นักโทษ 112 ร้อง “ดีเอสไอ” ทำหน้าที่หลังไม่ได้พักโทษเพราะดีเอสไอไม่ถอนหมายอายัดตัว

 

ปิยะ นักโทษคดีมาตรา 112 ที่ถูกจับและคุมขังมานาน 5 ปี มีสิทธิได้รับการพักโทษและอาจถูกปล่อยตัวต้นปี 2563 แต่ความติดขัดในเอกสารอาจทำให้เข้าไม่ได้รับสิทธิพักโทษ โดยในปี 2557 “ดีเอสไอ” เคยส่งหมายอายัดตัวคดี 112 คดีที่ 2 ของเขาไปที่เรือนจำ แม้ว่าต่อมาปิยะจะถูกพิพากษาจำคุกและรับโทษจำคุกคดี 112 ทั้งสองคดีไปแล้ว แต่ดีเอสไอยังไม่ถอนหมายอายัดตัวคดี 112 คดีที่สองของเขาโดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเกษียณอายุไปแล้ว

 

ปิยะ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2557 เขาถูกตั้งข้อหาและดำเนินคดีตามมาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แยกเป็นสองคดี ซึ่งต่อมาศาลพิพากษาว่าเขามีความผิดทั้งสองคดีและลงโทษจำคุกรวม 14 ปี

คดีแรก ปิยะถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “นายพงศธร บันทอน” โพสข้อความหมิ่นประมาทพระกษัตริย์ฯ ปิยะยอมรับว่ารูปที่ปรากฏบนเฟซบุ๊คคือรูปของเขา แต่ปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กนี้ หลักฐานในคดีนี้ คือ ภาพคล้ายถูกถ่ายจากเฟซบุ๊กซึ่งถูกแชร์ต่อกันบนอินเทอร์เน็ต ผู้พบเห็นภาพที่ถูกแชร์ต่อกันนำเรื่องไปกล่าวโทษต่อตำรวจในหลายท้องที่โดยไม่มีใครเคยเห็นโพสต์ต้นฉบับ ปิยะต่อสู้คดีว่า การดำเนินคดีนี้โจทก์ไม่มีหลักฐานที่เป็นหมายเลขไอพีแอดเดรส และไม่พบร่องรอยการเข้าใช้งานเฟซบุ๊กดังกล่าวในเครื่องคอมพิวเตอร์ของปิยะ ศาลอาญาไม่เชื่อข้อต่อสู้ของปิยะและพิพากษาลงโทษจำคุกเขาเป็นเวลา 9 ปี ก่อนจะลดให้เหลือ 6 ปี ต่อมาปิยะอุทธรณ์คดีและศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายืน คดีนี้สิ้นสุดตั้งแต่ปลายปี 2559 ปิยะรับโทษจำคุกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 
คดีที่สอง เขาถูกกล่าวหาว่า ส่งอีเมล์สองอีเมล์ที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯโดยใช้ชื่อ Vicent Wang ไปยังธนาคารกรุงเทพ คดีนี้พนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคดี คือ พนักงานสอบสวนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ปิยะปฏิเสธว่า เขาไม่ได้เป็นผู้ส่งอีเมล์ โดยโจทก์มีเพียงหลักฐานว่า ปิยะเคยใช้ชื่อว่า Vincent Wang ในการค้าขายมาก่อน ศาลสั่งพิจารณาคดีนี้เป็นการลับ และห้ามคัดถ่ายสำนวนในคดี เดือนตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บรรยากาศเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อ่อนไหวสูงสุด ศาลพิพากษาจำคุกปิยะ 8 ปี เบื้องต้นปิยะตั้งใจจะอุทธรณ์คดี แต่ต่อมาเปลี่ยนใจขอถอนอุทธรณ์ เพื่อให้คดีถึงที่สุดและใช้สิทธิยื่นขอพระราชทานอภัยโทษรวมทั้งขอลดโทษ หรือพักโทษต่อไป คดีนี้สิ้นสุดช่วงกลางปี 2560 
หลังจากคดีทั้งสองถึงที่สุด ทนายความของปิยะขอคัดถ่ายสำเนาเอกสารรับรองคดีถึงที่สุด เพื่อใช้ประกอบการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ปิยะได้รับการลดหย่อนโทษจาก พรฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562 โดยได้รับการลดโทษครึ่งหนึ่งเหลือโทษจำคุก 7 ปี และจนถึงปัจจุบัน เขาถูกคุมขังมาแล้วเป็นเวลา 4 ปี 11 เดือน เหลือโทษจำคุกอีกราว 2 ปี 1 เดือน น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษทั้งหมด ทำให้ปิยะมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ที่จะยื่นขอพักการลงโทษ 
การพักการลงโทษ คือ หลักเกณฑ์ของทางกรมราชทัณฑ์ที่อนุญาตให้ปล่อยตัวนักโทษที่คดีถึงที่สุดแล้วออกมาอยู่นอกเรือนจำภายใต้เงื่อนไขการคุมความประพฤติ โดยมีหลักเกณฑ์ว่า ต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดีขึ้นไป ต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก และได้รับโทษมาแล้วในสัดส่วนอัตราโทษตามที่ทางราชทัณฑ์กำหนด เพื่อลดความแออัดของเรือนจำและเพื่อให้นักโทษมีโอกาสปรับตัวเพื่อกลับเข้าสู่สังคม 
ซึ่งนักโทษที่จะได้รับการพักโทษต้องเป็น “นักโทษเด็ดขาด” ซึ่งหมายถึงคดีถึงที่สุดแล้ว แต่ในกรณีของปิยะแม้คดีของเขาจะสิ้นสุดไปนานแล้วและมีเอกสารรับรองจากศาล แต่กลับไม่สามารถขอพักโทษได้ เนื่องจากเขายังติด “หมายอายัดตัว” ของดีเอสไอ
เนื่องจากระหว่างที่ปิยะถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี 112 คดีแรกอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ต้องการเอาตัวเขาไว้ดำเนินคดีที่สอง จึงส่ง “หมายอายัดตัว” ของปิยะให้ทางเรือนจำ ตั้งแต่ปี 2557 เพื่อที่หากปิยะจะได้รับการประกันตัวจากคดี 112 คดีแรก เจ้าหน้าที่เรือนจำจะแจ้งให้ดีเอสไอทราบและเจ้าหน้าที่ดีเอสไอจะมารับตัวเพื่อไปดำเนินคดีต่อในคดีที่สอง แต่ปิยะไม่ได้เคยได้รับการปล่อยตัวเลย จนกระทั่งดีเอสไอดำเนินคดีที่สอง ส่งฟ้อง พิจารณาคดี จนกระทั่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว หมายอายัดตัวดังกล่าวจึงไม่ถูกใช้งานและค้างอยู่ในระบบของเรือนจำ ทั้งที่ตามกระบวนการปกติเมื่อคดีของปิยะถึงที่สุดแล้ว เจ้าหน้าที่ดีเอสไอผู้ออกหมายอายัดตัวก็ต้องแจ้งมายังเรือนจำเพื่อขอถอนหมายอายัดตัวดังกล่าว
ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งช่วยเหลือคดีของปิยะติดต่อไปยังดีเอสไอ ให้ถอนหมายอายัดตัวตามหน้าที่ เพื่อให้ปิยะสามารถใช้สิทธิขอพักโทษได้ แต่ได้รับแจ้งว่า พ.ต.ท.อุดมวิทย์ เนียมอินทร์ พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีนี้เกษียณอายุราชการไปแล้ว และไม่สามารถติดต่อได้ อีกทั้งเจ้าหน้าที่คนอื่นยังหาสำนวนคดีไม่เจอ ต้องให้ทางทนายความหรือญาติของผู้ต้องขังต้องไปดำเนินการคัดถ่ายสำเนาของหมายอายัดตัวดังกล่าวมายื่นต่อดีเอสไอ เพื่อที่ดีเอสไอจะได้ดำเนินการต่อไป
ทนายความของปิยะจึงติดต่อแจ้งเรื่องนี้กับเรือนจำ เพื่อขอถ่ายสำเนาหมายอายัดตัว แต่ทางเรือนจำแจ้งว่า ไม่สามารถคัดถ่ายหมายอายัดตัวให้ได้ โดยจะทำได้เพียงให้เลขที่ของหมายอายัดตัวและชื่อของพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้ออกหมาย และให้ทนายความไปขอคัดถ่ายหมายกับทางดีเอสไอเองทนายความของปิยะจึงยังไม่ได้รับสำเนาหมายอายัดตัวฉบับที่เป็นปัญหามา และไม่สามารถดำเนินการตามขั้นตอนใดๆ ต่อไปได้นอกจากเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนโดยการแจ้งไปยังเรือนจำเพื่อขอถอนหมายอายัดตัวที่ไม่ได้ใช้งานแล้วออกจากระบบ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อธิบายด้วยว่า นอกจากสิทธิประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาดในเรื่องการพักโทษดังกล่าวแล้ว หากดีเอสไอยังไม่สามารถถอนหมายอายัดดังกล่าว ปิยะก็จะไม่ได้สิทธิประโยชน์อื่นๆ ด้วย เช่น การลดวันต้องโทษจำคุก การออกไปทำงานสาธารณะ ซึ่งจะทำให้เขาต้องถูกจำคุกจนครบ 7 ปีเต็ม 
เป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ที่ปิยะซึ่งยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และทนายความ พยายามเดินเรื่องทางเอกสาร ส่งจดหมายถึงดีเอสไอ เพื่อให้ “ทำหน้าที่” ของตัวเองโดยการดำเนินการแจ้งต่อเรือนจำเพื่อขอถอนหมายอายัดตัวปิยะ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า
พ่อของปิยะที่ปัจจุบันอายุ 74 ปีก็รอคอยวันที่ลูกชายจะได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำอยู่ จึงติดต่อผ่านทางไอลอว์ให้ช่วยเป็นอีกแรงหนึ่งในการเผยแพร่เรื่องราวนี้ และฝากสังคมช่วยติดตามเร่งรัดเจ้าหน้าที่ดีเอสไอให้ดำเนินการถอนหมายอายัดตัวโดยเร็ว ด้วยความหวังว่า ปิยะจะได้รับการพิจารณาให้พักโทษภายในต้นปี 2563