ขอสู้เพื่อสร้างบรรทัดฐานอะไรคือการชุมนุม? อะไรคือกิจกรรม? : เก็บตกคดี เอกชัย – โชคชัย เปิดเพลง #ประเทศกูมี

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกให้สัมภาษณ์ตอบโต้กรณีมีนักการเมืองเสนอลดงบประมาณกระทรวงกลาโหมและยกเลิกการเกณฑ์ทหารว่า “เพลงอะไรที่กำลังฮิตตอนนี้ ก็เพลงหนักแผ่นดินไง” นอกจากการให้สัมภาษณ์ในลักษณะดังกล่าวก็มีรายงานด้วยว่า ผบ.ทบ. สั่งการให้กรมกิจการพลเรือนทหารบก นำเพลงแนวปลุกใจทหาร เช่น เพลงมาร์ชกองทัพบกและเพลงหนักแผ่นดิน ไปเปิดในสถานีวิทยุของกองทัพบก 
 
หลังเกิดประเด็นดังกล่าว ก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันตามมา โดยเฉพาะกรณีเพลง “หนักแผ่นดิน” ที่ใช้ปลุกใจก่อนเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ต่อมา เอกชัยและโชคชัย สองนักกิจกรรมทางสังคม โพสต์เฟซบุ๊กชวนกันไปทำกิจกรรม “เปิดเพลงให้ผบ.ทบ.ฟัง” ที่หน้ากองทัพบก 
 
โชคชัยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กในช่วงเช้าวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พร้อมแท๊กชื่อเอกชัยว่า ไปเปิดเพลงหนักแผ่นดินให้ผบ.ทบ.ฟังกันไหม ในเวลาต่อมาเอกชัยโพสต์เฟซบุ๊กพร้อมข้อความว่า ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 9.30 น. เขาและโชคชัยจะไปเปิดเพลงประเทศกูมีที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อถึงเวลานัดหมาย ตำรวจวางกำลังอย่างน้อย 30 นายที่บริเวณเกาะกลางถนนตรงข้ามกองบัญชาการกองทัพบก เบื้องต้นเอกชัยและโชคชัยตั้งใจไปทำกิจกรรมหน้าป้ายกองทัพบก แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่ยินยอมเขาทั้งสองก็ต้องทำกิจกรรมที่บริเวณเกาะกลางถนนตรงข้ามกองทัพบก 
 
กิจกรรมที่เอกชัยตั้งใจจะทำได้แก่การเปิดเพลง “ประเทศกูมี” ผ่านลำโพงขนาดกำลัง 350 วัตต์ และจะจำลองเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ด้วยการนำตุ๊กตาหมีตัวใหญ่ไปแขวนไว้กับต้นไม้และใช้เก้าอี้ตี โดยเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็นทั้งฉากหลังของเพลงประเทศกูมี และมีความเกี่ยวข้องกับเพลงหนักแผ่นดิน ที่ ผบ.ทบ. สั่งให้วิทยุในสังกัดกองทัพบกนำไปเปิด
 
ระหว่างที่เอกชัยและโชคชัยเปิดเพลงประเทศกูมี เพื่อจะเริ่มกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่มายึดตุ๊กตาหมีไป เอกชัยโวยวายด้วยความไม่พอใจ แต่ก็ตัดสินใจทำกิจกรรมต่อ โดยเปลี่ยนมาใช้เก้าอี้ทำท่าตีไปที่ตัวโชคชัยแทน ยังไม่ทันที่ทั้งสองจะทำกิจกรรมเสร็จและเพลงประเทศกูมียังไม่ทันจบ ก็มีเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” ดังจากลำโพงของเจ้าหน้าที่กลบเสียงเพลงประเทศกูมีที่เปิดจากลำโพงของเอกชัย จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เอาตัวทั้งเอกชัยและโชคชัยขึ้นรถตำรวจไปที่สน.นางเลิ้ง ก่อนจะถูกตั้งข้อกล่าวหาฐานไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ 
 
สำหรับเอกชัยนอกจากข้อกล่าวหาไม่แจ้งการชุมนุมแล้วเขายังถูกตั้งข้อกล่าวหาใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย เอกชัยและโชคชัยให้การปฏิเสธในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม ส่วนข้อหาใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เอกชัยรับสารภาพและถูกเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 200 บาท สำหรับความผิดฐานไม่แจ้งการชุมนุม ศาลแขวงดุสิตนัดสืบพยานยระหว่างวันที่ 4 ถึง 5 กรกฎาคม 2562 อัยการนำตำรวจ สน.นางเลิ้ง สี่นาย มาให้การปรักปรำจำเลยทั้งสอง ส่วนฝ่ายจำเลยมีเอกชัยและโชคชัย สองจำเลยขึ้นให้การแก้ต่างให้ตัวเอง หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 กันยายน 2562
 
 

ความยุ่งยาก คือ ราคาของการสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมาย

 
หลังเสร็จสิ้นการสืบพยาน เอกชัยให้ข้อมูลกับไอลอว์ว่า โดยปกติเขากับโชคชัยจะทำกิจกรรมลักษณะคล้ายๆ กิจกรรมนี้ด้วยกันสองคน เช่น ไปทวงถามเรื่องนาฬิกาของพล.อ.ประวิตรที่หน้าทำเนียบรัฐบาลหรือที่กระทรวงกลาโหม ทุกครั้งที่ไปเขาจะโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กแจ้งวันเวลาและสถานที่ของการจัดกิจกรรม เนื่องจากทั้งผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของเขาจะสอบถามอยู่ตลอดเวลาว่า จะไปทำกิจกรรมที่ไหน เมื่อไหร่ เขาจึงตกลงกับทางเจ้าหน้าที่และนักข่าวว่าหากเขาจะไปทำกิจกรรมจะแจ้งข่าวบนเฟซบุ๊ก โดยทุกครั้งที่เขาโพสต์จะระบุชัดเจนว่า ตัวเขาจะไปกับใคร หากไปกับโชคชัยเขาก็จะโพสต์ว่า “ผมและโชคชัย” หากไปคนเดียวก็จะโพสต์ว่า “ผมจะไป…” 
 
เอกชัยเล่าต่อว่า ที่ผ่านมาเวลาเขาไปทำกิจกรรมโดยการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์มาตลอด เช่น นำนาฬิกาไปมอบให้พล.อ.ประวิตร หรือนำป้ายไวนิลที่ทำเป็นรูปปฏิทินนาฬิกาไปถือ ซึ่งก็ไม่ต่างจากครั้งนี้ที่มีการนำเพลงประเทศกูมีไปเปิดและจำลองเหตุการณ์ในอดีต เขาจึงแปลกใจว่า เหตุใดเขาจึงไม่ถูกดำเนินคดีในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมก่อนหน้านี้ แต่เพิ่งมาถูกดำเนินคดีในครั้งนี้
 
เมื่อถามว่าความผิดฐานไม่แจ้งการนุมนุมมีเพียงโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเปรียบเทียบปรับและยุติคดีได้เลยโดยไม่ต้องขึ้นศาล เหตุใดเอกชัยจึงเลือกที่จะให้การปฏิเสธและสู้คดี ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กับตัวเองที่ต้องมาศาลหลายนัดเพื่อต่อสู้คดี ทั้งที่เขาเองก็มีคดีอื่นติดตัวอยู่แล้วมากมาย เช่น คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่เอกชัยถูกตั้งข้อกล่าวหาในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 รวมสามคดี เอกชัยตอบว่า เขาหวังว่าคำพิพากษาคดีนี้จะช่วยสร้างบรรทัดฐานหรือเส้นแบ่งที่ชัดเจนว่าอะไรคือการทำกิจกรรมที่ต้องแจ้งการชุมนุมล่วงหน้าและอะไร คือ กิจกรรมที่สามารถทำได้เลย โดยในความเห็นของเอกชัยวัตถุประสงค์ของการแจ้งการชุมนุมคือการแจ้งให้เจ้าหน้าที่มาอำนวยความสะดวกโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการจราจร ซึ่งในกรณีการทำกิจกรรมเปิดเพลงประเทศกูมีของเขาเป็นกิจกรรมของคนเพียงสองคน ไม่อาจจะกระทบการจราจรหรือผู้ที่ใช้เส้นทางผ่านไปผ่านมาได้เลย ในความคิดเห็นของเขาการกระทำที่จะเข้าข่ายเป็นการชุมนุมที่ต้องไปแจ้งเจ้าหน้าที่น่าจะเป็นกิจกรรมที่มีคนเข้าร่วมยี่สิบคนขึ้นไป       
 
ขณะที่โชคชัย ให้ความเห็นว่า เขาเป็นคนชักชวนเอกชัยไปเปิดเพลงที่หน้ากองทัพบก โดยข้อความที่เขาโพสต์เชิญชวนเอกชัยก็มีการเขียนชื่อเอกชัยอย่างชัดเจน โชคชัยระบุว่าสิ่งที่เขาทำในวันเกิดเหตุไม่ใช่การชุมนุมและที่ผ่านมาเมื่อเขาไปทำกิจกรรมกับเอกชัยในลักษณะเดียวกันนี้ก็ไม่เคยแจ้งการชุมนุมและไม่เคยถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานี้มาก่อน เขามาทำกิจกรรมในครั้งนี้ไม่ใช่การมาชุมนุม แต่เป็นเพียงการมาสื่อสารถึงผบ.ทบ.และก็ตั้งใจใช้เวลาสั้นๆ ไม่เกิน 20 นาที โชคชัยยืนยันว่าการทำกิจกรรมของเขาต่างจากการชุมนุมครั้งอื่นที่มีการประกาศเชิญชวนสาธารณะชนในวงกว้างและมีคนมาเข้าร่วมหลายคน 
 
โชคชัยให้ความเห็นด้วยว่า หากเจ้าหน้าที่ปล่อยให้เขากับเอกชัยทำกิจกรรมไปโดยไม่เข้ามาแทรกแซงก็จะไม่สร้างความเดือดร้อนหรือกีดขวางการจราจรอะไรเลย เพราะเป็นการทำกิจกรรมของคนสองคน ที่เจ้าหน้าที่อ้างว่า การทำกิจกรรมของพวกเขาไปกระทบการใช้ทางเท้านั่นก็เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ระดมกำลังมากันเองแบบเกินจำเป็นจนอาจไปกระทบคนที่ต้องสัญจรไปมาบนเกาะกลางบริเวณหน้ากองทัพบก และการที่เจ้าหน้าที่มารุมล้อมเขาและเอกชัยก็อาจทำให้ข้าราชการหรือทหารที่ทำงานแถวนั้นสนใจมามุงดู ยิ่งทำให้มีคนมาออกันบริเวณนั้นมากขึ้นไปอีก หากเจ้าหน้าที่ปล่อยให้เขากับเอกชัยได้สื่อสารถึงผบ.ทบ.ดังที่ตั้งใจไว้ทุกอย่างก็จะจบภายในเวลาไม่เกิน 20 นาที โดยไม่กระทบหรือสร้างความเดือดร้อนให้ใครเพราะลำพังคนสองคนจะไปปิดกั้นทางเข้ากองทัพบกหรือถนนหนทางแถวนั้นก็ไม่ได้ 
 
โชคชัยระบุในทำนองเดียวกับเอกชัยว่า ที่ยอมต่อสู้คดีนี้แม้จะทำให้ต้องเสียเวลามาศาลซึ่งเป็นภาระทั้งในแง่ของค่าเดินทางและเวลาที่ต้องเสียไป เป็นเพราะเขาต้องการสร้างบรรทัดฐานบางอย่างให้กับสังคม เพราะนอกจากตัวเขากับเอกชัยก็ยังมีประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่อาจจะได้รับความเดือดร้อนจากเรื่องอื่นๆ มาแสดงออกในลักษณะนี้ ซึ่งที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่า จะวางบรรทัดฐานเกี่ยวกับการแยะแยะรูปแบบหรือจำนวนคนระหว่างกิจกรรมที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องแจ้งการชุมนุม ออกจากการชุมนุมที่จำเป็นต้องแจ้งการชุมนุมอย่างไร
 

 


พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 4 กำหนดว่า 

“การชุมนุมสาธารณะ” หมายความว่า การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถ ร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่


 
 

รอลุ้นบรรทัดฐาน “กิจกรรม” หรือ “การชุมนุม” ?

 
ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ให้ความช่วยเหลือเอกชัยและโชคชัยในคดีนี้ให้ความเห็นทางกฎหมายไว้ว่า โดยพฤติการณ์คดีนี้ไม่น่าเข้าข่ายเป็นการชุมนุมสาธารณะตามพ.ร.บ.ชุนนุมฯ ทั้งด้วยรูปแบบของกิจกรรมที่เป็นการชักชวนมาทำกิจกรรมแบบจำเพาะเจาะจงของเอกชัยและโชคชัย โดยที่ทั้งสองไม่ได้เชิญชวนบุคคลอื่นมาเข้าร่วมการชุมนุมด้วย นอกจากนั้นในวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ก็มีพฤติการณ์ล้อมจำเลยทั้งสองจนบุคคลอื่นไม่สามารถเข้ามาร่วมทำกิจกรรมได้ ประเด็นหลักที่ทนายจำเลยพยายามต่อสู้ในคดีนี้ คือ การตีความว่า การกระทำของเอกชัยและโชคชัยไม่ใช่การชุมนุม 
 
อย่างไรก็ตามหากศาลเห็นว่า การกระทำของทั้งเอกชัยและโชคชัยเข้าข่ายเป็นการชุมนุมสาธารณะ ทางทีมทนายก็ได้ต่อสู้ไว้ว่า โดยเจตนารมณ์ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งการชุมนุมเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถจัดการอำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้ชุมนุมและผู้ที่สัญจรไปมา ในคดีนี้แม้จำเลยจะไม่ได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ด้วยหนังสือตามแบบฟอร์มที่กำหนด แต่ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ก็ทราบเรื่องและเตรียมการรับ “ดูแล” การชุมนุมไว้เป็นอย่างดี ทนายจำเลยระบุด้วยว่า คดีตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ยังเป็นเรื่องใหม่และยังไม่มีคำพิพากษาที่วางบรรทัดฐานคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรทัดฐานว่า พฤติการณ์ลักษณะใดเข้าข่ายการชุมนุมที่ต้องแจ้ง และพฤติการณ์ในลักษณะใดที่เป็นการแสดงออกในรูปแบบอื่นที่ไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า 
 
ทนายจำเลยระบุด้วยว่าคำพิพากษาคดีนี้จะมีความสำคัญในฐานะคดีที่ทำให้ศาลต้องตีความกฎหมายให้ชัดเจนถึงขอบเขตและความหมายของ “การชุมนุมสาธารณะ”

ภาพระหว่างการทำกิจกรรมเปิดเพลงประเทศกูมีของเอกชัยและโชคชัย เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 (ภาพจากเฟซบุ๊กวาสนา นาน่วม

 

พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ถูกใช้เพื่อมุ่งจำกัดสิทธิมากกว่าคุ้มครอง?

 
พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นหนึ่งในกฎหมายเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกบัญญัติขึ้นในยุคสมัยของ คสช. โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้งมาเองทั้งหมด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เริ่มบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2558 หากนับจากเวลาดังกล่าวจนถึงปัจจุบันพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ก็มีผลบังคับใช้มาแล้วเกือบสี่ปี 
 
ในระหว่างที่พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มีผลบังคับใช้ก็มีคำสั่งของคณะรัฐประหารได้แก่คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่กำหนดห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน บังคับใช้ควบคู่ไปด้วย คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับดังกล่าวกำหนดโทษจำคุกกับผู้ฝ่าฝืนเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองเป็นเวลา 6 เดือน เจ้าหน้าที่จึงมักเลือกใช้คำสั่งฉบับดังกล่าวในการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมมากกว่าพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ในเดือนธันวาคม 2561 ก่อนเข้าสู่บรรยากาศการเลือกตั้ง คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 จึงถูกยกเลิกไปเพื่อเปิดทางให้พรรคการเมืองสามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ ตั้งแต่นั้นมา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จึงกลายเป็นเครื่องมือทางกฎหมายชิ้นหลักที่เจ้าหน้าที่หยิบยกมาใช้จัดการกับผู้ชุมนุมแทน
 
ในทางกฎหมายคดีเอกชัยและโชคชัยเปิดเพลงประเทศกูมี เป็นหลักฐานที่สะท้อนปัญหานิยามที่กว้างขวางของการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่ไม่มีการกำหนดเกณฑ์ผู้เข้าร่วมขั้นต่ำ หรือไม่ได้กำหนดลักษณะที่ชัดเจนว่า การกระทำใดที่มีลักษณะเป็นการชุมนุมสาธารณะ การกระทำลักษณะใดไม่ใช่ จนประชาชนที่ต้องการใช้สิทธิอาจเกิดความสับสนและตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีอย่างเลือกปฏิบัติ 
 
หากพิจารณามาตรา 4 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ตามตัวบทโดยผิวเผิน การแสดงออกของเอกชัยและโชคชัย ก็น่าจะเข้าข่ายเป็นการชุมนุม เนื่องจากเป็นการแสดงออกเรื่องใดเรื่องหนึ่งต่อสาธารณะชน คัดค้านต่อคำให้สัมภาษณ์ของผบ.ทบ. หากในวันจัดกิจกรรมเจ้าหน้าที่ไม่ได้เข้ามาปิดล้อมและแทรกแซงการทำกิจกรรมดังกล่าว ผู้ที่เห็นด้วยกับเอกชัยและโชคชัยก็สามารถเข้ามาร่วมกิจกรรมได้ อย่างไรก็มีข้อที่น่าพิจารณาว่า ในการทำกิจกรรม นิยามของ “การชุมนุมสาธารณะ” ตามกฎหมายดังกล่าวก็ยังกว้างเกินไปและเป็นการสร้างภาระเกินความจำเป็น 
 
มูลเหตุของการกำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งการจัดชุมนุมล่วงหน้าน่าจะเป็นไปเพื่อให้เจ้าหน้าที่เตรียมการดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้กับทั้งผู้ชุมนุมและผู้ที่สัญจรไปมาบนเส้นทางนั้น ซึ่งหากเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมในจำนวนที่อาจกระทบต่อการจราจรหรือมีการเคลื่อนขบวน การไปแจ้งการชุมนุมก็อาจมีความจำเป็น แต่เมื่อพ.ร.บ.ชุมนุมฯไม่ได้กำหนดผู้เข้าร่วมขั้นต่ำไว้ การแสดงออกของคนหนึ่งคนในที่สาธารณะ ซึ่งน่าจะไม่กระทบการใช้ทางสาธารณะหรือไปกีดขวางการจราจรก็อาจถูกตีความว่า เป็นการชุมนุมไปด้วยและหากไม่แจ้งการชุมนุมก็จะมีความผิดไปด้วย 
 
นอกจากนั้นเมื่อมีการแจ้งการชุมนุมผู้กำกับการสถานีตำรวจท้องที่จะต้องทำสรุปสาระการชุมนุมส่งกลับคืนให้ ซึ่งในชั้นนี้ทางผู้กำกับฯก็มีอำนาจตามมาตรา 19(5) ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่จะกำหนดเงื่อนไขให้ผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ร่วมการชุมนุมปฏิบัติตาม หรือสั่งไม่อนุญาตให้จัดการชุมนุมเลยก็ได้ ในทางปฏิบัติเมื่อมีการแจ้งการชุมนุมเจ้าหน้าที่ก็มักใช้ช่องทางนี้ในการลดทอนพลังของการชุมนุม เช่น กำหนดเงื่อนไขให้งดการเคลื่อนขบวน ลดระยะทางการเคลื่อนขบวน หรือบางกรณีก็มีการกำหนดห้ามชูป้ายที่เขียนข้อความรณรงค์ 
 
กรณีตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับความพยายามที่จะลดทอนพลังของการชุมนุมได้แก่กรณีที่ไอลอว์และเครือข่ายภาคประชาชนทำกิจกรรมเดินเท้าจากหน้ากระทรวงการคลังไปยื่นร่างกฎหมายยกเลิกประกาศ คำสั่งคสช.รวม 35 ฉบับ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 ซึ่งครั้งนั้นทางไอลอว์แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าตามกฎหมาย แต่ในขั้นตอนดังกล่าวเจ้าหน้าที่ก็มีความพยายามกำหนดเงื่อนไขจำกัดกรอบของกิจกรรม เช่น มีการแก้ข้อความในหนังสือแจ้งการชุมนุมทำนองว่า ผู้แจ้ง (ไอลอว์) ประสงค์จะแก้ไขสถานที่เริ่มต้นการชุมนุมจากหน้ากระทรวงการคลังซึ่งเป็นระยะเดินเท้าประมาณ 1 กิโลเมตรไปถึงสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นบริเวณสี่แยกประดิพัทธ์ซึ่งอยู่ห่างจากเป้าหมายประมาณ 100 เมตรเท่านั้น นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ยังขอให้ทางผู้จัดถ่ายภาพป้ายที่จะใช้เดินในขบวนส่งให้เจ้าหน้าที่ด้วย ซึ่งการใช้อำนาจลักษณะดังกล่าวหากเปรียบเทียบกับหนังสือพิมพ์ก็จะเหมือนกับการนำข่าวไปตรวจเซ็นเซอร์ก่อนออกเผยแพร่ ซึ่งท้ายที่สุดแม้การเดินขบวนครั้งนั้นทางผู้จัดจะดำเนินการได้ตามความประสงค์ แต่ก็พบว่าทางเจ้าหน้าที่มีความพยายามที่จะใช้อำนาจและขั้นตอนของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพื่อลดทอนพลังของการเคลื่อนไหวให้ได้มากที่สุด
ดูรายละเอียดกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามจำกัดการชุมนุมของไอลอว์และ 23 เครือข่ายภาคประชาสังคม