#Attitude adjusted? พี่ “จี๊ด” : แกนนำแดงอุดรผู้ถูกเรียกเข้าค่ายสามครั้ง

“ถามว่าเราเป็นแกนนำไหม?…ก็ใช่ เพราะว่าเวลามีกิจกรรมอะไร เราจะเป็นคนคอยประสานงาน หารถให้ มันก็ทำให้เขา(ทหาร) เข้าใจได้ว่าเราเป็นแกนนำ ทั้งๆที่อาชีพของเราจริงๆ คือค้าขาย และทำไร่ทำนา”
 
พี่ “จี๊ด” หญิงวัยกลางคนชาวจังหวัดอุดรธานีเริ่มเปิดอกถึงความเป็นมาเป็นไปที่ทำให้เธอตกเป็นบุคคลเป้าหมายของคสช. หลังการรัฐประหารและเป็นที่มาของการถูกเรียกปรับทัศนคติถึงสามครั้ง 
 
แม้ว่าการไปเยือนค่ายทหารของพี่”จี๊ด”จะเป็นแบบ “เช้าไปเย็นกลับ” ไม่ต้องนอนค้างอ้างแรมอยู่ในค่ายแต่นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะสร้างความกังวลให้กับพี่ “จี๊ด” จนต้องขอให้ไอลอว์ไม่เปิดเผยชื่อเสียงเรียงนามหรือภาพถ่ายของเธอต่อสาธารณะชน
 
ไปทำอะไรมาถึงถูกปรับทัศนคติรอบแรก? 
 
“พี่เริ่มเข้ามาทำกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2553 หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม ตอนนั้นมีการเลือกตั้งแล้วนายกยิ่งลักษณ์ก็ชนะการเลือกตั้ง ตั้งแต่นั้นมาตัวพี่ก็มีบาบาทในการเคลื่อนไหวมากขึ้น ประมาณช่วงต้นปี 2554 พี่กับเพื่อนๆเริ่มทำกลุ่ม “สมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดง” เดินสายให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตย มีวิทยากรไปบรรยาย และมีกิจกรรมเปิดป้าย “หมู่บ้านคนเสื้อแดง รักประชาธิปไตย นอกจากนั้นก็มีการรวมตัวทำกิจกรรมเกี่ยวกับอาชีพเช่นการเกษตรหรือขายปุ๋ยด้วย”
 
“ช่วงก่อนยึดอำนาจพี่ก็ลงมาร่วมชุมนุมกับเขาที่ถนนอักษะ พอมีการยึดอำนาจพี่ก็ไม่ได้กลับบ้าน หลบไปอยู่เงียบๆประมาณ 15 วัน เสร็จแล้วก็มีคนโทรบอกว่าไม่มีอะไรแล้ว ไม่ได้ถูกดำเนินคดีอะไร พอพี่ออกมาก็ปรากฎว่ามีทหารมาที่บ้าน ก่อนหน้าที่พี่จะกลับมาทหารเค้าก็มาที่บ้านพี่อยู่แล้วเพียงแต่เค้าไม่เจอพี่
 
“พี่จี๊ด” ย้อนรำลึกถึงความหลังช่วงก่อนหน้าที่เธอจะถูกปรับทัศนคติครั้งแรก
 
“ทหารที่มาหาพี่ที่บ้านรอบแรกเป็นทหารในพื้นที่ พี่ก็ตอบเค้าไปว่าพี่ไปชุมนุม(ที่อักษะ)จริง ครั้งแรกก็ไม่มีอะไร แต่พอทหารกลุ่มนั้นกลับไปได้ประมาณ 2-3 วัน ก็มีจดหมายมาจากค่ายมทบ. 24 (ค่ายประจักษ์ศิลปาคม) เชิญพี่ไปพูดคุย”
 
“ก่อนถึงวันนัดเค้าถามว่าจะขับรถไปเองหรือให้ไปรับ พี่ก็บอกว่าจะไปเอง พอถึงวันนัดนอกจากพี่แล้วก็มีคนถูกเรียกเข้าค่ายด้วยกันอีกสามคนรวมเป็นสี่คน พี่ขับรถไปถึงที่ค่ายประมาณเก้าโมง เข้าไปถึงก็มีทหารพาพวกพี่เข้าห้องไปคุยกับทหารยศนายพันทีละคน คุยเรื่องสารทุกข์สุขดิบทั่วไป คุยเสร็จเค้าก็เลี้ยงข้าวกลางวัน หลังกินข้าวถึงเริ่มคุยจริงจังกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่อีกคนหนึ่ง”
 
แล้วคุยอะไรกัน?
 
“เค้าก็ขอร้องไม่อยากให้เคลื่อนไหว กลัวจะเป็นตัวอย่างให้กลุ่มอื่นๆทำตาม กลัวจะมีมือที่สามเข้ามา”  
 
“เค้าพยายามบอกพี่ว่าต้องมองภาพยาวๆว่าทหารเข้ามาทำไม มาแก้ปัญหาอะไร พี่ก็เลยบอกไปว่าประชาชนทั่วไปเค้าไม่มองขนาดนั้นหรอก เค้ามองว่าวันนี้พรุ่งนี้เค้าจะมีกินมั้ย” 
 
พี่ “จี๊ด” เล่าถึงบทสนทนาที่นายทหารชั้นผู้ใหญ่คู่สนทนาพยายามจะเปลี่ยนความคิดและทัศนคติของเธอ ซึ่งการพูดคุยในรอบบ่าย พี่ “จี๊ด” และคนที่เข้าค่ายพร้อมกับเธออีกสองคนได้พูดคุยกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่พร้อมกัน
 
คุยเสร็จแล้วทหารมีข้อเรียกร้องอะไรไหม?
 
“เค้าก็ขอว่าไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ให้เรียกชาวบ้านมาชุมนุม พี่เลยถามว่าอ้าวแล้วถ้าพี่ทำธุรกิจต้องเรียกชาวบ้านมาฟังบรรยายอย่างเรื่องขายปุ๋ยจะทำยังไง ทหารก็ได้แต่เกาหัว สงสัยคงรำคาญพี่มั้ง (หัวเราะ) แล้วก็บอกว่าก็ได้แต่อย่าให้มีเรื่องการเมือง แต่พี่ก็ยอมรับว่าเขา(นายทหารชั้นผู้ใหญ๋) ก็พูดดีอยู่นะ” 
 
หลังเสร็จการพูดคุยเธอก็ได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านในวันเดียวกันเลยไม่ต้องเป็น”แขกรับเชิญ” ค้างคืนในค่ายทหาร 
 
แม้จะไม่ต้องนอนในค่ายและทหารที่มาคุยกับเธอก็คุยด้วยดีแต่พี่จี๊ดก็มองว่า 
 
“เหมือนเขากดดันพี่กลายๆนะ ว่าอย่าเพิ่งไปเคลื่อนไหว ให้ดูคสช.บริหารงานไปก่อน พอพี่ถามกลับไปว่าทำไมต้องทำรัฐประหาร ทำไมไม่เข้ามาตามระบอบประชาธิปไตย คือคนที่มาชุมนุมเค้าก็แสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย มาชุมนุมก็ไม่มีอาวุธ ทำไมถึงต้องเอาปืนไปจี้ ไปยึด เค้าก็บอกว่าคสช.จำเป็นต้องทำรัฐประหาร เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันมือที่สามเข้ามาก่อเหตุ ถ้าปล่อยไว้เกิดมีคนฆ่ากันตายจะทำยังไง” 
 
พี่ “จี๋ด” ระบุด้วยว่าเธออยากจะตอบกลับไปว่า “แล้วพวกท่าน(ทหาร) รู้ได้ยังไงว่ามีมือที่สาม แล้วถ้ารู้ทำไมไม่ไปจัดการมือที่สาม มายึดอำนาจทำไม” แต่สุดท้ายเธอก็ตัดสินใจเลือกที่จะเงียบเอาไว้เพราะคิดว่ายังไงก็คงสู้ไม่ได้
 
ก่อนออกจากค่ายพี่ “จี๊ด” ต้องเซ็นข้อตกลง (MOU) กับทางทหารว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง “ทหารเขาบอกว่าอยู่จังหวัดเดียวกัน พบกันครึ่งทาง จะได้คุยกันรู้เรื่อง พวกผมก็ทำตามหน้าที่ แต่เราต้องพบกันครึ่งทาง ถ้าผมไม่ได้ตรงนี้คุณก็คงรู้นะว่าพวกผมจะต้องเจอกับอะไรบ้าง พี่ก็เข้าใจเขานะก็เลยยอมเซ็น แต่ตอนออกจากค่ายเค้าก็ไม่ได้ให้พี่ถือเอกสารออกมานะ”
 
เห็นว่าหลังจากครั้งแรกก็ยังโดนเรียกปรับทัศนคติอีกครั้ง?
 
“พอโดนรอบแรกพี่ก็ไม่ได้เคลื่อนไหวอะไรอีกนะ เพราะเราเป็นไม้ไผ่ต้องลิ่วตามลม จะไปแข็งขืนคงไม่ได้ พี่ก็คุยกับเพื่อนๆว่าจะงดเคลื่อนไหว เงียบไปก่อน ผ่านไปถึงปี 58 มีหนังสือ “เชิญ” พี่ไปงานที่ราชภัฎอุดร เป็นการอบรมของคสช. ระหว่างการบรรยายพี่ก็ไม่ได้ยกมือหรือขัด ตอนสุดท้ายก็มีการมีการแจกแบบสอบถามที่มีคำถามประมาณสิบข้อ มีข้อหนึ่งถามว่า“คิดเห็นอย่างไรกับการบริหารงานของ คสช.” พี่ก็จัดเต็มเลยโดนเรียกอีกรอบ”
 
“พี่ตอบเค้าไปตรงๆว่าไม่ชอบการรัฐประหาร ไม่ชอบการบริหารแบบนี้ พี่ชอบระบอบประชาธิปไตยเพราะทั่วโลกเขายอมรับการปกครองระบอบประชาธิปไตย จำได้ว่าวันนั้นเขียนยาวมา พอส่งแบบฟอร์มก็กลับบ้าน ไม่มีอะไร ผ่านไปเดือนกว่าๆก็มีหนังสือจากมทบ.24 เชิญพี่เข้าค่ายอีกแล้ว”
 
“คราวนี้พี่คนที่คุยกับพี่เป็นทหารยศนายพัน พี่ก็ถามเค้าว่าครั้งนี้เรียกพี่มาเพราะอะไร เขาก็บอกว่าเป็นเรื่องที่พี่ไปงานที่ราชภัฎอุดร พี่ก็ท้วงเค้าไปเลยว่าก็ไหนทางท่าน(ทหาร)ให้เสรีภาพในการตอบคำถาม ทหารคนนั้นก็ตอบพี่ว่าก็ให้เสรีภาพแต่ก็อยากรู้ความคิดของคุณ พี่ก็บอกว่าความคิดของพี่พี่ก็เขียนไปหมดแล้ว ทหารคนนั้นก็ครับๆแล้วก็ชวนพี่คุยเล่น”
 
“เค้าถามพี่ด้วยว่าจะเปิดใจรอดูผลงาน(คสช.)อีกสักปีหนึ่งได้ไหม พี่ก็บอกว่ารอดูผลงานอยู่ รอมากๆด้วย รอว่าจะมีอะไรดีๆมาให้คนรากหญ้าบ้าง”
 
หลังจากสองรอบนี้แล้วยังถูกเรียกเข้าค่ายอีกไหม?
 
“ช่วงเดือนพฤษภาคม (ปี 2559) พอเขารู้ข่าวว่าพวกพี่จะเปิดศูนย์ปราบโกง(ประชามติ) ก็เชิญพี่กับแกนนำคนเสื้อแดงในพื้นที่อื่นๆของจังหวัดอุดรเข้าค่ายอีกรอบ”
 
“ครั้งนี้พวกพี่นั่งกันตัวลีบเลย เพราะไม่ได้มีแค่ทหารแต่มีผู้ว่าราชการจังหวัด กอ.รมน. ผู้กำกับสภ.เมืองมาด้วย วันนั้นผู้ว่านั่งหัวโต๊ะเลย วันนั้นเค้าไม่ได้ยึดมือถือ พวกพี่ก็เลยถ่ายรูประหว่างการพูดคุยไว้ด้วย เค้าก็พยายามขอร้องพวกพี่ว่าอย่าเปิดได้ไหมศูนย์ปราบโกงเนี่ย ตอนแรกพวกพี่ก็ไม่ได้รับปาก แต่ครั้งนี้เค้าพูดเจาะจงเลยว่าไม่ให้เปิด พี่ก็เถียงว่า เห็นท่านประยุทธ์พูดว่าเปิดได้นี่คะ ช่วยกันปราบโกง  เขาก็ย้ำอีกว่าขออย่าให้เปิด แต่สุดท้ายพี่ก็เปิดจนโดนคดีชุมนุมห้าคน”
 
“เบื่อเหมือนกันนะ ถูกเรียกบ่อยๆแบบนี้” พี่”จี๊ด”ไม่วายตัดพ้อถึงชะตากรรมของตัวเองที่ถูกเชิญเข้าค่ายทหารไปแล้วสามครั้ง
 
หลังจากสามครั้งนี้แล้วยังถูกเรียกเข้าค่ายอีกไหม?
 
“หลังเค้าค่ายครั้งที่สามก่อนที่พี่จะเปิดศูนย์ปราบโกงพี่ก็ไม่ถูกเรียกเข้าค่ายแล้ว แต่จะมีทหารแวะเวียนมาที่บ้านอยู่บ่อยๆ มาถ่ายรูป เวลาพี่จะออกนอกจังหวัดบางทีก็ต้องแจกพวกเขา เมื่อก็แจ้งทหารเดี๋ยวนี้เปลี่ยนมาแจ้งสันติบาลแทน
 
ตอนเข้าค่ายรู้สึกกลัวทหารหรือไม่ และคิดว่าการถูกพาไป “ปรับทัศนคติ” ทำให้ความคิดความเชื่อเราเปลี่ยนไปหรือไม่?
 
“เรื่องความคิดคงไม่เปลี่ยนเพราะพี่ก็เชื่อของพี่อย่างงี้ พี่รู้ว่าสิ่งที่เขาพูดมาทั้งหมด มันไม่ใช่ความจริง จะเปลี่ยนใจคน มันเปลี่ยนกันไม่ได้ง่ายๆ นะ คนเขามีประสบการณ์เคยเห็นมาอย่างนี้ แล้วจะมาเปลี่ยนกะทันหัน มันเป็นไปได้เหรอ ปรับทัศนคติ ปรับไปก็แค่นั้นเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ต่อให้เอาเขาไปขัง ก็เปลี่ยนเขาไม่ได้ คุณขังได้แต่ตัว คนมันรักไปแล้วศรัทธาไปแล้ว ความศรัทธามันลบยาก”
 
ถ้าอยากให้คนมีทัศนคติที่ดีต่อทหารต้องทำอย่างไร?
 
“คุณก็ต้องทำหน้าที่ของคุณ คณเป็นทหาร คุณก็ไปทำหน้าที่เป็นทหารไปสิ จะไปสั่งลูกน้องในกรม คุณจะมายุ่งการเมืองทำไม การเมืองมันเป็นเรื่องของนักบริหารเขา การเมืองเหมือนธุรกิจเลยนะ ถ้าบริหารเป็นก็เจริญรุ่งเรือง ถ้าคุณบริหารเสียหายละ มันก็เป็นแบบทุกวันนี้ไง”