนี้เป็นเรื่องของเขา แต่การที่เจ้าหน้าที่สอบถามถึงพ่อกับแม่ของเขาก็ดูเหมือนจะเป็นการแสดงออกซึ่งการคุกคาม

ความเคลื่อนไหวล่าสุดในวันที่ 6 มกราคม 2563 “เจมส์” ตัดสินใจยุติบทบาทในฐานะผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์แล้ว แต่กิจกรรมน่าจะดำเนินต่อไป

 

มหาสารคาม: เจ้าหน้าที่ไปบ้านนิสิต มมส. มหาวิทยาลัยไม่ให้ใช้สถานที่

2 มกราคม 2562 พงศธรณ์ ตันเจริญ หรือบอย หนึ่งในผู้จัดกิจกรรม “แล่น ลัก ลุง” กิจกรรมออกกำลังที่เพจเฟซบุ๊ก แนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตย เล่าว่า ระหว่างที่เขากำลังพักผ่อนอยู่ที่บ้านในจังหวัดกาฬสินธุ์ เขาได้รับโทรศัพท์จากอาจารย์ท่านหนึ่งว่า ทางมหาวิทยาลัยได้รับการติดต่อจากฝ่ายความมั่นคงเกี่ยวกับกิจกรรมของพวกเขาซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้มีการพูดคุยและทางผู้บริหารมีความเห็นว่าไม่สมควรให้จัดกิจกรรมนี้ อาจารย์ยังได้นัดหมายให้เขาเข้าไปพูดคุยที่มหาวิทยาลัยด้วย ซึ่งพงศธรณ์ก็แจ้งกับอาจารย์ว่าเขาจะเข้าไปที่มหาวิทยาลัยในวันที่ 3 มกราคม 2563

ต่อมาในเวลาประมาณ 14.00 น. ของวันที่ 2 มกราคม ระหว่างที่พงศธรณ์อยู่ที่บ้าน มีรถยนต์ฟอร์จูนเนอร์แล่นมาจอดและบีบแตรที่หน้าบ้านของเขา เมื่อเขาออกไปที่หน้าบ้านก็พบชายสองคนแต่งกายนอกเครื่องแบบ ชายคนหนึ่งที่มาอ้างตัวว่าชื่ออนุดิษฐ์ และอ้างว่าตัวเองเป็นตำรวจจาก สภ.เมืองมหาสารคาม มาพบเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมตามคำสั่งของนาย ส่วนชายอีกคนไม่ได้แจ้งว่าตัวเองชื่ออะไร

ในวันที่ 4 มกราคม 2563 เวลาประมาณ 8.00 น. เมื่อมีความชัดเจนว่าทางมหาวิทยาลัยไม่น่าจะให้ใช้พื้นที่ทำกิจกรรม เพจแนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตยจึงประกาศย้ายสถานที่จัดกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามมาเป็นที่หอนาฬิกาเมืองมหาสารคามแทน เมื่อทางเพจประกาศการย้ายสถานที่จัดกิจกรรมออกไป ชายหนึ่งในสองคนที่มาพบเขาที่บ้านในจังหวัดกาฬสินธุ์โทรศัพท์มาหาเขาอีกครั้งหนึ่งโดยบอกว่า นายฝากให้มาถามว่า พ่อและแม่ของเขาประกอบอาชีพอะไร พงศธรณ์ระบุว่า เขารู้สึกประหลาดใจและไม่สบายใจที่เจ้าหน้าที่สอบถามถึงพ่อแม่ของเขา จึงตอบกลับไปว่า กิจกรรมนี้เป็นเรื่องของเขาไม่เกี่ยวข้องกับพ่อและแม่ของเขาเหตุใดจึงถามเช่นนั้น ซึ่งโดยส่วนตัวพงศธรณ์รู้สึกว่า การสอบถามถึงครอบครัวของเขาในลักษณะนี้ถือเป็นการคุกคาม

 

ขอนแก่น: อย่าให้เข้าใจกิจกรรมสุขภาพเป็นการเมือง

ที่ขอนแก่นมีกิจกรรมชื่อ Ran ไล่พุง ไร้ลุง ไร้โรค ซึ่งจัดโดยกลุ่มนักศึกษาชื่อ KKU อควาเรียม นัดหมายจัดกิจกรรมวิ่งเริ่มจากบึงสีฐาน ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เวลา 16.30 . เนื่องจากกิจกรรมจัดในสถาบันการศึกษาจึงไม่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม พ...การชุมนุมสาธารณะ กลุ่มนักศึกษาจึงยื่นหนังสือต่อมหาวิทยาลัยขอใช้พื้นที่จัดกิจกรรมเท่านั้น

10 มกราคม 2563 ฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม สำนักงานอธิการบดี มีหนังสือตอบกลับแจ้งว่า ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า วันเวลาดังกล่าวเป็นวันหยุด มหาวิทยาลัยมีอัตรากำลังไม่เพียงพอที่จะอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยด้านการจราจร จึงไม่สามารถอนุมัติตามที่ขอได้ และเห็นว่า ในวันและเวลาดังกล่าวเส้นทางวิ่งบริเวณรอบบึงหน้าอาคารอเนกประสงค์กาญจนาภิเษกน่าจะมีความปลอดภัยและรองรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ โดยย้ำว่า ในการจัดกิจกรรมดังกล่าวขอให้คำนึงถึงความสงบเรียบร้อย ความสะอาดภายหลังกิจกรรม และไม่ส่งเสริมการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายหรืออาจจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือทำให้สังคมภายนอกมหาวิทยาลัยเข้าใจการจัดกิจกรรมเพื่อสุขภาพคลาดเคลื่อนสับสนเป็นการจัดกิจกรรมทางการเมืองซึ่งบังเอิญเป็นวันเดียวกัน

 

กาฬสินธุ์: โรงเรียนไม่ให้ใช้สถานที่นัดหมาย ขอกำลังตำรวจดูแล

ตามที่มีการนัดหมายในเฟซบุ๊กว่า จะมีการจัดงาน “วิ่งไล่ลุง@กาฬสินธุ์” นัดหมายในวันที่ 12 มกราคม 2563 เวลา 15.30 น. โดยเริ่มต้นและสิ้นสุดที่ถนนภิรมย์ หน้าโรงเรียนอนุกูลนารี ต่อมาปรากฏการเผยแพร่เอกสารราชการ ลงวันที่ 3 มกราคม 2563 จากผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ส่งถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 มีบุคคลได้นำหนังสือไปยื่นต่อผู้อำนวยการโรงเรียนอนุกูลนารี เพื่อขอใช้พื้นที่บริเวณหน้าเสาธงจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง แต่ทางโรงเรียนไม่ได้ลงรับหนังสือดังกล่าวไว้ในระบบ และไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่จัดกิจกรรมดังกล่าว

ต่อมาเมื่อปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ว่า จะมีการใช้สถานที่ของโรงเรียนจัดกิจกรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุกูลนารีจึงไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ว่า ทางโรงเรียนไม่มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมดังกล่าว และได้ประสานงานกับเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังได้ประสานงานกับตำรวจเพื่อขอให้จัดเจ้าหน้าที่ไปดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันไม่ให้กลุ่มบุคคลเข้าไปใช้สถานที่จัดกิจกรรมใดๆ ในวันและเวลาดังกล่าวด้วย

 

อุบลราชธานี: ตำรวจเปลี่ยนใจ “สั่งห้ามกิจกรรมวิ่งไล่ลุง” หวั่นกระทบจราจรประชาชน

7 มกราคม 2563 ปรากฏเอกสารลงจาก สภ.เมืองอุบลราชธานีสั่งห้ามกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ระบุข้อความว่า ตามที่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ บริเวณข้างทุ่งศรีเมือง และวิ่งไปตามถนนชยางกูร วันที่ 12 มกราคม 2563 ระหว่าง 5.00 น.- 8.00 น. ที่พิจารณาเบื้องต้นว่า ‘อนุญาต’ นั้น เมื่อพิจารณาเส้นทางการวิ่งของกลุ่มชุมนุมหรือจัดกิจกรรม ประกอบกับจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรของประชาชนที่สัญจรไปมา เนื่องจากถนนชยางกูรเป็นเส้นทางสายหลักของจังหวัดอุบลราชธานี หากมีการอนุญาตให้วิ่งบนเส้นทางสายนี้ จะสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนจำนวนมาก นอกจากนี้ทุกวันอาทิตย์จังหวัดอุบลราชธานีจะมีกิจกรรมตักบาตรที่บริเวณทุ่งศรีเมือง ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมกันเป็นจำนวนมากเหมือนกัน และเกรงว่าจะกีดขวางการสัญจรของประชาชน จึง ‘ไม่อนุญาต’ ให้ชุมนุมสาธารณะ

สำหรับผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง อุบลราชธานี ให้ข้อมูลว่า หนึ่งวันก่อนหน้านี้ คือ 6 มกราคม 2563 ได้รับหนังสืออนุญาตให้ชุมนุมได้ ส่วนหนังสือที่ออกมาภายหลังที่ออกห่างกันในไม่กี่ชั่วโมงนั้น เห็นจากโพสต์ในเฟซบุ๊กไม่ได้รับเป็นเอกสาร

ทีมจัดงานยังเปิดใจว่า ยังคงมีการ #วิ่งไล่ลุง เหมือนเดิม คาดว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 1,000 คน “ทางเราได้ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์แจ้งทางส่วนราชการแล้ว ท่านจะอนุเคราะห์หรือไม่ก็ไม่เป็นอะไรถือว่าท่านรับทราบแล้ว แต่ท่านไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจว่าจะอนุญาตหรือไม่ เพราะประชาชนไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมายและสร้างความเดือดร้อนให้ใคร ท่านจะไม่ให้ความร่วมมือประชาชนก็เท่ากับท่านสร้างภาพไม่ดีต่อประชาชนไปอีก” ทีมงานผู้จัดบอกไว้ตอนหนึ่ง

ต่อมาช่วงเย็นวันที่ 11 มกราคม 2563 สถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานีออกคำสั่งที่ 20/2563 สั่งว่า เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชน การดูแลการชุมนุมสาธารณะ และการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนต้องแสดงหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ราชการออกให้

 

นครศรีธรรมราช: ตำรวจเยี่ยมบ้านผู้ริเริ่มกิจกรรมสามวันซ้อน 

จังหวัดนครศรีธรรมราชมีนัดหมายกิจกรรมวิ่งสามแห่ง ที่หน้าวัดพระธาตุฯ เวลา 5.30 น., ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เวลา 5.45 น. และที่หน้าวัดพระธาตุฯ เวลา 17.00 น. กรณีของที่หน้าวัดพระธาตุฯ เวลา 5.30 น. “อ้น” ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมระบุว่า หลังจากที่เขาประชาสัมพันธ์กิจกรรมมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมหลักร้อย ตลอดกระบวนการเขาไม่เคยเปิดเผยตัวตน เฟซบุ๊กและไลน์ไม่ใช้ชื่อจริง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังสืบทราบตัวตนและข้อมูลส่วนตัวของเขา

7 มกราคม 2563 – ลุงของ “อ้น” แจ้งว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ สภ.ปากพนังมาถามหา “อ้น” ที่บ้านในอำเภอปากพนังและกลับไป

8 มกราคม 2563 – พ่อตาของ “อ้น” แจ้งว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างตัวว่าเป็นรองผู้กำกับการสืบสวน สภ.เมืองนครศรีธรรมราชมาหาที่บ้านในอำเภอปากพนัง และขอเบอร์โทรศัพท์ของ “อ้น” ไป จากนั้นชายรายดังกล่าวโทรติดต่อให้ “อ้น” ไปพูดคุยกันที่ร้านกาแฟในเวลาประมาณ 17.00 น. เมื่อไปถึงพบชายสองคน ไม่สวมเครื่องแบบตำรวจอ้างตัวว่า ชื่อ ‘รองสมพร’ การพูดคุยคือ สอบถามเรื่องกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ขอให้” อ้น” ลดบทบาทการแสดงออกและไม่ให้เป็นแกนนำ “อ้น” ตอบว่า กิจกรรมดังกล่าวไม่มีแกนนำอยู่แล้วและวันที่จัดกิจกรรมเขาไม่ได้อยู่ในพื้นที่นครศรีธรรมราช “อ้น” ขอตำรวจว่า อย่าไปที่บ้าน ซึ่งก็ดูเหมือนทุกคนจะเข้าใจตรงกัน

9 มกราคม 2563 – รองผู้กำกับการ สภ.ปากพนังและตำรวจในและนอกเครื่องแบบประมาณสี่ห้าคนเดินทางไปที่บ้านพ่อแม่ของ “อ้น” ในอำเภอปากพนัง ถ่ายรูปพ่อแม่และยายของ “อ้น” ทั้งนี้หลังเผชิญกับการคุกคาม ล่าสุดเวลาประมาณ 13.30 น. “อ้น” ประกาศยกเลิกกิจกรรมวิ่งไล่ลุง แต่ยังยืนยันว่าวันที่ 12 มกราคม 2563 เขาจะยังคงไปวิ่งออกกำลังกายปกติที่หน้าวัดพระธาตุ

 

นครศรีธรรมราช: ม.วลัยลักษณ์ห้ามนักศึกษา ชี้เป็นกิจกรรมการเมืองอาจสร้างความแตกแยก 

4 มกราคม 2562 เพจเฟซบุ๊ก มวล.เสรี ซึ่งคาดว่าจะเป็นของกลุ่มนักกิจกรรมนักศึกษาอิสระของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพิ่มกิจกรรม “วิ่ง ไล่ ลุง มวล.” บนเพจของตัวเอง โดยมีกำหนดเวลาจัดกิจกรรมในวันที่ 12 มกราคม 2563 ระหว่างเวลา 5.30 – 7.00 น. ซึ่งเป็นเวลาไล่เลี่ยกับการจัดกิจกรรมในพื้นที่อื่นๆ ทางกลุ่มประกาศว่าจะใช้เส้นทางถนนรอบนอกมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ซึ่งมีระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ทางกลุ่มยังเชิญชวนผู้ร่วมกิจกรรมให้เตรียมกระดาษหรือของสิ่งอื่นมาเพื่อเขียนข้อความแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ: ไม่พอใจอะไร? ทำไมถึงออกมาวิ่งไล่ลุง? หรือลุงคุณคือใคร? ด้วย

ต่อมาในวันที่ 8 มกราคม 2562 เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เผยแพร่แถลงการณ์ลงวันที่ 7 มกราคม 2563 ไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรม “วิ่ง ไล่ ลุง” โดยเหตุผลทำนองว่า ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้รับการติดต่อจากทางผู้จัดในเรื่องการใช้สถานที่ ทางมหาวิทยาลัยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมนี้ มหาวิทยาลัยสนับสนุนการแสดงความเห็นที่หลากหลายทางวิชาการแต่กิจกรรมนี้เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งและมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้บุคคลใดมาใช้พื้นที่จัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง

หลังทางมหาวิทยาลัยเผยแพร่แถลงการณ์ดังกล่าวบนเว็บไซต์ ในวันที่ 9 มกราคม 2563 เฟซบุ๊กเพจ มวล.เสรี มีการนำแถลงการณ์ของทางมหาวิทยาลัยมาเผยแพร่บนเพจของตัวเอง รวมทั้งมีการนำลิงก์จากเว็บไซต์ทางการของมหาวิทยาลัยที่เผยแพร่ข่าว “องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รวมพลังคัดค้าน พ.ร.บ นิรโทษกรรม” เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่กรุงเทพฯ มาโพสต์บนเพจของตัวเอง พร้อมเขียนสเตตัสประกอบว่า “กิจกรรมทางการเมือง ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เคยเข้าร่วม”

 

ปัตตานี: ทหารบีบมัสยิดกลาง ไม่ให้พื้นที่เป็นจุดปล่อยตัว

7 มกราคม 2563 หนึ่งในผู้จัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง-ตานี” เปิดเผยกับทีมข่าว The Reporters ว่า จากเดิมที่มีการกำหนดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเลือกจังหวัดปัตตานีเป็นพื้นที่รวมตัวทำกิจกรรม และใช้สถานที่รวมตัวนักวิ่งบริเวณหน้ามัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี และปล่อยตัวในเวลา 06.30 น. ตามเส้นทางวิ่งหลังออกตัวที่ถนนยะรัง เลี้ยวซ้ายไปถนนพิพิธ ตรงไปขึ้นสะพานเดชา กลับตัวที่ยูเทิร์นหน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี เลี้ยวซ้ายวิ่งเลาะไปริมแม่น้ำปัตตานี เลี้ยวขวาขึ้นสะพานศักดิ์เสนีย์ ลงสะพานเลี้ยวซ้ายไปถนนปัตตานีภิรมย์ ผ่านมัสยิดปากีฯ ตรงไปย่านเมืองเก่าตานี เลี้ยวขวาเข้าเส้นศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และเลี้ยวขวาเข้าถนนนาเกลือ ผ่านตลาดพิธาน, ห้างไดอาน่า ตรงไปเข้าถนนยะรัง โดยใช้จุดบรรจบหรือเส้นชัยที่มัสยิดกลางฯ เป็นระยะทางรวม 3.5 กิโลเมตรโดยประมาณ

ล่าสุดได้รับแจ้งจากทางอิหม่ามของมัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานีว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารมาหาและถามหาทางผู้จัดงานวิ่งไล่ลุง-ตานี พร้อมกับสั่งว่า ไม่ให้ทางมัสยิดกลางให้พื้นที่รวมตัวแก่ทางผู้จัดงานและประชาชนที่จะเข้ามาร่วมงาน โดยระบุว่าเป็นคำสั่งจากทางพลโทพรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 โดยตรง และให้เหตุผลว่า ต้องการให้ปัตตานีเป็นตัวอย่างเมืองสงบ

โดยทางผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง-ตานีระบุว่า แม้จะมีคำสั่งบีบไม่ให้ใช้พื้นที่ของมัสยิดกลางฯ เป็นแลนด์มาร์กของกิจกรรมครั้งนี้ ก็จะดำเนินกิจกรรมวิ่งไล่ลุงต่อไป และต่อมาทางกลุ่มผู้จัดได้ไปขอใช้สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ปัตตานี เป็นสถานที่ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้แทน

8 มกราคม 2562 ประชาไทรายงานว่า นักกิจกรรมของสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ PerMAS ถูกเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบประมาณ 4-5 คน เดินทางโดยรถฮัมวีมาที่บ้านพักในพื้นที่ตำบลประจัน อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เพื่อสอบถามข้อมูล แต่เจ้าตัวไม่ได้อยู่ที่บ้านดังกล่าว เจ้าหน้าที่จึงได้สอบถามข้อมูลจากมารดาแทน จากนั้นเวลาประมาณ 12.00 น. มีเจ้าหน้าที่ทหารใส่ชุดนอกเครื่องแบบจำนวน 6-8 คน มาที่บ้านพักพร้อมสอบถามข้อมูลจากมารดาอีกครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ได้แนะนำตัวเองว่า ชื่อ ร.ต.ประสิทธิ์ ศรีโรงเชน ตำแหน่งผู้ช่วยนายทหารฝ่ายการข่าว กรมทหารพรานที่ 22 เพื่อสอบถามข้อมูลที่เกี่ยวกับการได้เคยเข้าร่วมกิจกรรมแฟลชม็อบ ‘ไม่ถอยไม่ทน’ ที่สกายวอล์ค ปทุมวัน และนอกจากนั้นแล้วนักกิจกรรมนักศึกษาอีก 2 คนที่เคยเดินทางไปร่วมกิจกรรมแฟลชม็อบที่สกายวอล์ค ปทุมวัน ด้วยกันก็ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเดินทางไปสอบถามข้อมูลการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวอีกด้วย