เรื่องเล่าจากแดนแปดของ “ไผ่” นิติรัตน์: 15 ชั่วโมงในห้องสี่เหลี่ยมกับทีวีที่เลือกช่องไม่ได้

หลังใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพเป็นเวลาห้าเดือน 15 วันตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 จนถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2561 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบุกยึดสถานีโทรทัศน์ NBT (ช่อง 11) เมื่อปี 2551 นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ หรือ “ไผ่” นักกิจกรรมทางสังคมจากกลุ่มเพื่อนประชาชนและอดีตคณะอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดบ้านและเปิดใจพูดคุยกับไอลอว์ ถึงประสบการณ์ตรงในฐานะผู้ต้องขัง สภาพความเป็นอยู่และปัญหาที่ผู้ต้องขังเผชิญระหว่างการใช้ชีวิตในเรือนจำ ไปจนถึงอุปสรรคต่างๆ ที่ทำให้คำขวัญ “คืนคนดีให้สังคม” ของกรมราชทัณฑ์ยากที่จะบรรลุเป้าหมายอย่างแท้จริง

“เจ็ดวันแรก” บททดสอบการเปลี่ยนผ่านที่สาหัสที่สุด

การเปลี่ยนแปลงนับเป็นเรื่องปกติธรรมดาในชีวิตคน แต่ขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านจากชีวิตช่วงหนึ่งไปอีกช่วงหนึ่ง เช่น จากชั้นมัธยมสู่มหาวิทยาลัยหรือจากมหาลัยสู่ชีวิตการทำงานคงเป็นช่วงเวลาที่สับสนหรือลำบากใจกับการปรับตัวให้เข้ากับบทบาทหรือความรับผิดชอบใหม่ สำหรับคนที่ถูกดำเนินคดีอาญาแล้วถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีเพราะไม่ได้ประกันตัวหรือถูกศาลพิพากษาจำคุก การเปลี่ยนผ่านจากชีวิตอิสรชนสู่การเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบน่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่สาหัสกว่าการเปลี่ยนผ่านในช่วงอื่นๆ ของชีวิตอยู่หลายเท่าตัว
นิติรัตน๋เล่าว่า สำหรับคนที่เข้าคุกเป็นครั้งแรก การเปลี่ยนผ่านชีวิตช่วงเจ็ดวันแรกน่าจะเป็นบททดสอบของชีวิตที่สาหัสที่สุด เพราะจะเป็นช่วงที่เกิดความว้าวุ่นใจในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว อาชีพการงาน ไปจนถึง “ชีวิตใหม่” ที่ไร้อิสรภาพและเต็มไปด้วยกฎระเบียบ ทุกอย่างจะถาโถมประเดประดังขึ้นมาจนทำให้ผู้ต้องขังหน้าใหม่หลายคนกินข้าวไม่ลง นอกจากบททบสอบต่อสภาพจิตใจแล้ว การใช้ชีวิตประจำวันก็เป็นเรื่องหนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน เพราะเมื่อเข้าไปในเรือนจำครั้งแรกทรัพย์สินและเงินที่ผู้ต้องขังมีติดตัวทั้งหมดจะถูกนำไปฝากไว้กับเจ้าหน้าที่ 
เนื่องจากภายในเรือนจำไม่มีการใช้เงินสด เงินที่ผู้ต้องขังมีติดตัวมาจะถูกเจ้าหน้าที่เก็บไปตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรือนจำ และนำไปใส่ในบัญชีของผู้ต้องขัง ซึ่งจะสามารถใช้จ่ายผ่านบัตรสมาร์ทการ์ดได้ในภายหลัง โดยต้องรอเวลาทำบัตรประมาณเจ็ดวัน เท่ากับว่า ในช่วงเวลา “เจ็ดวันแรก” ผู้ต้องขังจะไม่สามารถซื้ออาหารหรือของใช้จำเป็นอย่างสบู่ยาสีฟันได้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยญาติหรือคนที่มาเยี่ยมซื้อฝากเข้ามาให้ 
ส่วนคนที่ไม่มีญาติ นิติรัตน์บอกสั้นๆ ว่า “เค้าก็จะต้องหาเพื่อน” 
นิติรัตน์ยกตัวอย่างว่า แม้ตัวเขาเองจะมีญาติ มีเพื่อน มีครอบครัวที่พอจะให้ความช่วยเหลือเรื่องข้าวของที่จำเป็นได้ แต่ในวันแรกที่เข้ามาอยู่ใน “บ้านหลังใหม่” ตัวของเขาเองก็ไม่มีแม้แต่ขันที่จะใช้อาบน้ำ ต้องหยิบยืมของทางแดนมาใช้ชั่วคราวไปก่อนหลังจากนั้นเมื่อญาติซื้อให้ก็ค่อยเอามาคืนทางแดน แต่ของใช้จำเป็นอื่นๆ เช่น สบู่ ยาสีฟัน ซึ่งในโลกภายนอกดูจะเป็นของใช้พื้นฐานที่เข้าถึงได้ไม่ยากนัก นิติรัตน์ไม่แน่ใจว่า ทางเรือนจำเตรียมไว้แจกผู้ต้องขังแรกเข้าทุกคนหรือไม่ แต่ในความรับรู้ของเขาไม่น่าจะมี  

ระบบอุปถัมภ์และระบบ “บ้าน” หลักประกันความอยู่รอดขั้นพื้นฐาน 

การมีคนในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงมาเยี่ยมถือเป็นสิ่งสร้างความแตกต่างให้กับคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังได้อย่างมีนัยยะสำคัญ นอกจากเรื่องของกำลังใจแล้ว การมีญาติมาเยี่ยมยังทำให้ผู้ต้องขังสามารถเข้าถึงอาหารที่มากขึ้นกว่าการพึ่งพิงแต่เพียงอาหารจากโรงเลี้ยง รวมทั้งการเข้าถึงของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน ในขณะที่ผู้ต้องขังที่ไม่มีญาติหรือญาติอยู่ไกล การเข้าถึงของใช้พื้นฐานอย่างสบู่ยาสีฟันก็ดูจะเป็นเรื่องยาก แต่ในเมื่อชีวิตต้องเดินต่อไปผู้ต้องขังในเรือนจำจึงต้องหาทางปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ คือ การรวมตัวกันเป็น “บ้าน”
นิติรัตน์เล่าว่า ในช่วงปี 2551 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เขาเคยมีโอกาสเข้าไปมาอาศัยอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพประมาณ 15 วัน หลังจากถูกจับกุมตัวและถูกฝากขังระหว่างการสอบสวนในคดีเดียวกันนี้ ครั้งนั้นเมื่อมีผู้ต้องขังเข้ามาใหม่จะมีคนมาคอยถามว่า ก่อนถูกจับกุมบ้านอยู่แถวไหน หรือเป็นคนที่ไหน จากนั้นผู้ต้องขังใหม่จะถูกพาไปอยู่กับคนที่มากจากภูมิลำเนาเดียวกัน ซึ่งระบบนี้อาจเรียกได้ว่า “บ้าน” เมื่อเข้าไปอยู่ตามบ้านแล้วผู้ต้องขังที่อยู่ในแต่ละบ้านก็จะให้ความช่วยเหลือกันในเรื่องต่างๆ เช่น การแบ่งปันของใช้จำเป็นหรืออาหาร ทำให้ผู้ต้องขังที่ไม่มีญาติบางส่วนพอจะลืมตาอ้าปากได้มากขึ้น 
แต่ระบบบ้านเองก็มีปัญหาอยู่ในตัว เช่น บ้านที่มีขนาดใหญ่อาจกลายเป็นเครือข่ายผู้มีอิทธิพล สมาชิกที่เข้าใหม่บางส่วนอาจได้รับความช่วยเหลือในเบื้องต้นแต่ในภายหลังอาจต้องมีการจ่ายค่าตอบแทนเข้ากองกลางของบ้าน นอกจากนี้ก็จะมีปัญหาเวลาผู้ต้องขังที่สังกัดต่างบ้านทะเลาะกัน การทะเลาะก็จะไม่ใช่แค่เรื่องระหว่างคนสองคนแต่กลายเป็นเรื่องของบ้านและอาจมีความรุนแรงถึงขั้นรวมตัวกันใช้กำลังได้  
ดังนั้น เมื่อนิติรัตน์ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพอีกครั้งในปี 2561 เขาบอกว่า “ระบบบ้าน” ยังคงมีอยู่ แต่ไม่เข้มแข็งเหมือนเมื่อสิบปีที่แล้ว ทางเรือนจำเองก็เห็นว่า ระบบบ้านอาจก่อให้เกิดปัญหา จึงพยายามหาทางอุดช่องว่าง เช่น มีการประกาศเรียกผู้ต้องขังที่ไม่มีญาติมารับของใช้ที่จำเป็นเป็นครั้งคราว แต่เนื่องจากทางเรือนจำไม่มีของเพียงพอกับความต้องการของผู้ต้องขังทุกคน และการแจกก็ไม่ได้มีอยู่บ่อยๆ ระบบบ้านที่แม้จะไม่เข้มแข็งเหมือนเมื่อสิบปีที่แล้วจึงยังคงมีอยู่ 
เป็นระบบธรรมชาติที่เกิดขึ้น สะท้อนความบกพร่องของเรือนจำที่ไม่สามารถจัดหาปัจจัยพื้นฐานให้กับผู้ต้องขังทุกคนอย่างเท่าเทียมกันได้

15 ชั่วโมงต่อวันในห้องสี่เหลี่ยม 

คนในเรือนจำและคนที่อยู่ข้างนอกมีเวลาในชีวิตเท่าเทียมกันคือ 24 ชั่วโมงต่อวัน ชึวิตของพนักงานโรงงานหรือพนักงานออฟฟิศอาจรู้สึกถึงความจำเจของกิจวัตรประจำวันที่ต้องเดินทางไปทำงานและกลับบ้านเหมือนๆ เดิมทุกวัน แต่วิถีชีวิตของคนทำงานที่แสนอุดอู้ก็ยังดีกว่าชีวิตประจำวันของผู้ต้องขังในเรือนจำ เพราะใน 24 ชั่วโมงของชีวิต 15 ชั่วโมงต้องหมดไปกับการอยู่เฉยๆ ในห้องสี่เหลี่ยมที่มีเพียง “ผ้าห่มสามผืน” ทีวี และขวดน้ำประจำตัว 
นิติรัตน์เล่าว่า ในหนึ่งวันผู้ต้องขังจะใช้เวลาประมาณ 15 ชั่วโมงอยู่บนเรือนนอนของแต่ละแดน เรือนนอนในแดนแปดที่เขาอยู่ มีลักษณะเป็นตึกสี่เหลี่ยมสูงสี่ชั้น ชั้นล่างเป็นโถงว่างๆ ใช้ทำกิจกรรม ชั้นสองจะเป็นล็อกเกอร์ที่ผู้ต้องขังใช้เก็บของใช้ประจำตัว นอกจากนี้ก็ยังเป็นที่ตั้งของโรงอาหารหรือที่ผู้ต้องขังเรียกว่า “โรงเลี้ยง” ด้วย และมีพื้นที่ส่วนหนึ่งถูกกันไว้ให้ผู้ต้องขังที่เป็นมุสลิมใช้ปฏิบัติศาสนกิจ กับห้องขังเดี่ยวที่ใช้ขังคนที่ทำผิดวินัยร้ายแรง ส่วนชั้นสามและชั้นสี่จะเป็นห้องขัง แต่ละชั้นจะมี 16 ห้อง 
ขนาดของห้องขังแต่ละห้องใกล้เคียงกัน ประมาณด้วยสายตาขนาดกว้างสี่เมตรครึ่งยาวสิบเมตร แต่ละห้องมีผู้ต้องขังเฉลี่ยประมาณสามสิบคน แต่บางวันก็อาจมีผู้ต้องขังเพิ่มมาใหม่ทำให้แออัดมากขึ้น ห้องนอนแต่ละห้องจะมีลักษณะเป็นโถงโล่งๆ ด้านหน้าห้องจะเป็นลูกกรงไม่มีมุ้งลวด ที่มุมห้องด้านหลังห้องจะมี “บล็อก” หรือส้วมซึมที่ผู้ต้องขังใช้ทำธุระส่วนตัว และมีการก่อบ่อสี่เหลี่ยมใกล้ๆ ไว้ใส่น้ำสำหรับตักราดเมื่อขับถ่ายเสร็จ 
นิติรัตน์เล่าด้วยว่า บล็อกหรือส้วมที่ว่านอกจากจะเอาไว้ใช้ขับถ่ายแล้ว ผู้ต้องขังบางคนยังแอบใช้อาบน้ำ ซึ่งผิดระเบียบและบางครั้งก็ใช้เป็นที่ “ช่วยเหลือตัวเอง” ยามมีความต้องการทางเพศ  
สำหรับโทรทัศน์ซึ่งเป็นความบันเทิงเพียงอย่างเดียวในห้องขังจะตั้งอยู่ใกล้ๆ กับบล็อก บนเพดานห้องจะมีไฟสองดวงที่เปิดไว้ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน และมีพัดลมเพดานแบบพัดลมโรงเรียนอีกสามตัว 
ด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่ ผู้ต้องขังจึงต้องนอนเรียงหันหัวชนกำแพงห้องตามยาวฝั่งละประมาณ 12 – 14 คน และมีอีกประมาณสี่ถึงห้าคนนอนเรียงแถวยาวอยู่ตรงกลาง นิติรัตน์เล่าเป็นเกร็ดว่า คนที่นอนกลางห้องระหว่างสองแถวจะถูกเรียกว่า “พวกสายกลาง” ส่วนคนที่นอนใกล้ๆ ส้วมซึ่งมักเป็นผู้ต้องขังหน้าใหม่ของห้อง ซึ่งต้องเผชิญทั้งเสียงและกลิ่นจะถูกเรียกว่า “พวกติดบล็อก” 
สำหรับอุปกรณ์การนอน นิติรัตน์ระบุว่า ก่อนหน้านี้คนในเรือนจำยังมีหมอนมีที่นอนอันเล็กๆ แต่ในยุคหลัง (ปี 2560 เป็นต้นมา) กรมราชทัณฑ์เปลี่ยนนโยบายการหลับนอน ยกเลิกหมอนและที่นอน และนำระบบ “ผ้าห่มสามผืน” มาใช้แทน คือ มีผ้าห่มขนๆ สีเทา ให้ทุกคน คนละสามผืน ผืนหนึ่งใช้ปูนอน ผืนหนึ่งพับเป็นหมอน และอีกผืนหนึ่งทำหน้าที่เป็นผ้าห่มจริงๆ ซึ่งนิติรัตน์ระบุว่า เป็นผ้าที่อมฝุ่นได้เป็นอย่างดี 

ดูโทรทัศน์เท่าที่จัดให้ หกโมงเย็นต้องยืนเคารพธงชาติและสวดมนต์

ในแต่ละวันผู้ต้องขังจะต้องอยู่ในเรือนนอนตั้งแต่เวลาประมาณสามโมงเย็นจนถึงหกโมงครึ่งของอีกวันหนึ่ง วันเวียนไปเช่นนี้ทุกวัน ที่น่าสนใจ คือ ในสิบห้าชั่วโมงนั้นผู้ต้องขังในแดนแปดรวมทั้งนิติรัตน์จะไม่ได้รับอนุญาตให้นำหนังสือ หรือสมุดปากกาขึ้นเรือนนอน ซึ่งนิติรัตน์ระบุว่า เจ้าหน้าที่เกรงว่าผู้ต้องขังอาจนำหนังสือมาใช้เล่นการพนัน ด้วยวิธีการเปิดและทายเลขหน้า หรือนำมาใช้พันใบยาสูบ ส่วนปากกาก็เป็นสิ่งที่อาจใช้แทนอาวุธได้  กิจกรรมที่พวกเขาทำได้จึงมีเพียงการพูดคุยและดูโทรทัศน์ ซึ่งผู้คุมเป็นผู้เลือกช่องให้ และทุกคนได้ดูเหมือนกันทั้งแดน โดยโทรทัศน์จะเปิดในเวลาประมาณ 16.30 น. หลังจากนั้นในเวลา 18.00 น. ก็จะเปิดวิดิทัศน์ที่เป็นเพลงชาติและบทสวดมนต์ศาสนาพุทธยาวประมาณ 20 นาที ในช่วงที่เคารพธงชาติและสวดมนต์ผู้ต้องขังทั้งหมดจะต้องยืนเรียงแถวภายในห้อง ผู้ที่นับถือศาสนาอื่นหรือไม่นับถือศาสนาจะต้องมายืนเข้าแถวด้วยแต่ไม่ต้องพนมมือ
นิติรัตน์พูดแบบติดตลกด้วยว่า “ที่นี่ดีอยู่อย่างว่า ตอนหกโมงเค้าตัดรายการโทรทัศน์มาเป็นสวดมนตร์ไม่งั้นคงต้องดูรายการของคสช.(เดินหน้าประเทศไทย) แต่วันศุกร์สองทุ่มก็ยังต้องดูรายการที่นายกออกมาพูดอยู่ดี ช่วงนั้นเพื่อนๆในห้องขังก็จะจับกลุ่มคุยกันมากหน่อย” 
นิติรัตน์เล่าต่อว่า พอสวดมนต์เสร็จประมาณหกโมงครึ่ง โทรทัศน์ก็จะกลับมาเปิดรายการปกติต่อ ซึ่งมักเป็นรายการบันเทิงจนถึงสามทุ่มครึ่ง ก็จะปิด หลังจากนั้นผู้ต้องขังบางส่วนก็จะนอนคุยต่ออีกนิดหน่อย แล้วก็จะนอนหลับ เพราะทางเรือนจำจะปลุกพวกเขาตั้งแต่เช้าประมาณตีห้าครึ่ง เพื่อให้สวดมนต์และเตรียมนับยอดแล้วก็ลงไปกินข้าวในเวลา 7.15 น. และปฏิบัติงานตามกองงานในเวลา 8.30 น. โดยพวกเขาจะมีโอกาสเห็นท้องฟ้าและสัมผัสแสงแดดถึงเวลาประมาณ 15.00 ก็จะต้องกลับขึ้นเรือนนอนอีกครั้ง กิจวัตรของพวกเขาจะวนเวียนไปเช่นนี้ทุกวัน ยกเว้นวันหยุดที่อาจจะทำกิจกรรม เช่น การออกกำลังกาย เล่นหมากรุก หรือพักผ่อนได้บ้าง แต่การตื่น กินข้าว ลงและขึ้นเรือนนอนยังเป็นเวลาเดิม และจะวนเวียนไปเช่นนี้จนกว่าพวกเขาจะได้รับอิสระ

มื้อเย็นมันเยิ้มตอนบ่ายโมง อาหารการกินประสาคนห้องกรง

“ระวังได้กินข้าวแดงนะ” เป็นคำขู่ที่ผู้ปกครองมักจะใช่ขู่ลูกหลานเวลาดื้อมากๆ ทำนองว่า ถ้าดื้อมากจะถูกตำรวจจับแล้วติดคุก 
ในยุคสมัยหนึ่ง “ข้าวแดง” ถูกทำให้คนเข้าใจว่า เป็นอาหารของคนคุก แต่ในความเป็นจริง ข้าวที่ผู้ต้องขังรับประทานก็เป็นข้าวขาวตามปกติ เพียงแต่ไม่ใช่ข้าวเกรดดีอย่างข้าวหอมมะลิ ในส่วนของคุณภาพของอาหาร นิติรัตน์บอกว่า เป็นอาหารที่รสชาติออกมันๆ “คุณภาพสมราคา” พร้อมแจกแจงว่าเท่าที่ทราบงบประมาณภาครัฐที่จัดให้เป็นค่าอาหารของผู้ต้องขังจะอยู่ที่ 40 บาท ต่อคนต่อวัน เมื่อหักค่าแก๊สของทั้งสามมื้อซึ่งอยู่ที่ประมาณสามถึงห้าบาท ค่าข้าวอีกประมาณสามถึงห้าบาท ก็จะเหลือต้นทุนค่ากับข้าวสำหรับสามมื้ออยู่ที่มื้อละสิบบาท เท่านั้นยังไม่พอผู้ต้องขังที่เป็นผู้ช่วยของผู้คุมยังมีการปันวัตถุดิบส่วนหนึ่งมาปรุงอาหารให้กับผู้คุมหรือปันวัตถุดิบอีกส่วนหนึ่งไว้ให้ผู้ต้องขังที่เป็นพวกพ้องของตัวเองด้วย
แม้ทางกรมราชทัณฑ์จะจัดอาหารฟรีให้กับผู้ต้องขัง แต่ผู้ต้องขังที่มีญาติหรือพอมีเงินก็เลือกสั่งกับข้าวเป็นถุงๆ มากินแทนอาหารของโรงเลี้ยง กรณีของนิติรัตน์ ตัวเขามักจับกลุ่มกับเพื่อนอีกสามคนซื้อกับข้าวคนละอย่างแล้วมาแบ่งกันกิน โดยการสั่งอาหารจะต้องสั่งไว้ล่วงหน้าหนึ่งวันและแม้จะเป็นอาหารที่ซื้อกินคุณภาพและรสชาติก็คงเทียบไม่ได้กับอาหารข้างนอก 
ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับอาหารการกินของผู้ต้องขังในเรือนจำคงจะหนีไม่พ้นเรื่องเวลา ผู้ต้องขังจะกินข้าวเช้าในเวลาประมาณ 7.15 น. ต่อมาเวลา 10.30 น. ก็จะรับประทานอาหารกลางวัน และรับประทานอาหารเย็นในเวลาประมาณ 13.30 น. หลังจากนั้นผู้ต้องขังจะไม่ได้รับประทานอะไรอีกเลยนอกจากนมกับน้ำที่ได้รับอนุญาตให้ถือขึ้นไปบนเรือนนอน 
นิติรัตน์คาดการณ์ว่า สาเหตุที่การปิดขังทำในเวลา 15.00 น. ซึ่งส่งผลกระทบต่อนาฬิกาชีวิตของคนในเรือนจำโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอาหารการกิน อาจจะเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ยกเว้นคนที่เข้าเวรจะเลิกงานในเวลา 16.00 น. การปิดขังจึงต้องทำก่อนหน้านั้น

อยู่เรือนจำ อย่าป่วยเสาร์-อาทิตย์

เมื่อถามว่า เรื่องใดเป็นเรื่องที่ควรปรับปรุงอย่างเร่งด่วนที่สุดเพื่อใช้คุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังในเรือนจำดีขึ้น นิติรัตน์ตอบกลับมาอย่างรวดเร็วโดยไม่ลังเลว่า การเข้าถึงยาและการรักษาพยาบาล คือ เรื่องที่ต้องมีการปรับปรุงอย่างเร่งด่วน 

นิติรัตน์เล่าว่า ระบบการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพจะมีสถานพยาบาลอยู่สองแบบ หนึ่ง คือ สถานพยาบาลซึ่งตั้งอยู่ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และอีกอันหนึ่ง คือ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งอยู่นอกเรือนจำพิเศษกรุงเทพ แต่อยู่ในบริเวณรั้วใหญ่ของกลุ่มเรือนจำคลองเปรมด้วยกัน
หากต้องการจะไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ผู้ต้องขังจะต้องแจ้งชื่อและอาการป่วยของตัวเองกับผู้ช่วยผู้คุม ซึ่งเป็นนักโทษด้วยกัน หลังจากนั้นผู้ช่วยผู้คุมจะนำเรื่องไปให้ผู้คุมพิจารณา เมื่อผู้คุมพิจารณาแล้ว ผู้ต้องขังที่ยื่นเรื่องก็จะได้ไปพบพยาบาลที่สถานพยาบาลหรือที่เรียกกันติดปากในหมู่ผู้ต้องขังว่า “พ.บ.” ต่อไป อย่างไรก็ตามผู้ป่วยทั่วไปจะออกไปสถานพยาบาลได้เฉพาะวันธรรมดาเท่านั้น วันหยุดเสาร์อาทิตย์และวันหยุดราชการอื่นๆ จะไม่สามารถออกไปได้ เว้นแต่เป็นกรณีป่วยฉุกเฉินที่ผู้คุมจะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจนำตัวออกไป เท่ากับว่า หากผู้ต้องขังไม่ได้มีอาการป่วยแบบที่ความเป็นความตายแขวนอยู่บนเส้นด้าย ก็ยากที่จะเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ทันท่วงที
“ถ้าผมป่วยหนัก เค้าก็จะพาผมออก บางทีก็ใส่รถเข็นคนป่วยแต่บางทีก็อาจจะเอาใส่รถเข็นข้าว แต่ถ้าโดยทั่วไปผมจะต้องแจ้งตอนเช้าแล้วต้องรอไปสถานพยาบาลวันถัดไป ก็ต้องประคองโรคไปอีกคืน”
นิติรัตน์เล่าต่อว่า ผู้ต้องขังเองก็ไม่ค่อยอยากไปสถานพยาบาล เพราะบางครั้งเจ้าหน้าที่ประจำสถานพยาบาลก็ไม่ได้จ่ายยาตามที่พวกเขาต้องการ กลายเป็นเรื่องของโชคว่า จะเจอเจ้าหน้าที่ที่ใส่ใจในอาการผู้ต้องขังอย่างแท้จริงหรือไม่ นิติรัตน์เล่าด้วยว่า เจ้าหน้าที่บางคนพอเขาแจ้งว่าตัวเองมีอาการป่วยอื่นนอกจากอาการที่แจ้งกับผู้ช่วยพยาบาลในวันก่อนหน้านั้น ก็จะได้รับคำตอบทำนองว่า “เอาวันละโรคพอ” สำหรับผู้มีอาการป่วยเล็กน้อยอาจจะเบิกยาพาราเซตามอลได้จากแดนอยู่แล้ว แต่บ่อยครั้งเมื่อไปเบิกก็พบว่า ยาหมด 
สำหรับผู้ต้องขังที่มีอาการป่วยฉุกเฉิน ห้องขังแต่ละห้องจะมี “ออด” ให้สามาถกดเรียกเจ้าหน้าที่ได้ แต่ตัวผู้ต้องขังเองบางครั้งถ้าไม่หนักหนาสาหัสจริงๆ ก็ไม่อยากกดออด เพราะเวลากดออดเจ้าหน้าที่จะปิดทีวีทั้งแดนก่อนจะเข้ามาดูอาการ พอเจ้าหน้าที่ปิดทีวีผู้ต้องขังในห้องอื่นๆ ก็จะมีการโห่หรือแสดงความไม่พอใจกัน 
นิติรัตน์เองเคยเสนอกับผู้คุมว่า น่าจะจัดระบบให้ผู้ต้องขังซึ่งเป็นหัวหน้าห้องพกยาพาราไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อที่ในเวลาปิดขังผู้ต้องขังที่มีไข้หรือป่วยเล็กน้อยจะสามารถเบิกยาจากหัวหน้าห้องได้โดยไม่ต้องกดออด แต่ผู้คุมก็ปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า กลัวจะมีการลักลอบนำยาไปขาย 
“ผมไม่รู้จะแก้ยังไง มันเหมือนเราเห็นปัญหา แต่พอมีปัญหาซ้อนอยู่ในวิธีแก้ปัญหา เราก็เลยไม่ได้ทำอะไรเลย”

มีหนังสือมี มีเวลา สิ่งที่ขาดคือทัศนคติ

ในยามที่อิสรภาพทางกายถูกพันธนาการ สิ่งหนึ่งที่พอจะปลดปล่อยผู้ต้องขังให้เป็นอิสระได้บ้างก็คงเป็น “จินตนาการ” นอกจากการดูโทรทัศน์แล้ว การอ่านหนังสือก็น่าจะเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่พอจะช่วยให้ผู้ต้องขังสามารถปล่อยให้จินตนาการออกไปท่องโลกกว้างได้ตามแต่ที่ตัวหนังสือจะนำไป ทว่าสำหรับผู้ต้องขังในแดนแปดของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ การอ่านหนังสือก็ดูจะเป็นจะเป็นกิจกรรมที่ทำได้ไม่ง่ายนัก 
นิติรัตน์เล่าถึงห้องสมุดประจำแดนแปดของเขาว่า ห้องสมุดของแดนแปดซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้นสองของอาคารเรือนนอนจะเปิดทำการเฉพาะวันธรรมดา วันหยุดเสาร์อาทิตย์และวันหยุดราชการอื่นๆ ห้องสมุดจะไม่เปิดให้บริการ และหนังสือของห้องสมุดแดนแปดก็ไม่สามาถยืมออกมาอ่านเวลาขึ้นเรือนนอน ซึ่งเป็นเวลาว่างได้ ผู้ต้องขังที่ทำงานในกองงานที่งานเยอะ เช่น กองงานพับถุงและสูทกรรมจึงยากที่จะมีโอกาสไปอ่านหนังสือในห้องสมุด ซึ่งนิติรัตน์มองว่า เป็นเรื่องน่าเสียดาย
“คนเปลี่ยนได้เพราะหนังสือ แล้วถ้าคุณได้ใช้เวลา 15 ชั่วโมงที่ต้องอยู่ในห้องขังด้วยการอ่านหนังสือ ผมว่าคุ้มมากเลย” 
สำหรับหนังสือในห้องสมุดแดนแปดนิติรัตน์ระบุว่า 40% เป็นหนังสือธรรมะที่เต็มไปด้วยบทสวดและเข้าถึงยาก ระหว่างที่เขาถูกคุมขังก็ได้ขอให้ภรรยานำหนังสือไปบริจาคเข้าเรือนจำ บางส่วนเป็นงานเขียนรางวัลซีไรท์ นิติรัตน์เล่าว่า ระหว่างที่อยู่ในแดน เขาได้ไปเจอหนังสือ 1984 ของจอร์จ ออร์เวล อยู่ในนั้นด้วย โดยมีชื่อของเจ้าของเดิมที่เป็นอดีตผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 เขียนกำกับไว้ด้วย
นิติรัตน์ยอมรับว่า ในทางปฏิบัติก็มีผู้ต้องขังบางส่วนที่หาช่องทางนำหนังสือเข้าไปที่เรือนนอนจนได้ แต่เขาก็รู้สึกแปลกใจที่หนังสือซึ่งไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยหรือเป็นสิ่งผิดกฎหมายกลับกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถถือขึ้นเรือนนอนได้อย่างสง่าผ่าเผย ผู้คุมคนหนึ่งเคยสะท้อนให้นิติรัตน์ฟังว่า หากมีการนำหนังสือขึ้นไปผู้ต้องขังก็อาจฉีกหนังสือไปมวนยาสูบหรือเอามาเปิดหน้าเล่นการพนัน และถ้าแต่ละคนถือขึ้นไปคนละเล่มก็อาจทำให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารจัดการ ซึ่งนิติรัตน์มองว่า เมื่อผู้คุมบางส่วนมีมุมมองอย่างนี้ก็น่าเสียดายว่า แม้หนังสือและองค์ความรู้จะมีอยู่ในห้องสมุดและผู้ต้องขังก็มีเวลาทั้งในวันหยุด และ15 ชั่วโมงระหว่างปิดขัง แต่กลับไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงองค์ความรู้เหล่านั้น 
การไม่มีระบบยืมหนังสือยังทำให้เกิดความเสียหายต่อหนังสือด้วย เพราะเมื่อยืมหนังสือไม่ได้ผู้ต้องขังบางคนก็ต้องแอบลักลอบเอาหนังสือออกมา นิติรัตน์มองว่า ถ้ามีระบบการยืมหนังสือเป็นกิจจะลักษณะ ก็จะสามารถบรรเทาปัญหานี้ได้ เพราะสามารถตรวจสอบได้ว่า ใครยังไม่คืน ก็ประกาศเรียกตัวมาได้ พอไม่มีระบบยืมก็ตรวจสอบไม่ได้ 

ไม่มีข่าวสารบ้านเมือง ไม่มีความรู้

“อย่าพูดถึงสิทธิมนุษยชนเลยเพราะแค่ข่าวสารคุณก็ยังไม่มีสิทธิรับรู้” นิติรัตน์กล่าว
หนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ที่ห้องสมุดแทบทุกแห่งในโลก แม้แต่ห้องสมุดชุมชนขนาดเล็กน่าจะต้องมี เพราะราคาไม่แพงและข่าวสารบ้านเมืองก็เป็นข้อมูลพื้นฐานที่คนทุกเพศทุกอาชีพทุกวัยล้วนต้องการรับรู้ เพราะอาจมีเรื่องที่กระทบกับชีวิตเขาโดยตรง เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ ประกาศอัตราภาษีหรือกฎหมายใหม่ๆ ที่อาจกระทบต่อชีวิตประจำวัน ทว่าในห้องสมุดของแดนแปดเรือนจำพิเศษกรุงเทพหนังสือพิมพ์ คือ สิ่งที่ขาดหายไป ไม่ใช่แค่หนังสือพิมพ์ แม้ห้องขังจะมีโทรทัศน์ แต่ก็จะไม่มีการเปิดรายการข่าวให้ผู้ต้องขังดู มีเพียงการเปิดรายการบันเทิงให้ผู้ต้องขังดูเท่านั้น พอช่องบันเทิงตัดเข้าช่วงข่าว ผู้คุมก็จะเปลี่ยนช่องหนี จะมีก็เพียงช่วงสองทุ่มวันศุกร์ที่ผู้ต้องขังพอจะได้รับฟังการ “เล่าข่าว” โดยหัวหน้า คสช. ผ่านรายการ “คืนความสุข” 
นิติรัตน์เล่าว่า เคยได้ยินว่า แดนอื่นมีการนำหนังสือพิมพ์มาติดบอร์ดให้ผู้ต้องขังอ่านบ้าง แต่ที่แดนแปดไม่มี ถ้าจะมีโอกาสอ่านหนังสือพิมพ์ก็เป็นการอ่านของผู้ต้องขังที่มีเงินหรือเส้นสาย ซึ่งคนในเรือนจำเรียกพวกเขาด้วยคำเฉพาะว่า “พวกสมเด็จ” 
นิติรัตน์เล่าว่า เคยมีผู้คุมให้เหตุผลกับเขาเกี่ยวกับเรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารว่า ถ้ามีการเผยแพร่ข่าวสารแล้วผู้ต้องขังรู้ว่า คู่อริตัวเองกำลังจะถูกนำตัวมาที่เรือนจำ ก็มีความเสี่ยงที่จะมีการวางแผนทำร้ายร่างกายหรือก่อความวุ่นวาย แต่นิติรัตน์มองว่า เป็นเหตุผลที่ดูจะไม่เข้าท่านัก เพราะปัจจุบันเรือนจำก็มีกล้องวงจรปิดและระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด เรื่องที่ผู้คุมเป็นกังวลน่าจะป้องกันได้ไม่ยาก และไม่เป็นเหตุเป็นผลเพียงพอที่จะใช้จำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้ต้องขัง 
“แล้วแบบนี้จะคืนคนดีให้สังคมยังไง คนดีโง่ๆ ที่ไม่รู้ข่าวสารบ้านเมืองเหรอ?” นิติรัตน์ตั้งคำถามถึงการขาดหายไปของสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของผู้ต้องขังอย่างเผ็ดร้อน

ถ้าอยากคืนคนดีให้สังคมต้องเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องกองงานและการฝึกอาชีพ

กรมราชทัณฑ์มีคำขวัญประจำหน่วยงานว่า “คืนคนดีให้สังคม” เรือนจำจึงไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่ลงโทษผู้ต้องขังด้วยการจำกัดอิสรภาพทางกายและการบังคับให้อยู่ในกฎระเบียบที่เข้มงวดเท่านั้น หากแต่ยังมีหน้าที่ฟื้นฟูจิตใจและเสริมสร้างศักยภาพในการประกอบอาชีพด้วย เพื่อที่เมื่อผู้ต้องขังพ้นโทษ เขาจะสามารถกลับไปอยู่ในสังคมและสามารถประกอบอาชีพสุจริตหาเลี้ยงตัวเอง และไม่ทำความผิดอีกได้ 
กระบวนการฝึกอาชีพ การเปิดโอกาสทางการศึกษา และการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ทั้งทางโลกและทางธรรม คือ มาตรการที่ถูกนำใช้ในกระบวนการปรับความพร้อม ทั้งทางทักษะวิชาชีพและทางจิตใจให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำ ในทางปฏิบัตินิติรัตน์เล่าว่า ในเดือนแรกที่ผู้ต้องขังเข้าสู่เรือนจำพวกเขาจะถูกจำแนกไปฝึกวินัยซึ่งคล้ายกับการฝึกทหารเช่นฝึกเดินแถวเป็นเวลาหนึ่งเดือนหลังจากนั้นจึงจะถูกจำแนกเข้าสู่กองงานต่างๆ ซึ่งในแดนแปดก็มีกองงานไม้ กองงานรองเท้า กองงานพับถุง และกองงานกิจกรรม เป็นต้น กองงานรองเท้าและกองงานไม้อาจจะมีประโยชน์หรือฝึกทักษะที่มีประโยชน์สำหรับโลกภายนอกให้กับผู้ต้องขังได้บ้าง แต่กองงานอย่างพับถุง ดูไม่น่าจะตอบโจทก์อะไรมากไปกว่าหาอะไรให้ทำไปวันๆ 
นิติรัตน์เล่าว่า ที่กองงานพับถุง นอกจากจะไม่ได้ฝึกทักษะที่เป็นประโยชน์ในทางวิชาชีพแล้วยังเป็นกองงานที่งานหนัก นิติรัตน์ยกตัวอย่างถุงกระดาษของของสายการบินชื่อดัง ห้างสรรพสินค้า และโรงแรมหรูแห่งหนึ่งล้วน “เมดอินแดนแปด” ของเขาทั้งสิ้น นิติรัตน์ไม่ทราบว่า ทางกรมราชทัณฑ์และผู้ว่าจ้างให้ทำการผลิตมีการทำข้อตกลงเรื่องค่าตอบแทนการใช้แรงงานของผู้ต้องขังอย่างไร เขาทราบแต่เพียงว่า ผู้ต้องขังได้เงินไม่ถึงหนึ่งร้อยบาทจากการพับถุงเป็นเวลาสามเดือน เรื่องเล่าของนิติรัตน์ใกล้เคียงกับเรื่องเล่าของ “หนุ่ม เรดนนท์” อดีตผู้ต้องที่เล่าว่าผู้ต้องขังต้องทำกรวยกระดาษที่ใช้ตามตู้น้ำดื่มสาธารณะวันละประมาณ 5 กิโลกรัม (ประมาณ 2,500 ใบ) โดยได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 120 บาท 
สำหรับกองงานอื่นๆ อย่างกองงานไม้ ผู้ต้องขังอาจจะพอได้ทักษะอะไรไปบ้าง แต่นิติรัตน์ก็มีข้อสังเกตว่า การผลิตชิ้นงานเพื่อนำมาแสดงและขายในงานแสดงสินค้าของราชทัณฑ์ปีละครั้งน่าจะไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรอย่างแท้จริง 
นิติรัตน์ระบุว่า สำหรับผู้ต้องขังแล้วส่วนใหญ่พวกเขาไม่ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องค่าตอบแทนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับการใช้แรงงานสี่ชั่วโมงต่อวันของพวกเขา แต่มักจะมองเรื่องว่างานหนักเกินไปโดยเฉพาะงานในกองงานพับถุง นิติรัตน์ระบุด้วยว่า น่าแปลกที่ผู้ต้องขังต้องทำงานระหว่างถูกคุมขัง แต่ปรากฎว่า เมื่อได้รับการปล่อยตัวบางคนแทบไม่มีค่ารถกลับบ้าน 
นิติรัตน์มองว่า หากกรมราชทัณฑ์มีนโยบายต้องการจะทำให้ผู้ต้องขังได้รับการพัฒนาศักยภาพในด้านวิชาชีพอย่างแท้จริง ระบบงานตามกองงานอาจจะต้องมีการเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด โดยคำนึงถึงความต้องการของตลาดแรงงานที่แท้จริง ทางราชทัณฑ์อาจจะลองพูดคุยทำข้อตกลงกับโรงงานหรือบริษัทบางแห่งให้มาทำการผลิตงานบางอย่างในเรือนจำ ปรับระบบการสอนงานให้มีประสิทธิภาพและมีค่าตอบแทนที่เป็นเนื้อเป็นหนังเพื่อที่เมื่อผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัวพวกเขาจะมีทักษะในวิชาชีพที่ตลาดมีความต้องการและพอมีเงินติดตัวออกไปบ้าง