2503-2539-วันนี้ การค้าบริการทางเพศยังอยู่ในวังวนสีเทา

ในความรับรู้ของคนไทยหลายๆคน การให้บริการทางเพศ การค้าประเวณี หรือขายตัว นั้นขัดต่อศีลธรรมอันดีงามของสังคมไทย ในขณะที่ทัศนคติต่อผู้ให้บริการ (ซึ่งหลายครั้งถูกเรียกขานด้วยความดูถูกว่าเป็นผู้หญิงหากิน หรือโสเภณี หรือกะหรี่) ก็มักเป็นไปในทางลบกล่าวคือมองว่าเป็นคนขี้เกียจ อยากหาเงินง่ายๆ ไร้การศึกษา หรือบางคนก็มองพวกเขาในฐานะเป็นคนน่าสงสารหรือมีสถานะต่ำกว่า เช่น ทำเพราะสภาพบังคับ หรือทำเพราะถูกหลอกมา ควรได้รับการช่วยเหลือสงเคราะห์ ซึ่งไม่ว่าจะมองจากมุมไหน อย่างไรเสียคนที่ประกอบอาชีพนี้ก็ถูกจัดให้อยู่”ต่ำ”กว่าคนธรรมดาทั่วไปเสมอ
สังคมไทยในอดีตกาลการขายบริการทางเพศสามารถทำได้โดยถูกกฎหมาย การให้บริการทางเพศถูกทำให้เป็นอาชญากรรม(criminalize)ครั้งแรกในปี2503 จากการออกพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี 2503 โดยมีจอมพลผ้าขาวม้าแดง สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ
สาระสำคัญของพ.ร.บ.ปี 2503 คือ กำหนดบทลงโทษกับทั้งผู้ให้บริการ ผู้จัดหา และเจ้าของสถานประกอบการ กรณีที่ผู้ให้บริการเข้าไปชักชวนหรือเตร็ดเตร่อยู่ตามท้องถนนในลักษณะที่เห็นได้ว่ามีเจตนาจะค้าประเวณีจะต้องโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนผู้ให้บริการในสถานบริการประกอบการต้องโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินสองพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้เป็นนายหน้าจัดหาผู้ให้บริการมีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินสามพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้เป็นเจ้าของสถานประกอบการมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสี่พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับผู้ให้บริการที่พ้นโทษจำคุกแล้ว อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์อาจพิจารณาส่งตัว เข้ารับการรักษาหรือฝึกอาชีพ โดยอธิบดีมีอำนาจกำหนดระยะเวลาการรักษาหรืิออบรมแต่ต้องไม่เกินหนึ่งปีนับจากพ้นโทษ ในกรณีที่ผู้รับการสงเคราะห์หลบหนีไปจากสถานสงเคราะห์ที่อธิบดีกำหนดให้ไปทำงาน มีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
เมื่อพิจารณาจากการกำหนดโทษดังที่ได้กล่าวมา ผู้ให้บริการทางเพศจึงมีสถานะเป็นทั้งอาชญากรที่ต้องถูกลงโทษทางอาญาและเป็นผู้ด้อยโอกาสที่ต้องเข้ารับการอบรมเพื่อให้เป็น”พลเมืองดี” ได้ ผู้ให้บริการทางเพศจึงถูกกฎมายกดทับศักดิ์ศรีถึงสองครั้งสองครา
พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี 2503บังคับใช้มาจนถึงปี2539 ก็ถูกยกเลิกไปโดยมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี2539 เข้ามาแทนที่ แม้ว่าการให้บริการทางเพศจะยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่พ.ร.บ.ฉบับใหม่พัฒนาไปกว่าเก่า คือ มองว่าผู้ให้บริการทางเพศอยู่ในฐานะเหยื่อที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ จึงกำหนดบทลงโทษที่เบากว่าพ.ร.บ.ฉบับเก่า
พ.ร.บ.ปี2539 บัญญัติโทษของผู้ให้บริการไว้สามกรณี หนึ่ง คือ กรณีที่ผู้ให้บริการเตร็ดเตร่ชักชวนให้บุคคลอื่นซื้อบริการในที่สาธารณะมีโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท สอง คือ กรณีที่ผู้ให้บริการเข้าไปมั่วสุมในสถานที่บริการค้าประเวณี เพื่อประโยชน์ทางการค้าของตนมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน ปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ โดยยังมีข้อยกเว้นว่า หากถูกบังคับหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้กระทำไม่มีความผิด สาม คือ หากผู้ให้บริการโฆษณาหรือชักชวนด้วยสิ่งพิมพ์หรือสื่ออื่นให้แพร่หลายในสาธารณะเพื่อให้บุคคลอื่นมาติดต่อซื้อบริการมีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสองปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นถึงสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากการลดโทษของผู้กระทำความผิดในฐานะผู้ค้าแล้ว กฎหมายฉบับใหม่ยังมีลักษณะมุ่งลงโทษนายหน้าและเจ้าของสถานประกอบการมากกว่าผู้ให้บริการ เพราะมีการกำหนดอัตราโทษสำหรับนายหน้าและเจ้าของสถานประกอบการสูงกว่าพ.ร.บ.ฉบับเก่า คือ ผู้เป็นนายหน้าให้มีโทษจำคุกหนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท ผู้เป็นเจ้าของสถานประกอบการมีโทษจำคุกตั้งแต่ สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท พ.ร.บ.ฉบับใหม่ยังบัญญัติโทษที่สูงขึ้นในกรณีที่สถานประกอบการหรือนายหน้านำเด็กหรือเยาวชนมาเป็นผู้ให้บริการด้วย
ในส่วนของการให้ผู้ให้บริการเข้ารับการพัฒนาอาชีพ กฎหมายใหม่กำหนดให้จัดตั้งสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือและพัฒนาฝีมือแรงงานสำหรับผู้เคยประกอบอาชีพให้บริการทางเพศ และในบางกรณีศาลอาจใช้การพัฒนาอาชีพเป็นมาตรการในการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ให้บริการแทนการลงโทษจำคุก ต่างจากพ.ร.บ.ฉบับเดิมที่การสงเคราะห์และพัฒนาอาชีพจะเริ่มขึ้นหลังการถูกลงโทษแล้วเท่านั้น
นอกจากนี้พ.ร.บ.ฉบับใหม่ยังไม่มีการกำหนดโทษของผู้ที่หลบหนีจากสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพเฉกเช่นฉบับเก่า มีเพียงกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพมีอำนาจในการติดตามตัวผู้หลบหนีกลับมา โดยอาจขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยตามตัวได้
ตารางเปรียบเทียบอัตราโทษระหว่าง พระราชบัญญัติ ปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 กับ พระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539
ฐานความผิด

อัตราโทษที่บัญญัติในกฎหมาย

พระราชบัญญัติ ปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 พระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539
เตร็ดเตร่อยู่ตามท้องถนนโดยมีลักษณะเหมือนเป็นผู้ค้าบริการ
มาตรา 5
ผู้ใด เพื่อการค้าประเวณี
(2) เตร็ดเตร่ หรือคอยอยู่ตามถนน หรือสาธารณสถานในลักษณะหรืออาการที่เห็นได้ว่า
เป็นการเรียกร้องการติดต่อในการค้าประเวณี
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ไม่มีความผิด
เข้าไปติดต่อหรือชักชวนคนให้มาซื้อบริการจากตนในที่สาธารณะ
มาตรา 5
ผู้ใด เพื่อการค้าประเวณี
(1) เข้าติดต่อ ชักชวน  แนะนำตัว ติดตาม หรือรบเร้าบุคคลตามถนน หรือสาธารณสถาน หรือกระทำการดังกล่าวในที่อื่นใดอันเป็นการเปิดเผยและน่าอับอายหรือเป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่สาธารณชน
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 5

ผู้ใดเข้าติดต่อ ชักชวน แนะนำตัว ติดตาม หรือรบเร้า บุคคลตามถนนหรือสาธารณสถาน หรือกระทำการดังกล่าวในที่อื่นใด เพื่อการ ค้าประเวณีอันเป็นการเปิดเผยและน่าอับอายหรือเป็นที่เดือนร้อนรำคาญแก่ สาธารณชน

ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

เข้าไปมั่วสุมในสถานที่ค้าประเวณี
มาตรา 5
ผู้ใด  เพื่อการค้าประเวณี
(3) เข้าไปมั่วสุมในสถานการค้าประเวณี
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
มาตรา 6
ผู้ใดเข้าไปมั่วสุมในสถานการค้าประเวณีเพื่อประโยชน์ ในการค้าประเวณีของตนเองหรือผู้อื่น
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำเพราะถูกบังคับ หรือ ตกอยู่ภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้
ผู้กระทำไม่มี ความผิด

ค้าประเวณีในสถานประกอบการค้าประเวณี มาตรา 6

ผู้ใดกระทำการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณี

ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

ไม่มีความผิดฐานนี้โดยเฉพาะแต่อาจมีความผิดฐานเข้าไปมั่วสุมในสถานที่ค้าประเวณี
โฆษณา การค้าประเวณี ไม่มีความผิด มาตรา 7

ผู้ใดโฆษณาหรือรับโฆษณา ชักชวน หรือแนะนำด้วยเอกสาร สิ่งพิมพ์ หรือกระทำให้แพร่หลายด้วยวิธีใดไปยังสาธารณะ ในลักษณะที่เห็นได้ว่า เป็นการเรียกร้องหรือการติดต่อเพื่อการค้าประเวณีของตนเองหรือผู้อื่น

ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กระทำชำเราเด็กและเยาวชนในสถานการค้าประเวณี ไม่ระบุความผิด มาตรา 8

ผู้ใดกระทำชำเราหรือกระทำอื่นใดเพื่อสำเร็จความใคร่ ของตนเองหรือผู้อื่นแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีในสถานการค้า ประเวณี โดยบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปี ถึงสามปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำแก่เด็กอายุไม่เกิน สิบห้าปี

ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงหกปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึง หนึ่งแสนสองหมื่นบาท

ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อคู่สมรสของตน โดย มิใช่เพื่อสำเร็จความใคร่ของผู้อื่น ผู้กระทำไม่มีความผิด

ความผิดของผู้เป็นนายหน้า
(หมายเหตุ พระราชบัญญัติ ปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 มิได้บัญญัติโทษในกรณีที่มีเด็กและเยาวชนมาเกี่ยวข้อง แต่ในพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มีการบัญญัติโทษไว้อย่างชัดเจน)
มาตรา 8
ผู้ใดจัดหาผู้กระทำการค้าประเวณีเพื่อผู้อื่นเป็นปกติธุระ
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 9
ผู้ใดเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลใด เพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณีแม้บุคคลนั้นจะยินยอมก็ตาม และไม่ว่า การกระทำต่าง ๆ อันประกอบเป็นความผิดนั้นจะได้กระทำภายในหรือนอก ราชอาณาจักร
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำแก่บุคคลอายุ กว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปี ถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำแก่เด็กอายุ ยังไม่เกินสิบห้าปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับ ตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสาม เป็นการกระทำโดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจ ครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการใด ๆ ผู้กระทำต้อง ระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสาม หนึ่งในสาม แล้วแต่กรณี
ผู้ใดเพื่อให้มีการกระทำการค้าประเวณี รับตัวบุคคลซึ่งตนรู้อยู่ว่ามี ผู้จัดหา ล่อไป หรือชักพาไปตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม หรือวรรคสี่ หรือสนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว
ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ ในวรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม หรือวรรคสี่ แล้วแต่กรณี
ความผิดของผู้เป็นเจ้าของกิจการค้าประเวณี
(หมายเหตุ พระราชบัญญัติ ปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 มิได้บัญญัติโทษในกรณีที่มีเด็กและเยาวชนมาเกี่ยวข้อง แต่ในพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มีการบัญญัติโทษไว้อย่างชัดเจน)

มาตรา 9

ผู้ใดเป็นเจ้าของกิจการ ผู้ดูแล หรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณี

ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 11
ผู้ใดเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณี ผู้ดูแล หรือ ผู้จัดการกิจการการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณี หรือเป็นผู้ควบคุม ผู้กระทำการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณี
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท
ถ้ากิจการหรือสถานการค้าประเวณีตามวรรคหนึ่งมีบุคคลซึ่งมีอายุกว่า สิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีทำการค้าประเวณีอยู่ด้วย
ผู้กระทำต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท
ถ้ากิจการหรือสถานการค้าประเวณีตามวรรคหนึ่งมีเด็กอายุยังไม่เกิน สิบห้าปีทำการค้าประเวณีอยู่ด้วย
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึง ยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท
หลบหนีจากสถานสงเคราะห์หรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ มาตรา 15  

ผู้รับการสงเคราะห์ผู้ใดหลบหนีไปจากสถานสงเคราะห์  หรือ สถานที่ซึ่งอธิบดีกำหนดให้ไปทำงานหรือประกอบอาชีพตามมาตรา ๑๔

ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

ไม่มีความผิด กฎหมายเพียงแต่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตามตัวผู้เข้ารับการคุ้มครองกลับมาเท่านั้น
มาตรา 38
ในระหว่างที่รับการดูแลในสถานแรกรับหรือรับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพในสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ ถ้าผู้ใดหลบหนีออกนอกสถานแรกรับ หรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ ให้เจ้าหน้าที่ของสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพมีอำนาจหน้าที่ออกติดตามตัวผู้นั้นเพื่อส่งตัวกลับไปยังสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพได้ แล้วแต่กรณี ในการนี้ สถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพจะร้องขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยดำเนินการให้ด้วยก็ได้
แม้สถานะของผู้ให้บริการ จะพัฒนาขึ้นมากตามพ.ร.บ.ปี2539 โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือในฐานะเหยื่อของอาชญากรรมมากกว่าการเป็นอาชกรเสียเอง แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะกฎหมายฉบับไหนผู้ให้บริการก็ยังคงอยู่ในฐานะที่อยู่ต่ำกว่ามนุษย์คนอื่นๆ ในสังคม
ในปัจจุบัน ประเด็นเรื่องการค้าและการให้บริการทางเพศในสังคมไทยอยู่ในสภาวะย้อนแย้ง ในทางกฎหมายธุรกิจนี้ไม่ได้รับการยอมรับและเป็นเป็นสิ่งที่ผิด ทว่าในความเป็นจริงก็ไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อปราบปรามธุรกิจที่สังคมมองว่า”ผิดศีลธรรมอันดีงาม” ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้มีผลประโยชน์ในธุรกิจนี้มีทั้งอิทธิพลและเส้นสาย ทำให้การปราบปรามอย่างจริงจังเป็นไปได้ยาก
ขณะเดียวกันข้อเสนอให้การค้าบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมายเพื่อให้รัฐสามารถควบคุม จัดระเบียบ รวมทั้งคุ้มครองสิทธิผู้ให้บริการก็ดูจะเป็นเรื่องที่ไกลเกินไป เพราะเสียงคัดค้านอย่างหนักแน่นที่มองว่าจะเป็นการส่งเสริมให้ศีลธรรมในสังคมยิ่งเสื่อมโทรมลงรวมทั้งไม่อาจแก้ปัญหาการค้าประเวณีที่ผิดกฎหมายภายใต้อิทธิพลต่างๆ ได้จริง  [ดูข้อเสนอ “ควรออกกฎหมายให้การค้าประเวณีเป็นเรื่องถูกกฎหมาย” ที่หน้า “คิด” ของไอลอว์ตามลิงค์ด้านล่าง]
ดังนั้น สถานะของธุรกิจการให้บริการทางเพศในไทยจึงยังอยู่ในพื้นที่สีดำทางกฎหมายและสีเทาในทางความเป็นจริงต่อไป และสภาวะที่อยู่โดยไม่มีความมั่นคงในชีวิต ไม่มีพลังอำนาจในการต่อรองและถูกมองว่าเป็นมนุษย์ที่ต่ำกว่าอาชีพอื่น คงจะยังอยู่กับผู้ให้บริการทางเพศไปอีกนานเช่นกัน จนกว่าจะมีตำรวจเหล็กที่กล้าพอจะเข้ามาจัดการกับธุรกิจมืดนี้อย่างจริงจัง หรือจนกว่าสังคมจะก้าวข้ามเส้นพรมแดนแห่ง”ศีลธรรมอันดี” เข้าสู่ พรมแดนแห่งความเป็นมนุษย์ของคนทุกคนไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด
ภาพ Thumbnail โดย Jason Taellious
iLaw would like to thanks Jason Taellious for contribute this image for common use