ทหารผู้กล่าวหาจำเลยคดี 112 จากการกดไลค์ เบิกความต่อศาลเล่นเฟซบุ๊กไม่เป็น

ทหารฝ่ายกฎหมายของ คสช. เบิกความต่อศาลทหารกรุงเทพในฐานะผู้กล่าวหาให้ดำเนินคดีกับ ฐนกร ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จากการกดไลค์และเสียดสีคุณทองแดง โดยยอมรับว่า ใช้เฟซบุ๊กไม่เป็น และไม่มีความรู้เกี่ยวกับเฟซบุ๊ก ประชาชนไม่จำเป็นต้องให้เกียรติหรือแสดงความเคารพต่อคุณทองแดง ส่วนกรณีข่าวลือการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ในข้อหายุยงปลุกปั่นนั้น ป.ป.ช. ตรวจสอบแล้วไม่พบความผิด ผู้ถูกกล่าวหาก็ไม่มีหน้าที่ต้องชี้แจงต่อประชาชน
 
 
คดีที่พนักงานอัยการทหาร เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ฐนกร เป็นจำเลย ต่อศาลทหารกรุงเทพ หลังจำเลยถูกจับกุมตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 และได้ประกันตัวในสามเดือนให้หลัง ใช้เวลาดำเนินคดีไปแล้วกว่าสองปี ศาลทหารเพิ่งสืบพยานโจทก์ปากแรกเสร็จ คือ พลตรีวิจารณ์ จดแตง นายทหารฝ่ายกฎหมายของ คสช. และนัดสืบพยานโจทก์ปากที่สองต่อในวันที่ 8 พฤศจิกายน, 27 พฤศจิกายน และ 20 ธันวาคม 2561
 
 
เหตุที่คดีนี้พิจารณาไปอย่างล่าช้า นอกจากเพราะการนัดคดีไม่ต่อเนื่องของศาลทหารแล้ว ยังมีเหตุเนื่องจากฝ่ายจำเลยเคยยื่นคำร้องคัดค้านเขตอำนาจว่า ศาลทหารไม่ควรพิจารณาคดีพลเรือน ซึ่งกระบวนการพิจารณาเรื่องเขตอำนาจศาลใช้เวลาไปหลายเดือน และต่อมาตัวจำเลยบวชเป็นพระภิกษุ ทำให้การสืบพยานแต่ละนัดที่มักจะเริ่มจริงในเวลาประมาณ 10.00 เมื่อดำเนินไปถึงประมาณ 11.00 โมงก็ต้องพักการพิจารณาเพื่อให้พระได้ฉันเพล
 
 
คดีนี้ จำเลยถูกฟ้องเป็นความผิดรวมสามกรรม ได้แก่ 1) กดถูกใจ (like) แฟนพจ “ยืนหยัด ปรัชญา” บนเฟซบุ๊ก ซึ่งโพสต์ภาพเข้าข่ายหมิ่นฯ 2) โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสุนัขทรงเลี้ยงในลักษณะประชดประชัน 3) โพสต์ภาพบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ พร้อมข้อความประกอบภาพสรุปได้ว่าบุคคลในภาพเกี่ยวข้องกับการทุจริต ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์, มาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)
 
 
พยานปากแรก พลตรีวิจารณ์ จดแตง ที่เบิกความต่อศาลเสร็จไปแล้วใช้เวลาเบิกความไปสามนัด คือ วันที่ 23 กุมภาพันธ์, 18 มิถุนายน และ 17 สิงหาคม 2561 ระหว่างการพิจารณาคดีศาลทหารอนุญาตให้บุคคลทั่วไปที่สนใจเข้าฟังการพิจารณาคดีได้ แต่ไม่อนุญาตให้จดบันทึกระหว่างการพิจารณาคดี เท่าที่ผู้สังเกตการณ์เข้าไปนั่งฟังการเบิกความของพยานปากแรกและจดจำมาได้ เนื้อหาพอสรุปได้ ดังนี้
 
 
พลตรี วิจารณ์ เบิกความว่า เมื่อปี 2558 รับราชการตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้รับมอบหมายจากหัวหน้า คสช. ให้เป็นหัวหน้าส่วนปฏิบัติการ คณะทำงานกฎหมาย มีหน้าที่รวบรวมข้อมูลพยานหลักฐาน และกล่าวโทษผู้กระทำความผิด ในคดีนี้ อาศัยอำนาจ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เอาตัวจำเลยมาซักถามที่มณฑลทหารบกที่ 11 จำเลยรับว่า โพสต์ข้อความตามที่ถูกกล่าวหาจริง ต่อมาได้รับมอบหมายให้กล่าวหาดำเนินคดีต่อจำเลย 
 
 
พลตรี วิจารณ์ ตอบคำถามทนายความว่า ใช้เฟซบุ๊กไม่เป็น และไม่มีความรู้เกี่ยวกับเฟซบุ๊ก ทราบเหตุในคดีนี้เพราะฝ่ายข่าวของ คสช. นำภาพมาให้
 
 
พลตรี วิจารณ์ เบิกความว่า ตอนที่ซักถามจำเลยและทำบันทึกถ้อยคำเอาไว้ ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบก่อน ไม่ได้แจ้งสิทธิในจำเลยทราบ ไม่ได้แจ้งกับจำเลยว่า มีสิทธิจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ ขณะซักถามจำเลยไม่มีทนายความเข้าร่วมด้วย เพราะขณะนั้นจำเลยยังไม่ใช่ผู้ต้องหา สถานที่ซักถาม คือ มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) 
 
 
พลตรี วิจารณ์ รับว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องไม่ดี คสช. ต้องการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ซึ่งประชาชนสามารถมีส่วนร่วมตรวจสอบการคอร์รัปชั่นได้ โดยการทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย สำหรับกรณีการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ เป็นโครงการใหญ่ หากมีการทุจริตก็ให้ร้องเรียนไปที่ ป.ป.ช. ได้ ไม่ใช่มาเดินขบวน แต่กรณีนี้ ป.ป.ช. ตรวจสอบแล้วว่า ไม่พบหลักฐานการทุจริต ประชาชนสามารถเรียกร้องให้คนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตออกมาชี้แจงได้ แต่ไม่ใช่หน้าที่ของคนเหล่านั้นต้องออกมาชี้แจงต่อประชาชน
 
 
สำหรับข้อกล่าวหาเรื่องการเสียดสีคุณทองแดงนั้น เมื่อทนายความถามว่า คุณทองแดงถือเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ และประชาชนต้องให้เกียรติหรือแสดงความเคารพต่อคุณทองแดงหรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่า ไม่เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันฯ และประชาชนไม่จำเป็นต้องเคารพ ข้อความที่จำเลยโพสต์ถึงคุณทองแดงไม่มีส่วนใดที่กล่าวถึงพระมหากษัตริย์โดยตรง แต่อ่านแล้วเข้าใจได้ว่า เป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 
 
 
สำหรับประเด็นที่จำเลยถูกกล่าวหาว่า กดไลค์เพจเฟซบุ๊กชื่อ “ยืนหยัด ปรัชญา” ทนายความถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่า การกดไลค์เพจกับการกดไลค์ข้อความในเพจนั้นต่างกัน พลตรีวิจารณ์ตอบว่า ทราบ เมื่อทนายความถามว่า จำเลยในคดีนี้กดไลค์เพจแต่ไม่ได้กดไลค์ข้อความใดๆ ในเพจใช่หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ชี้ที่รูปปก (cover) ของเพจและอธิบายว่า เนื่องจากเพจนี้มีข้อความต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ การกดไลค์เพจที่มีภาพนี้จึงเป็นการกดไลค์ข้อความในภาพนั้นด้วย
 
 
ทนายความถามว่า การกดไลค์เท่ากับเห็นด้วยใช่หรือไม่ พลตรี วิจารณ์ตอบว่า ใช่ ทนายความถามต่อว่า พยานทราบหรือไม่ว่า ในทางเทคนิคการกดไลค์เพจหมายถึงการกดเพื่อติดตามข่าวสารจากเพจ พลตรีวิจารณ์ตอบว่า ไม่ทราบ
ดูข้อมูลคดีของฐนกร ย้อนหลังได้ที่นี่