คดีการเมืองยุค คสช. กำลังทยอยเดินทางจาก “ศาลทหาร” กลับสู่ “ศาลปกติ”

 

หลังจากอยู่ภายใต้ “สถานการณ์พิเศษ” ของยุค คสช.1 มานานกว่าห้าปี คดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนที่เป็นพลเรือน ต้องขึ้นพิจารณาคดีที่ศาลทหาร ซึ่งตุลาการพระธรรมนูญหรือผู้พิพากษาทุกคนเป็นทหาร และในช่วงเวลากฎอัยการศึกประชาชนไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกา แต่สถานการณ์เริ่มผ่อนคลายเมื่อเข้าสู่ยุค คสช.2 คดีทั้งหลายที่ยังค้างอยู่กำลังทยอยถูกโอนกลับไปพิจารณาคดีที่ศาลปกติ ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาคดีของพลเรือน
ก่อนการรัฐประหารปี 2557 จำเลยที่เป็นทหารเท่านั้นต้องขึ้นศาลทหาร แต่ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557, 38/2557 และ 50/2557 กำหนดให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหารในคดีความต่อไปนี้ 
>> คดีความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 107-112
>> คดีความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มาตรา 113-118 โดยเฉพาะความผิด ยุยงปลุกปั่นตามาตรา 116 
>> คดีความผิดตามประกาศ และคำสั่ง คสช. ทุกฉบับ
>> ความผิดฐานมีหรือใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ใช้เฉพาะแต่การสงครามที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พุทธศักราช 2490
>> คดีความผิดที่เกี่ยวโยงกับความผิดที่ต้องขึ้นศาลทหาร
โดยหลักแล้ว วิธีการพิจารณาคดีในศาลทหารให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้โดยอนุโลม แต่ในรายละเอียดศาลทหารก็มีวิธีการพิจารณาคดี และเงื่อนไขการอำนวยความยุติธรรมต่างกับศาลพลเรือน เช่น
++ ศาลทหารภายใต้กฎอัยการศึกมีชั้นเดียว ไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกา
++ ตุลาการตัดสินคดีเป็นทหารทั้งหมด คดีหนึ่งมีอย่างน้อย 3 คน 2ใน3 คน เป็นนายทหารระดับสูงที่ไม่ต้องเรียนจบนิติศาสตร์
++ การสืบพยานในศาลทหาร ไม่ใช้วิธีนัดต่อเนื่องกัน ทำให้ใช้เวลานาน หลายคดีใช้เวลานานเกือบห้าปีแล้วก็ยังพิจารณาคดีไม่เสร็จ ความไม่ต่อเนื่องทำให้
++ ปกติศาลทหารมีคดีที่ต้องพิจารณาไม่มาก ทั้งตุลาการและเจ้าหน้าที่ไม่เคยมีประสบการณ์แบกรับคดีที่มีปริมาณเยอะ และคดีที่มีความซับซ้อนทางพยานหลักฐานและการตีความกฎหมาย
สถิติจากกรมพระธรรมนูญ (ศาลทหาร) ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2561 พบว่า ในศาลทหารกรุงเทพ มีจำเลยที่เป็นพลเรือนถูกพิจารณาคดี 367 คน จาก 238 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีที่ศาลมีคำพิพากษาและคดีที่ถึงที่สุด 150 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณา 88 คดี ส่วนที่ศาลมณฑลทหารบก (ศาลทหารในต่างจังหวัด) ทั่วประเทศ มีจำเลยที่เป็นพลเรือนถูกพิจารณาคดี 1,844 คน จาก 1,485 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีที่ศาลมีคำพิพากษาและคดีที่ถึงที่สุด 1292 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณา 193 คดี รวมแล้วในวันที่ครบรอบการอยู่ในอำนาจครบสี่ปีของ คสช. ยังมีคดีพลเรือนที่ค้างพิจารณาอยู่ที่ศาลทหาร อย่างน้อย 281 คดี (ดูสถิติคดีพลเรือนในศาลทหารได้ คลิกที่นี่)
 
9 กรกฎาคม 2562  หลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งสำเร็จแล้ว ราชกิจจานุเบกษา  เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 9/2562 เรื่อง การยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บางฉบับที่หมดความจำเป็น เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วพบว่า คำสั่งและคำสั่งรวมทั้งหมด 78 ฉบับ ซึ่งรวมถึงประกาศและคำสั่งทั้งหมดที่สั่งให้คดีของพลเรือนต้องพิจารณาที่ศาลทหารด้วย นอกจากนี้ ยังกำหนดให้คดีที่พลเรือนถูกดำเนินคดีค้างอยู่ในศาลทหารโอนไปยังศาลปกติทั้งหมด และให้กระบวนการพิจารณาคดีที่ทำไปแล้ว ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาคดีในศาลของพลเรือนที่จะรับโอนคดีไปด้วย ซึ่งในทางปฏิบัติการโอนย้ายคดีจากศาลทหารไปยังศาลปกติพร้อมกันชุดใหญ่ๆ เช่นนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 
12 กรกฎาคม 2562 ไม่กี่วันหลังยกเลิกการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร ที่ศาลทหาร ในจังหวัดเชียงราย มีนัดพิจารณาคดีมาตรา 112 ของสราวุทธิ์ ซึ่งศาลทหารแจ้งให้คู่ความทราบว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารแล้ว ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แต่เนื่องจากในวันนั้นยังไม่มีความชัดเจนถึงแนวทางปฏิบัติในการโอนย้ายคดี จึงให้เลื่อนการพิจารณาคดีไปชั่วคราวก่อน แล้วศาลจะได้นัดคู่ความมาฟังคำสั่งการโอนย้ายคดีต่อไป  
แต่หลังจากคดีนั้น ก็มีความชัดเจนในทางปฏิบัติมากขึ้นเมื่อศาลทหารสั่งให้ “โอนย้ายคดี” เหมือนกันทุกคดี เริ่มตั้งแต่
19 กรกฎาคม 2562 ศาลทหารกรุงเทพสั่งโอนคดีมาตรา 112 ของอัญชัญ และคดีของประจักษ์ชัย ไปยังศาลพลเรือน 
22 กรกฎาคม 2562 ศาลทหารกรุงเทพสั่งโอนคดี “ไม่มารายงานตัว” ของจาตุรนต์ ฉายแสง ไปยังศาลพลเรือน 
22 กรกฎาคม 2562 อัยการศาลทหารกรุงเทพซึ่งนัดให้ วรวุฒิ ไปรายงานตัวเพื่อส่งฟ้องในคดีแจกใบปลิวประชามติ สั่งยกเลิกนัดเพราะศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดีแล้ว 
23 กรกฎาคม 2562 ศาลทหาร ในจังหวัดชลบุรีสั่งโอนคดีมาตรา 116 ของพลวัฒน์ ไปยังศาลพลเรือน 
โดยทุกคดีที่ศาลทหารสั่งให้โอนคดี ศาลเขียนรายงานกระบวนพิจารณาคดีทำนองเดียวกันว่า ศาลได้แจ้งให้คู่ความทราบว่า เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 ยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. ที่หมดความจำเป็น กำหนดให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามประกาศและคำสั่งดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป แต่ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงให้งดการสืบพยานจำเลยในวันนี้ และงดการพิจารณาไว้ชั่วคราว และให้โอนคดีไปศาลยุติธรรมกับจำหน่ายคดีจากสารบบความในศาลนี้ ให้มีหนังสือไปสำนักงานศาลยุติธรรมและให้ทนายจำเลยยื่นสำเนาใบมรณบัตรที่มีเจ้าหน้าที่รับรองว่า ถูกต้อง ต่อศาลใหม่โดยเร็ว เพื่อรวบรวมส่งศาลยุติธรรมก่อนส่งสำนวนให้จ่าศาลถ่ายสำเนาสำนวนและเอกสารต่างๆ ทั้งหมด เก็บไว้ที่ศาลนี้ด้วย
จึงเป็นที่ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า ศาลทหารกำลังทยอยสั่งให้คดีของพลเรือนที่อยู่ในความรับผิดชอบของตัวเองโอนย้ายไปพิจารณากันต่อที่ศาลปกติ ด้วยระบบการพิจารณาคดีแบบปกติที่ใช้กับคดีอื่นๆ ของพลเรือนในทุกคดี ส่วนในทางปฏิบัติ เมื่อสำนักงานศาลยุติธรรมรับสำนวนคดีโอนมาจากศาลทหารแล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อไป จะกำหนดให้ศาลแห่งใดมีอำนาจพิจารณาคดีเหล่านี้ต่อ และกระบวนการที่สืบพยานกันไปแล้วก่อนหน้านี้โดยศาลทหารและยังค้างอยู่จะนับรวมและใช้ได้ต่อในศาลปกติหรือไม่ ยังคงต้องรอดูความชัดเจนต่อไป
สำหรับคดีของจำเลยที่เป็นพลเรือนและมีนัดพิจารณาคดีที่ศาลทหารในช่วงนี้ เมื่อไปศาลตามนัดก็จะพบกับกระบวนการพิจารณาคดีสั้นๆ ใช้เวลาเพียงประมาณ 5 นาที ตุลาการศาลทหารจะขึ้นบัลลังก์ แจ้งให้ทราบ และอ่านคำสั่งโอนย้ายคดีเท่านั้น หลังจากนี้ก็ต้องรอว่า ศาลยุติธรรมจะออกหมายเรียกจำเลยให้ไปรายงานตัวและเข้าสู่กระบวนการปกติต่อไปในฐานะพลเรือนเมื่อใด และที่ศาลแห่งใด
ส่วนผลคำพิพากษาเมื่อคดีต้องโอนย้ายศาลแล้วนั้น ก็ยังต้องรอติดตามต่อไปเช่นกัน