ปิดงานเสวนาอนาคตเผด็จการทหารพม่า จนท.หวั่นกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

 
 
 
10 กันยายน 2561 เวลาประมาณ 17.30 น. พันตำรวจอัครวุฒิ ธานีรัตน์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลลุมพินีส่งหนังสือต่อประธานสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ขอให้งดจัดกิจกรรมWill Myanmar’s Generals Ever Face Justice for International ที่กำหนดจะจัดในเวลา 19.00 น.ของวันดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวจะส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรืออาจจะมีบุคคลไม่หวังดีอาจฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ต่างๆเพื่อให้เกิดความวุ่นวาย ซึ่งเป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างไรก็ดี FCCTยังคงยืนยันที่จะจัดกิจกรรมตามกำหนดเดิมต่อไป
 
ในกิจกรรมมีผู้ร่วมพูดคุยสามคนคือ Tun Khin ที่เกิดในรัฐยะไข่และเป็นประธานของ the Burmese Rohingya Organization ซึ่งเป็นปากเสียงสำคัญในการเรียกร้องเพื่อชาวโรฮิงญา และเป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญาแก่สภาครองเกรสของอเมริกาและสภาของหลายประเทศ รวมถึงคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, กอบศักดิ์ ชุติกุล อดีตเอกอัครราชทูตและสมาชิกสภา ต้นปีที่ผ่านมาเขาได้ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการของคณะที่ปรึกษาระหว่างประเทศว่าด้วยการแก้ไขปัญหาโรฮิงญาในพม่า และคิงส์ลีย์ แอบบ็อต ที่ปรึกษาอาวุโสด้านกฎหมายระหว่างประเทศประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists)
 
 
 
ประเด็นโรฮิงญาเป็นประเด็นที่อ่อนไหวสำหรับรัฐบาลพม่าและทหารพม่าอย่างมาก ในปี 1982 ได้มีการจัดสำรวจสำมะโนประชากรและปฏิเสธไม่ให้การยอมรับชาวโรฮิงญาในฐานะพลเมือง ดังนั้นชาวโรฮิงญาจึงตกอยู่ในสถานะของคนไร้รัฐไปโดยปริยาย แม้ว่าประวัติศาสตร์ของโรฮิงญาในพื้นที่รัฐยะไข่จะสามารถสืบย้อนไปจนถึงศตวรรษที่แปดก็ตาม ขณะที่รัฐบาลพม่ามีการปราบปรามชาวโรฮิงญามาโดยตลอด  
 
ในส่วนของความรุนแรงในยุคปัจจุบัน ชาวโรฮิงญาต้องเผชิญกับการจับกุม กักขังและปฏิบัติอย่างโหดร้าย จากการสำรวจพบว่า พม่ามีประชากรชาวโรฮิงญาจำนวนกว่าล้านคน แต่นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 มีโรฮิงญาอพยพออกนอกประเทศกว่า 700,000 คนแล้ว ขณะที่ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติออกรายงานของคณะสอบสวนของสหประชาชาติสรุปว่า พม่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่และประณามออง ซาน ซูจีอย่างรุนแรงที่ไม่ยับยั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้น 
 
ต่อมาเวลา 22.30 น. FCCT ได้ออกแถลงการณ์ว่า FCCT รู้สึกผิดหวังในการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ไทยที่ปิดกิจกรรมเสวนาดังกล่าว โดยหนังสือระบุเหตุผลว่า ฝ่ายที่สามจะสร้างความวุ่นวายและเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งไม่มีข้อเท็จจริงเบื้องหลังข้อกังขาดังกล่าว FCCT ได้ดำเนินกิจกรรมด้วยความเรียบร้อยในประเด็นปัจจุบันมามากกว่า 62 ปีและกิจกรรมเหล่านั้นไม่เคยนำไปสู่ความวุ่นวายและการโค่นล้มใด ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา FCCT ยังได้จัดงานเสวนาเกี่ยวกับพม่ามาหลายสิบงาน ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจในประเทศพม่าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของพม่ากับประเทศอื่นๆในภูมิภาค การปิดกิจกรรมดังกล่าวนั้นเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุและเป็นอันตรายต่อภาพลักษณ์ของเสรีภาพสื่อของไทย โดยนับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 กิจกรรมนี้ถือเป็นครั้งที่หกที่ FCCT ถูกเจ้าหน้าที่รัฐสั่งให้ยกเลิกกิจกรรม
 
 
ทั้งนี้ในบรรดากิจกรรมที่ถูกปิดกั้นหรือแทรกแซงอย่าง 201 ครั้ง มีอย่างน้อยห้าครั้งที่เจ้าหน้าที่รัฐอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ‘อย่างชัดเจน’ ในการปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศ ได้แก่
 
หนึ่ง วันที่ 26 มิถุนายน 2558 Human Rights Watch (HRW) จัดแถลงข่าวเปิดตัวรายงาน “Vietnam: End “Evil Way” Persecution of Montagnard Christians” ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ก่อนหน้าจัดงานหนึ่งวันตำรวจได้โทรมาขอความร่วมมือให้งดการจัดกิจกรรม แต่ผู้จัดขอให้มีหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรมาแสดงจึงจะยกเลิก ต่อมาในวันงานตำรวจได้ขอความร่วมมือ FCCT ให้ยกเลิกการเช่าพื้นที่ ซึ่ง FCCT ได้ขอหนังสือเช่นกัน อย่างไรก็ดี HRW ได้ยกเลิกการจัดงานเองในภายหลัง ในเวลาต่อมามีการเผยแพร่เอกสารของฝ่ายตำรวจซึ่งระบุว่ารายงานของHRW สุ่มเสี่ยงต่อจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนาม
 
สอง วันที่ 29 กรกฎาคม 2560 สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (ส.น.ม.ท) จัดกิจกรรมรวมพลังให้กำลังใจแก่พี่น้องชาวปาเลสไตน์ SAVE AL-AQSA ,JUSTICE FOR PALESTINIANS, FREE PALESTINE ที่สวนจตุจักร ระหว่างการจัดกิจกรรม ปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบ จาก สน. บางซื่อ สนธิกำลังปิดล้อมสวนสาธารณะและให้สมาพันธ์ฯ ยกเลิกกิจกรรมดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า กิจกรรมนี้นอกจากจะเข้าข่ายการชุมนุมแล้ว ยังเป็นการกระทำที่อาจเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงระหว่างประเทศ
 
สาม วันที่ 18 สิงหาคม 2561 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดกิจกรรมฉายหนัง Joshua: Teenager vs Superpower ซึ่งเป็นหนังสารคดีเกี่ยวกับ โจชัว หว่อง นักเรียนมัธยมฮ่องกงที่ออกมาประท้วงรัฐบาลจีน จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของฮ่องกงในปี 2014 แต่แอมเนสตี้ต้องยุติการฉายหนังเพราะความกังวลของตำรวจสันติบาลในสองประเด็น คือ ประเด็นแรกหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับโจชัว หว่อง จะทำให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับจีน ประเด็นที่สอง การฉายอาจขัดต่อกฎหมายเกี่ยวกับภาพยนตร์
 
สี่ วันที่ 25 สิงหาคม 2561 ฮาจี อิสมาอิล ประธานเครือข่ายสันติภาพจัดงานงานทำบุญครบรอบ 1 ปีเหตุการณ์ 25 สิงหาคม เพื่อพี่น้องชาวโรฮิงญา ที่มัสยิดแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี แต่เจ้าหน้าที่สั่งห้ามจัดระบุว่า อาจกระทบต่อความมั่นคงและจะสร้างความวุ่นวายได้
 
นอกจากนี้มีอีกสองกิจกรรมในประเด็นระหว่างประเทศที่ถูกเจ้าหน้าที่สั่งยกเลิก แต่ไม่มีข้อมูลว่าทางการไทยมีการอ้างถึงเหตุผลด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในการ “ขอความร่วมมือ” ให้ยุติกิจกรรมครั้งดังกล่าวหรือไม่
 
หนึ่ง วันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) จัดงานเวียดนาม – นักโทษแห่งมโนธรรม 165 คน 999 ปีหลังลูกกรง แต่ถูกยกเลิกหลังตัวแทน FCCT เข้าประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจสน.ลุมพินีสองครั้ง
 
สอง วันที่ 4 กรกฎาคม 2561 เจ้าหน้าที่สน.ลุมพินียังเคยประสานให้ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) งดจัดกิจกรรมฉายหนัง ‘When Mother’s Away’ ซึ่งเป็นสารคดีชีวิตบล็อกเกอร์ชาวเวียดนามผู้ใช้นามปากกาว่า “Mother Muchroom” ซึ่งถูกตัดสินจำคุกในปี 2560 ถึง 10 ปี หลังเผยแพร่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากสารพิษรั่วจากโรงงานเหล็ก โดยในครั้งนั้นเจ้าหน้าที่อ้างว่าได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับกิจกรรมนี้จากสถานทูตเวียดนาม