ศาลอาญาสั่งจำคุกจำเลยคดีระเบิดน้ำบูดู 9 คนจาก 14 คนในความผิดฐานอั้งยี่ ซ่องโจรและครอบครองระเบิด

 

 

25 กันยายน 2561 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา ถนนรัชดาฯ นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่จำเลย 14คน มีภูมิลำเนาจากจังหวัดชายแดนใต้ถูกกล่าวหาว่า ครอบครองระเบิดและอั้งยี่ ซ่องโจร หรือที่รู้จักกันในชื่อ คดีระเบิดน้ำบูดู โดยตั้งแต่ช่วงเช้ามีครอบครัวของจำเลยทั้ง 14 คนจำนวนกว่า 40 คน นักข่าวจากหลายสำนัก รวมถึงองค์กรสังเกตการณ์สิทธิมนุษยชนมาร่วมรอรับฟังคำพิพากษา

เวลาประมาณ 10.00 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์และอ่านคำพิพากษาคดีอื่น ก่อนที่ในเวลา 10.20 น. ศาลจึงเริ่มเรียกชื่อของจำเลยทีละคนจนครบทั้ง 14 คน และกล่าวในห้องพิจารณาคดีว่า ระหว่างการพิจารณาคดีนี้ศาลมีอีกคดีหนึ่งที่มีจำเลยจำนวนประมาณ 10 คนเช่นกัน ตามปกติแล้วจะพิจารณาทีละคดีไป แต่ศาลก็พยายามจะทำให้รวดเร็ว เป็นธรรมที่สุด รวมทั้งคดีนี้จำเลยจำคุกอยู่ด้วย จึงจะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาคดีอย่างรวดเร็ว ในตอนแรกนั้นศาลก็คิดว่า มีจำเลยบางคนอาจได้รับการปล่อยตัว

ที่ผ่านมาศาลพิจารณาคดีโดยคำนึงถึงหลักการสิทธิและเสรีภาพ คำพิพากษาในวันนี้ยังไม่ถือว่าเป็นที่สุด เนื่องจากเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยหรือโจทก์ก็มีสิทธิเช่นกันที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลในชั้นต่อไป วันนี้คำพิพากษายังไม่ใช่ฉบับสมบูรณ์แต่ครอบคลุมในข้อวินิจฉัยทุกประการแล้ว ศาลกล่าวย้ำว่า จำเลยมีสิทธิในการอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา โดยระบุว่า ที่ต้องพูดเช่นนี้เนื่องจากศาลอยากอธิบายให้จำเลยและญาติของจำเลยเข้าใจไปพร้อมกัน

หลังจากนั้นศาลจึงถามอีกครั้งว่า ในชั้นสอบคำให้การจำเลยทั้ง 14 คนให้การปฏิเสธ ในวันนี้ ตอนนี้ ศาลขอถามอีกครั้งว่า มีใครจะเปลี่ยนมาให้การรับสารภาพหรือไม่ จำเลยทุกคนนิ่งเฉย ศาลจึงสรุปว่า ไม่มี จากนั้นศาลจึงขอให้ผู้ที่เข้ามาร่วมรับฟังคดีทุกคนปิดเครื่องมือสื่อสาร ห้ามถ่ายภาพ, บันทึกข้อมูลและบันทึกเสียงภายในห้องพิจารณาคดี หากใครที่ทำไปแล้วศาลให้โอกาสในการลบไฟล์ข้อมูลดังกล่าวออก

ต่อมาศาลจึงอธิบายว่า ในการอ่านคำพิพากษาของศาลว่า ศาลจะอ่านในส่วนคำฟ้อง ข้อเท็จจริงและข้อวินิจฉัย ในส่วนแรกนี้จะเป็นเรื่องคำฟ้องที่เกี่ยวข้องกับขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานี โดยมีวัตถุประสงค์ในการแบ่งแยกดินแดนคือ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและบางส่วนของจังหวัดสงขลา มีกองกำลังติดอาวุธ ใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน โดยจำเลยทั้งหมดถูกกล่าวหาว่า เข้าร่วมกับขบวนการดังกล่าวเข้าข่ายความผิดฐานอั้งยี่และซ่องโจรตามประมวลกฎหมายอาญา ขณะที่จำเลยที่ 3 ถูกกล่าวหาเพิ่มเติมว่า มีสารระเบิดชนิด PETN มีน้ำหนัก ปริมาณเท่าใดไม่ปรากฏชัดอันเป็นวัตถุระเบิดตามพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ

ข้อเท็จจริงเบื้องต้นปรากฏว่า ในระหว่างปี 2555-2559 มีเหตุความไม่สงบในพื้นที่อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาสมาตลอด เช่นการก่อเหตุความวุ่นวายเผารถยนต์, วางระเบิดแสวงเครื่องและการลอบยิงอาสาสมัครรักษาดินแดน โดยจำเลยส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส และรู้จักกับผู้ที่เคยมีประวัติการก่อเหตุในพื้นที่อำเภอศรีสาคร บางส่วนมาจากอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส และจำเลยที่ 7 และ 14 มาจากอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี

จำเลยทั้งหมดเดินทางขึ้นมายังกรุงเทพฯและอยู่อาศัยในหลายพื้นที่เช่น หัวหมาก หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง, มีนบุรีและบางพลี เป็นต้น ต่อมาผู้เคยก่อเหตุในพื้นที่ศรีสาครส่งพัสดุที่บรรจุโทรศัพท์เคลื่อนที่มาโดยผ่านญาติของจำเลยที่ 4 พัสดุดังกล่าวมีการซุกซ่อนอยู่ภายใต้ขวดน้ำบูดูและเครื่องเทศ เมื่อจำเลยได้พัสดุดังกล่าวก็นำไปซุกซ่อนบนฝ้าเพดานห้องพักย่านบางพลี

ขณะที่จำเลยที่ 9 ให้การในชั้นสอบสวนทำนองว่า จำเลยที่ 1 ขู่บังคับในตนต้องไปตระเตรียมพื้นที่ในการก่อเหตุระเบิด หากตนไม่กระทำตามจะทำร้ายครอบครัวของตน ตนจึงไปสำรวจพื้นที่การก่อระเบิด ซึ่งคือบริเวณถังขยะหน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี หัวหมาก ก่อนวันเกิดเหตุพบว่า จำเลยบางส่วนประชุมวางแผนกันและดื่มน้ำพืชกระท่อมร่วมกันก่อนถูกจับกุมในที่สุด นอกจากนี้จากการตรวจสอบสารประกอบระเบิดของเจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมพบว่า มือซ้ายของจำเลยที่ 3 ปนเปื้อนสาร PETN ที่เป็นสารระเบิดชนิดแรงดันสูง ไม่ละลายน้ำ สามารถล้างออกได้ด้วยผงซักฟอกหรือสบู่

ในส่วนของข้อวินิจฉัยระบุว่า แม้ว่าในคดีนี้จะไม่มีประจักษ์พยานที่ชัดแจ้ง แต่ตามธรรมชาติของกระบวนการก่อเหตุความวุ่นวายจะต้องเก็บเป็นความลับเพื่อไม่ให้รั่วไหลไปถึงเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ดังนั้นจึงต้องพิจารณาหาพยานหลักฐานอื่นๆเช่น คำให้การซัดทอดของจำเลย โดยแม้ว่า ในการสืบพยานจำเลย จำเลยบางส่วนจะให้การว่า มีการทำร้ายร่างกายระหว่างการสอบสวน แต่เป็นการอ้างตัวเองเบิกความอย่างลอยๆ และไม่มีหลักฐานอื่นใดที่จะชี้ชัดว่า จำเลยถูกทำร้ายจริง ทั้งยังไม่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ด้วย

ศาลอธิบายเพิ่มเติมว่า ระหว่างการพิจารณาคดีนี้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา แต่ไม่เป็นเป็นคุณต่อผู้ต้องหาจึงอ้างอิงตามกฎหมายเดิม พิพากษาว่า จำเลย 1-4, 9-13  มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 วรรคแรก (เดิม) มาตรา 210 วรรคสอง(เดิม) และจำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 (พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ) มาตรา 4, 55 และ 78 วรรคหนึ่งการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเรียงเป็นกระทงความผิดไป

ฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรจำคุกคนละ 3 ปี ฐานมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 3 ปี คำรับของจำเลยตามบันทึกผลการดำเนินกรรมวิธีและบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม สรุปโทษฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรจำคุกคนละ 2 ปีฐานมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 2 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1-2,4,9-13 คนละ 4 ปีและจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 6 ปียกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5-8 และ 14

กิจจา อาลีอิสเฮาะ ทนายความกล่าวว่า หลังจากนี้จะยื่นอุทธณ์ภายใน 30 วัน โดยมาจนถึงวันนี้จำเลยถูกจำคุกมาเกือบ 2 ปี ในประเด็นเรื่องการซ้อมทรมานในชั้นสอบสวนจนนำมาสู่การรับสารภาพนั้น กิจจากล่าวว่า ระหว่างสืบพยานจำเลย จำเลยเกือบทั้งหมดกล่าวว่า ถูกซ้อมทรมานเช่น การตบบ้องหู การต่อย ให้ถอดเสื้อผ้าและเปิดแอร์ในอุณหภูมิต่ำเพื่อไม่ให้เกิดบาดแผล แม้ว่า สุดท้ายแล้วในคำพิพากษา การเบิกความของจำเลยจะไม่มีน้ำหนักหรือที่ศาลระบุว่า เป็นคำพูดลอยๆ แต่ในความเป็นจริงเมื่อจำเลยถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร กว่าญาติจะเข้าเยี่ยมได้ก็ผ่านไปสักพักแล้ว ขณะที่เมื่อเข้าเยี่ยมได้ก็ถูกบังคับว่า ห้ามพูดเรื่องการซ้อมทรมาน

 

สองปีแห่งความทุกข์ทนของครอบครัว

ฮาฟิซ ซีกาจิ ผู้ประสานงานเปอร์มาส กรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์การจับกุมจำเลย 6 คนจาก 14 คน เล่าว่า จำเลยเดินทางมาทำงานที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 10 ตุลาคม 2559 ช่วงเช้ามืดตอนนั้นเขากำลังนอนอยู่ ได้ยินเสียงเคาะประตูจึงลุกไปมองที่ระเบียงเห็นเจ้าหน้าที่จำนวนมาก จนกระทั่งในตอนเช้าได้ไปถามเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.หัวหมากจึงทราบว่า ทั้ง 6 คนถูกจับเนื่องจากการมีใบกระท่อมไว้ในครอบครอง เขาจึงเดินเรื่องขอประกันตัว จนกระบวนการเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่บอกต้องรอ 24 ชั่วโมงถึงจะปล่อยตัว จึงกลับมารอที่ห้องพักแต่พอครบ 24 ชั่วโมงก็ยังไม่กลับ

ด้วยความสงสัยเลยไปตามที่สน.หัวหมากอีกครั้ง เขาพยายามถามตำรวจว่า ทั้ง 6 คนหายตัวไปไหน ตอนแรกตำรวจบอกเพียงว่า ปล่อยตัวแล้ว จัดการเรียบร้อยแล้ว แต่เจ้าตัวไม่กลับบ้านเอง เมื่อพยายามถามไปอีกตำรวจจึงยอมบอกว่า ทหารมาควบคุมตัวไปที่มณฑลทหารบกที่ 11 (อาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558) หลังจากนั้นจึงประสานงานกับญาติของทั้ง 6 คน

ฮานีละ ดือลามะ แม่ของอุสมาน จำเลยที่ 4 เป็นคนหนึ่งที่ฮาฟิซได้ติดต่อว่า ให้ขึ้นมากรุงเทพฯเพราะติดต่ออุสมานและเพื่อนๆไม่ได้แล้ว เมื่อทราบข่าวจึงมาที่กรุงเทพฯ แต่ไม่มีข้อมูลใดๆเลย แต่ได้ขอความช่วยเหลือทางศูนย์อํานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)ไป

ต่อมาตัวแทนจากศอ.บต. ประสานงานให้จนทราบว่า อุสมานและเพื่อนๆอยู่ที่ มทบ. 11 เธอขอเข้าเยี่ยมลูกของเธอแต่ทหารไม่ยอมให้เข้าเยี่ยม เธอจึงต่อรองว่า ถ้าไม่ให้เยี่ยมขอโทรศัพท์ได้ไหม ทหารก็ปฏิเสธ พอถามว่า ส่งอาหารให้ได้ไหม อุสมานและเพื่อนๆจะได้รู้ว่า มีผู้ปกครองมา แต่ทหารไม่ยินยอมเช่นเดิม อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นมีการประสานจนยอมให้เข้าเยี่ยมเวลา 04.00 น. ของวันที่ 12 ตุลาคม 2559

เธอกล่าวว่า ระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาขายที่ดินไปจนหมดแล้ว ทุกอย่างต้องใช้เงิน บางคนแม้ญาติผู้ใหญ่เสียชีวิต พวกเขาก็ไม่มีโอกาสแม้กระทั่งไปลาครั้งสุดท้าย ช่วงดังกล่าวจำเลยพลาดไปหลายอย่าง และถ้าหากว่า มีค่าทนายความ เธอคงมาไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมวันนี้เพราะไม่มีเงินมากพอ ที่ผ่านมาเธอเคยไปขอเงินช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม แต่กองทุนฯไม่ให้ผ่าน เธอยังระบุว่า ช่วงที่อุสมานได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านต้องกินยาจิตเวชเนื่องจากมีอาการหวาดกลัวระหว่างการควบคุมตัว

สอดคล้องกับคำกล่าวของแม่ของจำเลยอีกหลายคน หนึ่งในแม่ๆเหล่านั้นระบุว่า ที่ผ่านมาเธอต้องหยิบยืมเงินจำนวนมากเพื่อเป็นค่าเดินทางมาเยี่ยมลูกชาย รถมอเตอร์ไซค์ที่มีเป็นสมบัติชิ้นเดียวก็ต้องนำไปจำนำ นอกจากนี้ ตอนที่เธอเข้าเยี่ยมลูกชายที่มทบ.11 สภาพตอนนั้นคือ ลูกชายใส่กางเกงขาสั้นบอกเซอร์ และร้องไห้ ลูกชายบอกเธอว่า เขาไม่ถูกช็อตไฟฟ้า แต่เพื่อนอีกคนถูกช็อตไฟฟ้า

 

คำฟ้องคดี ‘ระเบิดน้ำบูดู’ -อั้งยี่ ซ่องโจรและครอบครองระเบิด

คดีหมายเลขดำที่อ. 561/ 2560
 
ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดกับตาลมีซีและพวกรวม 14 คน
 
ข้อ 1. ก่อนเกิดเหตุคดีนี้เมื่อหลายปีมาแล้วมีคณะบุคคลจำนวนมากกว่าห้าคนขึ้นไปซึ่งปกปิดวิธีการดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฏหมายได้สมคบการก่อตั้งขบวนการ ร้ายโดยใช้ชื่อว่าขบวนการกู้ชาติปัตตานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการแบ่งแยกราชอาณาจักรไทยคือแบ่งแยกจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และบางส่วนของจังหวัดสงขลาออกจากราชอาณาจักรไทย ตั้งตนเป็นรัฐอิสระปกครองตนเองเรียกว่ารัฐปัตตานีหรือรัฐปัตตานีดารุสสลาม โดยกระทำการอันเป็นความผิดอาญาซึ่งความผิดนั้นมีโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปด้วยการใช้กำลังประทุษร้ายและกระทำการอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตอันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกายและเสรีภาพของบุคคลด้วยการก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง
 
สะสมกำลังคนและอาวุธทำการโฆษณาชวนเชื่อยุยงและปลุกระดมราษฎรที่นับถือศาสนาอิสลามและมีถิ่นที่อยู่ในเขตสามจังหวัดชายแดนใต้และบางอำเภอของจังหวัดสงขลาดังกล่าวว่าตามประวัติศาสตร์ดินแดนดังกล่าวเคยเป็นดินแดนของชนชาติมลายูอยู่ที่นับถือศาสนาอิสลามมาก่อนเรียกว่า ฟาฏอนีดารุสลามหรือปัตตานีดารุสลาม แต่ต่อมาได้ถูกประเทศไทยหรือสยามประเทศเข้ารุกรานยึดครองและรัฐบาลไทยได้ปกครองโดยไม่สนใจดูแลความเป็นอยู่ของราษฎรที่นับถือศาสนาอิสลามมีการกดขี่ ข่มเหงราษฎรที่นับถือศาสนาอิสลาม อีกทั้งข้าราชการไทยปฏิบัติต่อผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามอย่างไม่เป็นธรรมและเลือกปฏิบัติ
 
ทำให้ราษฎรที่นับถือศาสนาอิสลามและได้รับคำโฆษณาชวนเชื่อยุยงปลุกระดมดังกล่าวบางส่วนลงเชื่อเกิดความรู้สึกเกลียดชังราษฎรที่นับถือศาสนาพุทธ เกลียดชังข้าราชการและรัฐบาลไทยจึงเข้าร่วมเป็นสมาชิกของขบวนการดังกล่าวดำเนินการให้มีการแบ่งแยกดินแดนตามวัตถุประสงค์ของขบวนการชักจูงวงศ์ญาติและเพื่อนฝูงเข้าเป็นสมาชิกหรือแนวร่วมของขบวนการจัดส่งครูสอนศาสนาหรืออุสตาสเข้าไปยังโรงเรียนสอนเด็กเล็กที่เรียกว่าตาดีกาและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม(ปอเนาะ) ต่างๆเพื่อปลูกฝังแนวความคิดในเรื่องการแบ่งแยกดินแดนให้กับเด็กและเยาวชนรวมทั้งนักเรียนในโรงเรียนปอเนาะให้เกลียดชัง ฝึกระเบียบวินัยเพื่อให้เชื่อฟังคำสั่งของอุสตาส ปลุกระดมแนวคิดการปกครองแบบรัฐปัตตานีสู่กลุ่มเยาวชนที่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมตามโรงเรียนปอเนาะและโรงเรียนอื่นๆ
 
ซึ่งขบวนการมีการแบ่งหน้าที่กันทำอย่างชัดเจนได้แก่ กลุ่มการเมืองท้องถิ่น กลุ่มสนับสนุนเงินทุน กลุ่มองค์กรศาสนา กลุ่มก่อการร้าย กลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีการลักลอบฝึกอาวุธสอนวิชาทหาร การสู้รบแบบกองโจรให้แก่สมาชิกของขบวนการในการก่อการร้ายเพื่อแบ่งแยกดินแดน ขบวนการดังกล่าวจะมีรายได้จากการบริจาคของสมาชิกและแนวร่วมขบวนการที่มีฐานะร่ำรวยรวมทั้งได้รับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศที่เป็นแนวร่วมทำให้ขบวนการมีเงินทุนในการจัดซื้ออาวุธต่างๆมาทำการสะสมไว้และอาวุธอีกส่วนหนึ่งก็ได้มาจากการปล้นอาวุธของทางราชการตำรวจทหารและฝ่ายปกครอง เมื่อมีกำลังพลและและสะสมอาวุธได้พอสมควรแล้วขบวนการดังกล่าวก็ได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธทำการก่อการร้ายในพื้นที่ต่างๆในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และบางอำเภอของจังหวัดสงขลาดังกล่าวอย่างรุนแรงและต่อเนื่องโดยไม่เกรงกลัวกฎหมายท้าทายอำนาจรัฐ
 
ใช้กำลังประทุษร้ายและฆ่าเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานต่างๆและประชาชนในพื้นที่รวมถึงก่อเหตุเผาโรงเรียน วางระเบิดสถานที่ราชการร้านค้า และที่ชุมชนต่างๆโดยมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญรัฐบาลไทยและเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนอันเป็นการกระทำความผิดฐานกบฏก่อการร้ายเป็นอังยี่และซ่องโจร ซึ่งการกระทำความคิดดังกล่าวข้างต้นย่อมเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปแล้วว่ายังคงมีอยู่ตลอดมาจนถึงขณะนี้และนับวันจะยิ่งมีความร้ายแรงมากขึ้น โดยมีแนวโน้มที่จะขยายพื้นที่ในการเคราะก่อเหตุเข้าสู่พื้นที่อื่นๆของประเทศไทย
 
ข้อ 2 จำเลยทั้งเก้ากับพวกอีกแปดคนซึ่งอยู่ระหว่างหลบหนียังไม่ได้นำตัวมาฟ้องได้ร่วมกันทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ
 
ก. เมื่อระหว่างวันเดือนและเวลาใดไม่ปรากฏชัดประมาณกลางปีพ.ศ. 2553 ถึงวันที่ 10 ตุลาคมพ.ศ. 2559 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องติดต่อกันวันเวลาใดไม่ปรากฏชัดจำเลยทั้งเก้ากับพวกได้บังอาจร่วมกันกระทำความผิดเป็นอังยี่ โดยจำเลยทั้งเก้ากับพวกได้บังอาจเค้ารวมกันเป็นสมาชิกของคณะบุคคลที่ใช้ชื่อว่าขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานีอันเป็นคณะบุคคลในรูปแบบของขบวนการแบ่งแยกดินแดนและเป็นคณะบุคคลที่ปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย โดยมีความมุ่งหมายเพื่อการแบ่งแยกดินแดนจังหวัดปัตตานีจังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาสและบางอำเภอของจังหวัดสงขลาออกจากราชอาณาจักรไทยแล้วจัดตั้งเป็นประเทศหรือรัฐขึ้นใหม่ที่มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเองโดยใช้ชื่อว่ารัฐปัตตานีหรือปัตตานีดารุสลามดังที่กล่าวมาแล้วในฟ้องข้อหนึ่งแล้วยังได้ขยายพื้นที่ในการก่อการร้ายเข้ามาในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอันเป็นการมิชอบด้วยกฏหมาย
 
ข. เมื่อระหว่างวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2559 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงถึงวันที่ 11 ตุลาคมพ.ศ. 2559 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งเก้ากับพวกอีกแปดคนซึ่งมีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปได้บังอาจสมคบกันเป็นซ่องโจร โดยจับกลุ่มปรึกษาตกลงวางแผนเพื่อจะกระทำการแบ่งแยกราชอาณาจักร ก่อการร้ายดังกล่าวตามฟ้องข้อก. ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดสมุทรปราการโดยร่วมกันประชุมวางแผนก่อการร้าย ใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักรและกระทำความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชนความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน เป็นความผิดต่อชีวิตและร่างกายและร่วมกันประกอบวัตถุระเบิดเพื่อใช้ฆ่าเจ้าเจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไปโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและจะทำให้เกิดระเบิด เป็นเหตุให้ผู้อื่นรวมถึงประชาชนทั่วไปได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กายสาหัสและถึงแก่ความตายรวมถึงทรัพย์สินเสียหาย โดยมีความประสงค์จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ทรัพย์สินของประชาชนและทรัพย์สินของรัฐที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ และก่อให้เกิดหรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนอันเป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาคสองแห่งประมวลกฎหมายอาญาและความผิดนั้นมีกำหนดโทษประหารชีวิตจำคุกตลอดชีวิตและจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปอันเป็นการร่วมกันกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร
 
ค. เมื่อระหว่างวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2559 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงถึงวันถึงวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เวลากลางคืนหลังเที่ยงวันเวลาใดไม่ปรากฏชัดจำเลยที่สามได้บังอาจมีสารระเบิดชนิด PETN มีน้ำหนักปริมาณเท่าใดไม่ปรากฏชัด ซึ่งเป็นสารระเบิดชนิดแรงสูงมีลักษณะสีขาวจนถึงสีเทาอ่อนและสีเหลือง ไม่ละลายน้ำ ซึ่งใช้ทำวัตถุระเบิดแบบผสมดินขยายการระเบิดใช้ในฝักแคระเบิด เมื่อเกิดการระเบิดขึ้นทำให้มีแรงทำลายหรือแรงประหารสามารถทำอันตรายต่อชีวิตวัตถุระเบิดอันเป็นวัตถุระเบิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 และเป็นวัตถุระเบิดในประเทศประเภทและชนิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบทะเบียนตามกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 ข้อสี่ไว้ในครอบครองของจำเลยที่สามอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
 
เหตุตามฟ้องข้อ 2. ก. ข. และค. เกิดที่ตำบลใดไม่ปรากฏชัด อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ตำบลบางเสาธง อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ และแขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน
 
 

 

หมายเหตุ : รายละเอียดคำพิพากษาเป็นเพียงบางส่วนจากคำพิพากษาทั้งหมดที่ศาลได้อ่านจริงในวันที่ 25 กันยายน 2561 ประกอบกับข้อมูลจากเว็บไซต์ศาลอาญา